เปิดสถิติเอเชี่ยนเกมส์ ทัพไทย “ล้มเหลว” หรือ “พัฒนา”

หนึ่งคำถามที่ยังคงเป็นที่สงสัยกันอยู่ จากผลงานของทัพนักกีฬาไทยใน “เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18” ที่ประเทศอินโดนีเซียที่ผ่านมา ว่าสรุปแล้วนักกีฬาไทย “พัฒนา” หรือว่า “ล้มเหลว” กันแน่

แน่นอนว่าหากดูจากเหรียญรางวัลที่นักกีฬาไทยสามารถทำได้ 11 ทอง 16 เงิน 46 ทองแดง เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่ประเทศไทยไม่ติด 10 อันดับแรกบนตารางเหรียญ เพราะว่าไทยจบอันดับที่ 12

แถมยังไม่ใช่อันดับ 1 ในประเทศภูมิภาคอาเซียนเหมือนเคย เพราะว่าเจ้าภาพอย่าง “อินโดนีเซีย” ที่ทะยานกวาดไป 31 ทอง 21 เงิน 43 ทองแดง เป็นรองเพียง 3 ชาติมหาอำนาจอย่าง “จีน, ญี่ปุ่น” และ “เกาหลีใต้” เท่านั้น อันนี้เอาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกสำหรับเจ้าภาพ เพราะอย่างตอนที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 1998 ไทยก็คว้าไปถึง 24 เหรียญทอง

แต่ถึงแม้นี่จะเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่ไทยไม่สามารถจบอันดับเลขตัวเดียวในตารางเหรียญได้ แต่ทว่าครั้งนี้กลับเป็นครั้งที่เก็บเหรียญรวมได้มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเมื่อปี 1998 เพราะครั้งนี้กวาดไปถึง 73 เหรียญด้วยกัน

ซึ่งส่วนที่เพิ่มมานั้นคือเหรียญเงินและเหรียญทองแดงที่มากกว่าหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องยอมรับกันคือ ครั้งนี้ไทยทำผลงานได้ต่ำกว่าเป้าหมายอย่างมาก เพราะว่าก่อนจะเดินทางไปแข่งขันนั้นตั้งเป้าเอาไว้ถึง 17-20 เหรียญทอง เรียกได้ว่าหายไปหลายเหรียญเลยทีเดียว

หลายสมาคมกีฬาตั้งความหวังก่อนเดินทางไปอย่างสวยหรู แต่กลับคว้าน้ำเหลวกลับมา อย่างเช่น “เรือพาย” ที่ตั้งไว้ 2 ทอง แต่ได้เพียงเหรียญทองแดงกลับมา หรืออย่างเช่น “ยกน้ำหนัก” ที่มีดีกรีเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์เข้าแข่งขันถึง 2 คน ทั้ง “แนน” “โสภิตา ธนสาร” กับ “ฝ้าย” “สุกัญญา ศรีสุราช” แต่ไม่มีเหรียญทองติดมือกลับมาเช่นกัน

ส่วนหนึ่งที่เหรียญรางวัลเพิ่มจำนวนขึ้นมาเพราะว่าครั้งนี้ไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันมากกว่าเดิม ครั้งนี้ไทยส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันมากถึง 830 คน ซึ่งหนก่อนที่ “อินชอนเกมส์” ที่ครั้งนั้นส่งนักกีฬาเข้าร่วมเพียง 518 คนเท่านั้น

สาเหตุที่ครั้งนี้ไทยส่งนักกีฬาได้มากกว่าทุกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมา เวลาไทยจะเข้าแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ จะมีระเบียบของคณะกรรมการคัดเลือกนักกีฬาเข้าแข่งขันรายการระดับนานาชาติ โดยนักกีฬาที่จะเข้าแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ จะต้องได้เหรียญรางวัลใดรางวัลหนึ่งในซีเกมส์ หรือมีอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชียมาก่อนจึงจะเข้าแข่งขันได้

แต่ในครั้งนี้ หลังจากที่ “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” ได้รับเงินสนับสนุนจาก “พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558” ทำให้มีงบประมาณเพิ่มมากขึ้น คณะกรรมการคัดเลือกนักกีฬาฯ จึงเปิดโอกาสให้ทุกสมาคมกีฬา สามารถส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันได้ทั้งหมด

ทำให้เอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ ไทยส่งนักกีฬาเป็นอันดับ 3 รองเพียงเจ้าภาพกับจีน ที่ส่งนักกีฬามากกว่า

ถ้าจะให้เรียก ก็คงต้องบอกว่าส่งนักกีฬาเข้าแข่งราวกับเป็นซีเกมส์เลยก็ว่าได้!!!

ข้ออ้างหนึ่งของการส่งนักกีฬาแบบไม่จำกัดแบบนี้ คือการบอกว่าจะให้นักกีฬาเตรียมตัวสู่ “โอลิมปิกเกมส์” ในอีก 2 ปีข้างหน้า เป็นการมาวัดฝีมือกัน เพียงแต่ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลกับการที่เลือกส่งนักกีฬาแบบไม่มีลิมิตแบบนี้สักเท่าไหร่ อีกทั้งบางชนิดกีฬาที่ไม่มีแข่งในโอลิมปิกเกมส์ แต่ก็มีการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน แถมยังไม่ได้เหรียญรางวัลกลับมา หรือทำได้ตามเป้าหมายอีกด้วย

เมื่อดูจากข้างต้นทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่านี่คือการมองเรื่องของเหรียญรางวัลเป็นหลัก เพียงแต่ถ้าลองลงลึกเรื่องของสถิติต่างๆ ที่ได้จากการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้

ก็มีเรื่องดีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

อย่างแรกเลย เมื่อครั้งนี้สามารถส่งนักกีฬากันแบบไม่จำกัด จาก 830 คน ที่ไทยส่งเข้าแข่งขันในครั้งนี้ มีนักกีฬาหน้าใหม่ทั้งสิ้น 563 คน เท่ากับ 67.83 เปอร์เซ็นต์ และจาก 158 คนที่สามารถคว้าเหรียญรางวัลในเอเชี่ยนเกมส์มาครองได้ มีนักกีฬาหน้าใหม่ที่คว้าเหรียญมาได้ถึง 105 คนด้วยกัน ก็เรียกได้ว่ามีคลื่นลูกใหม่อยู่พอสมควร

เอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ เราได้เห็น “ทีเจ” “จาย อังค์สุธาสาวิทย์” หนุ่มลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย วัย 23 ปี ที่โชว์ยกล้อคว้าเหรียญทองในการแข่งขันจักรยานคีรีนชายมาครองได้ หรืออย่างในกีฬากรีฑา ก็ยังมี “โอ๊ต” “ภาสพงศ์ อ่ำสำอาง” ที่ทะยานคว้าเหรียญทองแดงประวัติศาสตร์กระโดดค้ำชาย หรือ “ปาร์ค” “สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์” กับเหรียญทศกรีฑาที่ไม่มีใครทำได้มากว่า 40 ปี

ทั้งกรีฑาและจักรยาน ถือว่าเป็นกีฬาที่มีบรรจุอยู่ในโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนแต่เป็นดาวรุ่งที่ยังสามารถผลักดันไปสู่โอลิมปิกเกมส์กันได้

หรือจะพูดถึงหน้าเก่าๆ ก็ยังมี “ณี” “สุธิยา จิวเฉลิมมิตร” นักยิงเป้าบินสาวไทย ที่สามารถคว้าเหรียญทองในเอเชี่ยนเกมส์ได้เป็นครั้งแรก ที่ถือว่าจะเป็นการปลดล็อกไปสู่โอลิมปิกเกมส์ได้ดี เช่นเดียวกับทีมตบลูกยางสาวไทย ที่ผ่านเข้าชิงได้เป็นหนแรก แม้จะได้เพียงเหรียญเงิน

แต่เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ครั้งนี้สาวๆ อาจจะผ่านเข้าไปเล่นโอลิมปิกเกมส์เป็นหนแรกได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกีฬาที่วัดด้านสถิติ ที่มีในโอลิมปิกเกมส์อย่างกรีฑา, ว่ายน้ำ, ยิงปืน และยกน้ำหนัก เมื่อนำสถิติจากการแข่งขันที่อินโดนีเซียไปลองเทียบกับหนก่อนที่เกาหลีใต้ พบว่าจาก 61 รายการ มีการทำสถิติดีกว่าหนก่อน 38 รายการ หรือคิดเป็น 62.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรายการที่สถิติลดลงนั้นมี 23 รายการ หรือเป็น 37.7 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน

ขณะเดียวกัน หากคนมองว่าครั้งนี้ไทยได้เหรียญน้อยลงนั้น เมื่อลองเทียบชนิดกีฬากันแล้ว มีกีฬาซ้ำจากอินชอนเกมส์ 37 ชนิดด้วยกัน โดยทัพนักกีฬาไทยทำผลงานดีกว่าเดิม 12 ชนิดกีฬา ได้เท่าเดิม 3 ชนิด และเหรียญหายไปจากเดิมอีก 7 ชนิดกีฬา และยังมีถึง 15 ชนิดกีฬาที่ยังไม่ได้เหรียญ ในส่วนกีฬาที่เพิ่มเข้ามาใหม่ 10 ชนิด ไทยทำเหรียญได้ 5 ชนิดด้วยกัน

แล้วจากทั้ง 73 เหรียญที่ไทยทำได้ ถ้านับเหรียญที่มีการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ ไทยจะทำได้ 3 ทอง 10 เงิน และ 28 ทองแดง รวม 41 เหรียญ ก็ถือว่าเกินครึ่งที่ทำมาได้ เพียงแต่ที่น่าห่วงก็คือ จาก 11 ทองที่ทำได้ มีเพียง 3 ทองที่นับเป็นกีฬาในโอลิมปิกเกมส์เท่านั้น

โดยสรุปแล้ว ถ้าจะมองว่านักกีฬาทำผลงานต่ำกว่าเป้าหมายทั้งหมดคงจะไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะจากความล้มเหลวเราก็ยังได้มองเห็นแง่ดีๆ ที่ได้จากเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้

สิ่งหนึ่งที่อยากให้ถือเป็นบทเรียนสำคัญคือเรื่องของการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันแบบที่ไม่มีกฎเกณฑ์ต่างๆ เพราะอยากให้คัดนักกีฬาที่มีความหวังจริงๆ ไปเข้าแข่งขัน แม้ว่าจะมีงบประมาณในการเตรียมตัวที่มากขึ้น แต่ก็ควรนำไปทุ่มให้กับกีฬาที่สำคัญ ที่มีแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ มากกว่าที่จะให้กีฬาที่ไม่มีในโอลิมปิกเกมส์ แถมยังไม่สามารถทำเหรียญได้อีก

และตอนนี้เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปี เท่านั้นสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไทยจะต้องวางแผนในเรื่องของการพัฒนานักกีฬาให้ดี ใครที่ยังผลงานไม่ดี ก็ต้องรีบผลักดันตัวเองขึ้นมา ขณะที่คนที่ดูจะเป็นความหวัง ก็จะต้องต่อยอดการพัฒนาตัวเองไปให้ดีเช่นกัน

เพราะเชื่อว่าถ้าหากสามารถก้าวขึ้นไปทำผลงานในโอลิมปิกเกมส์ได้ดี ก็จะลบความผิดหวังในเอเชี่ยนเกมส์นี้ได้นั่นเอง