จริงตนาการ : แผนแม่บทหักลบคำ “เพ้อเจ้อ” บอลไทยไปบอลโลก มวยไทยในโอลิมปิก

คอลัมน์เขย่าสนาม

สําหรับคอกีฬาชาวไทย มักจะได้ยินคำขายฝันที่ว่า” “อยากเห็นบอลไทยไปบอลโลก”” กับ” “อยากเห็นมวยไทยบรรจุแข่งโอลิมปิก”” ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยู่ในช่วงดำเนินการล่าฝันกันอยู่

ในส่วนของการจะได้เห็นฟุตบอลทีมชาติไทยไปแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายนั้น ได้มีการวางแผนแม่บทพัฒนาฟุตบอลแห่งชาติ ระยะยาว 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เอาไว้แล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะให้ทีม “ช้างศึก” เข้าสู่รอบสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2026 หรือในอีกเกือบ 9 ปีข้างหน้า

ขณะที่มวยไทยบรรจุในโอลิมปิกเกมส์ ตั้งเป้าจะได้เห็นกันในโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพ

ทั้งสองงานเป็นงานยาก และหลายคนที่คิดก็โบกมือลาโปรเจ็กต์เหล่านี้ไปก็เยอะ เพราะต้องใช้เงินมหาศาล ทุ่มเทเวลามากมาย แม้ว่าจะลงเงินลงแรงขนาดไหน ก็ไม่มีใครการันตีว่ามันจะสำเร็จ แต่ยังมีคนหลายคนที่ยังเดินหน้าทำกันอยู่

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเรื่องถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลหลายสมัยให้การสนับสนุน

 

ที่น่าสนใจคือ แผนพัฒนาฟุตบอลแห่งชาติ ระยะยาว 20 ปี ที่คลอดออกมาแล้วนั้น แบ่งแผนออกเป็นฟุตบอลชาย, ฟุตบอลหญิง, ฟุตซอล, ฟุตบอลชายหาด แบ่งระยะเวลาออกเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 5 ปี ปี 2560-2564 เป็นยุควางรากฐาน ปี 2565-2569 ยุคการพัฒนา ปี 2570-2574 ยุคก้าวสู่เวทีโลก ปี 2575-2579 ยุครักษาให้ยั่งยืน

สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การสร้างกระแสความนิยมในกีฬาฟุตบอลทั้ง 4 ประเภท ฟุตบอลชาย, ฟุตบอลหญิง, ฟุตซอล, ฟุตบอลชายหาดให้มากที่สุด ด้วยนิยามว่า “ฟุตบอลเป็นวิถีชีวิตของคนไทย”

โดยฟุตบอลชายทีมชาติไทยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องอยู่ในอันดับ 30 ของโลก ติด 1-5 ของเอเชีย ติดท็อป 100 ของโลกในปีหน้า ผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก ค.ศ.2026 ซึ่งระยะ 5 ปีแรกต้องมีการพัฒนาศูนย์ฝึกเยาวชนรุ่น 13, 16, 19 ปี มีระบบการดูแลทีมชาติไทยที่ดีในทุกชุด รวมตัวฝึกซ้อมช่วงปิดฤดูกาลฟุตบอลลีก เพื่อไปฝึกซ้อม อุ่นเครื่องในต่างประเทศ, ทีมชาติชุดใหญ่ต้องอุ่นเครื่องในช่วงฟีฟ่าเดย์เพื่อขยับอันดับโลก, ส่งเสริมให้นักเตะไทยไปเล่นฟุตบอลอาชีพในลีกดังของเอเชียและยุโรป, ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาพัฒนานักเตะ, ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์คู่แข่ง, พัฒนาระบบการคัดเลือกโค้ชทีมชาติ, ก่อสร้างสนามฟุตบอลแห่งชาติ

ขณะที่อีก 5 ปีต่อมา (2565-2569) ต้องจัดตั้งศูนย์ฝึกเยาวชนให้ครอบคลุม 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพิ่มรุ่นทีมชาติให้ถี่ขึ้น 13, 14, 15, 16, 17, 18, 19, 20, 21, 22, 23 ปี และดันให้นักเตะเยาวชนไปค้าแข้งในลีกใหญ่

ว่ากันมาถึงแผนแม่บทแล้วขอแถมวิธีการและเป้าหมายของฟุตบอลประเภทอื่นๆ ด้วย

ฟุตบอลหญิง 5 ปีแรกต้องมีการสร้างลีกอาชีพที่ได้มาตรฐานและจัดแข่งขันอย่างต่อเนื่อง แบ่งออกเป็นในระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัยและอาชีพ ร่วมมือกับสถานศึกษาในการผลิตนักกีฬา, จัดตั้งศูนย์ฝึกฟุตบอลหญิง, มีระบบจัดการทีมชาติเช่นเดียวกับฟุตบอลชาย ตั้งเป้าให้ทีมอายุไม่เกิน 17, 19 ปี เข้ารอบฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกอย่างสม่ำเสมอ, ยกระดับให้เป็นทีมท็อป 3 เอเชีย และก้าวไปเป็นแชมป์โลก ในปี 2031 เป็นต้นไป

ฟุตซอล ตั้งเป้าเป็นทีมท็อป 5 เอเชีย ติด 1-30 ของโลก ในระยะ 5 ปีแรกต้องเพิ่มประชากรฟุตซอล 50,000 คนต่อปี ฟุตซอลลีกอาลีพของไทยเป็นลีก 1-3 ของเอเชีย โดยต้องมีการแข่งขันลีกชาย 2 ดิวิชั่น รวม 22 ทีม, ลีกหญิง 1 ดิวิชั่น 8 ทีม และลีกเยาวชนหญิง 16 ทีม, จัดตั้งศูนย์ฝึกฟุตซอลแห่งชาติ

ฟุตบอลชายหาด เป้าหมาย 5 ปีแรก ติดท็อป 3 ของเอเชีย และติดท็อป 5 ของโลกในปี 2032 ซึ่งต้องจัดให้มีการแข่งขันลีกให้ได้มาตรฐานเอเชีย รวมทั้งผลักดันให้มีการแข่งขันในระดับเยาวชน ในโรงเรียน ระดับจังหวัดและท้องถิ่น

การได้เล่นรอบสุดท้ายฟุตบอลโลก ค.ศ.2026 นั้น หนึ่งในเหตุผลที่ตั้งเป้าว่าต้องเป็นครั้งนี้ เพราะ “สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ” (ฟีฟ่า) มีโอกาสจะเพิ่มทีมจากเดิม 32 ทีม เป็น 48 ทีม ซึ่งทีมชาติไทยมีโอกาสสูงกว่าเดิมมากที่จะกรุยทางเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 

มาดูที่มวยไทย ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ มามากมาย จนกระทั่งมวยไทยได้รับการรับรองจาก “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล” (ไอโอซี) แล้ว เมื่อปี 2559 และได้รับเงินสนับสนุนจากไอโอซีในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นชนิดกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ควรค่าพอจะบรรจุแข่งขันในกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติในอนาคตจริงๆ

การเดินหน้าผลักดันมวยไทยไปโอลิมปิกต้องใช้หน่วยงานมากมายในการทำงานนี้

ล่าสุด “กระทรวงการต่างประเทศ” เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งจากภาครัฐได้ยื่นมือเข้ามาร่วมผลักดันแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมวยไทยสู่โอลิมปิก โดยประสานงานกับ “การกีฬาแห่งประเทศไทย” (กกท.) และ “สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ” (อิฟม่า) เพื่อร่วมหารือแนวทางการดำเนินงานในด้านต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะการสร้างกระแสสนับสนุนให้ประเทศเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์พิจารณาบรรจุมวยไทยเข้าร่วมการแข่งขันในโปรแกรมโอลิมปิก

แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมวยไทยสู่โอลิมปิก กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศมีส่วนสนับสนุนการผลักดันมวยไทยสู่โอลิมปิกในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่กีฬามวยไทยในต่างประเทศ ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตร หรือชาติสมาชิกมวยไทยของแต่ละประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรไทยด้านมวยไทยไปประกอบอาชีพ ผู้ฝึกสอน และนักมวยไทย ในต่างประเทศ

สำหรับกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเผยแพร่มวยไทยในประเทศต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์วัฒนธรรมไทย รวมทั้งการสาธิตการฝึกสอนมวยไทยที่ถูกต้องให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชากรของโลกทุกประเทศ ซึ่งเป็นผลดีต่อการผลักดันมวยไทย ในการยื่นมือเข้ามาร่วมดำเนินแผนยุทธศาสตร์ฯ ของกระทรวงการต่างประเทศครั้งนี้ ถือว่า เป็นนิมิตหมายใหม่ที่ดี ที่จะทำให้เส้นทางสู่โอลิมปิกของมวยไทยราบรื่นและมีโอกาสยิ่งขึ้น

ความคาดหวังของมวยไทยที่จะบรรจุใน “ปารีสเกมส์” ในอีก 6 ปีกว่าๆ ข้างหน้านั้นถือว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าชาติอื่นๆ เป็นเจ้าภาพ เพราะชาวฝรั่งเศสจำนวนมากชอบมวยไทย มีทั้งโรงเรียนสอนมวยไทย ที่มีคนไทยเป็นโค้ช ไม่ก็เดินทางมาเรียนกันถึงเมืองไทย มีนักมวยไทยอาชีพที่เดินสายต่อยรายการดังๆ มากมาย จุดนี้เองทำให้สมาคมกีฬามวยไทยฯ ยิ้มออก

เหนือสิ่งอื่นใด งานทั้งหมดต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดไม่ควรพับแผน หรือปรับยุทธศาสตร์ให้แกว่งมากนัก เนื่องจากทั้งฟุตบอลและมวยไทยมีแผนที่ชัดเจนไว้แล้ว โดยเฉพาะมวยไทยที่กำลังเดินเข้าใกล้ความสำเร็จอย่างมาก ถ้าแกว่งไปแกว่งมา อาจจะเกิดความเสียหายได้

 

อีกหนึ่งชนิดกีฬาที่มีเป้าหมายในการขยับเข้าใกล้ความเป็นโอลิมปิก สปอร์ตมากขึ้น คือ ตะกร้อ ซึ่งใช้มวยไทยเป็นต้นแบบในการพาตัวเองเข้าไปสู่การรับรองของไอโอซี

แต่เท่าที่ดูยังอีกยาวไกล เพราะตะกร้อไม่ได้รับความสนใจแพร่หลายเท่ามวยไทย ซึ่งก็เป็นกำลังใจให้คนทำงานเรื่องนี้ต่อไป

นอกจากการทำตามฝัน “บอลไทยไปบอลโลก” กับ “มวยไทยไปโอลิมปิก” แล้ว อีกเรื่องที่ใกล้ตัวมาก และควรแก้ให้หายกันก่อน คือ “บอลไทยไปมวยโลก”

ไม่รู้โยงเข้ามาเกี่ยวกันได้ยังไง แต่วิงวอนด้วยความห่วงใยล้วนๆ ขอรับ