สมาคมคณะชาติ : ‘The Conservative Party’ แรก กับการปลุกสำนึกชาวอโยธยาต่อต้านการปฏิวัติ 2475/ My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

สมาคมคณะชาติ

: ‘The Conservative Party’ แรก

กับการปลุกสำนึกชาวอโยธยาต่อต้านการปฏิวัติ 2475

 

31 มกราคม 2476 พระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยามโนปกรณ์ฯ ถึงสมาคมคณะราษฎรว่า “ไม่ทรงโปรดให้มีคณะพรรคการเมืองและทรงให้เลิกคณะราษฎรในฐานะพรรคการเมืองเสีย” (แถลงการณ์เรื่อง พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ, 2478, 41-42)

ด้วยเหตุที่คณะราษฎรจัดตั้งสมาคมคณะราษฎรให้ทำหน้าที่เหมือนพรรคการเมือง มีการรับสมัครสมาชิกอย่างกว้างขวาง การขยายสาขาสมาคมไปทั่วประเทศ พร้อมประกาศนโยบายพรรค แจกจ่ายโลโก้แก่สมาชิก

สร้างความวิตกให้กับกลุ่มอนุรักษนิยมเป็นอันมาก

โหมโรงการเปิดแนวรบ

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 กลุ่มอนุรักษ์ได้ตั้งหนังสือพิมพ์และจ้างนักหนังสือพิมพ์ให้เป็นกระบอกเสียงและสร้างเครือข่ายเพื่อต่อต้านการปฏิวัติด้วย ตั้งแต่การออกทุนตั้งหนังสือพิมพ์สยามหนุ่ม จ้างนายทองอยู่ ทิพาเสถียร สายลับที่ฝังตัวอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์เมื่อครั้งระบอบเก่าเข้าคุมเข็มมุ่งของหนังสือพิมพ์สยามหนุ่ม

ทองอยู่ใช้หนังสือพิมพ์ประสานงานหนังสือพิมพ์อื่นๆ และข้าราชการเพื่อเคลื่อนไหวต่อต้าน ตลอดจนทำหน้าที่สืบข่าวความเคลื่อนไหวของหนังสือพิมพ์ฝ่ายตรงข้าม สืบหานักหนังสือพิมพ์ที่เขียนโจมตีระบอบเก่า และเสียดสีเจ้านาย

ทุกบทความที่เขียนโจมตีคณะราษฎรจะให้ค่าตอบแทนอย่างงาม จากหลักฐานที่พบในหนังสือพิมพ์สยามหนุ่ม ปรากฏบทความของนายหอม นิลรัตน์ นักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงขณะนั้น เขียนบทความเรื่อง “จะจ้วงเอาเงินเจ้า” และ “ไพร่กับเจ้า”

จากนั้น นายหอมได้เขียนบทความเรื่อง “นักการเมืองมีมากเท่าขนวัว แต่รัฐบุรุษเสมอเท่าเขาวัวเท่านั้น” มีเนื้อหาชักชวนให้ประชาชนไม่ให้เลือกผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่มาจาก “คณะราษฎร” ด้วย เป็นต้น

กลอนปลุกใจเหล่า “ชาวกรุงเก่า”

หนังสือพิมพ์สยามหนุ่ม

จากกระแสการก่อตัวของการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษนิยม พวกเขาเริ่มใช้หน้าหนังสือพิมพ์เป็นชนวนปลุกความไม่พอใจให้กับสังคมให้มากขึ้น

ต่อมาหนังสือพิมพ์หญิงไทย หนังสือพิมพ์ฝ่ายอนุรักษนิยม ถูกปิดเนื่องจากให้การสนับสนุนการแจกจ่ายและเผยแพร่เนื้อหาในหนังสือชื่อ “อยุธยานิก” ของ ม.ร.ว.อักษรศิลป์ สิงหรา โดยหนังสือเล่มดังกล่าวพิมพ์ขึ้นเพื่อแจกจ่ายแก่พระราชวงศ์ เนื้อหาภายในมีการพิมพ์ “ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1” ที่โจมตีเจ้านายในวันปฏิวัติ ลงควบคู่กับบทประพันธ์อื่นๆ ในอดีต

ในด้านปลุกเร้าชาวกรุงเก่าให้ต่อต้านการปฏิวัติ 2475 นั้น มีการนำบทประพันธ์ที่กล่าวถึง “เจ้ากับไพร่” ในหนังสือเล่มดังกล่าวพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามหนุ่ม ความว่า

“เราทวยไทยไพร่ฤๅเจ้าเรา ไทยทั่ว มิใช่มัวแก่งแย่งแบ่งพวกเหล่า ลองคิดเถิดเจ้าหรือไพร่ก็ไทยเรา แต่พวกเจ้าถูกด่าน่าอับอาย ใช่เจ้าไทยใฝ่ระแวงแสร้งหาเหตุ พึงสังเกตคำประกาศราษฎร์ทั้งหลาย ฉบับแรกนั้นด่าว่ามากมาย น่าเสียดายกระทำได้ไม่ประมาณ ไทยที่คิดว่า มั่งมีอยู่ที่ไหน ใช่ฉะเภาะเจ้าไซร้ไร้แก่นสาร ไพร่รวยกว่าเจ้าก็มีนี่พยาน ใยประหารเจ้าเท่านั้นเปนฉันใด…” (หนังสือพิมพ์สยามหนุ่ม, 22 ตุลาคม 2475)

ต่อมา ม.ร.ว อักษรศิลป์ ผู้เขียนหนังสือปลุกเร้าสำนึกแห่งชนชั้นถูกจับกุมจากนั้น สมาชิกของ “สมาคมคณะชาติ” ขอประกันตัวให้กับ ม.ร.ว.อักษรศิลป์ การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างหนังสือพิมพ์ กลุ่มอนุรักษนิยม และสมาคมคณะชาติได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีสายลับการแทรกเข้าไปอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์ดังกรณีสายลับรหัส “พ.27” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ วารศัพท์อันเป็นหนังสือพิมพ์ที่ให้การสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย เพื่อหาทางเปลี่ยนทิศทางหนังสือพิมพ์ที่ให้มาสนับสนุนกลุ่มอนุรักษนิยม

ต่อมาหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนประชาธิปไตยฉบับนี้ถูกปิดในต้นเดือนเมษายน 2476 จากการรัฐประหารของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเพื่อหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงรากเหง้าของสังคมสยามจากสมุดปกเหลืองของนายปรีดี พนมยงค์ แล้ว

ต่อมาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้สามารถเปิดใหม่อีกครั้ง โดยสายลับในฐานะบรรณาธิการเข้าเปลี่ยนทิศทางหนังสือพิมพ์มาเป็นกระบอกเสียงและการแก้ข่าวให้กับกลุ่มอนุรักษนิยมแทน

พระยาโทณวณิกมนตรี (วิสุทธิ์ โทณวณิก)

ในระดับการต่อสู้ทางการเมืองนั้น มีการจัดตั้ง “สมาคมคณะชาติ” ในช่วงเดือนมกราคม 2476 ภายหลังการจัดตั้งสมาคมคณะราษฎรไม่นาน โดยมีผู้ยื่นขอจดทะเบียนมาจากกลุ่มอนุรักษนิยม ขุนนาง และพระราชวงศ์ ประกอบด้วยพระยาโทณวณิกมนตรี (วิสุทธิ์ โทณวณิก) นาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) หลุย คีรีวัต หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) และเจ้านายเชื้อพระวงศ์อีกหลายองค์ เนื่องจากพวกเขา มีความคิดเห็นว่า การมีพรรคการเมืองเดียวคือสมาคมคณะราษฎร ไม่ใช่ประชาธิปไตย เมื่อคณะราษฎรจัดตั้งสมาคมโดยมีลักษณะเป็นพรรคการเมือง ประกาศรับสมัครสมาชิกและมีผู้สมัครมากมายได้ กลุ่มอนุรักษนิยมจึงขอตั้งสมาคมคณะชาติขึ้นเช่นกัน เพื่อเป็นสมาคมทางการเมืองของกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับคณะราษฎร

นาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวนิช)

ทั้งนี้ สมาคมคณะชาตินี้ ถูกเรียกว่า พรรคอนุรักษนิยม “The National Party or The Conservative Party” (หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 2543, 93)

สาเหตุการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งสมาคมคณะชาติ เกิดขึ้นจากกลุ่มอนุรักษนิยมเห็นว่า สมาคมคณะราษฎรมีแนวโน้มเป็นฐานทางการเมืองของคณะราษฎร มีการจัดตั้งสาขาสมาคมอย่างกว้างขวางในระดับจังหวัด อำเภอและตำบล ผ่านกลไกระบบราชการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายกสมาคมคณะราษฎรในระดับจังหวัด โดยมีข้าราชการฝ่ายปกครอง ผู้พิพากษา ทหาร ตำรวจและครู นอกจากนี้ สมาคมยังเปิดรับสมาชิกอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ สมาคมคณะราษฎรเปิดรับสมาชิกสมาคมคณะราษฎรเพียง 6 เดือน มีผู้สมัครสมาชิกถึง 10,000 คน ต่อมาในเขตกรุงเทพฯ มีผู้สมาชิกสมัครถือ 60,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นข้าราชการอีกครึ่งเป็นสามัญชน (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2543, 215-216)

ด้วยเหตุที่การสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคมคณะราษฎรจำนวนมากมายขนาดนั้นย่อมสร้างความวิตกให้กับกลุ่มอนุรักษนิยมอย่างมาก จนนำไปสู่การจัดตั้งพรรคการเมืองเข้าแข่งขัน ที่ชื่อ “สมาคมคณะชาติ”

 

สําหรับเบื้องหลังการก่อตั้งและเป้าหมายทางการเมืองของพรรคการเมืองนี้ เติบโตเร็วมากจากการสนับสนุนของเจ้านาย กลุ่มอนุรักษนิยม และเจ้าที่ดินหัวเก่า นโยบายของพรรค คือเชิดชูและรักษาจารีตประเพณี มุ่งเน้นปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองจากนโยบายของคณะราษฎร เนื่องจากพวกเขาไม่พอใจแผนเศรษฐกิจของคณะราษฎรที่จะทำลายผลประโยชน์ของพวกเขา ส่วนทัศนะทางการเมืองของพรรคและผู้สนับสนุนนั้นมีความเห็นตรงกันว่า ประชาชนไม่มีความรับผิดชอบทางการเมือง

ดังนั้น เป้าหมายทางการเมืองของพรรค คือการฟื้นระบอบที่ทำให้พวกเขากลับมามีอำนาจดุจเดิมอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ พรรคคณะชาติ หรือพรรคอนุรักษนิยมนี้ได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการและเจ้าที่ดินอนุรักษนิยมรวมทั้งเหล่าผู้ประกอบการ คนเหล่านี้เป็นพวกกลุ่มผู้จงรักภักดี พวกเขาหาใช่คนสามัญทั่วไปแต่พวกเขาคือ ผู้อยู่ในแวดวงระบบอุปภัมถ์ของเจ้านาย คนเหล่านี้อยู่นอกวงจรอำนาจของคณะราษฎร พวกเขาเป็นผู้อยากหวนกลับคืนสู่วันก่อนคืนเก่าที่พระมหากษัตริย์ทรงอำนาจสูงสุด หรืออย่างน้อยมีเหล่าเจ้านายทรงสนับสนุนให้พวกเขามีอำนาจอย่างที่พวกเขามีความสุขดังอดีตที่ผ่านมา (หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 2543, 90)

อย่างไรก็ตาม การขับเคี่ยวทางการเมืองระหว่างคณะราษฎร-กลุ่มผู้นำใหม่ ที่ต้องการระดมมวลชนปกป้องระบอบใหม่ที่เพิ่งตั้งต้นขึ้น ด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ สมาคมคณะราษฎรจนสำเร็จ กับคณะเจ้า-กลุ่มผู้นำเก่า ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองอย่างฉับพลัน จับจ้องการระดมมวลชนและการขยายสาขาพรรคคณะราษฎรออกไปทั่วประเทศด้วยความวิตก อันทำให้พวกเขาเสนอจัดตั้งพรรคอนุรักษนิยม ชื่อ สมาคมคณะชาติ ขึ้นบ้างเพื่อต่อสู้ทางการเมืองเช่นกัน

แต่การต่อสู้ทางการเมืองภายใต้ระบบพรรคการเมือง 2 พรรคนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หาใช่เป็นเรื่องของสังคมไม่ แต่กลับกลายเป็นเกมการเมือง ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า