เกาะสังเวียนกำปั้นไทยสู่ อลป. ผ่าแผนเตรียมทัพลุยชิงโควต้า

จากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ทัพนักมวยสากลทีมชาติไทยทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวังด้วยการไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับสู่มาตุภูมิได้เลยในรอบ 40 ปี ทำให้ “สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย” ได้บทเรียนครั้งใหญ่ที่ต้องนำไปปรับแก้ไขเพื่อพัฒนาให้ดีกว่าเดิม

ย้อนกลับไป “มวยสากล” เป็นกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัลให้ทัพไทยในโอลิมปิกเกมส์ได้เป็นอันดับ 2 ด้วยการคว้ามาได้ 4 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน และ 6 เหรียญทองแดง เป็นรองเพียงแค่ “ยกน้ำหนัก” ที่โกยได้มากถึง 5 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 7 เหรียญทองแดง แต่กลับทำผลงานตกต่ำในโอลิมปิกเกมส์ครั้งล่าสุด

สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย จึงได้เตรียมแผนการพัฒนานักชกไทยเพื่อไม่ให้ซ้ำรอย ภายใต้การนำของ “บิ๊กบางจาก” พิชัย ชุณหวชิร นายกสมาคมกีฬามวยสากลฯ ที่ได้ระดมสรรพกำลังและทีมงานเตรียมความพร้อมไปสู่เป้าหมายสุดยอดในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

พิชัย ชุณหวชิร นายกสมาคมกีฬามวยสากลฯ


ความเคลื่อนไหวล่าสุดเริ่มมีความเป็นรูปธรรมชัดเจน หลังจากผู้นำวงการกำปั้นไทยประสบความสำเร็จในการได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารชุดใหม่ของ “สหพันธ์มวยสากลนานาชาติ” (ไอบ้า) อย่างเป็นทางการ เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา

การเป็นผู้บริหารในองค์กรมวยสากลระดับโลกอย่าง “ไอบ้า” นั้น เป็นงานอีกด้านหนึ่งนอกเหนือจากงานหลักคือ การเตรียมความพร้อมนักมวยสากลทีมชาติไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกตัวไปสู่รอบสุดท้ายของกีฬาโอลิมปิกเกมส์ “โตเกียวเกมส์ 2020” ที่เป็นแก่นแกนอันแท้จริง

“ไม่ว่าเราจะทุ่มเทมากเท่าใด แต่เงื่อนไขชี้ขาดทั้งหมดย่อมอยู่ที่ตัวนักมวยเองเป็นหลักว่า นักมวยไทยเราดีพร้อมขนาดไหน? เก่งแค่ไหน? เอาชนะคนอื่นได้จริงหรือไม่? นี่คือสิ่งที่สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทยฯ เน้นและให้ความสำคัญที่สุด” พิชัย ชุณหวชิร กล่าว

พิชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้กระบวนการคัดเลือกตัวนักมวยสากลในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ยังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการกลั่นกรองร่วมกัน ระหว่าง “ไอบ้า” กับ “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล” (ไอโอซี) โดยคาดว่าน่าจะประกาศเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

อย่างช้าที่สุด ภายในสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า

แต่ที่แน่นอนแล้วคือ ไอบ้าได้แจ้งโครงสร้างการคัดเลือกตัวเบื้องต้นออกมาแล้ว ตามหลักการของไอโอซีที่กำหนดไว้ทุกประการ สรุปสาระสำคัญหลักๆ โดยนักมวยสากลในโอลิมปิกเกมส์ 2020 จะมีทั้งหมด 286 คน แบ่งเป็น นักมวยชาย 214 คน และนักมวยหญิง 72 คน

“นักมวยชาย” 214 คน ประกอบด้วย การคัดเลือกจากรายการต่างๆ ดังนี้ มวยสากลยกทีม เวิลด์ ซีรี่ส์ (ดับเบิลยูเอสบี) รวม 32 คน, มวยสากลชิงแชมป์โลก 2019 รวม 44 คน, จากรอบคัดเลือกโซนต่างๆ ได้แก่ แอฟริกา 27 คน, อเมริกา 28 คน, เอเชียโอเชียเนีย 27 คน, ยุโรป 28 คน, จากรอบคัดเลือกรอบสุดท้าย เวิลด์ ไฟนอล 15 คน, เจ้าภาพได้สิทธิ 5 คน (ไม่รวมอยู่ในโควต้าเอเชียโอเชียเนีย) และระบบสิทธิพิเศษ 7 คน

การแข่งขันมวยสากลชายจะมี 8 รุ่นน้ำหนัก ดังนี้ รุ่นฟลายเวต 52 ก.ก., รุ่นแบนตั้มเวต 57 ก.ก., รุ่นไลต์เวต 63 ก.ก., รุ่นเวลเตอร์เวต 69 ก.ก., รุ่นมิดเดิลเวต 75 ก.ก., รุ่นไลต์เฮฟวี่เวต 81 ก.ก., รุ่นเฮฟวี่เวต 91 ก.ก. และรุ่นซูเปอร์เฮฟวี่เวต 91 ก.ก.ขึ้นไป โดยได้กำหนดจำนวนนักมวยชายในรอบสุดท้ายแต่ละรุ่นนั้น กำหนดไว้ ดังนี้

รุ่น 52 ก.ก., รุ่น 57 ก.ก., รุ่น 63 ก.ก., รุ่น 69 ก.ก. มีนักมวยรุ่นละ 31 คนเท่ากัน แต่ละรุ่นประกอบด้วย นักมวยจากรอบคัดเลือกแต่ละรายการ ดังนี้ ดับเบิลยูเอสบี 4 คน, ชิงแชมป์โลก 8 คน, เวิลด์ ไฟนอล 2 คน, เจ้าภาพหรือสิทธิพิเศษ 1 คน และตัวแทนทวีป 16 คน โดยเอเชียโอเชียเนียได้โควต้า 4 คน

รุ่น 75 ก.ก. มีนักมวย 27 คน ประกอบด้วย ดับเบิลยูเอสบี 4 คน, ชิงแชมป์โลก 4 คน, เวิลด์ ไฟนอล 2 คน, เจ้าภาพหรือสิทธิพิเศษ 1 คน และตัวแทนทวีป 16 คน โดยเอเชียโอเชียเนียได้โควต้า 4 คน

รุ่น 81 ก.ก. มีนักมวย 25 คน ประกอบด้วย ดับเบิลยูเอสบี 4 คน, ชิงแชมป์โลก 4 คน, เวิลด์ ไฟนอล 2 คน, เจ้าภาพหรือสิทธิพิเศษ 1 คน และตัวแทนทวีป 14 คน โดยเอเชียโอเชียเนียได้โควต้า 3 คน

รุ่น 91 ก.ก. มีนักมวย 17 คน ประกอบด้วย ดับเบิลยูเอสบี 4 คน, ชิงแชมป์โลก 2 คน, เวิลด์ ไฟนอล 2 คน, เจ้าภาพหรือสิทธิพิเศษ 1 คน และตัวแทนทวีป 8 คน โดยเอเชียโอเชียเนียได้โควต้า 2 คน

รุ่น 91 ก.ก.ขึ้นไป มีนักมวย 16 คน ประกอบด้วย ดับเบิลยูเอสบี 4 คน, ชิงแชมป์โลก 2 คน, เวิลด์ ไฟนอล 2 คน และตัวแทนทวีป 8 คน โดยเอเชียโอเชียเนียได้โควต้า 2 คน

ขณะที่ “นักมวยหญิง” ทั้งหมด 72 คนนั้น ประกอบด้วย การคัดเลือกจากรายการต่างๆ ดังนี้ มวยสากลชิงแชมป์โลก 2019 รวม 18 คน, รอบคัดเลือกโซนต่างๆ ดังนี้ แอฟริกา 10 คน, อเมริกา 13 คน, เอเชียโอเชียเนีย 13 คน, ยุโรป 13 คน, เจ้าภาพได้สิทธิ 2 คน (รวมอยู่ในโควต้าเอเชียโอเชียเนีย) และระบบสิทธิพิเศษ 5 คน

การแข่งขันมวยหญิงจะมี 5 รุ่นน้ำหนัก ดังนี้ รุ่นฟลายเวต 48-51 ก.ก., รุ่นเฟเธอร์เวต 57 ก.ก., รุ่นไลต์เวต 60 ก.ก., รุ่นเวลเตอร์เวต 69 ก.ก. และรุ่นมิดเดิลเวต 75 ก.ก. โดยได้กำหนดจำนวนนักมวยหญิงในรอบสุดท้ายแต่ละรุ่นนั้นไว้ดังนี้

รุ่น 51 ก.ก., รุ่น 60 ก.ก., รุ่น 75 ก.ก. มีนักมวยรุ่นละ 16 คน ประกอบด้วย ชิงแชมป์โลก 4 คน, เจ้าภาพหรือสิทธิพิเศษ 1 คน, ตัวแทนทวีป 11 คน โดยเอเชียโอเชียเนียได้โควต้า 3 คน

รุ่น 57 ก.ก., รุ่น 69 ก.ก. มีนักมวยรุ่นละ 12 คน ประกอบด้วย ชิงแชมป์โลก 3 คน, เจ้าภาพหรือสิทธิพิเศษ 1 คน, ตัวแทนทวีป 8 คน โดยเอเชียโอเชียเนียได้โควต้า 2 คน

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลเบื้องต้นถือเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมของทัพมวยสากลทีมชาติไทยไปสู่เป้าหมายด่านแรกคือ การคว้าโควต้าไปสู่โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ให้ได้จำนวนมากที่สุด

ซึ่งถือเป็นการบ้านที่สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทยฯ จะต้องวางแผนให้ดีที่สุด

อีกทั้งผู้นำอย่าง “พิชัย ชุณหวชิร” นายกสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารชุดใหม่ของไอบ้าก็คงจะต้อง “วัดพลัง” กันดูว่าจะสามารถมีส่วนช่วยผลักดันให้กำปั้นไทยได้มีโอกาสก้าวขึ้นไปบนสังเวียนโตเกียวเกมส์ 2020 ได้มากน้อยเพียงใด?

เพราะต้องอย่าลืมว่า วงการมวยสากลของไทยล้มเหลวในรอบ 40 ปี จากการเข้าร่วมชิงชัยในโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่ผ่านมา ดังนั้น ในศึกโอลิมปิกเกมส์ครั้งต่อไปจึงจำเป็นที่จะต้องกระชากเหรียญรางวัลกลับคืนมาให้ได้อีกครั้งเพียงแค่สถานเดียวเท่านั้นจึงจะถือว่าทำผลงานได้ดีขึ้น!

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคว้าเหรียญทองที่ทีมกำปั้นไทยห่างเหินไปนานกว่า 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่ครั้งล่าสุดที่ “น้อย” “สมจิตร จงจอหอ” เคยคว้าเหรียญทองได้ในศึกโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน จากนั้นกำปั้นไทยก็ขยับมาเหลือแค่เหรียญเงิน และไร้เหรียญติดมืออย่างไม่น่าเชื่อ

…ต้องจับตามองกันชนิดติดขอบสังเวียนว่า กีฬาความหวังอย่างมวยสากลจะกลับมาประสบความสำเร็จในโอลิมปิกเกมส์อีกครั้งได้หรือไม่?

เพราะถือว่าเป็นชนิดกีฬาความหวังที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานต่อเนื่องในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ!