คุยกับทูต | แพทริก เบิร์น ความเป็นไอริช ประเทศไอร์แลนด์… ที่ไม่ใช่ ไอซ์แลนด์ (3)

คุยกับทูต | แพทริก เบิร์น ความเป็นไอริช ประเทศไอร์แลนด์… ที่ไม่ใช่ ไอซ์แลนด์ (3)

 

มาถึงปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไอร์แลนด์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังเฟื่องฟู

นายแพทริก (แพท) เบิร์น (H.E. Mr. Patrick Pat Bourne) เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทยมีคำตอบว่า

“ไอร์แลนด์เป็นสังคมแห่งการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นบทกวี หนังสือ ละคร หรือเพลง เพราะเราชอบที่จะบอกเล่าเรื่องราวและให้ความบันเทิงแก่ผู้คน ความสำเร็จในปัจจุบันของเราด้านภาพยนตร์และทีวีจึงเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยดังกล่าว”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลของเรามีส่วนร่วมในการหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยการลดหย่อนภาษีพิเศษสำหรับผู้ที่เลี้ยงชีพด้วยศิลปะและวัฒนธรรม”

กระทรวงอุตสาหกรรมให้แนวคิดของ “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” ว่า คือกระบวนการหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้พื้นฐานของสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม (Cultural Asset – Based) ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) นวัตกรรม (Innovation) หรือเทคโนโลยี ในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ (Commercialization) หรือคุณค่าเพิ่มทางสังคมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

“นอกจากนี้ เรายังให้สิ่งจูงใจแก่ผู้สร้างนานาชาติเพื่อให้มาใช้ไอร์แลนด์เป็นสถานที่ถ่ายทำ จากประสบการณ์ของเราชี้ให้เห็นว่าผู้สร้างภาพยนตร์อย่าง Steven Spielberg และทีมงานที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ Star Wars และ Game of Thrones ไม่ได้พบว่าค่าใช้จ่ายเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ”

“ข้อได้เปรียบที่แท้จริง คือความสวยงามตามธรรมชาติที่โดดเด่นของไอร์แลนด์ ประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่และยาวนาน ที่รวมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวไอริช ไม่ว่าจะเป็นดนตรี อาหารพื้นเมือง จนไปถึงตำนานและความเชื่อต่างๆ ในท้องถิ่นที่มีอยู่มากมาย”

นายแพทริก หรือ แพท เบิร์น เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

ประเทศไอร์แลนด์ได้กลายเป็น “เมืองหลวงของการสร้างภาพยนตร์” (a capital of filmmaking) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไอร์แลนด์สร้างตัวเองให้เป็น “สภาพแวดล้อมการผลิตที่น่าดึงดูดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” ด้วยแรงจูงใจทางภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุนมาตรา 481 รวมทั้งนักเขียนและผู้กำกับฯ มากความสามารถ ผู้ผลิต นักแสดง และทีมงานที่ไอร์แลนด์มีให้ (จาก FísÉireann/Screen Ireland)

ทางด้านวัฒนธรรม ไอร์แลนด์มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตำนาน วรรณคดี ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ ภาษา อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งก็ได้สร้างความประทับใจอย่างลึกซึ้งในประเทศไทยเช่นกัน สถานทูตมีการเตรียมจัดกิจกรรมสาธารณะและการเฉลิมฉลองวันเซนต์แพทริกในปีนี้อย่างไรบ้าง

“ผมขอขอบคุณที่กรุณากล่าวเช่นนั้น เพราะเรามีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของเราเป็นอย่างมาก ผมมั่นใจว่า เราจะนำมาเสนอเพื่อให้คนไทยมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

นายแพทริก (แพท) เบิร์น (H.E. Mr. Patrick Pat Bourne) เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวถึงวัฒนธรรมไอริชซึ่งมีมากมาย หลากหลายด้าน

“เราภูมิใจในนักเขียนและกวีของเรามาก ประเทศไอร์แลนด์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมมากกว่าประเทศอื่นๆ จากความสำเร็จของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ตัวอย่าง วิลเลียม บัตเลอร์ เยตส์ (William Butler Yeats) หรือ ดับเบิลยู. บี. เยตส์ (W. B. Yeats) และเชมัส ฮีนีย์ (Seamus Heaney) และสำหรับเจมส์ จอยซ์ (James Joyce) ที่อาจมีชื่อเสียงยิ่งไปกว่าเพราะนวนิยายของเขาคือเรื่อง ยูลิสซีส (Ulysses) มักถูกอ้างถึงว่าเป็นนวนิยายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเขียนมา”

นายแพทริก หรือ แพท เบิร์น เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

“นอกจากนี้ เรายังภูมิใจในดนตรีและการเต้นรำแบบดั้งเดิมของเราซึ่งโด่งดังไปทั่วโลกนั่นคือ The Riverdance show”

“และนับเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะในปีนี้ เราจะได้ต้อนรับวงไอริช Westlife สู่ประเทศไทยในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทัวร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของพวกเขา”

“ส่วนวันที่ผมตั้งหน้าตั้งตารออีกวัน คือวันเซนต์แพทริก 17 มีนาคมนี้ ไอร์แลนด์มีประเพณีในการจุดไฟประดับประดา ณ สถานที่สำคัญและอาคารที่มีชื่อเสียงทั่วโลกด้วยสีเขียวไอริช และเรามีแผนที่จะทำเช่นนั้นอีกครั้งในปีนี้ ทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่”

“นอกจากนี้ จะมีงานกาล่าเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษที่จัดโดย St Patricks Society of Thailand โดยจะมีแขกเหรื่อเข้าร่วมมากกว่า 500 คน ในขณะที่สถานเอกอัครราชทูต ก็จะจัดงานเลี้ยงฉลองวันชาติของเราในจำนวนที่ใกล้เคียงกันด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เรายังจะได้เห็นการเดินขบวนพาเหรดวันเซนต์แพทริกที่พัทยาอีกครั้งจัดโดยชุมชนชาวไอริชที่นั่น”

เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

วันเซนต์แพทริก ตรงกับวันที่ 17 มีนาคมของทุกปี เป็นวันชาติของไอร์แลนด์ และเป็นวันหยุดทางศาสนาของชาวไอริช เพื่อเป็นการรำลึกถึงนักบุญคนสำคัญของไอร์แลนด์คือ นักบุญแพทริก ซึ่งนอกจากจะเป็นเทศกาลที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมไอริชได้ดีที่สุดแล้ว ยังเป็นการเฉลิมฉลองที่เชื่อมโยงชาวไอริชและและผู้ไม่ใช่ชาวไอริชทั่วทุกมุมโลกให้รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกด้วย

ในวันเซนต์แพทริก มีสัญลักษณ์มากมายที่สื่อถึงความสำคัญของวันนี้ ไม่เพียงแค่สีเขียวที่เป็นสัญลักษณ์เด่นของวันนี้ที่ผู้เฉลิมฉลองจะใส่ชุดสีเขียวกันทั่วทั้งประเทศ แต่ยังมีสัญลักษณ์อื่นๆ อีก ได้แก่ เล็ปพระคอน (Leprechaun) ภูตแคระที่ใส่สูทและหมวกสีเขียวในเทพนิยายของชาวไอริช, โคลเวอร์ (Clover) หรือ แชมร็อก (Shamrock) พันธุ์ไม้โบราณประจำชาติของไอร์แลนด์ โดยทั่วไป ใบของต้นโคลเวอร์ หรือแชมร็อก จะมี 3 กลีบ แต่หากใครสามารถพบแบบ 4 กลีบ ถือได้ว่ามีโชคดีมากที่สุด เพราะหลายๆ คนอาจพบเพียงครั้งเดียวในชีวิตก็ว่าได้ ถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีเรื่องเล่าขานกันมากมายมาตั้งแต่ยุคโบราณ

“ไอร์แลนด์เป็นที่รู้จักกันในนามเกาะมรกต (The Emerald Isle) นี่เป็นเพราะประเทศของเรามีความเขียวขจีปกคลุมด้วยพื้นที่เพาะปลูกชนบทและป่าไม้เป็นหลัก เรียกอีกอย่างว่า ‘ดินแดนแห่งสีเขียว 40 เฉด’ (The Land of 40 Shades of Green) เนื่องจากสีเขียวมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับเกาะของเรา เราจึงสนับสนุนให้ผู้คนสวมใส่สีเขียวในวันเซนต์แพทริกซึ่งเป็นวันชาติของเรา ในวันที่ 17 มีนาคม”

“หลังจากวันเซนต์แพทริก ไม่กี่วันต่อมาคือวันที่ 24 มีนาคม เราจะจัดฉายภาพยนตร์ไอริชที่น่าทึ่งเรื่องหนึ่งชื่อ ‘The Girl from Mogadishu’ ร่วมกับโรงแรม Amari Watergate”

“นอกจากนี้ เราจะมีโอกาสได้ต้อนรับรัฐมนตรีจากไอร์แลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ St. Patrick’s Day โดยรวม”

“ส่วนการฉลองวรรณกรรมไอริชจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนที่เกี่ยวข้องกับนวนิยายไอริชที่โด่งดังที่สุดเรื่อง ยูลิสซีส (Ulysses) โดยเจมส์ จอยซ์ (James Joyce)”

ท่านทูตแพทกับภริยา ที่กรุงเทพฯ

ท่านทูตแพทเสริมว่า

“จากนั้นในปีต่อไป เราจะนำการแสดงดนตรีและการเต้นรำมาที่นี่ ซึ่งรวมถึงการจัดเทศกาลภาพยนตร์ไอริชประจำปีของเราด้วย”

“แน่นอนว่า จะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย แต่สนุก!” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin