โศกนาฏกรรม ‘ตุรกี-ปากีฯ’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
(Photo by Omar HAJ KADOUR / AFP)

ภาพความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ในประเทศตุรกี หรือชื่อใหม่ “ตุรเคีย” และประเทศซีเรียในช่วงเช้าตรู่วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผู้คนทั่วโลกเห็นแล้วตื่นตระหนกตกใจ เป็นภาพตึกสูงที่สั่นคลอนด้วยแรงเขย่าของพื้นพลังพสุธาแล้วล้มครืนต่อหน้าต่อตา อาคารนับร้อยๆ หลังทรุดพังพาบราบเป็นหน้ากลอง ผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 33,000 คน

มีการตั้งคำถามทำไมตึกสูงใหญ่ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่นานจึงล้มพับเหมือนลังกระดาษ ทั้งๆ ที่ตึกเหล่านี้พากันโฆษณาว่าการก่อสร้างเป็นไปตามข้อกฎหมายการก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว

ตุรกีตั้งอยู่บนแนวแผ่นดินไหว เคยเกิดแผ่นดินไหวมาหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2542 มีผู้เสียชีวิต 17,000 คน จึงมีเสียงเรียกร้องปรับปรุงกฎหมายก่อสร้างอาคารป้องกันความเสี่ยงจากเหตุแผ่นดินไหวอย่างเข้มข้น

ปรากฏว่า การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ เจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่น ปล่อยให้เอกชนละเมิดกฎหมายกันสนุกสนาน แถมในเวลาต่อมาประกาศนิรโทษกรรมให้กับอาคารก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน

AFP

การประกาศนิรโทษกรรมดังกล่าวมีผลให้อาคารกว่า 75,000 หลังที่อยู่ในเขตแผ่นดินไหวครั้งนี้ได้ประโยชน์ และอาคารอื่นๆ นอกจุดเกิดแผ่นดินไหวอีกกว่า 13 ล้านหลังก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานก็พลอยได้ประโยชน์ไปด้วย

แต่ประโยชน์ที่ได้จากการนิรโทษกรรมกลับส่งผลลัพธ์ด้วยโศกนาฏกรรมจากเหตุแผ่นดินไหว เพราะมีคนตายนับหมื่นชีวิต

มาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างอาคารของตุรกีเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในแถบเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวอย่างเช่น ญี่ปุ่น ซึ่งมีกฎหมายควบคุมการก่อสร้างเข้มงวดเพื่อป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวญี่ปุ่น เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน

ในมุมเศรษฐกิจตุรกีตกต่ำมาหลายปี เงินเฟ้อเคยพุ่งทะลุถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ค่าเงินลดลงกว่าครึ่ง ผู้คนเผชิญกับความยากลำบากเพราะข้าวยากหมากแพง มาคราวนี้มาเจอวิกฤตแผ่นดินไหวซึ่งเป็นภัยธรรมชาติกระหน่ำอีกระลอก

ตุรกีจึงเหมือนตกอยู่ในภาวะทุกข์ซ้ำกรรมซัด

AFP

หันไปดู “ปากีสถาน” ซึ่งเจอวิกฤติภัยจากเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ทำให้พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศจมอยู่ใต้บาดาล มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,700 คน อึก 8 ล้านคนมีชีวิตเคว้งคว้างไร้ที่อยู่ อดมื้อกินมื้อ บ้าน 2 ล้านหลังพังพินาศ ถนน 13,000 กิโลเมตรทรุด พื้นที่เกษตร 162 ตารางกิโลเมตรอยู่ในน้ำ

ประเมินความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 2.2% ของจึดีพี เงินเฟ้อทะลุ 27% มีคนจนเพิ่มขึ้นจากเหตุน้ำท่วม 9 ล้านคน เวลานี้ รัฐบาลปากีสถานต้องร้องขอให้กองทุนไอเอ็มเอฟเร่งช่วยเหลือฟื้นฟูให้พ้นจากภาวะล้มละลายด้วยเงินกู้ขั้นต่ำ 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

สาเหตุที่เกิดน้ำท่วมหนักในปากีสถาน เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้ปริมาณฝนที่ตกลงมามากเกินกว่าปกติ 450% น้ำจึงเอ่อท่วมทุกหนแห่ง ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนตลอดทั้งปี 2565 สูงถึง 30 เท่าของค่าเฉลี่ยปกติ

ก่อนหน้าเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ ปากีสถานเจอคลื่นความร้อนกระหน่ำ

ปากีสถานเป็น 1 ในประเทศที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงจากภาวะโลกร้อน ทั้งๆ ที่ประเทศนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกไม่ถึง 1% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจากที่ปล่อยจากทั่วโลก แต่กลับต้องมาเป็นเหยื่อโลกร้อน

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ ปากีสถานเจอทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ข้อมูลภัยพิบัติที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2469-2533 มีจำนวน 16 ครั้ง แต่ในระหว่างปี 2534-2565 เพิ่มจำนวนเป็น 105 ครั้ง

อุณหภูมิเฉลี่ยของปากีสถานตลอดทั้งปี เพิ่มขึ้น 1.68 องศาเซลเซียส ในระหว่างปี 2454-2564 มากกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกซึ่งเพิ่มขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส

นักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน สถิติคลื่นความร้อน ข้อมูลการไหลเวียนของอากาศและความชื้นมาวิเคราะห์พบว่า เมื่ออุณหภูมิผิวโลกร้อนขึ้น ระบบความชื้นเปลี่ยนแปลง มีผลต่อการไหลเวียนของกระแสลม ในชั้นบรรยากาศโลก ไม่เพียงจะทำให้เกิดคลื่นร้อนรุนแรง ฝนตกหนัก หรืออากาศเย็นจัดเท่านั้น

หากสภาพภูมิอากาศโลกเพิ่มระดับความแปรปรวนมากขึ้นกว่าในอดีต

 

ประเมินว่า ปากีสถานต้องเจอกับวิกฤตภัยที่มาจากภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เศรษฐกิจทรุดลงทุกปีเช่นกัน เนื่องจากภัยน้ำท่วม คลื่นความร้อน ภัยแล้งดังกล่าวนั้นจะทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย บ้านเรือนทรัพย์สินพังพินาศ คนไม่มีกิน เด็กๆ ไร้ที่เรียน สุขภาพย่ำแย่ขาดสารอาหาร เงินเฟ้อพุ่ง น้ำมัน ก๊าซและข้าวของแพง

นักวิจัยเข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เกษตรกรรมของปากีสถานพบว่า ชาวไร่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก ผลผลิตตกต่ำเนื่องจากความวิปริตของอากาศทำให้ผลส้มมีปริมาณลดลง 1 ใน 3 ของผลผลิตในอดีต เมื่อผลผลิตลดลง รายได้เกษตรกรลดลงด้วย

เกษตรกรชาวปากีสถานพูดเหมือนๆ กันว่า อากาศแปรปรวนมากขึ้น เช่น เมื่อก่อนนี้ในเดือนพฤษภาคม มีพายุฝนเกิดขึ้นน้อยมาก แต่เวลานี้กลับมีฝนตกหนักทั้งที่ไม่ใช่เป็นหน้าฝน ฝนทำลายดอกฝ้ายเสียหาย ผลผลิตฝ้ายลดวูบหรือมีเหตุประหลาด อย่างมีพายุลูกเห็บขนาดโตเท่ากับลูกเทนนิส ถล่มใส่พืชไร่และบ้านเรือน หรือเกิดเหตุคลื่นความร้อนทำให้ช่อดอกมะม่วงฝ่อตาย ต้นอ้อยเฉา

ชาวไร่ชาวนาในพื้นที่แคว้นปัญจาบและสินธุ เป็นเขตเกษตกรรมสำคัญของปากีสถาน ตั้งข้อสงสัยภูมิอากาศทำไมจึงเปลี่ยนแปลงแปรปรวนเช่นนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลเผยแพร่ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แม่นยำรวดเร็วขึ้นเพื่อรับมือได้ทันท่วงที

ถ้าปากีสถานไม่ได้รับการช่วยเหลือและวางมาตรการรับมือกับวิกฤตภัยโลกร้อน ภายในปี 2593 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของปากีสถานหรือจีดีพีจะทรุดลงเฉลี่ย 18-20%

หลังเกิดโศกนาฏกรรมน้ำท่วมใหญ่ “บิลาวาล บุตโต ซาร์ดารี” รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถาน ได้ตั้งคำถามผ่านสื่อว่า ทำไมชาวปากีสถานต้องกลายเป็นผู้รับเคราะห์กรรมจากผลของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

คำถามของ “ซาร์ดารี” ไม่มีเสียงตอบรับจากประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่ปล่อยก๊าซพิษมากที่สุดในโลก •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]