สมุนไพรมหิดล : ‘บัวหิมะ’ คือบัวหรือไม่ใช่บัว

มิตรรักแฟนพันธุ์แท้ที่ติดตามกันมาตลอด ย่อมได้รับรู้ถึงคุณประโยชน์อเนกอนันต์ของบัวหลวง ซึ่งถือได้ว่าเป็นยอดยาสมุนไพรของไทยไปบ้างแล้วในคอลัมน์นี้ สำหรับเทศกาลวันวิสาขบูชาที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกมาได้หลายปีเช่นนี้ จึงขอชวนคนไทยรู้จักบัวอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยจำนวนมาก เมื่อไปท่องเที่ยวในประเทศจีน หรือเรียกชื่อเต็มๆ ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน (ไม่ใช่จีนไต้หวันนะ) มักหาซื้อ “บัวหิมะ” มาใช้หรือเป็นของฝากแทบทุกทัวร์

หลายท่านเข้าใจผิดคิดว่าบัวหิมะ เป็นบัวชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ตามหนองน้ำ บึง หรือสระน้ำในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นและมีหิมะปกคลุมอยู่ แท้จริงแล้ว บัวหิมะไม่ใช่พืชกลุ่มบัว เพราะพืชที่อยู่ในกลุ่มบัวจริงๆ มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ บัวหลวง ซึ่งอยู่ในวงศ์ Nelumbonaceae ส่วนบัวสายอยู่ในวงศ์ Nymphaeaceae

สำหรับบัวหิมะเป็นอะไรแน่ ขอแยกแยะจากการนำมาใช้หรือที่คนไทยนิยมนำมาใช้ ซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ 1 บัวหิมะที่เป็นครีมสีขาวเหลือบมุก ครีมชนิดนี้มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า “เป่า ฟู่ หลิง” (Bao Fu Ling) เข้าใจว่าคนแรกๆ ที่เห็นชื่อนี้สะกดในภาษาอังกฤษว่า “Bao” จึงออกเสียงเรียกในภาษาไทยว่า “บัว” และเนื่องจากเนื้อครีมมีสีขาวจึงเรียกเป็นภาษาไทยว่า “บัวหิมะ” ทั้งๆ ที่ส่วนประกอบไม่ได้มีบัว หรือพืชที่เรียกว่าบัวหิมะจริงๆ เป็นส่วนผสมอยู่เลย

ครีมที่เรียกว่าบัวหิมะนี้มีส่วนผสมของผงไข่มุก โสม นิ่วในถุงน้ำดีวัว ชะมดเช็ด ว่านหางจระเข้ การบูร วาสลีน โดยเฉพาะโสม ต้องเป็นโสมป่า มีสรรพคุณในการรักษาบาดแผลต่างๆ โดยเฉพาะแผลไฟไหม้

บัวหิมะชนิดครีมสีขาวนี้โด่งดังในไทยครั้งแรก เมื่อมีเหตุการณ์การกระเบิดของรถบรรทุกแก๊สที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่เมื่อในปี 2533 และมีหมอยาจีนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟลวก โดยการใช้ครีมบัวหิมะรักษา โชดดีที่ช่วงสงกรานต์รถแก๊สคันโตไม่ระเบิดไม่เช่นนั้นยังสงสัยอยู่ว่า บัวหิมะจะเอาอยู่หรือไม่?

รูปแบบที่ 2 บัวหิมะเป็นพืชแต่อยู่ในวงศ์ Compositae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับต้นหนาด เนื่องจากมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Snow lotus ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยจึงมีการแปลแบบตรงตัวว่า “บัวหิมะ” พืชต้นนี้มีกลีบรองดอกที่ห่อหุ้มตัวดอกอยู่มีรูปร่างคล้ายกลีบบัว จึงเรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า lotus หรือบัวนั่นเอง พืชชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saussurea involucrata เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในที่สูงกว่า 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ส่วนแพทย์แผนจีนใช้ส่วนของดอกและลำต้นในการรักษาโรคไขข้อ และอาการไอเนื่องมาจากร่างกายถูกกระทบจากความหนาวเย็น แก้โรคกระเพาะ ท้องเดิน และโรคที่เกิดเนื่องจากอยู่ในที่สูง นอกจากนี้ พบว่ายังมีการใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ยาทำแท้ง ยาต่อต้านมะเร็งและยาต่อต้านการปวดเมื่อย

จากการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์พบว่า สมุนไพรชนิดนี้เมื่อสกัดโดยใช้แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบันชื่อ อินโดเมทาซิน (indomethacin) ซึ่งใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ปวดและบวม จึงเห็นได้ว่า ครีมบัวหิมะที่ใช้ทารักษาบาดแผลจากไฟไหม้ไม่ได้มีส่วนผสมของสมุนไพรชนิดนี้อยู่เลย

อย่างไรก็ตาม พืชชนิดนี้มีการนำมาใช้กันมากในยาแผนโบราณ ทำให้บัวหิมะชนิดนี้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในขณะนี้ทางรัฐบาลจีนจึงมีการจำกัดการใช้และอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ในห้องปฎิบัติการ

รูปแบบที่ 3 บัวหิมะชนิดที่ไม่ได้เป็นพืช แต่เป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มแบคทีเรียและยีสต์ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน เกาะเกี่ยวกันด้วยโปรตีน ไขมันและน้ำตาล ทำให้มีรูปร่างเป็นเม็ดหลายๆ เม็ดมารวมตัวกันจนมีรูปร่างหน้าตาเหมือนดอกกล่ำ บัวหิมะชนิดนี้บางที่เรียกว่า “บัวหิมะทิเบต” ซึ่งใช้ในการผลิตนมเปรี้ยว ตามภูมิปัญญาดั้งเดิม

โดยการนำนมแพะมาใส่ไว้ในถุงที่ทำมาจากกระเพาะสัตว์ แล้วใส่เม็ดบัวหิมะลงไป นำไปแขวนไว้ที่ประตูหน้าบ้าน พอคนเดินเข้าออกหัวก็จะไปชนถุงนมนี้ เหมือนเป็นการเขย่าทำให้เม็ดบัวหิมะผสมกับนมได้เป็นอย่างดีจนกลายเป็นนมเปรี้ยว ใช้ดื่มเป็นอาหารสุขภาพ

ในปัจจุบันนิยมดื่มนมเปรี้ยวกันมาก แต่นมเปรี้ยวทั่วไปยังมีแอลกอฮอล์เกิดขึ้นด้วย ประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ แต่นมเปรี้ยวที่ทำจากเม็ดบัวหิมะจะมีรสเปรี้ยวและซ่าเพราะมีคาร์บอเนตเกิดขึ้นในระหว่างการหมัก และนมเปรี้ยวที่ผลิตจากเม็ดบัวหิมะมีแอลกอฮอล์ผสมไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ เนื่องมาจากเวลาน้อยกว่าในการหมักนม

ความรู้นี้น่าจะให้ชาวไทยตาสว่างเข้าใจบัวหิมะได้ท่องแท้ขึ้น การเรียกชื่อเดียวกันคำว่าบัวหิมะ ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งเดียวกัน และก็ไม่ใช่บัวในความคิดแบบไทยๆ ด้วย การเรียนรู้บัวหิมะ พอจะเป็นธรรมะให้เราได้คิดในเทศกาลวิสาขบูชาได้บ้างหรือไม่?