“โอบามา-ทรัมป์” กับ นโยบายความมั่นคงทางพลังงานของสหรัฐฯ ปี2011

ปี2011 นับได้ว่าเป็นปีพิเศษปีหนึ่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลายอย่างในสหรัฐและทั้งโลก

มีส่วนขับเคลื่อนให้สถานการณ์ทั้งหลายรวมทั้งที่เกี่ยวกับพลังงาน

ให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่

1.ในสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญ ได้แก่

ก) การถอนทหารจากอิรัก โดยโอบามาเห็นว่า สงครามในอิรักเป็นสงครามที่เลือกทำเอง และไม่เป็นที่นิยม มีความจำเป็นน้อยกว่าสงครามในอัฟกานิสถานเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ดังนั้น ขณะที่ปรับลดกองกำลังในอิรัก ก็ปรับเพิ่มในอัฟกานิสถาน การลดกำลังในอิรัก ทำให้กลุ่มก่อการร้าย เช่น อัลไอด้า และที่สำคัญคือกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส หรือ ไอซิส) ที่ใช้ความรุนแรง และมีกำลังรบสูงกว่า เข้ามาแทรกในช่องว่างของอำนาจ และยึดพื้นที่ในอิรักได้เป็นบริเวณกว้างรวมทั้งโมซุลอันเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับสองของอิรัก

ส่วนการเพิ่มกำลังในอัฟกานิสถานก็ไม่ช่วยการปราบกลุ่มตาลิบันให้ราบคาบไป

การสู้รบบานปลายเข้าสู่ปากีสถาน มีการใช้โดรนสังหารอย่างกว้างขวาง จนถึงใช้หน่วยรบพิเศษซีลของสหรัฐบุกเข้าไปสังหาร บิน ลาดิน ได้ในต้นเดือนพฤษภาคม เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้นำและฝ่ายทหารปากีสถาน

แต่กลุ่มอัลไคด้าก็ไม่สูญสลายไป เครือข่ายของกลุ่มนี้ยังคงปฏิบัติการอย่างกว้างขวางทั่วตะวันออกกลาง

ข) นโยบายปักหลักเอเชีย เพื่อสกัดกั้นการรุ่งขึ้นของจีน ไม่ให้เป็นอันตรายต่อสหรัฐมากเกินไป ซึ่งมีหลายด้าน

ทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การทำข้อตกลงหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก รวม 12 ประเทศในทวีปอเมริกา เอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ (ร่วมลงนามต้นกุมภาพันธ์ 2016)

ทางด้านการทหาร ใช้การอ้างเสรีภาพทางการเดินเรือเข้ามาแทรกแซงในย่านทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ของจีน ทางด้านการทูต หนุนประเทศที่มีข้อพิพาทกับจีนเกี่ยวกับเกาะในทะเลจีนใต้ นโยบายนี้เผชิญกับอุปสรรคใหญ่ เมื่อฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โรดริโก ดูแตร์เต ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งในเดือนมิถุนายนนี้ ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองที่จะ “แยกตัว” จากสหรัฐ นั่นคือดำเนินโนบายต่างประเทศแบบเป็นอิสระ ไม่ตามแนวทางสหรัฐอีกต่อไป และหันไปผูกมิตรกับจีน ทั้งยังต้องการให้สหรัฐถอนทหารและฐานทัพออกจากฟิสิปปินส์ภายในสองปี

อนึ่ง ฟิลิปปินส์ไม่ได้ร่วมในความตกลงหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก จากปฏิกิริยาของฟิลิปปินส์ ย่อมบีบให้สหรัฐต้องแสดงความแข็งขันและเอาจริงเอาจังเพิ่มขึ้นในนโยบาย “ปักหลักเอเชีย” จึงจะรักษาความเชื่อมั่นในหมู่มิตรได้

ค) การลดงบประมาณทางทหารโดยลำดับ เพราะการบีบคั้นทางการคลังมีงบประมาณรายจ่ายใหญ่ได้แก่ การทหาร การสวัสดิการและประกันสังคม กระทบต่อความได้เปรียบทางการทหารของสหรัฐในระยะยาว ขณะที่จีนได้เพิ่มงบประมาณด้านนี้ขึ้นโดยลำดับ

ง) การกลับเข้าไปในโลกชาวอาหรับอีกครั้ง เมื่อเกิดการลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับ ทำให้สหรัฐเข้าไปพัวพันในสงครามตะวันออกกลางมากขึ้น ได้แก่ ลิเบีย ซีเรีย เยเมน

จ) นโยบายความเป็นอิสระทางพลังงานของโอบามา เกิดขึ้นพร้อมกับการถอนกำลังออกจากอิรัก สะท้อนความล้มเหลวของนโยบายยึดครองทุ่งน้ำมันในอิรักที่ว่ามีอยู่มากเป็นที่สองรองจากซาอุดีอาระเบีย กลายเป็นว่า ที่ได้ประโยชน์มากได้แก่อังกฤษ ติดสอยห้อยตามทำสงครามอิรักเพื่อน้ำมัน โดยลงทุนไม่มากนัก

ทั้งนี้ ปรากฏในรายงานชิลคอตฉบับเต็ม 12 เล่ม (เผยแพร่ปี 2016) ระบุว่ามีการประชุมลับระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมทำสงครามและช่วงการบูรณะประเทศอิรักกับบริษัทน้ำมันใหญ่ของอังกฤษคือ บีพีและเชลล์ หลายครั้ง เพื่อสนองวัตถุประสงค์หลักของบรรษัททั้งสอง ให้มีการถ่ายโอนการถือครองกรรมสิทธิ์ในอุตสาหกรรมน้ำมันอิรักจากรัฐบาลมาสู่บรรษัทเอกชน และประกันว่าบีพีและเชลล์จะได้รับส่วนแบ่งใหญ่นั้น

ซึ่งปรากฏว่า บีพีได้เข้าดำเนินการในทุ่งน้ำมันรูไมรา ซึ่งถึงปี 2015 ผลิตน้ำมันได้ถึง 2.2 พันล้านบาร์เรล คิดเป็นหนึ่งในสามของน้ำมันที่ผลิตได้ในช่วงนั้น

ส่วนเชลล์ได้ดำเนินการในทุ่งน้ำมันใหญ่พอกัน ได้แก่ ทุ่งน้ำมันแมชนูน ได้น้ำมันดิบครั้งแรกในปี 2014 ถึงปี 2015 การผลิตได้เพิ่มเป็น 210,000 บาร์เรล (ดูรายงานข่าวของ Irina Slav ชื่อ Chilcot Report : UK Oil Interest Were Lead Motive For Iraq War ใน oilprice.com 07072016)

แต่อย่างไรก็ตาม ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดได้แก่จีน ที่ได้สัมปทานน้ำมันหลายแห่ง และในกลางปี 2013 เป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอิรักถึงราวเกือบครึ่งหนึ่ง

Drew Angerer/Getty Images/AFP
Drew Angerer/Getty Images/AFP

เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ รู้ข่าวนี้ ได้กล่าวอย่างโกรธเกรี้ยวในรายการโทรทัศน์ช่องฟอกซ์นิวส์ว่า “ผมไม่ได้กำลังวิจารณ์จีน แต่ผมกำลังวิจารณ์ผู้นำของเรา พวกเขาปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราจ่ายเงินไป 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ เราสูญเสียชีวิตไปนับพัน เราทำลายประเทศหนึ่งลงไป …แต่จีนกลับไปอยู่ที่นั่น และเอาน้ำมันออกไปทั้งหมด ขณะที่เราไม่ได้อะไรเลย”

ทรัมป์กล่าวต่อไปว่า “ผมคิดว่าเป็นการดีที่เราจะมีกองทัพเรือที่ห้าอยู่ที่นั่น เพื่อทำให้มั่นใจว่าน่านน้ำนั้นจะสวยงามและสงบ (แต่) ผมได้กล่าวเป็นพันครั้งแล้วว่า… เราไม่ควรไปอยู่ที่นั่น ถ้าเราได้ไปอยู่ที่นั่นก็ต้องยึดน้ำมันไว้ ยึดน้ำมันไว้อย่างน้อยสำหรับช่วยเป็นค่าใช้จ่ายได้บ้าง คิดดูซิว่าจีนกำลังยึดน้ำมันไป โดยที่ไม่ต้องต่อสู้อะไร” (ดูบทรายงานข่าวของ Tal Kopan ชื่อ Trump rages on China and Iraq Oil ใน politico.com 03.06.2013)

ในช่วงการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ได้กล่าวย้ำความคิดเรื่องการยึดน้ำมันมาช่วยค่าใช้จ่ายสงครามอีกครั้ง เมื่อแหล่งน้ำมันในอิรักถูกยึดครองโดยกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามว่า

“เราเข้าไป เราจ่ายเงิน 3 ล้านล้านดอลลาร์ เราเสียชีวิตทหารไปเป็นพันพันคน จากนั้น… อะไรเกิดขึ้น เราไม่ได้อะไรเลย พวกคุณก็รู้ โดยปรกติผู้ชนะย่อมเป็นผู้ยึดสิ่งของ”

เขากล่าวเพิ่มว่า “ประโยชน์อย่างหนึ่งจากการที่เรายึดน้ำมัน ก็คือทำให้พวกไอเอสไม่สามารถได้น้ำมันและใช้เพื่อเสริมพลังแก่ตน”

ความคิดแบบนี้ของทรัมป์ ย้อนไปจนถึงปี 2011 ที่เขาได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า

“คุณฟังผมไว้ ผมจะยึดน้ำมัน ผมจะไม่ปล่อยให้อิรักและอิหร่านได้ยึดน้ำมัน”

และว่า “นี่ไม่ใช่การปล้น เราเพียงเอาเงินคืน …ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยที่สุด…เราเอาเงิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์คืนมา” (ดูบทความของ Julian Borger ชื่อ “Trump’s plan to seize Iraq’s oil” “It’s not stealing, we’re reimbursing ourselves” ใน theguardian.com 21.09.2016)

คำพูดและแนวคิดของทรัมป์มีลักษณะเกินเลย กับทั้งมีปัญหาในทางปฏิบัติ แต่ดูเขาสนใจในเรื่องของนโยบายของผู้นำสหรัฐที่ผ่านมามากกว่า และสหรัฐก็ยังพอได้น้ำมันในอิรักอยู่บ้าง แต่เทียบเคียงกับจีนแล้ว ก็เหมือนไม่ได้เลย

ฉ) การยึดครองวอลสตรีต ซึ่งเป็นขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่นำโดยบรรษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มทุนการเงินที่วอลสตรีต แม้ถูกกดดันจนต้องสลายตัวในเดือนพฤศจิกายน 2011 แต่ความสำนึกเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมระหว่างมวลชนร้อยละ 99 กับชนชั้นนำร้อยละ 1 ยังคงคุกรุ่นอยู่

เกิดวิกฤติทางนโยบายและการนำในสหรัฐขึ้นอีกครั้ง

 

2.ในทางสากลมีเหตุการณ์ใหญ่ที่ควรกล่าวถึงคือ

ก) การลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ ที่ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองในโลกอาหรับและตะวันออกกลาง ในปีนั้น มูบารัก ผู้นำอียิปต์ ยอมลาออกจากตำแหน่ง ปัจจุบันอียิปต์กลับไปสู่การปกครองระบบทหารอีก เกิดความไม่สงบ และการก่อการร้ายไปทั่ว โดยเฉพาะในเขตไซนาย

ประธานาธิบดีแห่งตูนิเซียบินหนีออกนอกประเทศ เกิดความไม่มั่นคงและปัญหาการก่อการร้าย

ที่ลิเบีย ประธานาธิบดีกัดดาฟีถูกฝ่ายกบฏสังหาร โดยการสนับสนุนของสหรัฐ-นาโต้

ปัจจุบันลิเบียตกอยู่ในภาวะอนาธิปไตย และที่ร้ายแรงกว่านั้นได้แก่ การเกิดความคิดเปลี่ยนระบอบในซีเรีย

ในสหรัฐและพันธมิตร เกิดเป็นสงครามกลางเมือง สู้รบกันจนถึงทุกวันนี้โดยดึงรัสเซีย อิหร่านเข้ามาร่วมด้วย

ในแอฟริกา เกิดประเทศซูดานใต้แยกตัวจากประเทศซูดาน โดยการสนับสนุนของสหรัฐ-นาโต้ ประเทศซูดานใต้มีแหล่งน้ำมันมาก แต่ท่อส่งและโรงกลั่นอยู่ในซูดาน ที่สนิทสนมกับจีน เกิดสงครามกลางเมืองในซูดานใต้ตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบัน

ข) วิกฤติเศรษฐกิจสหภาพยุโรปเบ่งบาน มีเหตุการณ์ควรกล่าวถึงได้แก่

1) นายกรัฐมนตรีกรีซลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากวิกฤติหนี้ ทำให้การเมืองกรีซที่ผูกขาดในสองตระกูลคือปาปันเดรโอ (กลาง-ซ้าย) และ คาลามันทิส (กลาง-ขวา) สิ้นสุด เกิดรัฐบาลฝ่ายซ้ายที่ประกาศนโยบายต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก

2) เกิดการจลาจลใหญ่ในอังกฤษ จากความแตกแยกเสื่อมถอยในชาติที่แสดงออกมากขึ้นทุกที (Broken Britain) ผลการลงประชามติให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปปี 2016 ไม่เพียงเกิดอังกฤษที่แตกแยกเท่านั้น หากยังเกิดสหภาพยุโรปที่แตกแยกด้วย

ค) ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในญี่ปุ่น ผลต่อพลังงานปรมาณูทั่วโลก เยอรมนีประกาศค่อยๆ เลิกใช้พลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์

เกิดกระแสชาตินิยมขึ้นในญี่ปุ่น นำโดยนายกรัฐมนตรีอาเบะในปัจจุบัน เพื่อการฟื้นตัวของญี่ปุ่น

ความเป็นอิสระทางน้ำมันสมัยโอบามาเป็นอย่างไร

สหรัฐมีนโยบายความเป็นอิสระทางพลังงานจริงจังตั้งแต่ปี 1973 หลังจากเผชิญวิกฤติน้ำมันในสมัยประธานาธิบดีนิกสัน และก็มีการสืบทอดนโยบายนี้ต่อกันมาเรื่อย แต่เป็นประธานาธิบดีโอบามาเท่านั้นที่สามารถเพิ่มการผลิตน้ำมันและก๊าซได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นับแต่การผลิตน้ำมันสหรัฐถึงขีดสูงสุดในปี 1970 ทำให้สามารถลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศอย่างมีผล จนกระทั่งเกิดความหวังเกินไปว่า สหรัฐจะกลับมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง

AFP PHOTO / MANDEL NGAN
AFP PHOTO / MANDEL NGAN

โอบามา ตั้งเป้าหมายแห่งชาติในปี 2011 ลดการนำเข้าน้ำมันลงหนึ่งในสามในปี 2020 และในปี 2012 ได้ยกระดับเป้าหมายเป็นลดการนำเข้าครึ่งหนึ่งในปี 2020 การปฏิบัติที่สำคัญได้แก่

(ก) การเพิ่มการผลิตในประเทศ โดยสนับสนุนให้ทุนวิจัยในการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้การผลิตเพิ่มพรวดขึ้น ได้แก่ เทคโนโลยีแฟรกกิง และการขุดเจาะแนวนอน การขุดเจาะน้ำมันที่เพิ่มขึ้นนี้คิดเป็นถึงหนึ่งในสามของการเติบโตการผลิตของโลกในปี 2012

(ข) พัฒนาพลังงานทดแทน ได้แก่ การเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลสองเท่านับแต่ปี 2007 ปรับการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งจากน้ำมันเป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ในปี 2012

(ค) เพิ่มประสิทธิพลในการใช้พลังงานซึ่งจะลดการใช้น้ำมันในตัว ทำให้สหรัฐเป็นชาติที่มีรถยนต์ใช้งานเบาที่ประหยัดพลังงานที่สุด

การขยายตัวของอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐนี้ มีส่วนสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐ “ฟื้นตัว” จากวิกฤติปี 2008 และช่วยฟื้นฐานะการเป็นผู้นำโลกในระดับหนึ่ง โดยก่อผลดีต่อเศรษฐกิจที่สำคัญสามประการ ได้แก่

(1) เพิ่มตำแหน่งงาน เพิ่มรายได้ประชาชาติ ลดการขาดดุล มีการสร้างงานใหม่ 35,000 ตำแหน่งระหว่างปี 2009-2012 ในด้านการขุดสกัดน้ำมันและก๊าซ และยังสร้างงานในสายโซ่อุปทานน้ำมัน รัฐดาโกตาเหนือที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันใหญ่ด้วยเทคโนโลยีใหม่มีอัตราการว่างงานต่ำสุด และกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันของประเทศ

(2) เร่งอัตราการเติบโต การพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีขุดสกัดน้ำมันและก๊าซ เป็นการเพิ่มความสามารถในการผลิต ปรับปรุงอัตราการค้า โดยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศและเพิ่มการส่งออก ซึ่งยกระดับมาตรฐานการครองชีพและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง การเพิ่มการส่งออกสุทธิ (รวมผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม) ทำให้มีการปรับเพิ่มอัตราการเติบโตของจีดีพีในไตรมาสที่สองของปี 2012 จากร้อยละ 1.7 เป็นร้อยละ 2.5

(3) ลดการขาดดุลการค้า การนำเข้าปิโตรเลียมที่ลดลงมีส่วนช่วยลดการขาดดุลการค้าจากกว่าร้อยละ 40 ในปี 2009 เหลือร้อยละ 25 ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2013 (ดูบทความของ Jason Furman และเพื่อน ชื่อ Reducing America”s Dependence of Foreign Oil to Increase Economic Growth and Reduce Economic Vulnerability ใน whitehouse.gov 29082013)

นโยบายความมั่นคงทางพลังงานของสหรัฐนั้นว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับของชาติอื่น ที่สหรัฐสามารถฟื้นอุตสาหกรรมพลังงานของตนได้ก็เนื่องจากความเข้มแข็งหลายด้าน คือ ด้านเทคโนโลยี ด้านการเงิน ความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ทั้งประกอบด้วยมาตรการการลดดอกเบี้ยลงต่ำใกล้ศูนย์ ที่เป็นเรื่องโชค (ธรรมชาติ) ช่วย มีเรื่องเดียวคือการมีสำรองน้ำมันปิดแน่น (Tjght Oil) หรือน้ำมันที่อยู่ในชั้นหินเนื้อตันเป็นปริมาณมาก

ฉบับหน้าจะกล่าวถึงการประเมินความสำเร็จในการเพิ่มการผลิตน้ำมันของสหรัฐ และผลต่ออุตสาหกรรมและราคาน้ำมันโลก