สูงสุดคืนสู่สามัญ ‘สวีเดน’ รื้อฟื้น ‘คัดลายมือ’ และ ‘อ่านหนังสือเล่ม’

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

ภูมิภาค “สแกนดิเนเวีย” นอกจากขึ้นชื่อลือชาเรื่อง “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” แล้ว ในด้าน “ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา” ก็เอกอุไม่แพ้กัน เรียกได้ว่า แทบไม่เคยหลุด 10 อันดับแรกของโลก

ไม่ว่าจะเป็น “นอร์เวย์” “สวีเดน” “เดนมาร์ก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ฟินแลนด์”

อีกทวีปหนึ่งก็เห็นจะเป็น “อเมริกาเหนือ” ซึ่งผมได้มีโอกาสไปดูงานด้านการศึกษาที่ “แคนาดา”

ซึ่งถือเป็นประเทศ “มหาอำนาจด้านการศึกษา” ที่ “องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา” หรือ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) บอกว่า “วัยรุ่นแคนาดาได้รับการศึกษาดีที่สุดในโลก”

โดย “แคนาดา” ติดอันดับ TOP10 ประเทศที่เยาวชนมีผลการเรียนเป็นเลิศในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน มาอย่างต่อเนื่องในตารางประเมิน PISA (Program for International Student Assessment) ของ OECD

“แคนาดา” เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทว่า เน้นหลัก “ความเสมอภาคทางการศึกษา” พ่อแม่ที่มีเงินจึงนิยมให้ลูกไปเรียนต่อที่ “แคนาดา”

 

แต่หลายคนคงนึกไม่ถึง ว่าระบบการศึกษาของ “แคนาดา” ซึ่งจัดเป็นประเทศพัฒนาแล้วแบบสุดสุด จะยังคงใช้ “ชอล์ก” และ “กระดานดำ” ในการเรียนการสอน

โรงเรียนใน “แคนาดา” พึ่งพาเทคโนโลยีน้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นประเทศผู้นำทางด้านนวัตกรรม อีกทั้งงบประมาณทางด้านการศึกษาก็มหาศาล หรือจะพิจารณาในแง่ขนาดเศรษฐกิจ “แคนาดา” ก็ติดอันดับเลขตัวเดียวของโลกมาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน

ครูใหญ่ทุกโรงเรียนให้เหตุผลว่า พวกเขาเชื่อในเครื่องมือ หรือสื่อการสอนแบบยุคโบราณ เชื่อว่า “ชอล์ก” หรือ “กระดานดำ” มีประสิทธิภาพมากกว่า Tablet PC หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่

แม้จะไม่ปฏิเสธเทคโนโลยี เพราะทุกโรงเรียนของที่นี่ล้วนติดตั้งเครื่องไม้เครื่องมือไฮเทคแทบทั้งนั้น ทว่า “ชอล์ก” และ “กระดานดำ” ทำให้เด็กๆ จดจ่อกับคุณครูหน้าชั้นมากกว่าการใช้ Tablet PC

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กๆ ใน “แคนาดา” จะได้รับการส่งเสริม “การเรียนรู้นอกห้องเรียน” หรือ “กิจกรรมกลางแจ้ง” ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา หรือการสร้างสรรค์งานศิลปะ ไม่จับเจ่าแค่ที่โต๊ะเรียน หรือนั่งจมอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม

 

ล่าสุด “สวีเดน” ก็หันกลับมา “สูงสุดคืนสู่สามัญ” รื้อฟื้น “คัดลายมือ” และ “อ่านหนังสือเล่ม” ด้วย

ทุกวันนี้ โรงเรียนใน “สวีเดน” ได้หวนกลับมาฟื้นฟูการอ่าน “หนังสือเล่ม” และให้เด็กๆ หันกลับมา “คัดลายมือ” แทนที่จะใช้เวลาหมดไปกับนวัตกรรมการเรียนการสอน ผ่านอุปกรณ์ล้ำสมัย และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีอยู่

Lotta Edholm รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “สวีเดน” ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง รมว.ศธ. เมื่อปีกลาย เคยเป็นหนึ่งในผู้วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษา “สวีเดน” อย่างหนักหน่วงมาก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการการศึกษา

Lotta Edholm ได้ออกแถลงการณ์ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาล “สวีเดน” ขอยกเลิกระเบียบของสำนักงานเพื่อการศึกษาแห่งชาติ “สวีเดน” หรือ National Agency for Education

เกี่ยวกับการบังคับใช้อุปกรณ์ Digital ในโรงเรียนเตรียมอนุบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Lotta Edholm มีแผนเดินหน้ายุติการจัดการเรียนรู้ด้วยระบบ Digital ของเด็กสวีเดนที่อายุต่ำกว่า 6 ปีอีกด้วย

แม้จะขัดแย้งกับนโยบายของ “องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ” หรือ UNESCO (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ที่เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ “เพิ่มความเร็วในการเชื่อมต่อ Internet โรงเรียน”

อย่างไรก็ดี UNESCO มองว่า เทคโนโลยีทางการศึกษา ควรถูกนำมาใช้ในลักษณะของการ “เสริม” ไม่ใช่มา “แทนที่” การสอนในชั้นเรียน โดยเทคโนโลยีต้องส่งเสริมวัตถุประสงค์การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับนักเรียนทุกคน

 

นโยบายของ Lotta Edholm รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “สวีเดน” ที่ต้องการหวนกลับไปนำระบบการเรียนรู้แบบดั้งเดิม คือการ “คัดลายมือ” และใช้ “หนังสือเล่ม” ในการจัดการเรียนการสอนนี้ สอดคล้องกับแนวคิดของบรรดานักการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักการเมืองรุ่นใหม่ของ “สวีเดน”

ที่เคยพากันออกมาตั้งคำถามว่า แนวทางการศึกษาแบบ Hyper-Digital ของ “สวีเดน” ซึ่งรวมถึงการเริ่มใช้ Tablet PC ในการศึกษาระดับปฐมวัย (เตรียมอนุบาล และอนุบาล) ในแง่ที่ว่า การใช้เทคโนโลยีการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบเช่นนั้น จะทำให้ทักษะพื้นฐานต่างๆ ของนักเรียนลดลงหรือไม่?

ที่ผ่านมา Karolinska Institutet ศูนย์กลางการรักษาและการศึกษาทางการแพทย์ในประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในสวีเดน และเป็นสถาบันแพทย์และศัลยศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ได้กล่าวว่า “มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดว่า อุปกรณ์ Digital เป็นสิ่งบั่นทอนการเรียนรู้ของนักเรียนมากกว่าที่จะส่งเสริม”

“เราคิดว่า ระบบการศึกษา ควรกลับไปสู่การเรียนรู้ผ่านตำราเรียนแบบหนังสือเล่ม แทนแหล่งข้อมูล Digital ที่มีอยู่อย่างเสรี ซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กต้องการฟังประสบการณ์ของครู”

นอกจากนี้ การใช้เครื่องมือการเรียนรู้แบบ Digital ได้สร้างความกังวลในหมู่นักการศึกษา และแม้กระทั่งนักเทคโนโลยีการศึกษาเอง

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่านักเรียนของสวีเดนจะมีคะแนนการอ่านในตาราง PISA สูงกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรป แต่คะแนนการอ่านในตาราง PISA ของเด็กชั้น ป.4 “สวีเดน” กลับมีคะแนนลดลงในระหว่างปี ค.ศ.2016 ถึงปี ค.ศ.2021

อยู่อันดับ 7 เทียบเท่า “ไต้หวัน” ที่ 544 คะแนน ซึ่งลดลง 555 คะแนนจากปี ค.ศ.2016 ตรงกันข้ามกับ “สิงคโปร์” ซึ่งเด็กทำคะแนนการอ่านในตาราง PISA สูงที่สุด โดยเพิ่มขึ้นจาก 576 คะแนนเป็น 587 คะแนนในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนเด็กอังกฤษ มีคะแนนการอ่านในตาราง PISA ที่ลดลงเล็กน้อยจาก 559 คะแนนในปี ค.ศ.2016 เป็น 558 คะแนนในปี ค.ศ.2021

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษากล่าวว่า แม้ว่าคะแนนการอ่านในตาราง PISA ของ “สวีเดน” ที่แย่ลง อาจเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงจำนวนนักเรียนอพยพที่ไม่ได้พูดภาษาสวีเดนเป็นภาษาหลัก ซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

แต่การอยู่ที่ “หน้าจอ” มากเกินไประหว่างการเรียนในห้องเรียน อาจทำให้เยาวชนละเลยการเรียนรู้พื้นฐานการอ่านเขียนได้

ทั้งนี้ เด็กๆ ทั่วสวีเดนกลับได้ไปเรียนหนังสืออย่างเต็มรูปแบบในโรงเรียนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยครูหลายคนต่างให้ความสำคัญกับ “หนังสือเล่ม” การอ่านในใจ และการฝึก “คัดลายมือ” ลดค้นคว้าข้อมูลผ่านออนไลน์ หรือทักษะการใช้คีย์บอร์ด ตลอดจนการใช้เวลากับ Tablet PC น้อยลงอีกด้วย

 

Liveon Palmer นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 วัย 9 ขวบ ในกรุงสตอกโฮล์ม ของ “สวีเดน” กล่าวว่า เขาพึงพอใจที่จะใช้เวลาในการเรียนแบบออฟไลน์มากขึ้น “ผมเขาชอบที่จะเขียนหนังสือบนกระดาษในชั้นเรียนมากกว่า เพราะให้ความรู้สึกที่ดีกว่า”

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ การเรียนการสอนแบบออนไลน์ ยังคงเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันอย่างถึงพริกถึงขิงทั่วยุโรป

อาทิ ที่ “โปแลนด์” ซึ่งเพิ่งเปิดตัวโครงการมอบ Tablet PC ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลแก่นักเรียน เริ่มจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยหวังว่าจะช่วยให้ประเทศของตนสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในด้านเทคโนโลยีได้

แต่สำหรับสหรัฐอเมริกาแล้ว การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ผลักดันให้โรงเรียนของรัฐ จัดหา Tablet PC หลายล้านเครื่อง ที่ซื้อด้วยเงินบรรเทาทุกข์ COVID-19 ของรัฐบาลกลาง เพื่อมอบให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา

อย่างไรก็ดี เหล่านักการศึกษายังคงค้นพบ “ช่องว่างทาง Digital” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ว่า เหตุใดโรงเรียนในสหรัฐ จึงยังคงจัดการเรียนการสอนโดยใช้ทั้งหนังสือเรียนแบบพิมพ์เป็นเล่ม และแบบ Digital ควบคู่กันอยู่