เจาะลึก แผนแก้ปัญหาเฟ้นครู ‘สพฐ.’ ชงรื้อระบบสอบครั้งใหญ่

หลังเกิดดราม่า ข้อสอบสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 ยากเกินไป ทำให้บางเขตพื้นที่การศึกษาไม่มีผู้สอบผ่านในสาขาที่เปิดรับสมัคร

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้แสดงความเห็น กรณีมอบหมายให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบตามกลุ่มจังหวัด 18 คลัสเตอร์ ว่าอาจทำให้ข้อสอบมีมาตรฐานไม่เท่ากันนั้น…

นำมาสู่ข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไข ปรับระบบการสอบครูผู้ช่วย ซึ่งล่าสุด นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เสนอปรับระบบการสอบ โดยให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นหน่วยงานกลางจัดสอบภาค ก และภาค ข ปีละ 2 ครั้ง เช่นเดียวกับการสอบรับข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

หากโรงเรียนใดมีอัตราว่าง ประกาศรับ ก็นำคะแนนไปยื่น เพื่อสอบภาค ค ได้ทันที

 

ถือเป็นข้อเสนอที่ดี ที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องครูได้ทั้งระบบ โดย นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ออกมารับลูก ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของ สพฐ. โดยระบุว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ค.ศ.เคยเสนอของบประมาณเพื่อจัดตั้งศูนย์จัดสอบ ของสำนักงาน ก.ค.ศ.แล้ว แต่ไม่ได้รับการอนุมัติจากทางสำนักงบประมาณ

“ก.ค.ศ.เองก็เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว และกว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามของบประมาณเพื่อจัดทำศูนย์ข้อสอบของ ก.ค.ศ. แต่ไม่ได้รับงบฯ ซึ่งผมเองยืนยันเรื่องการจัดทำข้อสอบกลาง เพื่อให้การจัดสอบมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และให้โรงเรียนที่ต้องการใช้อัตราครู เปิดรับสมัครเพื่อสอบภาค ค ด้วยตัวเอง หากทำเช่นนี้จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใส เป็นธรรม การออกข้อสอบที่ได้มาตรฐาน รวมถึงจะแก้ปัญหาขาดแคลนครูในอนาคต เพราะผู้เข้าสอบสามารถเลือกสมัครสอบภาค ค ในโรงเรียนที่ต้องการได้ ช่วยลดปัญหาการโยกย้าย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าข้อเสนอนี้ เป็นแนวทางที่ควรทำอย่างยิ่ง สำนักงาน ก.ค.ศ.อยากทำระบบนี้มานานแล้ว แต่ปัญหาเรื่องงบประมาณ และต่อมามีข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจไปให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ ดำเนินการจัดสอบอีก จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้” นายประวิตกล่าว

สำนักงาน ก.ค.ศ.เคยยื่นของบฯ ไปประมาณ 60 ล้านบาท ในการพัฒนาข้อสอบให้ได้มาตรฐาน และใช้สำหรับดำเนินการจัดสอบ ซึ่งถือว่าไม่ได้มาก แต่ก็ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ และจะถูกตัดทุกครั้งที่ขอไป โดย ก.ค.ศ.ได้รับงบประมาณปีละประมาณ 200 ล้านบาท ที่ผ่านมา ตนพยายามขยับของบฯ เพิ่มปีละ 15% หรือประมาณปีละกว่า 20 ล้านบาท และที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ค.ศ.ก็ทุ่มงบฯ ไปกับการปรับระบบการประเมิน ขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ทำให้งบฯ ที่ขอเพิ่มเพื่อตั้งศูนย์จัดสอบถูกตัดไปโดยปริยาย

ซึ่งหากรัฐบาลใหม่เข้ามา และมีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้ก็พร้อมดำเนินการ

 

ขณะที่ นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวคล้ายกันว่า โดยหลักการเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาข้อสอบให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และมีโอกาสที่จะเกิดความโปร่งใส เป็นธรรมมากกว่าการกระจายให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการ เพราะต้องยอมรับความจริงว่า การกระจายอำนาจก็มีโอกาสให้บางเขตพื้นที่มีการดำเนินการที่ไม่ชอบมาพากลได้

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่จะมาออกข้อสอบ จะต้องออกข้อสอบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่เน้นท่องจำมากเกินไป ขณะเดียวกัน การสอบสัมภาษณ์ภาค ค ที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนดำเนินการจัดสอบเองนั้น โดยหลักการเป็นเรื่องที่ดี ที่ให้โรงเรียนมีโอกาสคัดเลือกครูได้เอง แก้ปัญหาการขอย้ายได้ในอนาคต แต่ก็อยากให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะต้นสังกัด และสำนักงาน ก.ค.ศ. ในฐานะที่ดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ออกหลักเกณฑ์การให้คะแนนภาค ค ที่ชัดเจน รวมถึงจะต้องมีกติกาที่โปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ เพื่อไม่ให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ

“ข้อเสนอให้สำนักงาน ก.ค.ศ.เป็นหน่วยงานกลางในการจัดสอบภาค ก และภาค ข นั้น ผมเห็นด้วยในหลักการ แต่ยังกังวลในเรื่องการสอบภาค ค ที่จะต้องมีหลักเกณฑ์การให้คะแนนที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก ขณะเดียวกัน ยังต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะอำนาจการจัดสอบครู ผู้บริหารโรงเรียน เป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ดังนั้น หากจะให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นหน่วยงานจัดสอบ อาจจจะต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะการดึงอำนาจการจัดสอบไป อาจจะเป็นการลดบทบาท ทำให้ อ.ก.ค.ศ.เป็นเหมือนทางผ่าน เหลือแค่อนุมัติการบรรจุแต่งตั้งตามนโยบายเท่านั้น ดังนั้น หากจะดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว ก็อยากให้แก้กฎหมายเรื่องโครงสร้างให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต” นายอดิศรกล่าว

การสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ สพฐ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาทบทวน และจากนี้คงต้องรอดูว่าข้อเสนอรื้อระบบสอบครูผู้ช่วย จะสามารถทำได้จริงหรือไม่

หรือแค่พูดเพื่อกลบกระแสวิจารณ์ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น! •

 

|  การศึกษา