พระเครื่อง ‘ชุดกิมตึ๋ง’ พระสี่กร-มอญแปลง ประคำรอบ-ปรกชุมพล

พระเครื่อง ‘ชุดกิมตึ๋ง’ พระสี่กร-มอญแปลง ประคำรอบ-ปรกชุมพล

 

จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอีกพื้นที่ที่มีการค้นพบพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก มีพุทธลักษณะที่หลากหลาย มีการตั้งชื่อเรียกเป็นเอกลักษณ์แตกต่างไปจากที่พบในแหล่งอื่นทั่วไป

ที่รู้จักกันมากที่สุด ได้แก่ พระพิมพ์ภาพพระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางมารวิชัยประทับในซุ้มเรือนแก้ว ที่เรียกว่า พระขุนแผน ซึ่งใช้ชื่อตัวละครเอกในวรรณคดีพื้นบ้านเรื่อง ขุนช้างขุนแผน กำหนดเรียก และรู้จักกันในฐานะพระพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในด้านเมตตามหานิยม

สำหรับ “พระชุดกิมตึ๋ง” เป็นพระพิมพ์อีกหนึ่งของสุพรรณบุรีที่มีชื่อเรียก และพิมพ์ทรงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

พระเครื่องชุดกิมตึ๋ง ประกอบด้วยพระ 4 องค์ คือ พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ และพระนาคปรก หรือพระปรกชุมพล รวมเป็นสี่องค์

พระชุดนี้เป็นพระกรุที่ถูกพบที่วัดพลายชุมพล ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ติดกับเขตวัดพระรูป มีซากพระเจดีย์ที่พังทลายลงมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2446 ไม่มีใครทราบว่าพระเจดีย์องค์นี้มีรูปทรงอย่างไร เหลือแต่ฐานซึ่งกว้างมากประมาณ 50 เมตร นับว่าเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่องค์หนึ่งทีเดียว บริเวณรอบฐานพระเจดีย์ในปี พ.ศ.2446 มีพระเครื่องเนื้อดินเผาอยู่ปะปนกับเศษอิฐกองอยู่เต็มไปหมด

 

ในช่วงนั้นไม่ค่อยมีคนสนใจกันนัก บ้างก็เห็นว่าเป็นของวัด ไม่ควรนำมาไว้ที่บ้าน และอีกอย่างหนึ่งคือ พระมีมากมายกองอยู่เต็มไปหมด

ต่อมามีพวกนักเที่ยว พวกวัยรุ่นคะนองสมัยนั้น เมื่อผ่านมา ต่างก็หยิบพระไปคนละองค์สององค์ บ้างก็เอาผูกกับผ้าคาดแขนไว้ บ้างก็อมไว้ในปาก แล้วไปเที่ยวตามถิ่นต่างๆ และเกิดกระทบกระทั่งกับเจ้าถิ่น เกิดมวยหมู่ ตะลุมบอนกัน ทั้งมีดทั้งไม้

ปรากฏว่าคนที่เอาพระกรุนี้ไปด้วย ไม่มีใครเลือดตกยางออก ส่วนคนที่ไม่ได้เอาพระติดตัวไป ปรากฏว่าได้เลือดทั้งสิ้น

หลังจากนั้น จึงทำให้ชื่อเสียงของพระกรุนี้โด่งดังไปทั่ว และมีประสบการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะด้านอยู่ยงคงกระพัน เป็นที่เลื่องลือกันไปทั่ว พระกรุนี้จึงเริ่มถูกตามเก็บ จนร่อยหรอไปเรื่อยๆ จนหมดไปในที่สุด

พระกรุชุดดังกล่าว มีรูปพรรณสัณฐานใกล้เคียงกัน มี 4 พิมพ์ ตามที่ได้กล่าวมา คือ พระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ และพระปรกชุมพล

พระสี่กร-พระมอญแปลง-พระประคำรอบ-พระปรกชุมพล

“พระสี่กร” พิมพ์ทรงคล้ายผลมะปรางผ่าซีก สูงประมาณ 3.5 เซนติเมตร ยอดบนค่อนข้างแหลมกว่าทุกองค์ องค์พระประธานประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย พระเกศสูงชะลูด พระพักตร์เลือนไม่ปรากฏรายละเอียด พระกรทั้งสองข้างเป็นคู่ตามชื่อเรียก เนื้อองค์พระส่วนมากหนึกแน่นและแกร่ง มีเม็ดทรายน้อย

“พระมอญแปลง” พิมพ์ทรงจะคล้ายผลมะปรางผ่าซีก มีทั้งพิมพ์ใหญ่ ความสูง 4-4.5 เซนติเมตร และพิมพ์เล็ก สูง 3 เซนติเมตร องค์พระแสดงปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร มีทั้งเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบ ไม่แน่นและแกร่งเท่าพระสี่กร

“พระประคำรอบ” พิมพ์ทรงคล้ายผลมะปรางผ่าซีก แต่ค่อนข้างกลมกว่าทุกพิมพ์ องค์พระแสดงปางมารวิชัย อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว มีลักษณะคล้ายดอกจิก รอบซุ้มมีเม็ดกลมลักษณะเป็นลูกประคำ ตามชื่อเรียก

“พระนาคปรก” หรือ “ปรกพลายชุมพล” พิมพ์ทรงจะคล้ายผลมะปรางผ่าซีกเช่นกัน มีทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก องค์พระประทับนั่งแสดงปางสมาธิ เศียรพญานาค 7 ตัวแผ่พังพานอยู่เบื้องหลัง พิมพ์ใหญ่เนื้อหยาบ ส่วนพิมพ์เล็กเนื้อค่อนข้างละเอียด

พิมพ์ด้านหลังพระชุดกิมตึ๋ง ทั้ง 4 องค์ มีลักษณะมนและขรุขระเล็กน้อย บางองค์มีรอยหยิบด้วยมือ บางองค์เป็นลายมือ

พระชุดนี้เป็นที่นิยมกันมากในสุพรรณบุรี ต่างก็เสาะกันมากและพยายามหาให้ครบ 4 องค์ และเรียกกันในสมัยนั้นว่า “พระชุดพลายชุมพละ”

 

ต่อมาพระเครื่องชุดนี้แพร่หลายเข้ามาสู่เมืองกรุง และได้รับความนิยมกันมากเช่นกัน และก็มีผู้ตั้งชื่อกันใหม่ว่า “พระชุดกิมตึ๋ง” แต่ก็สืบค้นไม่ได้ว่าใครเป็นคนตั้งชื่อนี้ “กิมตึ๋ง” เป็นชื่อที่มีความเป็นมาอย่างไร

สืบสาวราวเรื่อง พบว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีการจัดประกวดโต๊ะหมู่บูชา อันประกอบด้วย ชุดถ้วยกระเบื้องเคลือบ และชุดกระเบื้องเคลือบที่ได้รับรางวัล มีชื่อเสียงได้รับคำยกย่องว่าสวยงามมาก คือ ชุดกิมตึ๋ง ซึ่งเป็นเครื่องถ้วยที่พระยาโชฏึกราชเศรษฐี ได้สั่งนำเข้ามาจากประเทศจีน มาจำหน่ายในประเทศไทย ถ้วยที่ส่งมาใต้ก้นประทับตราว่า “กิมตึ๋ง-ฮกกี่” แปลว่าเครื่องหมายอันวิเศษอย่างเต็มที่

ถ้วยที่ส่งมาชุดนี้ ส่งมาเป็นชุด 4 ใบ อาจจะเป็นเพราะพอดีกับพระชุดพลายชุมพลมี 4 องค์พอดี และมีคุณวิเศษอยู่ด้วย จึงกลายมาเป็นชื่อเรียกพระชุดนี้ในเวลาต่อมาว่า “พระชุดกิมตึ๋ง” และเรียกกันมาจนทุกวันนี้

ส่วนชื่อกรุนั้น วัดพลายชุมพลซึ่งเป็นวัดร้างติดกับวัดพระรูป จนกลายมาเป็นกรุวัดพระรูปไปโดยปริยาย

บรรดานักนิยมสะสมพระเครื่อง ให้ความเห็นว่า พระชุดกิมตึ๋งอาจไม่สวยงามนัก เนื่องจากเป็นศิลปะแบบนูนต่ำตื้น แต่ก็เป็นเอกลักษณ์ของพระกรุดังกล่าว แต่คุณวิเศษที่เลื่องกันมากในด้านอยู่ยงคงกระพัน จนเป็นที่ยอมรับ และนิยมในหมู่ผู้ที่สะสมในสมัยก่อนเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า ถ้าเอาพระสมเด็จวัดระฆัง มาแลกกับพระชุดกิมตึ๋งทั้งชุด รับรองว่าเจ้าของพระชุดกิมตึ๋ง ต้องไม่ยอมอย่างแน่นอน

อีกประการหนึ่ง พระชุดนี้มีทั้งหมด 4 องค์ เวลานำมาห้อยคอ จึงมักนำพระมาเพิ่มอีกองค์หนึ่ง จะได้ครบ 5 องค์ และมักจะนิยมนำพระขุนแผนไข่ผ่ามาห้อยไว้ตรงกลาง เป็นอันครบ 5 องค์ •

 

โฟกัสพระเครื่อง |  โคมคำ

[email protected]