เล่าจื๊อ

วัชระ แวววุฒินันท์

เนื่องในเทศกาลตรุษจีนที่มาถึง จึงขอเขียนถึงบุคคลท่านหนึ่งที่ปรัชญาของท่านมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของชาวจีนมาจนถึงทุกวันนี้

ท่านผู้นี้มีชื่อว่า “เล่าจื๊อ” ผู้ให้กำเนิดลัทธิเต๋า

เราอาจจะคุ้นเคยและได้ยินชื่อ “ขงจื๊อ” มากกว่าเล่าจื๊อ จริงๆ แล้วทั้งคู่เป็นปราชญ์ที่เกิดร่วมสมัยกันในยุคของราชวงศ์โจว แต่เล่าจื๊อเป็นปราชญ์รุ่นพี่ บางตำราบอกว่าอายุแก่กว่าราว 16 ปี

ตำราเขียนถึงการเกิดมาของเล่าจื๊ออย่างมีปาฏิหาริย์ ก็คงเหมือนพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าของเรา ประวัติกล่าวว่าเล่าจื๊อถือกำเนิดในช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนพุทธศักราช 33 ปี เกิดในอำเภอขู่เสี้ยน แคว้นฉู่ของจีน โดยอึดมากเพราะอยู่ในครรภ์มารดาถึง 80 ปี โอ้…นึกไม่ออกเลยว่ามารดาจะอุ้มท้องอยู่ได้ไงนานขนาดนั้น

เท่านั้นไม่พอ ตอนเกิดมามีผมสีขาวทั้งหัว เลยได้สมญาว่า “อาจารย์ผู้อาวุโส” หรือ “เด็กผู้อาวุโส”

ตามความเชื่อของจีนถือว่า มนุษย์คือดาวในท้องฟ้าจุติลงมาเกิด ซึ่งของเล่าจื๊อนั้นเป็นดาวจระเข้ บางตำราเล่าว่าพอเกิดมาก็แสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปบนอากาศ มือซ้ายชี้ไปบนฟ้า มือขวาชี้มายังแผ่นดิน และกล่าวว่า

“ในฟ้าเบื้องบนและดินเบื้องล่าง เต๋า เท่านั้นควรเป็นที่สักการะ”

 

เอาล่ะเรื่องของปาฏิหาริย์หรืออภินิหารอย่างไรก็ว่ากันไป แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่และเป็นจริงที่ตามมาในภายหลังก็คือ คำสั่งสอนของเล่าจื๊อ ที่ได้กลายเป็นตำราปรัชญาที่ได้รับการยอมรับกว้างไกลไปถึงในยุโรป และได้รับการตีพิมพ์ไปอีกหลายภาษา

เล่าจื๊อนั้นเป็นผู้แสวงหาความรู้และมีความคิดอ่านที่ลึกซึ้ง จึงได้รับหน้าที่ให้เป็นดั่งบรรณารักษ์ ดูแลหอสมุดหลวงของราชวงศ์โจว ชื่อเสียงของเล่าจื๊อในเรื่องของสติปัญญานั้นขจรขจาย จนปราชญ์ผู้น้องอย่างขงจื๊อ ต้องยอมเดินทางนับพันลี้เพื่อมาขอพบ

ในการพบกันครั้งนั้น ขงจื๊อได้ขอคำแนะนำเรื่องของขนบจารีตในการดำเนินชีวิต เล่าจื๊อรับรู้ถึงภูมิปัญญาของขงจื๊อ จึงเตือนว่า “คนฉลาดและช่างสังเกต มักประสบภัยโดยไม่รู้ตัว”

พร้อมกับอรรถาธิบายความต่อว่า “เหตุเพราะพวกคนฉลาดมักวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นตามใจชอบ เช่นเดียวกับคนชอบโต้แย้ง และมีความรู้ลึกกว้างไกล ก็มักประสบชะตากรรมเดียวกัน ตามธรรมชาติของคนฉลาด พวกเขามักเผยจุดอ่อนและข้อบกพร่องของผู้อื่น ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา”

นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ผู้นั้นมักจะมีภัยย้อนกลับมาหาตัวได้ เข้าตำรา พูดตรงเกินไป จะมีภัยมาถึงตัว ไม่เท่านั้น เล่าจื๊อจงใจเตือนขงจื๊อต่อไปอีกว่า

“ด้วยเหตุนี้ คนฉลาดจึงควรรู้จักควบคุมตนเอง อย่าแสดงตัวเป็นผู้รู้อยู่เหนือผู้อื่นไปเสียทุกเรื่อง หากจำเป็น ควรใช้ท่าทีนอบน้อม สุขุม ระวัง และท่าทีนี้ ต้องใช้ให้มากในการดำรงตนในสังคม”

อันนี้ท่านนายกฯ ตู่ น่าจะได้ศึกษาและนำไปใช้บ้างก็จะดีไม่น้อยนะครับ เล่าจื๊อท่านคงดีใจ

 

จากการพบกันครั้งนี้ ขงจื๊อได้กลับออกมาพูดกับพวกศิษย์ว่า “เรารู้ว่านกบินได้ รู้ว่าปลาว่ายน้ำได้ รู้ว่าสัตว์วิ่งได้ แม้กระนั้นสัตว์ที่วิ่งได้ก็อาจติดบ่วง ปลาก็อาจติดเบ็ด นกก็อาจถูกลูกธนู แต่มีมังกรอีกอย่างหนึ่ง เราบอกไม่ได้ว่ามังกรนั้นเหาะตามลมเข้ากลีบเมฆขึ้นบนสวรรค์อย่างไร วันนี้เราได้มาเห็นเล่าจื๊อ เห็นว่าพอจะเปรียบกับมังกรได้ทีเดียว”

ถ้าขนาดขงจื๊อยอมรับ ก็แสดงถึงความเป็น “ชั้นเลิศ” ของเล่าจื๊อได้อย่างดี

และความเป็น “ชั้นเลิศ” ของเล่าจื๊อนั้น ก็สะท้อนอยู่ในคำภีร์ “เต้าเต๋อจิง” ซึ่งมีอักษรภาษาจีนอยู่เพียง 5,000 อักษร รวมเนื้อหาออกเป็น 81 บท โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เกี่ยว กับวิถีทาง และส่วนที่เกี่ยวกับคุณธรรม

โดยรวมแล้วแนวความคิดทางปรัชญาของเล่าจื๊อนั้นเน้นการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมชาติ และความเรียบง่าย ซึ่งแนวทางนี้ได้อยู่มาและเป็นจริงจนทุกวันนี้ ยิ่งกับโลกปัจจุบันแล้วเราล้วนห่างไกลจากธรรมชาติและทำลายธรรมชาติไปอย่างมาก ผลจึงปรากฏเป็น “วิบากกรรม” ที่ต้องเผชิญ

ขอยกส่วนหนึ่งของเนื้อหาในคัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” มาให้อ่านกัน

Tao Te Ching Cover Design | COVERKITCHEN

เล่าจื๊อเน้นว่า สรรพสิ่งทุกอย่างในโลกมีสภาพความเป็นอยู่ และหนทางการพัฒนาของมันเอง เช่น นกบินอยู่บนท้องฟ้า ปลาว่ายอยู่ในน้ำ เมฆลอยอยู่บนท้องฟ้า ดอกไม้บานและร่วง ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์ มนุษย์จึงไม่ควรพยายามที่จะไปเปลี่ยนแปลงความเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งชีวิตมนุษย์ด้วย

เล่าจื๊อเตือนมนุษย์ว่า “อย่าหวังที่จะไปควบคุมโลก การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมชาติจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับโลก”

ซึ่งปัจจุบันนี้เหล่าชาติมหาอำนาจทั้งหลายล้วนต้องการควบคุมโลกทั้งสิ้น จึงได้นำพามาซึ่งความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ดังที่เห็นกันอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก

เล่าจื๊อเห็นว่า สงครามเกิดจากความอยากของคน ความขัดแย้งเกิดจากการใช้ความพยายามเพื่อสนองความต้องการของคนเรา เมื่อความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นก็จะกลายเป็นสงคราม เล่าจื๊อเห็นว่า “การชิงดีชิงเด่นเป็นต้นเหตุที่จะนำไปสู่การเสื่อมทราม ชีวิตที่ปราศจากความโลภจึงเป็นชีวิตที่เป็นไปตามหลักธรรมชาติ”

อันนี้ช่างตรงข้ามกับวิธีคิดของนักการเมืองของประเทศต่างๆ เลยทีเดียว เพราะต่างมีความโลภเป็นบรรทัดฐาน โลภที่อยากมี อยากเป็นกันมากเกินไป จนเอาเปรียบผู้อื่น โดยเฉพาะกับคนที่มีอำนาจน้อยกว่า

 

ที่ชื่นชอบอย่างหนึ่งคือ การที่เล่าจื๊อนั้นได้เอา “น้ำ” มาเปรียบเทียบหลักปรัชญาที่เน้นการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมชาติ เล่าจื๊อกล่าวว่า “คุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเสมือนดั่งเป็นน้ำ” โดยกล่าวว่า “น้ำหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ และสรรพสิ่งทุกอย่างในโลก แต่น้ำไม่เคยแย่งชิงอะไรกับใคร”

ในสายตาของเล่าจื๊อ คนเรานิยมแสวงหาตำแหน่งที่สูงกว่า ขณะที่น้ำมักจะไหลไปยังพื้นที่ต่ำ ภายใต้พลังขับเคลื่อนจากความอยาก มนุษย์เราชอบสิ่งที่เราคิดว่า มีความเหนือกว่า และดูถูกสิ่งที่เราเห็นว่า มีความด้อยกว่า แต่น้ำไหลไปยังที่ต่ำเสมอ น้ำได้หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตทุกอย่างในโลก น้ำได้สร้างคุณูปการให้แก่โลกโดยไม่คำนึงถึงส่วนได้ส่วนเสียของตน และจะอยู่ในที่ต่ำ ที่เรียบ ที่สงบอยู่เสมอ แนวทางของน้ำแตกต่างไปจากแนวทางของคนที่มีความอยากมากมาย

อื้อฮือ…ทำไมช่างเรียบง่าย แต่คมคายลึกซึ้ง และเป็นจริงเช่นนี้

 

อย่างไรก็ตาม หลักปรัชญาของเล่าจื๊อไม่ใช่ปรัชญาเกี่ยวกับความอ่อนแอ ตรงกันข้าม เป็นปรัชญาที่เปี่ยมด้วยพลัง เล่าจื๊อเห็นว่า น้ำสะสมพลังที่ยิ่งใหญ่ท่ามกลางความอ่อนโยนและความสงบ พลังของน้ำสามารถขจัดอุปสรรคทุกอย่างในโลก

ไม่มีสิ่งใดในโลกที่อ่อนโยนกว่าน้ำ แต่ก็ไม่มีอะไรที่มีพลังเหนือกว่าน้ำ น้ำเป็นแบบอย่างแห่งความอ่อนโยนที่ชนะความเข้มแข็งได้ สาเหตุที่น้ำชนะอยู่เสมอ ก็เป็นเพราะว่าน้ำปราศจากความอยาก และไม่ต้องการแย่งชิงอะไรกับใคร

จะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้วแนวทางของเล่าจื๊อนั้นไม่ได้ลึกล้ำสูงส่งยากเข็ญจนเกินจะทำได้เลย หากเป็นสิ่งที่เป็น “ธรรมชาติ” อยู่แล้ว และธรรมชาติก็คือการเป็นไปโดยไม่ปรุงแต่งจากความโลภ

ซึ่งในคำภีร์ “เต้าเต๋อจิง” นั้นยังได้พูดถึงเรื่องอาหารที่เป็นธรรมชาติไว้ด้วย

 

เล่าจื๊อได้บอกว่า “เว่ย-อู๋-เว่ย” หมายถึง รสที่ไม่มีรส หรือความไม่มีรส นั่นแหละคือรสที่แท้จริง

เล่าจื๊อเห็นว่า อาหารดีที่สุด คืออาหารที่มีรสจืด เพราะอาหารอร่อยดนตรีไพเราะ มักทำให้คนเราลุ่มหลงไปกับรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ซึ่งเป็นต้นเหตุของการใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย เล่าจื๊อจึงไม่สนับสนุนให้คนกินอาหารที่มีรสจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัด ควรปรับตัวกินอาหารรสอ่อนกว่าที่เคยกินประจำ เล่าจื๊อยังบอกอีกด้วยว่า

อาหารมีไว้ให้กินเพื่ออิ่มท้อง ไม่ใช่มีไว้ให้เชยชมบำเรอความพึงใจ และถึงกับเปรียบคนตั้งแต่เจ้าผู้ครองนคร ขุนนาง เศรษฐีผู้มั่งคั่ง ที่มักมากในอาหาร โดยเฉพาะอาหารชั้นดีรสอร่อยว่า เป็นดั่งมหาโจร เล่าจื๊อส่งเสริมให้กินอาหารแต่พออิ่ม ไม่กินมากเกินควร เพราะ “การกินอาหารมากเกินควร และการทำอะไรเลยเถิดเกินควร เป็นเรื่องที่คนทั่วไปรังเกียจกัน”

เพราะฉะนั้น ใครเป็นเจ้าผู้ครองนคร หรือขุนนาง หรือเศรษฐีที่มั่งคั่ง ที่มักมากในอาหาร และหลงใหลไปกับยศถาบรรดาศักดิ์ ความร่ำรวยฟุ้งเฟ้อ อำนาจวาสนา โดยไม่รู้จัก “ธรรมชาติ” ที่ควรเป็น ก็จงสำนึกไว้ด้วยว่า ท่านนั้นเป็นดั่งมหาโจร ตามคำกล่าวของเล่าจื๊อ

โดยเฉพาะมหาโจรที่ปล้นแผ่นดินนั้น ช่างน่ารังเกียจเสียนี่กระไร

อันนี้เล่าจื๊อไม่ได้กล่าว ผู้เขียนกล่าวเอง…แฮ่ม •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์