วิรัตน์ แสงทองคำ : พิชญ์ โพธารามิก (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดใหม่ว่าด้วยการติดตามความเป็นไปสังคมธุรกิจไทย ผ่านเรื่องราวบุคคลสำคัญ โฟกัสที่ภูมิหลัง ว่าด้วยความรู้และประสบการณ์

เรื่องราวสองพ่อลูก อดิศัย-พิชญ์ โพธารามิก คือตำนานการต่อสู้ของ “ผู้มาใหม่” ดำเนินอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

“พิชญ์ โพธารามิก หลังจากเข้ามากอบกู้กิจการจากที่บิดา (อดิศัย โพธารามิก) ทำไว้ เขากำลังก้าวไปอีกขั้น สู่ธุรกิจสื่อสารไร้สายอย่างเต็มตัว ในฐานะผู้นำรุ่นใหม่กำลังเดินแผนเชิงรุกอย่างน่าตื่นเต้น ก่อนจะไปสู่บทสรุปว่า จะเป็นกรณี “ผู้มาที่หลัง” เช่นบิดาหรือไม่ เรื่องราวของเขาเอง คงน่าสนใจไม่น้อย”

ผมเคยตั้งของสังเกตและคำถามไว้ ในตอนเรี่มต้นข้อเขียนชุดใหม่ (จากเรื่อง ปรากฏการณ์ “ผู้นำ” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มกราคม 2559) ว่าด้วยเรื่องราว “การเปลี่ยนแปลงผู้นำ การเปลี่ยนผ่านสำคัญ ทั้งมาจากนโยบาย หรือปรากฏการณ์ จะนำทางไปค้นหาเรื่องราวบุคคลสำคัญ เพื่อติดตาม ตั้งคำถาม ทำความเข้าใจ ต่อเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีความหมาย”

ในช่วงเวลานั้นการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมหรือ 4G (15-18 ธันวาคม 2558) เพิ่งจบลงไปไม่นาน ด้วยปรากฏการณ์กรณีครึกโครมและตื่นเต้นอย่างมากๆ คือบริษัทเครือจัสมินฯ (บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด (แจสโมบาย) หรือ JASMBB) ชนะการประมูลเคลื่อนความถี่ย่าน 900 MHz ในราคาต้องต่อสู้อย่างไม่ลดละ จบลงด้วยราคาที่สูงลิ่วอย่างไม่น่าเชื่อถึง 75,654 ล้านบาท

จัสมินฯ ภายใต้การนำของ พิชญ์ โพธารามิก กำลังจะกลายเป็น “ผู้เล่นหน้าใหม่” ในธุรกิจสื่อสารไร้สาย ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจใหญ่และทรงอิทธิพลในสังคมไทย ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ภาพนั้นเชื่อมโยงไปถึงตำนานจัสมินฯ เมื่อสองทศวรรษที่แล้ว

เรื่องราวสองพ่อลูก เชื่อมโยงกับจัสมินฯ หรือ JAS อย่างแยกไม่ออก “บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทชั้นนำ ที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีสื่อสารครบวงจร ทั้งในประเทศและระหว่างประทศ ไม่ว่าจะบนดิน บนฟ้า หรือใต้น้ำ…” (www.jasmine.com)

จากข้อมูลข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัสมินฯ หรือ JAS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2525 โดยเข้าสู่ช่วงสำคัญ สามารถเข้าตลาดหุ้นเมื่อกลางปี 2537 (07/07/2537) นั่นถือเป็นจุดตั้งต้นตำนานอันโลดโผน ยุค อดิศัย โพธารามิก ผู้เป็นบิดา ดูเผินๆ แล้ว อาจคล้ายๆ กับกรณี 4G ของบุตรชาย ทั้งๆ ที่ช่วงเวลาห่างกันถึงกว่าสองทศวรรษ

จัสมินฯ ยุค อดิศัย โพธารามิก มีภาพโดยสังเขปอันเร้าใจเช่นกัน

“จัสมินฯ กลุ่มธุรกิจใหม่ล่าสุด เติบโตที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย เรียกว่าเติบโตอย่างไม่ทันตั้งตัวทีเดียว” ผมเองเคยเสนอเรื่องราวไว้เมื่อเกือบ 2 ทศวรรษที่แล้ว (ปี 2540) โดยขยายความแผนการธุรกิจของจัสมินฯ เมื่อ 2 ทศวรรศที่แล้ว ไว้อย่างคร่าวๆ

หนึ่ง- “จัสมินฯ เข้าแทรก และช่วงชิงสัมปทานของรัฐ ในฐานะผู้มาใหม่ โดยเฉพาะสัมปทานเคเบิลใต้น้ำ และโทรศัพท์พื้นฐานชนบท ซึ่งเป็นสัมปทานเกรด 2 จำเป็นต้องลงทุนมากกว่าปกติ และต้องจ่ายผลตอบแทนให้รัฐจำนวนมาก โดยเฉพาะระบบโทรศัพท์พื้นฐานชนบท

อดิศัย โพธารามิก เข้าใจเรื่องนี้ดี เขากล่าวไว้ว่าระบบสัมปทานในไทยหมดแล้ว ต้องออกนอกประเทศ ด้วยการบุกเบิกธุรกิจลักษณะเดียวกัน ในลาว อินเดีย อินโดนีเชีย และฟิลิปปินส์”

ในขณะนั้นผมเน้นไว้ด้วยว่า เป็นภาพสะท้อนความเชื่อคลาสสิกของสังคมธุรกิจไทย ว่าด้วยระบบสัมปทาน เป็นฐานความมั่งคั่งอันมั่นคง

สอง- ในปี 2537 อดิศัย โพธารามิก นำกิจการเข้าตลาดหุ้น ระดมทุนเพื่อรองรับโครงการใหม่ๆ ขนาดใหญ่หลายโครงการ ซึ่งอยู่ระยะเริ่มต้นทั้งสิ้น แต่แล้วต้องเผชิญสถานการณ์ไม่คาดคิด วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมาถึง เป็นเหตุให้ยุค อดิศัย โพธารามิก ในจัสมินฯ สิ้นสุดลง

(จะขอขยายความภาคพิสดารในตอนต่อๆ ไป)

ตัดภาพมาอีก 2 ทศวรรษต่อมา จัสมินฯ ยังอยู่ “ลักษณะธุรกิจ–แบ่งเป็น 4 ธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Business) 2.ธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม (Telecom Network & Service Provider Business) 3.ธุรกิจงานจัดหา ออกแบบและวางระบบสื่อสารและโทรคมนาคม (System Integration Business) 4.ธุรกิจอื่นๆ (Other Businesses)” ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ แสดงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับจัสมินฯ ว่าไปแล้วมีฐานมาจากธุรกิจเก่าสร้างไว้ในยุค อดิศัย โพธารามิก

ปัจจุบัน พิชญ์ โพธารามิก เป็นทั้งผู้ถือหุ้นจัสมินฯ รายใหญ่ที่สุด (ถือหุ้นในสัดส่วน 25.85%–ข้อมูลสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุด) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ

เชื่อว่ากันว่า พิชญ์ โพธารามิก ได้รับการผ่องถ่ายหุ้น ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 มาจาก อดิศัย โพธารามิก ในจังหวะเดียวกับช่วงเวลาเขาเข้าไปมีตำแหน่งทางการเมือง พิชญ์ โพธารามิก ใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าจะเข้ารับตำแหน่งบริหารจัสมินฯ อย่างเต็มตัว เป็นช่วงหลังจากจัสมินฯ ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ตามแผนการฟื้นฟูกิจการ (30 กันยายน 2546 – 26 กรกฎาคม 2550)

พิชญ์ โพธารามิก ในวัย 36 ปี เข้าเป็นผู้บริหารจัสมินฯ เมื่อปี 2551 เขาได้ดำเนินแผนการใหม่ๆ อย่างกระฉับกระเฉง อย่างน่าสนใจ ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ในความพยายามปรับปรุงกิจการเป็นลำดับ (ภาพกว้างๆ โปรดพิจารณา ข้อมูลสำคัญ-บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ข้อมูลประกอบบทความ)

เรื่องราวจัสมินฯ ยุค พิชญ์ โพธารามิก เข้มข้นขึ้นเมื่อปี 2558 ข้อมูลสำคัญ (อ้างถึงข้างต้น) สะท้อนตัวเลขบางอย่างที่น่าสนใจ

ปี2558 เป็นช่วงก้าวกระโดดของจัสมินฯ อย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยสินทรัพย์และรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

“นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากความมุ่งมั่นดำเนินงานจนสามารถสร้างผลประกอบการที่น่าพอใจ ทำให้มีรายได้จากการขายและบริการในภาพรวมโตขึ้นถึง 14% รวมทั้งการจัดตั้ง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตจัสมิน (JASIF) ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนเป็นอย่างดีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากนั้น กองทุนดังกล่าวยังได้รับรางวัล Achievement Awards ประจำปี 2015 จากนิตยสาร Finance Asia ในฐานะ Best Thailand Deal อีกด้วย” พิชญ์ โพธารามิก ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารแถลงในรายงานประจำปี 2558

ควรเน้นด้วยว่ารายได้ที่เพิ่มอย่างมากนั้น บางส่วนมาจากการขายสินทรัพย์บางอย่างให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ อินเตอร์เน็ต จัสมิน (“JASIF”)

ในปลายปี 2558 นั้นเอง กิจการในเครือจัสมินฯ ได้เข้าร่วมประมูลครั้งใหญ่ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นๆ เป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนจากนั้น มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย (จะกล่าวในตอนต่อไป) ในที่สุดได้พลิกผันอีกตลบ

— 21 มีนาคม 2559 วันครบกำหนดระยะเวลาการขอรับใบอนุญาต 4G แจสโมบายไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินกว่า 70,000 ล้านบาท มาให้ กสทช. ได้ “ผู้ประกอบการรายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศจีน (ซึ่งสนใจร่วมลงทุนในแจสโมบายและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ของประเทศจีน) ติดข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องของประเทศจีน” คำแถลงเหตุผลของจัสมินฯ ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ

— 22 มีนาคม 2559 จัสมินฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าถึงผลกระทบกรณีข้างต้นไว้ว่า “ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทได้ให้ความเห็นว่าแจสโมบายต้องถูกริบเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาท แจสโมบายและกลุ่มบริษัทจัสมินฯ ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าเสียหายใดๆ เพิ่มเติม”

— 1 มิถุนายน 2559 กสทช. มีมติให้บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด (“JASMBB”) ชำระค่าใช้จ่ายในการประมูลใหม่และอื่นๆ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 199,423,991.16 บาท และให้นำมาชำระภายใน 15 วัน ซึ่งจัสมินฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า “บริษัท JASMBB จะดำเนินการตามที่ กสทช. แจ้งให้ทราบ”

บทสรุปตอนนี้อาจกล่าวได้ว่า จัสมินฯ ในยุค พิชญ์ โพธารามิก ดำเนินยุทธศาสตร์สำคํญ โดยไม่ได้ย่ำรอยเท้ายุค อดิศัย โพธารามิก

ข้อมูลทางการเงินสำคัญ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

wk02820160701