มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส /โรงงานกระดาษไทย ในฝรั่งเศส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

โรงงานกระดาษไทย ในฝรั่งเศส

 

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ นอกจากความจะต่อเนื่องกับฉบับที่แล้ว ยังเป็นการมองอย่างภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยด้วย

ฉบับที่แล้วพาไปมองเมืองฮวง ฝรั่งเศส เมืองเล็กๆ ที่ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งช้อปปิ้ง แต่มีสถานที่หนึ่งที่คนไทยควรที่จะรู้จัก คือ โรงงานกระดาษยี่ห้อ ดั๊บเบิ้ลเอ ที่เรารู้จักกันดี

เดิมที โรงงานนี้ชื่อ อลิเซ่ Alizay ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเออร์ Eure ห่างจากฮวงไปประมาณสามสิบกิโลเมตร เป็นแหล่งผลิตกระดาษใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส และใหญ่เป็นที่สองของยุโรป ด้วยกำลังการผลิตที่มากกว่า 200,000 ตันต่อปี

เมื่อเทคโนโลยีสื่อสารสนเทศก้าวไกล ความต้องการกระดาษลดลง ผนวกรวมกับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศฝรั่งเศส ทำให้โรงงานมีปัญหาการเงิน

แม้จะมีบริษัทจากประเทศฟินแลนด์ แหล่งผลิตเยื่อกระดาษโลกเข้ามารับช่วง แต่ปัญหาก็ยังไม่จบสิ้น จนในที่สุด โรงงานต้องหยุดกิจการ ทรัพย์สินตกเป็นของรัฐบาล พนักงานหลายร้อยคนต้องตกงาน

ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงผู้คนในเมืองฮวง

 

หลังจากการเจรจานานหลายเดือน รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงเลือกบริษัทกระดาษของไทยคือ ดั๊บเบิ้ลเอเข้าเทกโอเวอร์ ด้วยมูลค่ากว่าสามหมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการฟื้นคืนชีพกิจการโรงงาน และรับพนักงานเข้าทำงานสองร้อยกว่าตำแหน่ง สร้างความยินดีปรีดาให้กับชาวเมืองฮวงยิ่งนัก

เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลฝรั่งเศสเลือกบริษัทคนไทย นอกจากจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกกระดาษรายใหญ่ของโลกแล้ว

แนวคิดการผลิตกระดาษจากต้นไม้ที่ปลูกตามคันนา Khan-na model นับเป็นกระบวนการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาสมดุลธรรมชาติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต่างไปจากบริษัทอื่น ในประเทศอื่น

สำหรับดั๊บเบิ้ลเอ การซื้อกิจการครั้งนี้ เป็นการเปิดประตูการค้า ไม่เฉพาะฝรั่งเศสเท่านั้น หากรวมถึงยุโรปทั้งหมด รวมทั้งตะวันออกกลางและแอฟริกาด้วย นอกจากจะลดต้นทุนค่าขนส่งเนื่องจากอยู่ไม่ไกลแล้ว ต้นทุนการผลิตด้านพลังงานไฟฟ้าในฝรั่งเศสยังถูกลง ด้วยผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์ เมื่อรวมผลิตผลกระดาษในเมืองไทยเข้าด้วยกัน จะสูงถึงล้านตันต่อปี

ทำให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้นในตลาดการค้ากระดาษโลก

 

ไม่น่าเชื่อว่า ในปีอดีต พ.ศ.1974 สมัยกรุงศรีอยุธยา ยอน ดราค Jeanne d’ Arc ได้ช่วยกอบกู้บ้านเมืองฝรั่งเศสให้พ้นจากการควบคุมของอังกฤษ แต่ก็ถูกกล่าวโทษว่าเป็นแม่มด หลอกลวงชาวบ้านให้รวมพลังต่อสู้ จึงถูกจับเผาทั้งเป็นจนสิ้นชีวิตที่เมืองฮวง ก่อนที่จะฟื้นคดีมาอภัยโทษ และกลายเป็นวีรสตรีในทุกวันนี้

ไม่น่าเชื่อว่า ในปีปัจจุบัน พ.ศ.2556 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ ได้ช่วยกอบกู้โรงงานกระดาษฝรั่งเศสที่เมืองฮวง ให้พ้นสภาพล้มละลาย ทั้งๆ ที่บริษัทดั๊บเบิ้ลเอ ก็เคยถูกกล่าวโทษว่าหลอกลวงชาวบ้านให้ปลูกต้นยูคาลิปตัสตามคันนา ส่งโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ เป็นการทำลายสภาพแวดล้อม

โชคดีว่า ผู้ดำเนินกิจการ แค่หนีนักข่าว และหลบหนีไปจากข่าวสังคมบ้าง หากบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจต่ออย่างมุ่งมั่นและมั่นคง สามารถควบรวมโรงงานกระดาษฝรั่งเศส เป็นที่มาของกระดาษไทย เมด อิน ฝรั่งเศส

โชคดีว่า รัฐบาลและวงวิชาการฝรั่งเศส ยอมรับแนวคิดและการดำเนินงานแบบคันนาของบริษัทดั๊บเบิ้ลเอ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ชาวเมืองฮวงจึงมีงานทำ มีรายได้ และมีความสุข

ที่สำคัญ ไม่ต้องลำบากสวมเสื้อเหลืองออกไปประท้วงรัฐบาล เหมือนคนเมืองอื่น