ศาลสั่งยกฟ้องคดีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร”

วันนี้ (25 ธ.ค.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องคดี เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร หลังมีการยกเลิกข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 เรื่องการชุมนุมการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาในคดีนี้ ทำให้ไม่มีกฎหมายเอาผิดจำเลยทั้ง 5 คนอีก

สำหรับคดีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ปี พ.ศ.2560 โดยคดีนี้จำเลย 5 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

โดยจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์เกิดจาก งานประชุมนานาชาติไทยศึกษา (The International Conference on Thai Studies) ซึ่ง เป็นงานประชุมวิชาการในระดับระหว่างประเทศ ซึ่งมีหัวข้อเกี่ยวข้องกับประเทศและสังคมไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุกสามปีต่อครั้งหมุนเวียนกันไปในประเทศต่างๆ โดยเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ที่มหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย  และในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่

ภายใต้สถานการณ์หลังการรัฐประหารของประเทศไทย ในระหว่างการจัดงานครั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 60 ทางชุมชนนักวิชาการนานาชาติที่มาร่วมงานจำนวน 176 คน ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ “ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย” เรียกร้องให้คสช. คืนเสรีภาพทางวิชาการ คืนอิสรภาพแก่นักโทษทางความคิด คืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชน และปฏิรูปสถาบันสำคัญโดยเฉพาะศาลและกองทัพ

ต่อมาในวันที่ 18 ก.ค. ยังมีนักกิจกรรมและนักศึกษานำป้ายที่มีข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” มาติดบริเวณหน้าห้องสัมมนาวิชาการ เนื่องจากเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างงาน โดยไม่มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ไม่ได้ขออนุญาตผู้จัดงาน และยังมีการส่งเสียงดังภายในงาน โดยที่ระหว่างที่ป้ายดังกล่าวติดอยู่ ได้มีผู้ร่วมถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวด้วย

ภายหลังการจัดงาน ได้ปรากฏรายงานข่าวถึงหนังสือของนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ส่งหนังสือ รายงานต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 18 ก.ค. 60 เรื่องความเคลื่อนไหวในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา

หนังสือระบุว่าเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ได้มีนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม จำนวน 6 คน ได้เดินทางมาชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” โดยใช้สถานที่ภายในห้องประชุมสัมมนาและด้านหน้าห้องประชุมเป็นสถานที่ถ่ายภาพ พร้อมกับระบุว่าทางจังหวัดเชียงใหม่ โดยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จะเชิญนักวิชาการ 3 คนเข้าพบเพื่อชี้แจง และขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป แต่ภายหลังจากนั้นก็ยังไม่มีการเรียกตัวใดๆ เกิดขึ้น

จนหลังการประชุมผ่านไปเกือบหนึ่งเดือน เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 60 ผู้ต้องหาบางรายในคดีนี้ได้รับหมายเรียก จากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ลงวันที่ 11 ส.ค. 60 ระบุให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 หมายเรียกระบุให้ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 23 ส.ค. 60 แต่มีการแก้วันนัดเข้าพบด้วยปากกาใหม่เป็นวันที่ 15 ส.ค. 60

ต่อมาจึงทราบจากพนักงานสอบสวนว่าได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งหมด 5 คน ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักศึกษา และนักเขียน ได้แก่ 1. ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2. นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, 3. นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 4. นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5. นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

โดยผู้ต้องหาทุกคน ให้การยืนยันเสรีภาพการแสดงออกเพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ทั้งนี้ ระหว่างการดำเนินคดี ได้มีแถลงการณ์-จดหมายเปิดผนึกจากไทยและต่างประเทศหลายองค์กร หน่วยงาน เรียกร้องยุติคดีนี้

มติชนออนไลน์