ชนะเลือกตั้ง…แต่ยังอยู่ใต้ระบอบอำมาตย์ ก้าวไกล-เพื่อไทย ต้องสู้ไปด้วยกัน

มุกดา สุวรรณชาติ

ชนะเลือกตั้ง…แต่ยังอยู่ใต้ระบอบอำมาตย์ ก้าวไกล-เพื่อไทย ต้องสู้ไปด้วยกัน สถานการณ์ที่เป็นจริงของพรรคก้าวไกล

 

ชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2566 ของพรรคก้าวไกล ได้ ส.ส.มากกว่าปี 2562 เกือบเท่าตัว แต่ 152 เสียง จาก 500 ไม่ถึงหนึ่งในสามของสภาผู้แทนฯ นับได้ 30%

ดังนั้น การตั้งรัฐบาล ก็เหมือนกับยืนบนขาตัวเองข้างหนึ่ง อีกขาหนึ่งเป็นขาของพรรคแนวร่วม

ลองย้อนดูสถานะของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เชิงเปรียบเทียบ กับในอดีต หลังพฤษภาทมิฬ 2535 ประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นแกนนำจัดรัฐบาล ส.ส.มากที่สุด 79 เสียง รองลงมาคือพรรคชาติไทยได้ 77 และครั้งนี้ได้เริ่มธรรมเนียมพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

ปี 2538 เลือกตั้งใหม่ พรรคชาติไทยได้ 92 เสียง ปชป.ได้ 86 เสียง คุณบรรหาร ศิลปอาชา จึงได้เป็นนายกฯ ปี 2539 ก็มีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ คราวนี้พรรคความหวังใหม่ได้ ส.ส. 125 เสียง ปชป.ได้ 123 น้อยกว่า 2 เสียง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จึงได้เป็นนายกฯ

จำนวน ส.ส.ทั้งสภาผู้แทนฯ ยุคนั้นอยู่ที่ 360-393 คน ไม่มี ส.ว.แต่งตั้งมาแย่งโหวตเลือกนายกฯ พรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีจำนวน ส.ส.อยู่ประมาณ 20-30% ของสภาผู้แทนฯ ก็ผลัดเวียนกันตั้งรัฐบาลได้

ปี 2562 พลังประชารัฐมี ส.ส.แค่ 116 คน แต่มี ส.ว. 250 คนช่วยตอนเลือกนายกฯ

แต่ครั้งนี้ก้าวไกลชนะได้จัดตั้งรัฐบาล มี ส.ส.แค่ 152 คน แถมมี ส.ว.มาขวาง

 

การเมืองยุคเลือกตั้งบัตร 2 ใบ

รัฐธรรมนูญ 2540 นำมาใช้ในการเลือกตั้ง 2544 เป็นการเริ่มใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ครั้งแรก คือ ให้มีจำนวน ส.ส.เขต 400 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน ทั้งสภาจึงมี 500 คนคงที่ มิได้เปลี่ยนจำนวน ส.ส.ไปตามจำนวนประชากร

2544 พรรคไทยรักไทยชนะได้ ส.ส.ถึง 248 คน คะแนนพรรคได้ 11.6 ล้าน ในขณะที่ ปชป.ได้รองลงมา 128 คน

ปี 2548 พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอีกครั้ง ได้ ส.ส. 377 คะแนนพรรคมีมากถึง 18.9 ล้าน เสียงในสภาของพรรคไทยรักไทย ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ครั้งแรกได้ 49.6% ครั้งที่ 2 ได้ 75.4%

ในปี 2549 รัฐบาลไทยรักไทยก็ถูกรัฐประหาร ถูกยุบพรรคและตั้งพรรคใหม่ชื่อพลังประชาชน เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2550 ยังได้ ส.ส. 233 จาก 500 คิดเป็น 46.6% คะแนนพรรค 12.3 ล้าน แต่ถูกยึดอำนาจด้วยตุลาการภิวัฒน์และพลังประชาชนถูกยุบ

เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคเพื่อไทยลงเลือกตั้งในปี 2554 ยังชนะเลือกตั้งได้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ได้ ส.ส. 265 คน คิดเป็น 53% ได้คะแนนพรรค 15.7 ล้าน

จะเห็นว่าการเลือกตั้งในระบบบัตร 2 ใบ จำนวน ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าเดิมจะชื่ออะไร จะอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. 500 คน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ดังนั้น หลังยึดอำนาจ 2557 คสช.จึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 และให้มี ส.ว.แต่งตั้ง จาก คสช. 250 คน มาโหวตเลือกนายกฯ แถมใช้บัตรใบเดียว เพื่อสกัดพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย ไม่สนใจว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

โดยโครงสร้างแบบนี้ ผู้ชนะเลือกตั้ง จะฝ่าด่านเข้าไปเป็นรัฐบาลได้ยากมาก ยกเว้นเป็นพวกเดียวกับ ส.ว.

หลังรัฐประหาร 2557 บทบาทของสภาแต่งตั้งทุกสภา คือรับใช้เผด็จการ

วันนี้ ส.ว.คงไม่ยอมยกมือเลือกนายกฯ ตามเสียงส่วนใหญ่ที่ประชาชนเลือกง่ายๆ

 

แผนทำลาย 2 พรรค
รวมกันเราอยู่ แยกกันสู้ตายเรียบ

แม้พรรคก้าวไกล ได้ ส.ส. 152 คน เพียง 30% ของสภาเท่านั้น แต่ที่ 2 ซึ่งได้ ส.ส. 141 คน ก็คือพรรคเพื่อไทย การรวมกันของ 2 พรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาล จึงทำให้มีเสียงเกือบ 60% ของสภาผู้แทนฯ มีโอกาสร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ก็ไม่ง่ายเพราะตั้งนายกฯ ต้องมี 376 เสียงของรัฐสภา

ถ้า 2 พรรคนี้แยกกันเมื่อใด กำลังการต่อสู้จะลดลงและมีสิทธิ์พ่ายแพ้ด้วยกัน

แผนสกัดพรรคก้าวไกลจึงดำเนินต่อไปโดยกลุ่มอำนาจเก่า ไม่ยอมให้ ส.ว.ยกมือหนุน ในขณะเดียวกัน ก็ไปยุยงพรรคเพื่อไทยว่า ถ้าก้าวไกลไม่ผ่าน ก็ให้พรรคเพื่อไทยเสนอนายกฯ แทน พวกเขาจะมาช่วยสนับสนุน

ถ้าเพื่อไทยเข้ามาในกับดักนี้ และก้าวไกลกลับไปเป็นฝ่ายค้าน เพื่อไทยก็ต้องไปหาเสียงหนุนจากพรรครัฐบาลเดิม ไม่ว่าจะเป็นภูมิใจไทย พลังประชารัฐ หรือ ปชป. มาผสมเพื่อให้มีเสียงในสภาผู้แทนฯ 270-280 และพรรคเหล่านั้นก็จะต่อรองเรียกร้อง ขอดูแลกระทรวงต่างๆ

แต่วันไหนที่ไม่พอใจก็สามารถล้มรัฐบาลได้ไม่ยาก แค่มีบางพรรคการเมืองถอนตัว รัฐบาลก็ล้มแล้ว

ที่สำคัญ เพื่อไทยจะถูกตราหน้าว่า ร่วมกับเผด็จการ พายเรือให้ฝ่ายล้มประชาธิปไตย

ถ้าหลงไปเดินหมากตานี้ เพื่อไทยก็จะพ่ายแพ้ทั้งกระดาน และตกต่ำไปอีกนาน กลายเป็นพรรคหลักสิบ เดินตามเส้นทางที่ ปชป.เคยเดินหลังร่วมกับเผด็จการ จากเคยมี ส.ส.เกิน 150 เดี๋ยวนี้เหลือแค่ 24 คน

 

ยืดเกมตั้งรัฐบาลได้…
ที่น่ากังวลไม่ใช่รัฐประหาร
แต่เป็นศาล และ กกต.

สถานการณ์ของเพื่อไทยจำเป็นต้องสนับสนุนพรรคก้าวไกล ตั้งรัฐบาลให้ได้ แม้จะยืดเยื้อ

ถ้า ส.ว.ไม่ยอม ก็เสนอชื่อซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วดูว่าแรงกดดันจะไปอยู่ที่ใคร ไม่ต้องไปกลัวอะไรทั้งสิ้น

ถ้าจะเกิดรัฐประหารก็ให้เกิด เพราะปฏิกิริยาโต้กลับต่อการรัฐประหารครั้งนี้ก็คือการปฏิวัติ

ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยครั้งนี้ มีลักษณะพิเศษ (จะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป) ความกดดันตลอด 9 ปี ทำให้พลังของประชาชนแรงมาก จนไม่ควรมีใครมาขวางได้

สิ่งที่กลุ่มอำนาจเก่าอาจทำได้ก็คือการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยใช้ ส.ส.ประมาณ 180 เสียงแล้วใช้ ส.ว.อีก 200 เข้ามาโหวตให้เพื่อตั้งนายกฯ

แต่รัฐบาล 180 เสียงบริหารไม่ได้ และคาดว่าจะถูกประชาชนต้านทันที ถ้ามีการปราบประชาชนก็จะเหมือนปี 2535

ถ้ายุบสภา ก็เลือกตั้งใหม่อีก ดูว่าพวกเขาจะมีเงินจ่ายสักเท่าไหร่ ถึงอย่างไร ส.ว.ชุดนี้ก็หมดวาระต้นปี 2567

จุดจบของวุฒิสภา อาจจะเริ่มต้นที่นี่ และต่อไปอาจจะไม่ต้องมีกันอีกแล้ว

การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามัคคีของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย

ถ้าทะเลาะ แย่งอำนาจกัน ก็จะพังตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเรายังอยู่ในระบอบอำมาตยาธิปไตย อำนาจเก่ายังคุมกลไกของระบบราชการ กฎหมาย และกำลัง

เวลานี้ที่น่ากังวลคือ กกต., ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ

เส้นทางที่ต้องผ่านช่วงนี้อยู่บนหน้าผา จะก้าวเดินไปข้างหน้า ต้องใช้สองขาและสมอง ถึงกองเชียร์จะเรียกร้องให้วิ่ง ก็ใช่ว่าจะทำได้