เจ้านครอินทร์ สยามยึดอยุธยา | สุจิตต์ วงษ์เทศ

แผนที่แสดงเวียงเหล็ก หรือเมืองปท่าคูจาม ซึ่งเป็นหลักแหล่งขุมกำลังของกลุ่มสยาม อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางทิศใต้

กลุ่มสยามยึดกรุงศรีอยุธยาโดยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแรงจากเครือญาติและเครือข่ายเมื่อเรือน พ.ศ.1900

กลุ่มเครือญาติ ผู้นำกลุ่มสยามสมัยนั้นคือเจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ รัฐสุพรรณภูมิ มีเครือญาติเป็นชาติภาษาเดียวกัน (คือ ภาษาไทย) ได้แก่ รัฐสุโขทัย, รัฐเพชรบุรี, รัฐนครศรีธรรมราช

กลุ่มเครือข่าย เจ้านครอินทร์ ผู้นำกลุ่มสยามสมัยนั้นมีเครือข่ายการค้าทั่วอ่าวไทยและคาบสมุทรมลายู ได้แก่ จาม, ชวา, มลายู เป็นต้น

ขุมกำลัง กลุ่มสยามจากลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองขยายอำนาจปักหลักตั้งถิ่นฐานมั่นคงเป็นชุมชนใหญ่ระดับเมืองนานแล้ว (ตั้งแต่ครั้งอโยธยาศรีรามเทพ ก่อนสมัยอยุธยา) เรียกเมืองปท่าคูจาม อยู่ย่านคลองตะเคียน (บริเวณนอกเกาะเมืองด้านทิศใต้) เสมือนขุมกำลังซึ่งมีเจ้าเสนาบดีเป็นเจ้านายควบคุมดูแล

เจ้าเสนาบดี น่าจะเป็นเจ้านายมีเชื้อสายกลุ่มสยามสุพรรณภูมิ และมีเหย้าเรือนเป็น “บ้านใหญ่” อยู่ในเมืองปท่าคูจาม (ทั้งนี้ พิจารณาจากข้อความตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ) ได้รับราชการเป็นขุนนางใหญ่ในราชสำนักพระรามราชา กษัตริย์อยุธยา (เชื้อวงศ์ละโว้-อโยธยา) ต่อมาเจ้าเสนาบดีขัดแย้งรุนแรงกับพระรามราชา (ด้วยความรู้เห็นเป็นใจจากจีน หรือการวางแผนร่วมกับจีน) จึงเชิญเจ้านครอินทร์จากเมืองสุพรรณไปประทับตำหนักเมืองปท่าคูจาม จากนั้นยกกองกำลังเมืองปท่าคูจามจู่โจมยึดได้อยุธยาถวายเจ้านครอินทร์ขึ้นเสวยราชย์

ยึดนครธม เมื่อยึดอยุธยาได้แล้วจะต้องขยายไปถึงกัมพูชาเข้ายึดนครธม (เมืองพระนครหลวง) ซึ่งเป็นเครือข่ายอำนาจเดิมของละโว้ ดังนั้น เจ้านครอินทร์ด้วยความรู้เห็นเป็นใจจากจีน จึงวางยุทธศาสตร์และยุทธวิถียึดนครธม ซึ่งเริ่มด้วยการควบคุมลุ่มน้ำมูลอันเป็นขุมกำลังและเสบียงอยู่เมืองพิมายกับเมืองพนมรุ้ง ขณะเดียวกันก็เป็นเส้นทางหนึ่งสำหรับยกทัพโจมตีนครธม ดังได้พบหลักฐานสำคัญอยู่ในจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ ซึ่งระบุพระนามเจ้านครอินทร์

คุกคามและค้าขาย

สยาม (ในเอกสารจีนเรียก เสียน หรือ เสียม) หมายถึงดินแดนและผู้คนบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสุพรรณ รัฐสุพรรณภูมิ

สยามมีตัวตนแข็งแรงแล้วจึงส่งทูตไปจีน พ.ศ.1745 แล้วจีนตอบรับส่งทูตถึงสยามปีถัดไป หลังจากนั้นสยามแข่งกับเมืองท่าอื่นๆ เพื่อชิงส่วนแบ่งการค้าในภูมิภาคด้วยยุทธศาสตร์คุกคามและค้าขาย หมายถึงส่งกองกำลังจู่โจมปล้นสะดมยึดพื้นที่และเจรจาการค้าเพื่อช่วงชิงทรัพยากรเป็นของตนไปทั่วคาบสมุทรมลายู แล้วยังอ้อมและข้ามไปถึงมะละกา, สุมาตรา จนบรรดาบ้านเมืองต่างๆ ได้รับความเดือดร้อนต้องขอให้จีนคุ้มครอง ในที่สุดจีนต้องห้ามปรามตำหนิสยามให้หยุดการจู่โจมบ้านเมืองอื่นๆ

ชุมชนชาวสยามในอยุธยา

กลุ่มสยามมีขุมกำลังแข็งแรง มาจากความเคลื่อนไหวของจีนออกค้าสำเภาด้วยตนเองตั้งแต่หลัง พ.ศ.1500 ทำให้บ้านเมืองและรัฐเก่าแก่ดั้งเดิมพากันขยับปรับตัว โดยเฉพาะบริเวณรอบอ่าวไทยบางแห่งมีรัฐใหม่เกิดขึ้น

รัฐละโว้ (ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก) ครั้งนั้นขยายอำนาจสร้างชุมชนบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาราวหลัง พ.ศ.1600 (ตามพงศาวดารเหนือซึ่งเป็นเอกสารเรียบเรียงสมัยอยุธยา) ชุมชนนี้ต่อไปคืออโยธยาศรีรามเทพ ปัจจุบันเป็นบริเวณสถานีรถไฟอยุธยา

กลุ่มสยาม (ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง) ขยายอำนาจสร้างชุมชนทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (คราวเดียวกับความเคลื่อนไหวของรัฐละโว้) ชุมชนนี้ต่อไปข้างหน้าเรียกเวียงเหล็กของท้าวอู่ทอง และ/หรือเมืองปท่าคูจาม ปัจจุบันเป็นย่านคลองตะเคียน

พระเจ้าอู่ทอง (วีรบุรุษในตำนาน ไม่มีตัวตนจริง) มีต้นตอจากความทรงจำเรื่องท้าวอู่ทอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของชาวสยาม (ร้อยพ่อพันแม่) ที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป ซึ่งเคลื่อนไหวโยกย้ายจากบริเวณลุ่มน้ำโขง ลงลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง (แล้วกระจายไปทางคาบสมุทร) ต่อมาได้ตั้งถิ่นฐานถาวรทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกภายหลังว่าเวียงเหล็ก (อยู่ย่านคลองตะเคียน) มีที่ประทับเรียกพระตำหนักเวียงเหล็ก (ปัจจุบันเป็นวัดพุทไธศวรรย์)

เวียงเหล็ก หมายถึงเมืองที่มีค่ายคูแข็งแรงเสมือนทำด้วยเหล็ก (เป็นคำสรรเสริญเมืองตามประเพณีโบราณ พบในวรรณกรรมหลายแห่ง ดังนั้น จึงไม่ใช่เวียงเล็ก เวียงน้อย ตามที่มีผู้ตีความ) เป็นเมืองของพระเจ้าอู่ทอง (ในตำนาน) อยู่นอกเกาะเมืองด้านทิศใต้ (บริเวณปัจจุบันเรียกย่านคลองตะเคียน) ส่วนที่ประทับของพระเจ้าอู่ทอง เรียก ตำหนักเวียงเหล็ก (ปัจจุบันคือวัดพุทไธศวรรย์)

เมืองปท่าคูจาม กร่อนจากคำเดิมว่า “เมืองปละท่าคูจาม” หมายถึง เมืองฟากฝั่งคลองคูจาม ซึ่งส่อว่าเป็นคำเรียกชื่อลักษณะบอกที่ทางหรือตำแหน่งแห่งหนของชุมชนเมืองสำคัญนั้นว่าอยู่บริเวณที่เป็นคลองคูจาม ดังนั้น จึงไม่ใช่ชื่อเมืองอย่างเป็นทางการ หากเป็นชื่อเรียกตามภาษาปากแล้วรู้กันในกลุ่มคนครั้งนั้นสืบถึงสมัยแต่งพงศาวดาร

[คำว่า “ปละ” หรือ “ประ” แปลว่า ฝั่ง, ฟาก (พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างพระราชวินิจฉัยของ ร.5 อยู่ใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2542 หน้า 212, และพบใน พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ พุทธศักราช 2525 สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2530 หน้า 204, นอกจากนั้นยังพบในเอกสารเรื่องกัลปนาเมืองพัทลุง อ้างในบทความเรื่อง “สมเด็จพระนครินทราธิราชฯ” ของ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล พิมพ์ในหนังสือ Ayutthaya Underground สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562 หน้า 162) ส่วนคำว่า “ท่า” หมายถึง คลอง มีใช้ในคำว่า “น้ำท่า” คือ น้ำในแม่น้ำลำคลอง ดังนั้น “ปทา” ในที่นี้จึงไม่มาจากภาษาเขมรตามที่มีอธิบายไว้ในหนังสือของราชการ]

บริเวณเมืองปท่าคูจาม เป็นหลักแหล่งของมุสลิมหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจาม, กลุ่มมลายู, กลุ่มหมู่เกาะในอุษาคเนย์ เอกสารสมัยพระนารายณ์ระบุว่ากลุ่มมลายูมีมากที่สุด

แผนที่แสดงเวียงเหล็ก หรือเมืองปท่าคูจาม ซึ่งเป็นหลักแหล่งขุมกำลังของกลุ่มสยาม อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางทิศใต้

จาม ผู้ชำนาญการค้าทางทะเล

จามใน “เมืองปท่าคูจาม” เป็นพลังสำคัญในการค้าทางทะเลสมุทรของกลุ่มสยามสุพรรณภูมิมาแต่ไหนแต่ไร ปัญหาอยู่ที่ว่าอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์ทุกวันนี้กีดกันทางประวัติศาสตร์ว่าจามเป็นพวก “ไม่ไทย” และ “ไม่มีหัวนอนปลายตีน” แล้วถูกยัดเยียดว่าจามเป็นเชลยกองทัพอยุธยากวาดต้อนจากกัมพูชาคราวศึก “ขอมแปรพักตร์” สมัยแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา

แท้จริงแล้ว ศึก “ขอมแปรพักตร์” เป็นวรรณกรรม “เพิ่งสร้าง” เพื่อยกย่องกรุงศรีอยุธยาเมืองใหม่ “เพิ่งเกิด” ดังนั้น ศึก “ขอมแปรพักตร์” ไม่เคยมี และเชลยจามจากกัมพูชาไม่เคยมา ไม่ว่าสมัยแรกหรือสมัยหลังของกรุงศรีอยุธยา

จาม เป็นชื่อทางวัฒนธรรม (เหมือนคำว่า เจ๊ก, แขก, ขอม ฯลฯ) หมายถึง ประชากรของรัฐจามปาในเวียดนาม อยู่ในตระกูลภาษาและวัฒนธรรมมลายู (บางทีเรียก “มลายูจาม”) ซึ่งมีบรรพชนเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในวัฒนธรรมซาหวิ่น ประกอบด้วยคนนับถือศาสนาผีซึ่งมีหลายชาติพันธุ์ แต่พูดภาษามลายูเป็นภาษากลาง และชำนาญเดินเรือทะเลสมุทร (ก่อนจีน) จามหรือคนในวัฒนธรรมซาหวิ่นพร้อมสิ่งของศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ ลิงลิงโอและกลองทอง (มโหระทึก) เข้าถึงอ่าวไทยสมัยแรกๆ ทางลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.500

รัฐจามปา รับวัฒนธรรมอินเดีย หลัง พ.ศ.1000 นับถือพราหมณ์-ฮินดูและพุทธปนศาสนาผี แล้วแผ่ขยายอิทธิพลไปทางลุ่มน้ำโขงบริเวณจำปาสัก (ในลาว) เข้าอีสาน (ในไทย) ต่อมาราวเรือน พ.ศ.1900 เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม (รับผ่านทางจีน)

มลายูจามเดินเรือเลียบชายฝั่งค้าขายกับรัฐเริ่มแรกในไทย เรือน พ.ศ.1000 ได้แก่ (1.) หลั่งยะสิว หรือ หลั่งเกียฉู่ ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง และ (2.) โถโลโปตี หรือ ทวารวดี ลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี

สมัยรัฐอโยธยาศรีรามเทพ จามปาค้าขายทางทะเลกว้างขวางแข็งแรง และมีความสัมพันธ์ทางการค้าใกล้ชิดกลุ่มสยาม จึงมีชุมชนจามอยู่ในกลุ่มสยามย่านคลองตะเคียน (แผนที่สมัยพระนารายณ์เรียกคลองตะเคียน ว่า คลองคูจามใหญ่) และน่าเชื่อว่ามีชาวจามรับราชการเป็น “กองอาสาจาม” ทำหน้าที่คล้ายกองทัพเรือเมื่อมีสงคราม แต่ยามปกติทำหน้าที่ควบคุมเรือและประโคมปี่กลองรับเสด็จ ดังนั้น เครื่องประโคมรับเสด็จจึงเรียกสืบเนื่องถึงทุกวันนี้ว่าปี่ชวา, กลองแขกมลายู

สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวจามเป็นข้าราชการ “กองอาสาจาม” มีศักดินา และมีชื่อในพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง

ส่วนจามพ่อค้ามีฐานะทางสังคมเทียบเท่าจีนและชวา จึงพบในกฎมณเฑียรบาลเรียก “จีนจามชวานานาประเทศ”