ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 มิถุนายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
คนไทย, เมืองไทย, ไทยใหญ่, ไทยน้อย
มีต้นทางจาก ‘ผู้ไท’ หรือ ‘ไทดำ’
ภูไท, ลาวโซ่ง, ไททรงดำ เป็นชื่อเชิงดูถูกใช้เรียกชาวผู้ไทหรือไทดำ ซึ่งโยกย้ายจากที่ห่างไกลเข้ามาตั้งบ้านเรือนในประเทศไทยสมัยกรุงธนบุรีต่อเนื่องถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
แต่คนสมัยนั้นจนถึงสมัยนี้ไม่รู้ความเป็นมาว่าแท้จริงแล้วคนแปลกหน้าไม่รู้หัวนอนปลายตีนเหล่านั้นเป็นใคร? มาจากไหน? จึงได้แต่จำคำบอกเล่าขาดๆ วิ่นๆ อันเนื่องจากการศึกษา “ในระบบ” ของทางการไทยยังยึดถือข้อมูล “ชุดเดิม” ที่คลั่ง “เชื้อชาติไทย” (ซึ่งไม่มีจริงในโลก) จึงไม่พบเรื่องราวของผู้ไทหรือไทดำสมัยดึกดำบรรพ์อย่างเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยในสุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์
สื่อสาขาต่างๆ สมควรทบทวนข้อมูลที่นำเสนอสาธารณะเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย โดยเฉพาะผู้ไทหรือไทดำที่มักเรียกเชิงดูถูกว่า ภูไท, ลาวโซ่ง, ไททรงดำ
ในทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ผู้ไทหรือไทดำมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดยาวนานมากกับความเป็นมาตั้งแต่ยัง “ไม่ไทย” ของคนไทย, เมืองไทย, ไทยใหญ่, ไทยน้อย
ดังนั้น เพื่อความเข้าใจไม่ยุ่งยากจึงควรแบ่งเรื่องราวเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเวลาดั้งเดิมเริ่มแรก และช่วงเวลาหลังกรุงแตกสืบเนื่องถึงปัจจุบัน
สมัยดั้งเดิมเริ่มแรก
ประวัติความเป็นมาของผู้ไทหรือไทดำสมัยดั้งเดิมเริ่มแรก มีเนื้อหาและช่วงเวลายืดยาวมากตั้งแต่ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1 จนถึงสมัยอยุธยา ที่ผู้ไทหรือไทดำรวมตัวเป็นบ้านเมืองหรือรัฐขนาดใหญ่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่า “สิบสองจุไท” ส่วนเนื้อหาก่อนหน้านั้นหลักฐานหาได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่อาจสรุปเบื้องต้นอย่างย่นย่อดังต่อไปนี้
ผู้ไทหรือไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พูดตระกูลภาษาไท-ไต หรือไท-กะได (ต้นตอรากเหง้าภาษาไทยทุกวันนี้) และอาจพูดตระกูลภาษาอื่นได้อีก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของ “เยว่” (ร้อยจำพวก) บริเวณ “โซเมีย” หรือที่ราบสูงในหุบเขาทางตอนใต้ของจีน ซึ่งมีเมืองแถน (เดียนเบียนฟู) เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ และเป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้ว ทางเขตลุ่มน้ำแดง-ดำ บริเวณหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรในปริมณฑลของแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่ดั้งเดิมของภูมิภาคอุษาคเนย์ ทางตอนเหนือของเวียดนาม (เขตวัฒนธรรมดงเซิน-ซาหวิ่น) ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องผืนเดียวกับทางใต้ของจีน (เขตวัฒนธรรมกวางสี-จ้วง)
วัฒนธรรมเก่าแก่ดั้งเดิมอุษาคเนย์ทั้งดงเซิน-ซาหวิ่น และกวางสี-จ้วง ได้แก่ นับถือแถนอยู่บนฟ้า หรือผีฟ้า, ความเชื่อเรื่องขวัญ (ไม่รู้จักวิญญาณ), พิธีศพครั้งที่สอง, เครื่องมือเครื่องใช้สำริด เป็นต้น เหล่านี้ต่อมามีความเคลื่อนไหวถูกแพร่กระจายพร้อมตระกูลภาษาไท-ไต ไปทางตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้ ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในถึงลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1
ไม่พบหลักฐานตรงๆ ว่าคนกลุ่มไหนเกี่ยวข้องการเคลื่อนไหวแพร่กระจายวัฒนธรรมเหล่านั้น?
แต่พบร่องรอยสำคัญในคำบอกเล่าเชิงสัญลักษณ์เรื่องขุนบรม (วีรบุรุษในตำนานของผู้ไท) ว่าผู้ไทหรือไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญกลุ่มหนึ่งในการเคลื่อนไหวโยกย้าย หรือ “แยกครัว” ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในไปลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้น่าเชื่อว่าผู้ไทหรือไทดำมีส่วนสำคัญในการแพร่กระจายภาษาตระกูลไท-ไตและวัฒนธรรมดงเซิน-ซาหวิ่นจากภาคเหนือของเวียดนามเข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ภาษาไท-ไตและวัฒนธรรมจาก “โซเมีย” ที่แผ่เข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลังผสมกลมกลืนภาษาและวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น มอญ-เขมร, ชวา-มลายู ฯลฯ ต่อมาแผ่อำนาจการเมืองยึดกุมได้ทั้งหมดของรัฐอยุธยา แล้วเรียกตนเองว่า “ไทย” จากนั้นด้วยผลประโยชน์ดึงดูดคนชาติพันธุ์พูดภาษาต่างๆ พากันพูดภาษาไท-ไตเป็นภาษากลางทางการค้า ครั้นนานไปได้พูดในชีวิตประจำวัน แล้วกลายตนเป็น “ไทย” มีจำนวนส่วนมาก ในที่สุดพากันเรียกรัฐอยุธยาว่า “เมืองไทย” ส่วนกลุ่มไท-ไตทางลุ่มน้ำสาละวินถูกเรียกเป็น “ไทยใหญ่” และกลุ่มไท-ไตทางลุ่มน้ำโขงถูกเรียกเป็น “ไทยน้อย” (กลุ่มไทน้อยมีพื้นที่และเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงใกล้ชิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้ไทหรือไทดำเมืองแถน)
ผู้ไทหรือไทดำได้ผสมกลมกลืนเป็นไทยหรือคนไทยของรัฐอยุธยาจนหาไม่พบตัวตนเดิมด้วยตาเปล่า แต่มีร่องรอยหลายอย่างตกค้างในวัฒนธรรมอยุธยา ได้แก่ ความเชื่อเรื่องแถน, ความเชื่อเรื่องขวัญ, ระบบศักดินา, บทสั่งเสียในนิราศ เป็นต้น
1. ความเชื่อเรื่องแถน พบในโองการแช่งน้ำ เรียกพระพรหมว่า “ขุนแผน” ซึ่งเป็นคำกลายจากแถน (รายละเอียดเรื่องนี้มีในหนังสือ โองการแช่งน้ำ ของจิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2547)
2. ความเชื่อเรื่องขวัญ ขับลำคำคล้องจองคลอด้วยเสียงแคนในพิธีเรียกขวัญและส่งขวัญ พบหลักฐานเก่าสุดจากลายเส้นบนเครื่องมือสำริดราว 2,500 ปีมาแล้ว พบในเวียดนาม (รายละเอียดเรื่องนี้มีในหนังสือ ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน? สำนักพิมพ์นาตาแฮก พ.ศ.2562)
3. ระบบศักดินา มีต้นตอจากจำนวนที่นาบอกความมีอำนาจในชุมชนดั้งเดิม ใครมีที่นามากก็มีอำนาจมาก พบร่องรอยจากกฎมณเฑียรบาล และตำแหน่งราชการตราไว้ในกฎหมายสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งบางส่วนเป็นมรดกตกทอดสืบจากผู้ไทหรือไทดำ ได้แก่ การนับยศจากจำนวนที่นา เช่น ร้อยนา, พันนา, หมื่นนา, แสนนา ฯลฯ มีลักษณะอย่างเดียวกับผู้ไทหรือไทดำ เรียก สิบนา, ฮ้อยนา, พันนา, หมื่นนา, แสนนา, ล้านนา (จากภาคผนวกเรื่อง “ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ในหนังสือ โองการแช่งน้ำ ของจิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ดวงกมล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2524 หน้า 307-321)
4. บทสั่งเสียในนิราศ พบต้นตออยู่ในจารีตของผู้ไทหรือไทดำ มีประเพณีขับลำส่งขวัญคนตายไปสู่โลกหลังความตาย เก่าสุดราว 2,500 ปีมาแล้ว สมัยหลังจากนั้นปรับเป็นบทสั่งเสียสั่งลาคนรักเมื่อต้องพลัดพรากจากกัน
[ดูในหนังสือ จากรักโรแมนติก สู่การต่อสู้ทางชนชั้น ของยุกติ มุกดาวิจิตร พิมพ์โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พ.ศ.2561]
สมัยหลังกรุงแตก
ผู้ไท หรือไทดำ มีรัฐของตนเองสืบเนื่องนานมาแล้วชื่อสิบสองจุไท (หมายถึงสิบสองเมืองซึ่งเป็นเครือข่ายเครือญาติกับสิบสองพันนา ที่มณฑลยูนนาน ทางใต้ของจีน) อยู่ในหุบเขาขนาดกะทัดรัดหลายหุบต่อเนื่องกัน โดยจำยอมอยู่ในความคุ้มครองของรัฐใหญ่กว่าที่อยู่รอบๆ ได้แก่ รัฐล้านช้าง, รัฐจีน, รัฐญวน เป็นต้น
ครั้นหลังเสียกรุงไม่นานเมื่อกรุงธนบุรีตั้งหลักขึ้นใหม่ ได้ขยายอำนาจถึงเมืองหลวงพระบางของรัฐล้านช้าง ครั้งนั้นกวาดต้อนผู้ไทหรือไทดำ (จากลุ่มน้ำแดง-ดำในเวียดนาม) ผ่านทางหลวงพระบางไปตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองเพชรบุรี
ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้ชาวผู้ไทหรือไทดำเพิ่มเข้ามาอีก แล้วทยอยตามเข้ามาหลายครั้ง ขณะเดียวกันบางกลุ่มพากันหนีความขัดแย้งทางการเมืองในเวียดนามเข้าไปทางเขตลุ่มน้ำโขงในลาว เมื่อมีช่องทางก็ทยอยข้ามแม่น้ำโขงไปตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนในอีสาน ซึ่งพบหลักฐานตรวจสอบได้และเป็นที่รับรู้ทั่วไป
ไทยในกรุงเทพฯ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รับรู้เรื่องราวของผู้ไทหรือไทดำว่ามาจากลาวโดยผ่านหลวงพระบาง เลยเข้าใจว่าเป็นลาวทั่วไปจึงเรียกเชิงดูถูกว่า “ลาวทรงดำ” กับ “ลาวทรงขาว” (อยู่ในหนังสือ นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แต่งสมัย ร.3)
น่าจะเป็นต้นเรื่องทำให้เรียกต่อมาอย่างเหยียดๆ ว่า “ลาวซ่ง” แล้วทุกวันนี้กลายเป็น “ลาวโซ่ง” บ้าง “ไททรงดำ” บ้าง รวมถึง “ภูไท” หมายถึงชาวเขาชาวป่าดง