เงาปีศาจ : ต้นเหตุถ่ายบอลโลก “มัสต์แฮฟ” พ่นพิษ! แค่ “กสทช.” ปลดล็อก

“ฟุตบอลโลก 2018” กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ที่ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม 2561 นับนิ้วดูแล้วเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 4-5 เดือนเท่านั้น แต่ประเทศไทย แฟนบอลชาวไทยเอง ยังไม่รู้ว่าจะได้รับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ในเมืองไทยกันหรือไม่…!!!

ที่ว่าคนไทยยังสุ่มเสี่ยงต่อการไม่ได้รับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ก็เพราะว่าจนถึงขณะนี้เรายังไม่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจาก “สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)” มาถืออยู่ในมือ

แต่ในความเป็นจริงเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเราน่าจะได้รับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 เพราะเวลานี้ 7 ภาคส่วนของไทยร่วมกันลงขันแห่งละ 200 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,400 ล้านบาท ไปเจรจาขอซื้อลิขสิทธิ์จากทางฟีฟ่าอยู่

7 ภาคส่วน หน่วยงาน และบริษัทเอกชนดังกล่าวสมควรได้รับคำชื่นชมว่าเสียสละเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง ประกอบด้วย “เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี), บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด หรือช้าง, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” โดยทั้งหมดมีฉันทานุมัติให้กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ เป็นหัวหอกรับหน้าที่ไปดำเนินการเปิดโต๊ะเจรจากับฟีฟ่าเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ในราคาถูกที่สุด

เพราะกลุ่มคิง เพาเวอร์ มีประสบการณ์คลุกคลีอยู่ในวงการฟุตบอลเป็นเจ้าของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ และโอเอช ลูเวิน ในลีกรองของเบลเยียม

จึงวางใจไปได้ระดับหนึ่งว่าคนไทยไม่น่าพลาดได้ชมการถ่ายทอดสดอย่างแน่นอน

 

ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงคงต้องยกความดีความชอบให้กับ “บิ๊กป้อม” “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ “พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา” ประธานกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการโอลิมปิคฯ “นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่สวมวิญญาณมือประสานขอความร่วมมือจาก 7 ภาคส่วนดังกล่าวให้มาร่วมมือกันผนึกกำลังกัน จนเป็นที่มาโมเดล” “ลงขัน” เพื่อคนไทย

รวมไปถึงหน่วยงานสนองนโยบายอย่าง “การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)” โดย “สกล วรรณพงษ์” ผู้ว่าการ กกท. ที่เดินเครื่องรับนโยบายทันทีที่ได้รับบัญชาจากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และวงการกีฬา

เราคงต้องรอกันอีกระยะหนึ่งกว่าที่การเจรจาซื้อขายกับฟีฟ่า จะบรรลุและมีการเซ็นสัญญา จากนั้นคงต้องไปติดตามในรายละเอียดว่า เราจะรับชมได้ที่ทางไหน อย่างไร กี่คู่ แต่ที่แน่ๆ สบายใจได้ว่าจะได้รับชมผ่าน “ฟรีทีวี”

โดยที่คนไทยไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว

 

รูปแบบการดำเนินการของเมืองไทยมองมุมหนึ่งก็ดีเพราะคนไทยได้ดูการถ่ายทอดสดฟรีๆ ผมเองก็ได้ดูแบบฟรีๆ อีกมุมหนึ่งก็เกิดความคิดย้อนแย้งขึ้นมาว่า การที่ไทยเราทำเช่นนี้มันจะผิดกลไก ผิดวิถีวัฒนธรรมกีฬาของโลก โดยเฉพาะเรื่องของ” “ธุรกิจสิทธิประโยชน์” หรือไม่

ผมเป็นคนกีฬา คลุกคลีอยู่ในวงการกีฬา เข้าใจเรื่องธุรกิจสิทธิประโยชน์ดี เพราะเป็นเรื่องของเงินๆ ทองๆ ที่ต้องมีการแสวงหากำไรจากการลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับกีฬา

ทุกวันนี้กีฬาเป็นธุรกิจแบบเต็มรูปแบบไปแล้ว เราเองยังทำตัวไม่ทันโลก ไม่คล้อยตาม อาศัยแต่เพียงเสียงประชานิยมจนลืมความถูกต้องตามครรลอง

เมื่อก่อนเราจะได้ดูถ่ายทอดสด “ฟุตบอลโลก” หรือ “ยูโร” จะต้องผ่านกล่องรับสัญญาณของบริษัทเอกชนที่ไปลงทุนซื้อลิขสิทธิ์มาเพื่อดำเนินการตามวิถีของธุรกิจกีฬานั่นก็คือ ขายกล่องรับสัญญาณในราคารับได้ ไม่โหดร้ายจนเกินไปนัก ใครไม่ซื้อก็ไม่ต้องดู นั่นคือการเคารพกฎ กติกา มารยาททางธุรกิจที่ประเทศที่เขาเจริญแล้วพึงกระทำกัน

แต่แล้วจู่ๆ เมื่อปี พ.ศ.2555 “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” โหนกระแสเรื่องนี้ด้วยการออก” “กฎมัสต์แฮฟ” (Must Have) เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ซึ่งกำหนดรายการทีวีที่สำคัญ ให้ออกอากาศได้เฉพาะ “ฟรีทีวี” เท่านั้น บริการทีวีระบบบอกรับสมาชิก เช่น ทรูวิชั่นส์ หรือเคเบิลทีวี อื่นๆ ก็จะดูได้ผ่านทางช่องฟรีทีวีเช่นกัน

“มัสต์แฮฟ” ที่ถูกกำหนดไว้นั้นประกอบด้วย การแข่งขันกีฬา 7 รายการได้แก่

1. การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกีฬาซีเกมส์

2. การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการอาเซียนพาราเกมส์

3. การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย หรือเอเชี่ยนเกมส์

4. การแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการเอเชี่ยนพาราเกมส์

5. การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์

6. การแข่งขันกีฬาสำหรับคนพิการหลายประเภทจากทั่วโลก หรือกีฬาพาราลิมปิกเกมส์

7. การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย

ว่ากันตามตรง” “กฎมัสต์แฮฟ” ตอบโจทย์ได้คะแนนประชานิยมของประชาชน ทำให้เกิดความทัดเทียมกัน ทุกคนได้ดูทุกเกมถ่ายทอดสดแบบฟรีๆ ผ่านฟรีทีวี แต่เป็นการทำลายวงจรธุรกิจกีฬาชนิดป่นปี้

“มัสต์แฮฟ” ไม่เคารพกฎ กติกา มารยาททางธุรกิจกีฬา

“มัสต์แฮฟ” ไม่เข้าใจเรื่องของกีฬา

“มัสต์แฮฟ” ทำลายคุณค่าของฟุตบอลโลก ทำลายภาคเอกชน

ฯลฯ

เพราะ” “มัสต์แฮฟ” ทำให้ภาคเอกชนไม่กล้าที่ควักเงินไปลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ เมื่อภาคเอกชนนิ่งไม่มีใครกล้า” “เผือกร้อน” เรื่องนี้เลยถูกโยนกลับไปที่ภาครัฐบาลว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรชนิด

หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

บางคนบอกว่า ก็เอาเงินรัฐบาลไปซื้อมา เสียงอีกส่วนหนึ่งค้านขึ้นมาทันทีว่า เงินภาษีประชาชนเป็นพันล้านเลยนะ แล้วจะตอบคำถามคนที่ไม่สนใจดูฟุตบอลได้อย่างไร หากอนุมัติไปสุ่มเสี่ยงต่อการ “ติดคุก” ย้อนหลัง โน่น นี่ นั่นไปไกล

ในเมื่อภาครัฐบาลเจอทางตัน ก็ต้องหันย้อนกลับมาเจรจากับภาคเอกชนในเชิงขอความร่วมมือ แต่ถ้าว่ากันตามภาษาชาวบ้านคือ หักคอภาคเอกชนเอานี่แหละ

เอาเถอะ จะ” “หักคอ” หรือ” “ขอความร่วมมือ” อะไรก็ตามในฐานะผู้บริโภครอการรับชมถ่ายทอดสดอย่างเดียวถือว่าเป็น” “ข่าวดี” ที่ไทยกำลังจะได้ลิขสิทธิ์

แต่ในเชิงนักบริหาร ในเชิงผู้นำอย่างรัฐบาลเอง หรือผู้นำองค์กร” “ขาใหญ่” อย่าง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ไม่คิดกันบ้างหรือว่า เราต้องทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ อย่างนั้นหรือ

เราต้องอาศัยกลไก” “พิเศษ” ในการเจรจากับภาคเอกชน โดยที่ไม่รู้ว่าพวกเขา” “เต็มใจ” หรือ” “ไม่เต็มใจ” อย่างนั้นหรือ

ทำไมเราไม่ย้อนกลับมาคิดว่า ที่มันเป็นปัญหากันอยู่จะกี่ครั้ง หรืออีกกี่ครั้ง ทุกๆ วงรอบ 4 ปีเกิดจากการ” “ติดล็อก” ของตัวกฎ” “มัสต์แฮฟ” ที่มันไม่เอื้อไม่จูงใจภาคเอกชน

ทำไมเราไม่จัดการ” “ปลดล็อก” แก้ไข ยกเลิก หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด

ทำไม กสทช. ถึงไม่เข้าใจ ถึงนิ่งดูดายกับเรื่องนี้ ทำนองว่า ไม่ใช่เรื่องของ กสทช. แต่ใครซื้อมาต้องทำกฎที่ กสทช. วางไว้นั่นคือ คนไทยต้องดูฟรี

การยอมแก้กฎ” “มัสต์แฮฟ” เพื่อเปิดช่องให้ธุรกิจกีฬามันเดินหน้าต่อไปได้ไม่ได้เป็นเรื่องของการเสียหน้า หรือเสียศักดิ์ศรี ของ กสทช. เลย

แต่เป็นเรื่องของการ “เสียสละ” เพื่อวงการกีฬาก็แค่นั้นเอง…