แคนซัส ซิตี้ ชีฟส์-มาโฮมส์ อีกก้าวสู่สถานะ ‘ไร้เทียมทาน’

การแข่งขัน ซูเปอร์โบว์ล ครั้งที่ 58 น่าจะเป็นซูเปอร์โบว์ลครั้งที่สนุกตื่นเต้นที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีหลัง เมื่อสถานการณ์ในเกมพลิกไปพลิกมาอย่างสูสี จนกลายเป็นซูเปอร์โบว์ลครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่ต้องตัดสินกันด้วยการเล่นต่อเวลา ก่อนที่จะลงเอยด้วยชัยชนะของ “แชมป์เก่า” แคนซัส ซิตี้ ชีฟส์ เหนือ ซานฟรานซิสโก ฟอร์ตี้ไนเนอร์ส 25-22

ชัยชนะของชีฟส์เป็นการตอกย้ำสถานะ “dynasty” (การผูกขาดความยิ่งใหญ่ในวงการกีฬาสหรัฐ) อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะในระยะเวลา 5 ปีหลังสุด ชีฟส์สามารถเข้าชิงซูเปอร์โบว์ลได้ถึง 4 ครั้ง และคว้าแชมป์ได้ 3 สมัยจากช่วงเวลาดังกล่าว

แม้จะเป็นตัวเลขที่น่าทึ่ง แต่หนทางก็ใช่จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูกาลล่าสุดซึ่งทีมจบฤดูกาลปกติด้วยสถิติชนะ 11 แพ้ 6 เป็นอันดับ 3 ของสายเอเอฟซี จึงพลาดสิทธิบายรอบเพลย์ออฟ และต้องไปเยือนคู่แข่งทั้ง บัฟฟาโล บิลส์ และ บัลติมอร์ เรฟเว่นส์ ในรอบรองชนะเลิศและรอบชิงแชมป์สายตามลำดับ

แม้แต่ในรอบชิงซูเปอร์โบว์ล ชีฟส์ก็อยู่ในสถานะตกเป็นรองไนเนอร์สเกือบตลอดเกม ต้องไล่ตามตีเสมอในเวลาปกติ และตกเป็นฝ่ายตามก่อนในการเล่นต่อเวลา ก่อนพลิกสถานการณ์กลับมาคว้าชัยได้อย่างสนุกตื่นเต้น

ชัยชนะของชีฟส์ยังทำให้พวกเขาเป็นทีมแรกที่ป้องกันแชมป์ซูเปอร์โบว์ลได้สำเร็จ นับตั้งแต่ นิวอิงแลนด์ แพทริออตส์ ในยุคของตำนานควอเตอร์แบ็ก ทอม เบรดี้ ทำได้เมื่อปี 2004 และ 2005

 

การเว้นช่วง 19 ปีดังกล่าวนับระยะเวลานานที่สุดในประวัติศาสตร์เอ็นเอฟแอลที่มีทีมคว้าแชมป์ได้ 2 สมัยติดต่อกัน ประเด็นนี้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่าลีกอเมริกันฟุตบอลเอ็นเอฟแอลที่มีเงื่อนไขระบบเพดานเงินเดือนและกติกาการดราฟต์ตัวผู้เล่นแบบในปัจจุบันนั้น ทำให้การแข่งขันสูสีกันอย่างมาก

ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว การที่ชีฟส์ยังรักษามาตรฐานผลงานอันยอดเยี่ยมเอาไว้ได้ ย่อมยืนยันถึงความสามารถของนักกีฬา โค้ช และผู้บริหารทีมได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ในความสำเร็จของชีฟส์ คนที่ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษย่อมไม่พ้น แพทริก มาโฮมส์ ควอเตอร์แบ็กตัวเก่งของทีม ซึ่งในวัยเพียง 28 ปี เขาได้ครองแหวนซูเปอร์โบว์ลถึง 3 วงแล้ว

ทั้งสื่อและแฟนๆ กีฬาคนชนคนจำนวนไม่น้อยพยายามยกเขาไปเทียบเคียงกับ ทอม เบรดี้ ตำนานควอเตอร์แบ็กเจ้าของแชมป์ซูเปอร์โบว์ลสูงสุด 7 สมัย ซึ่งหลายคนยกย่องให้เป็น GOAT (Greatest of All Time) หรือ “ที่สุดตลอดกาล” ของลีกเอ็นเอฟแอล

จำนวนแชมป์และสถิติต่างๆ ของเบรดี้อาจจะเหนือกว่าในเวลานี้ แต่ถ้านับกันเฉพาะ 7 ฤดูกาลแรกในลีกเอ็นเอฟแอลของทั้งคู่ มาโฮมส์ออกจะล้ำหน้ากว่าด้วยซ้ำ ทั้งรางวัลผู้เล่นทรงคุณค่า (เอ็มวีพี) ฤดูกาลปกติ (มาโฮมส์ 2 เบรดี้ 0), เข้าชิงแชมป์สายเอเอฟซี (6 ต่อ 4), ชนะในเกมเพลย์ออฟ (15 ต่อ 12) และเข้าชิงซูเปอร์โบว์ล (4 ต่อ 3)

ส่วนเรื่องฝีมือและสตาร์เพาเวอร์ เขาก็ไม่ได้น้อยหน้าบรรดาควอเตอร์แบ็กซูเปอร์สตาร์ในอดีต โดยแม้ฤดูกาลนี้สถิติของเขาจะไม่หวือหวานัก แต่ในรอบชิงซูเปอร์โบว์ล ครั้งที่ 58 มาโฮมส์ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความนิ่งและบทบาทที่มีต่อทีม ทั้งการถือลูกวิ่ง 27 หลา ในเพลย์สำคัญช่วงต่อเวลา รวมถึงการขว้างทัชดาวน์ให้ เมโคล ฮาร์ดแมน ก่อนหมดเวลา 3 วินาที ซึ่งเป็นแต้มให้ทีมคว้าชัยชนะ

ด้วยอายุที่ยังน้อย มาโฮมส์จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะทาบสถิติหรืออาจจะแซงเบรดี้ในอนาคต

 

ถ้าจะมีปัจจัยสักอย่างที่เป็นอุปสรรคขวางการผูกขาดความยิ่งใหญ่ของชีฟส์และมาโฮมส์ ก็อาจจะเป็นเพดานเงินเดือนของเขาเองซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของลีกที่ 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,295 ล้านบาท)

โดยว่ากันว่าตอนนี้ผู้บริหารทีมกำลังเจรจากับมาโฮมส์ขอปรับโครงสร้างสัญญา ลดเพดานเงินเดือนของเขาเพื่อลดค่าใช้จ่ายรายปี เปิดช่องในการใช้เงินเซ็นสัญญากับผู้เล่นคนอื่นๆ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่เบรดี้กับแพทริออตส์ใช้ในการรักษาสถานะ dynasty ของตัวเองให้มั่นคงในอดีต

ส่วนเรื่องความมุ่งมั่นนั้น เจ้าตัวยืนยันด้วยตัวเองว่ายังกระหายที่จะไขว่คว้าชัยชนะไปเรื่อยๆ และยกคำพูดของทอม เบรดี้ มาเป็นแรงบันดาลใจว่า “เมื่อใดก็ตามที่คุณได้แชมป์ และมีขบวนฉลองกับจบพิธีรับแหวนซูเปอร์โบว์ลแล้ว คุณก็ไม่ใช่แชมป์อีกต่อไป”

เพราะฉะนั้น ทั้งมาโฮมส์และชีฟส์ยังไม่หยุดแค่นี้อย่างแน่นอน! •

 

Technical Time-Out | SearchSri