SearchSri : อีกครั้งกับประเด็นกังขา จักรยานกับการโด๊ปยา

คอลัมน์ Technical Time-Out

ตั้งแต่เกิดกรณีอื้อฉาวของ “แลนซ์ อาร์มสตรอง” อดีตนักจักรยานทางไกลชื่อดังชาวอเมริกันระหว่างปี 2010-2012 วงการกีฬาสองล้อก็เผชิญปัญหากับวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่ เนื่องด้วยแลนซ์ในเวลานั้นเปรียบเสมือน “ฮีโร่” ของแฟนกีฬาทั่วโลกและชาวอเมริกันโดยรวม

เนื่องจากเป็นนักกีฬาที่เอาชนะโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจนประสบความสำเร็จคว้าแชมป์จักรยานทางไกล “ตูร์ เดอ ฟรองซ์” ถึง 7 สมัย

แม้จะโดนขุดคุ้ยหรือโจมตีเรื่องใช้สารต้องห้ามมาหลายครั้ง แต่แลนซ์ก็ยืนกรานปฏิเสธมาโดยตลอด

กระทั่งจำนนด้วยหลักฐานจึงยอมสารภาพความจริง และพาเอาวงการจักรยานล้มระเนระนาดไปพร้อมๆ กัน

เมื่อมีรายงานว่า การโด๊ปยาของแลนซ์นั้นทำกันเป็นขบวนการ มีทีมงานเบื้องหลังหลายราย

และแม้แต่คนใน “สหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ)” บางคนก็รู้เรื่องแต่วางเฉย เพราะมองว่าแลนซ์เป็นซูเปอร์สตาร์คนสำคัญของวงการที่จำเป็นต้องรักษาไว้

หลังจากกรณีของแลนซ์ แฟนกีฬาจำนวนมากต่างมองวงการจักรยานด้วยสายตาที่แฝงความสงสัยว่าตำแหน่งแชมป์และผลงานของนักปั่นแต่ละคนนั้นจะเชื่อถือได้มากน้อยขนาดไหน?

 

ช่วงที่แลนซ์เสียรังวัด ก็พอดีกับที่วงการจักรยานของสหราชอาณาจักรฉายแววโดดเด่นขึ้นมาทั้งประเภทลู่และประเภทถนน โดยในโอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นักปั่นทีมจีบี (สหราชอาณาจักร) กวาดไป 8 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง จากทั้งหมด 18 ประเภท

ส่วนโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปีที่แล้ว ทำได้ 6 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง

ส่วนการแข่งขันจักรยานทางไกล “ตูร์ เดอ ฟรองซ์” ซึ่งเป็นรายการที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของวงการ ก็แทบจะเป็นการผูกขาดความยิ่งใหญ่ของ “ทีมสกาย” ตัวแทนจากสหราชอาณาจักรซึ่งคว้าแชมป์ได้ถึง 5 จาก 6 ปีหลังสุด ตั้งแต่ “เซอร์แบรดลีย์ วิกกิ้นส์” ในปี 2012 ต่อด้วย “คริส ฟรูม” ในปี 2013, 2015, 2016 และ 2017

จุดขายของทีมสกาย นอกจากผลงานอันโดดเด่นแล้ว ยังมีนโยบายเรื่อง “ขาวสะอาด” เพื่อยืนยันว่าเกียรติประวัติทั้งหลายไม่ได้ผ่านกระบวนการโด๊ปยาเพื่อกู้ศรัทธาให้วงการ

 

ทุกอย่างดูจะไปได้ดี กระทั่งปี 2016 จึงเริ่มมีคนตั้งข้อสงสัยในความขาวสะอาดดังกล่าว

เมื่อกลุ่มแฮ็กเกอร์ชาวรัสเซียตอบโต้กรณีรัสเซียโดนไล่บี้เรื่องโด๊ปยาด้วยการแฮ็กข้อมูลสุขภาพของนักกีฬาหลายรายในฐานข้อมูลของ “องค์กรต่อต้านสารต้องห้าม (วาด้า)” หนึ่งในนั้นคือ แบรดลีย์ วิกกิ้นส์ ซึ่งโดนเผยข้อมูลว่า เขาเคยใช้สารต้องห้ามเกินกำหนดในช่วงการแข่งขันรายการสำคัญหลายครั้ง แต่รอดตัวเนื่องจากขออนุญาตวาด้าเป็นกรณีพิเศษด้วยเหตุผลทางการแพทย์ผ่านกฎที่เรียกว่า TUE

ซึ่งหลายคนวิจารณ์ว่าเป็นกฎที่เปิดช่องให้นักกีฬาโด๊ปยาแบบไม่ผิดกฎ ขอเพียงมีใบรับรองแพทย์ว่าต้องใช้ยานั้นๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ วิกกิ้นส์ยังโดนตั้งคำถามเรื่องเวชภัณฑ์ปริศนาที่เขาได้รับในช่วงการแข่งขันรายการอุ่นเครื่องก่อนศึกตูร์ เดอ ฟรองซ์ ปี 2011

ซึ่งแน่นอนว่าทั้งเจ้าตัวและทีมสกายต้องออกมายืนกรานว่าไม่ได้ทำผิดกฎใดๆ ทั้งสิ้น

 

มาปีนี้ สดๆ ร้อนๆ เมื่อไม่กี่วันก่อน คริส ฟรูม อีกหนึ่งนักปั่นดังของทีมสกาย เจ้าของแชมป์ตูร์ 4 สมัย ก็กลายเป็นประเด็นฉาวเมื่อ “การ์เดียน” สื่อเมืองผู้ดี จับมือกับ “เลอ มงด์” สื่อแดนน้ำหอม ร่วมกันทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการใช้สารต้องห้ามในวงการจักรยาน

และเผยข้อมูลว่า ตัวอย่างปัสสาวะของฟรูมที่เก็บหลังจบการแข่งขันสเตจ 18 ของศึกจักรยานทางไกล “บูเอลตา เอสปันญ่า” ที่สเปน เมื่อวันที่ 7 กันยายน พบตัวยาซาลบูทามอล หรือยาขยายหลอดลมสูงกว่าเกณฑ์ที่วาด้ากำหนดถึงเท่าตัว

โดยวาด้าอนุญาตให้นักกีฬาใช้ยาตัวนี้และเหลือตกค้างในปัสสาวะได้ไม่เกิน 1,000 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร

แต่ตัวอย่างปัสสาวะของฟรูมพบสารนี้ 2,000 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่ได้โด๊ปยา แต่ใช้ยาดังกล่าวเพื่อรักษาอาการหอบหืด

และบังเอิญว่าในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการแข่งขัน อาการค่อนข้างแย่จึงต้องใช้มากขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์ประจำทีม

ขณะที่สื่อหลายสำนักก็สัมภาษณ์ความเห็นของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการโด๊ปยา ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าการใช้ยาซาลบูทามอลช่วยขยายหลอดลม ช่วยให้ร่างกายรับออกซิเจนได้ง่ายขึ้น ได้เปรียบคู่แข่ง

ขณะที่อีกฝั่งก็บอกว่ายาตัวนี้ใช้มากกว่าปกติก็ไม่มีผลให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันแต่อย่างใด

และการพบสารตกค้างในร่างกายมากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับระบบเผาผลาญของบุคคลนั้นๆ ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามมากมายที่ไม่มีคำตอบหลังการเปิดเผยครั้งนี้

เช่น สหพันธ์จักรยานแจ้งเรื่องนี้ให้ฟรูมและทีมสกายทราบในวันที่ 20 กันยายน แต่ก็ยังอนุญาตให้แข่งขันต่อจนคว้าแชมป์?

นักจักรยานบางคนมองว่าเรื่องนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะมองว่าตอนนี้ฟรูมเป็นซุป”ตาร์ที่ต้องรักษาไว้เหมือนคราวของ แลนซ์ อาร์มสตรอง หรือไม่?

อีกทั้งเรื่องอาการหอบหืดของฟรูมเป็นที่ทราบกันดีในวงการ และเขาก็ใช้ยานี้มานาน เหตุใดยังเสี่ยงเพิ่มปริมาณการใช้ทั้งที่รู้ว่าต้องโดนตรวจโด๊ปอยู่แล้ว?

ตอนนี้ฟรูมได้จ้างทนายความมาดูแลเรื่องกฎหมายเพื่อชี้แจงกับสหพันธ์จักรยานนานาชาติ โดยหากสหพันธ์พบว่าคำอธิบายของเขาไม่มีน้ำหนักพอ ฟรูมก็มีสิทธิโดนริบแชมป์และโดนลงโทษแบนได้

ไม่ว่าเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ประเด็นที่ถูกเปิดเผยมาทำให้ชื่อเสียงและผลงานของ คริส ฟรูม กลายเป็นที่กังขา

แม้จะไม่ได้เสียหายในระดับเดียวกับแลนซ์ แต่แฟนกีฬาและสื่อส่วนใหญ่คงมองเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…