ลึกแต่ไม่ลับ…บอลอาชีพไทย เลือกตั้งนายก VS 16 ทีมแยกตัว ทฤษฎีขุดเหมืองยึด ‘ขุมทรัพย์’

หัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของวงการฟุตบอลอาชีพเมืองไทยที่จะชี้วัดอนาคตว่า บอลอาชีพของไทยจะ “เกิด” หรือ “ดับ” กำลังจะเริ่มขึ้นในฤดูกาลหน้า

ความจริงประเด็นที่ 16 สโมสรฟุตบอลไทยลีก รวมตัวกันผลักดันขอ “แยกตัว” มาบริหารจัดการหารายได้จากแมตช์เตะไทยลีก ฤดูกาลหน้า มันเกี่ยวพันกับประเด็นที่เดือนเมษายน 2567 จะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คนใหม่ชนิดแยกกันไม่ออก

ทันทีที่รู้ไทม์ไลน์ว่า ต้นปีหน้า 2567 จะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คนใหม่ ก็มีแรงกระเพื่อมมาจากขั้วอำนาจเก่านำโดย “บังยี” วรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคม รวมไปถึง “เดอะตุ๊ก” น.อ.ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ตำนานนักฟุตบอลกองหน้าทีมชาติไทย ที่ประกาศตัวชัดเจนในการขอเป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้ “นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ” สมัยหน้า

ขั้วอำนาจเดิมอย่าง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ดำรงตำแหน่งมา 2 วาระ เริ่มไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจในเรื่องการบริหารงานจาก เนวิน ชิดชอบ ขาใหญ่แห่งบุรีรัมย์ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งว่ากันว่า แฟนบอลเมืองไทยยกให้เป็น “นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ” ตัวจริง

จึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวนายกสมาคม ในการเลือกตั้งสมัยหน้า…

ปัญหาคือ ยังไม่รู้ว่าจะเอาใครมานั่งเก้าอี้ “นายกสมาคมกีฬาฟุตบอล” ที่แฝงไปด้วยผลประโยชน์มหาศาลอันดับ 1 ของเมืองไทยอย่างสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ

แต่ว่ากันว่า เปลี่ยนตัวแน่นอน…!!!

 

ยุทธการแยกศึกลูกหนัง “ไทยลีก” ออกจากสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ก็เริ่มเป่านกหวีดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการปล่อยข่าวว่า ค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลลีกอาชีพของเมืองไทยเริ่มถอยหลังลงคลอง

โดยมี 3 แกนนำอย่าง สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, สโมสรการท่าเรือแห่งประเทศไทย และสโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด เป็นตัวตั้งตัวตี ไปรวมเสียงสนับสนุนจากทีมต่างๆ จนเห็นดีเห็นงามกันกว่า 90%

ถามว่าทำไมต้องแยกศึกฟุตบอล “ไทยลีก” ออกจากสมาคมมาอยู่ในอ้อมกอดไว้ก่อน

คิดแบบไม่ต้องมีอะไรซับซ้อน มันคือ กลเกมฟากฝั่งของ เนวิน ชิดชอบ มองว่า ไทยลีกคือ ผลิตภัณฑ์ (product) ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เป็น “ขุมทรัพย์” ในวงการฟุตบอล หากศึกการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ สมัยหน้าเกิดอุบัติเหตุ หรือมีการพลิกขั้วเกิดขึ้นในสมาคม

ไทยลีกก็ยังคงอยู่ภายใต้การบริหาร และการดูแลของกลุ่มก้อนดังกล่าวอยู่

กรณีดังกล่าวมันสะท้อนแบบมีนัยยะสำคัญว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่แน่นอนแล้วว่า ขั้วอำนาจปัจจุบันจะยังคงรักษาบ้านหลังนี้ไว้ได้หรือไม่

 

มองกันแบบมีสติ คิด วิเคราะห์ และแยกแยะกันดีๆ หากขั้วอำนาจถูกเปลี่ยนมือไป แน่นอนว่าย่อมส่งผลสะเทือนไปถึงทีม “ปราสาทสายฟ้า” บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ เนวิน ชิดชอบ ลงทุนลงแรงไปเพื่อดันจังหวัดบุรีรัมย์เป็น “สปอร์ต ซิตี้” ตัวจริงเสียงจริงของเมืองไทย

ปฏิบัติการซ่อนเงื่อนงำที่ไม่อาจนำเสนอตรงจุดนี้ได้เพราะจะทำให้วงการลูกหนังไทยได้รับผลกระทบใหญ่หลวง จนเล่นสงครามใต้ดินกันไปบีบฝั่ง เนวิน ชิดชอบ ด้วยการให้ผู้ยื่นประมูลรายหนึ่งยื่นซองประมูลค่าลิขสิทธิ์ไทยลีกเข้ามาแค่ 50 ล้านบาท เพื่อหวังผลฉุดค่าลิขสิทธิ์ลงจากปี 2011-2013 เป็นเงิน 600 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท) ซื้อลิขสิทธิ์ 3 ปี

ปี 2014-2016 เป็นเงิน 1,800 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 600 ล้านบาท) ซื้อลิขสิทธิ์ 3 ปี

ปี 2017-2020 เป็นเงิน 4,200 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 1,050 ล้านบาท) ซื้อลิขสิทธิ์ 4 ปี

ปี 2021-2022 เป็นเงิน 800 ล้านบาท

ปี 2022-2023 เป็นเงิน 300 ล้านบาท

 

ไม่เถียงว่า ฟุตบอลไทยลีก กำลังเผชิญวิกฤตอยู่ในช่วง “ขาลง” อันเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ใน 3 ปีที่ผ่านมาด้วย แต่มันลดฮวบแบบมีนัยยะ

ทางเลือกที่ 16 ทีมไทยลีกเห็นชอบร่วมกันและเดินหน้าไปแล้วคือ 16 ทีมจะแยกมาหารายได้กันเองไม่พึ่งพาสมาคมที่อยู่ในสถานการณ์ “ถังแตก” จะด้วยเหตุผลความอ่อนหัดในการบริหารงาน หรือการนำเงินไปชำระหนี้สินทางคดีความ

16 ทีมประกาศชัดว่า แยกมาหารายได้เองเฉพาะไทยลีก 1 ส่วนไทยลีก 2 และลีกล่างต่างๆ พวกเขาจะไม่ทอดทิ้ง โดยรายได้ทั้งหมดจะนำมาแบ่งแล้วหารเท่ากันทั้ง 16 ทีม

เป็นแนวทางใหม่ที่ท้าทายไอเดียที่เลือกกันพอสมควร โอกาสมันเป็นไปได้ทั้ง 2 มุม ทั้งดีไปเลย สโมสรทุกสโมสรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

กับอีกสถานการณ์คือ ขาดทุนย่อยยับ ลีกล่มสลาย กลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่

 

วิธีการที่พวกเขาเลือกกันคือ ถ่ายทอดสดทาง OTT ภาษาชาวบ้านคือ ถ่ายผ่านอินเตอร์เน็ต จะมี 3 เจ้ามาร่วมมือ คือ เอไอเอส, ทรู ไอดี และ 3BB ตกลงรับส่วนแบ่ง 90-10 คือแต่ละค่ายได้ส่วนแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน โดยมีการเรียกเก็บค่าบริการจากผู้รับสัญญาณแพ็กเกจรายเดือนอยู่ที่เดือนละ 59 บาท ส่วนรายซีซั่น หรือรายปี ปีละ 500 บาท ซึ่งฤดูกาลหน้าตั้งเป้าร่วมกันไว้ว่าแต่ละสโมสรจะหารายได้จากการเรียกเก็บค่าสมาชิก 20,000 ยูสเซอร์

ปัญหาที่น่ากังวลใจคือ การเจรจาถ่ายทอดสดผ่านช่องทางโทรทัศน์ฟรีทีวี ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งหากไม่มี หรือมีแบบให้รู้ว่ามี จะทำให้กระแสฟุตบอล “ไทยลีก” ดร็อปลงไปอีก

แต่หากสโมสรทุกสโมสรทำได้ตามเป้าที่กำหนดร่วมกันไว้ได้ในฤดูกาลแรก และต่อๆ ไป

น่าจะเป็นก้าวย่างที่นำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนของวงการลูกหนังอาชีพของเมืองไทย

 

ต้องยอมรับกันตามตรงว่า สถานการณ์ที่มันแยกกันไม่ออกระหว่าง การเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กับการบริหารจัดการรายได้ของแต่ละสโมสรไทยลีก มันคือเรื่องเดียวกัน มันคือเรื่องสืบเนื่องกัน แม้จะมีบางสโมสรไม่เห็นด้วย แต่ก็ขยับกันมากไม่ได้เพราะเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับสโมสรเล็กๆ อาจจะดีกว่าเงินที่ต้องรอจากสมาคม และต้องมาเจอปัญหาเบิกจ่ายล่าช้า เงินไม่ออกกันอีก

จึงต้องจำใจลงเรือลำเดียวกันไปก่อน

ก็ได้แต่หวังว่า ทีมงาน “ไต้ก๋งเรือ” ทั้งหลายจะนำพาเรือลำนี้ไปถึงฝั่งอย่างสมบูรณ์ อย่าทำเหมือนกรณีวงการการเมืองอันร้อนแรงในเวลานี้

มิเช่นนั้น…เราคงได้ย้อนกลับไปเห็นการนำเอาคณะตลกมาเล่นในช่วงพักครึ่งเกมเตะเพื่อเรียกคนดูเข้าสนามบอลกันเหมือนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน

บอลอาชีพไทยเดินทางมาไกลพอสมควรแล้ว และมันไม่ควรถอยกลับไปสู่จุดเริ่มต้น… •

 

เขย่าสนาม | เงาปีศาจ