ความหัวหมอของ ‘โบห์ลี่’

หลังจาก ท็อดด์ โบห์ลี่ นักธุรกิจชาวอเมริกัน เป็นหัวเรือใหญ่ในการเข้าเทกโอเวอร์สโมสร เชลซี เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

สิงห์บลูส์ภายใต้การบริหารงานของเจ้าของใหม่ก็เดินเครื่องเสริมทัพแบบ “บ้าระห่ำ”

เป็นการเสริมทัพที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่ต่างจากเชลซีในยุคของ โรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีรัสเซีย เจ้าของคนเก่า

และในทางหนึ่งอาจถือว่าชวนอ้าปากค้างยิ่งกว่าด้วยซ้ำ เพราะเชลซียุคโบห์ลี่ไม่เพียงทุ่มงบประมาณมหาศาลอย่างเดียว แต่ยังเน้นการทำสัญญากับนักเตะในระยะยาวไม่ต่ำกว่า 5 ปีอีกด้วย

ตัวอย่างการทำสัญญาซื้อขายนักเตะภายใต้การบริหารงานของโบห์ลี่และเจ้าของร่วม เบห์ดัด เอ็กบาลี อาทิ (ค่าตัว+แอดออน หรือโบนัสตามผลงาน) มิไคโล มูดริก จากชักห์ตาร์ โดเนตส์ 89 ล้านปอนด์ (3,560 ล้านบาท) เซ็นสัญญา 8 ปีครึ่ง, โนนี่ มาดูเอเก้ จากพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น 29 ล้านปอนด์ (1,160 ล้านบาท), เบอนัวต์ บาเดียชิลล์ จากโมนาโก 33.7 ล้านปอนด์ (1,348 ล้านบาท) เซ็นสัญญา 7 ปีครึ่ง, มาโล กุสโต้ จากลียง 31 ล้านปอนด์ (1,240 ล้านบาท) เซ็นสัญญา 6 ปีครึ่ง, ดาวิด ดาโตร โฟฟาน่า จากโมลด์ 10.5 ล้านปอนด์ (420 ล้านบาท) เซ็นสัญญา 6 ปีครึ่ง

ช่วงที่มีแต่คนตั้งคำถาม และไม่มีใครรู้คำตอบ แฟนบอลจำนวนหนึ่งซึ่งรวมถึงแฟนเชลซีบางส่วน มองการซื้อนักเตะของโบห์ลี่อย่างขบขัน

เพราะมองว่าเป็นการเอาเงินไปละลายประสาชาวอเมริกันที่ไม่เข้าใจกีฬาฟุตบอลเท่าที่ควร

เบอนัวต์ บาเดียชิลล์ นักเตะจากโมนาโก มูลค่า 33.7 ล้านปอนด์

โบห์ลี่ผ่านตลาดซื้อขายนักเตะ 2 รอบ ใช้เงินลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 450 ล้านปอนด์ (18,000 ล้านบาท) โดยในช่วงโค้งสุดท้ายของตลาดซื้อขายเดือนมกราคม ข่าวคราวเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎควบคุมการเงิน หรือ ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP) ของ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ก็ทำให้หลายคนเข้าใจการใช้เงินแบบบ้าระห่ำของโบห์ลี่มากขึ้น

เท้าความสักนิดว่า FFP นั้น ยูฟ่าเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2011 เพื่อป้องกันไม่ให้ทีมต่างๆ ที่เข้าร่วมฟุตบอลถ้วยยุโรปใช้เงินเกินตัวจนเข้าสู่ภาวะหนี้สินหรือสุ่มเสี่ยงต้องล้มละลาย โดยกำหนดว่าทีมหนึ่งๆ จะใช้จ่ายเกินรายรับได้เพียงเล็กน้อยตามเกณฑ์ที่วางไว้เท่านั้น

แต่ FFP ก็เปิดช่องว่า เวลาคำนวณค่าตัวนักเตะในการซื้อขายแต่ละครั้ง ให้มีค่าเสื่อมราคา โดยนำจำนวนปีที่ทำสัญญาไปหารค่าตัวเพื่อลงค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายปีได้

จุดนี้เองที่กลายเป็นช่องโหว่ที่ไม่มีใครคิดถึงมาก่อน

แต่นักธุรกิจชาวอเมริกันอย่างท็อดด์ โบห์ลี่ เล็งเห็นและนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างกรณีของมูดริก ค่าตัวบวกแอดออน 89 ล้านปอนด์ เซ็นสัญญา 8 ปีครึ่ง เมื่อคำนวณเฉลี่ยแล้ว เท่ากับเชลซีสามารถลงค่าใช้จ่ายรายปีในการซื้อมูดริกได้ปีละ 11 ล้านปอนด์ (440 ล้านบาท) เท่านั้น

ยิ่งทำสัญญาระยะยาว เท่ากับตัวหารเยอะ เวลาทำบัญชีงบดุลประจำปี ยิ่งค่าใช้จ่ายน้อย เป็นการซิกแซ็กตามกฎเพื่อเลี่ยงการโดนลงโทษจาก FFP

 

เมื่อเห็นความหัวหมอของโบห์ลี่และเชลซี หากทุกทีมปฏิบัติตาม ก็จะนำไปสู่การจับจ่ายแบบถล่มทลายของทีมต่างๆ แบบหยุดไม่อยู่

ยูฟ่าจึงต้องรีบออกมาเบรกด้วยการประกาศกฎใหม่ ให้สโมสรต่างๆ นำระยะเวลาในสัญญามาหารได้ไม่เกิน 5 ปี กล่าวคือ ยูฟ่าไม่ได้ห้ามทีมต่างๆ ทำสัญญาระยะยาว จะเซ็นยาวขนาดไหนก็ได้ แต่เวลาทำงบดุลบัญชีรายปี ให้นำเวลาในสัญญาแต่ละฉบับมาหารได้สูงสุด 5 ปีเท่านั้น

กฎนี้จะเริ่มใช้ในตลาดซื้อขายซัมเมอร์หลังจบการแข่งขันฤดูกาลนี้แล้ว โดยไม่มีผลย้อนหลังแต่อย่างใด หมายความว่าเชลซีสามารถใช้ประโยชน์จากกลยุทธ์ดังกล่าวได้อย่างเต็มที่เหมือนเดิม

เปิดดูข้อมูลนักเตะที่เสริมเข้ามาแต่ละคน ล้วนเป็นดาวรุ่งฝีเท้าดี เป็นขุมกำลังสำหรับอนาคตที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่าจะพลิกโฉมเชลซีไปอย่างไรบ้าง

สิ่งสำคัญคือต้องอยู่ในมือคนรู้จักใช้งานนักเตะเหล่านั้นด้วย จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

ถือเป็นโจทย์ที่กดดันเอาเรื่องสำหรับกุนซือ เกรแฮม พ็อตเตอร์ ที่เริ่มจะโดนวิจารณ์หนักๆ ในช่วงหลัง •

 

Technical Time-Out | SearchSri