เขย่าสนาม / เงาปีศาจ/

เขย่าสนาม/เงาปีศาจ

‘วิ่งเทรล ดอยอินทนนท์’

ความสำเร็จแบบท้าลมหนาว

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพิ่งจะไปจัดการแข่งขัน “วิ่งเทรล ดอยอินทนนท์” สนาม Thailand by UTMB 2021 ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สนามของเอเชีย และ 1 ใน 16 สนามของโลก ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นการประสบความสำเร็จอย่างสูงอีกครั้งชนิดได้รับเสียงชื่นชมจากบรรดานักวิ่งท้าลมหนาวกว่า 2,500 คนที่มาร่วมประชันฝีเท้า

ผมมีโอกาสร่วมคณะจัดงานของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ไปดูงานการจัดวิ่งเทรลครั้งนี้ด้วย

ต้องบอกเลยว่า ไม่แปลกใจที่ Ultra Trail Du Mont Blanc หรือ UTMB ซึ่งเป็นสนามวิ่งเทรลเบอร์ 1 ของโลกไว้วางใจประเทศไทยในการจัดแข่งขันรายการใหญ่ระดับโลก

หัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ที่ผลักดันรายการนี้มาโดยตลอดต้องยกให้กับ “รองน้อย” ทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการ ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ภายใต้การให้การสนับสนุนทัวร์นาเมนต์ใหญ่รายการนี้จากพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ร่วมมือกับซาบริน่า เดอ นาได ผู้บริหาร UTMB เอเชีย

 

“วิ่งเทรล ดอยอินทนนท์” จัดช่วงปลายปีท้าลมหนาวบนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ต่อเนื่องมาหลายปี ล่าสุดรายการนี้พัฒนาจนมีนักวิ่งระดับอีลิตจากทั่วโลกมาร่วมชิงชัย 20 กว่าคนร่วมลงแข่งขันประเภทอินทนนท์ 6 หรือ 168 ก.ม. ความสูงสะสมประมาณ 8,660 เมตร

รวมถึงมีนักวิ่งคนดังชาวไทยอย่าง “ป้อม” สัญญา คานชัย จอมอึดอันดับต้นๆ ของเมืองไทย รวมถึงคนดังอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตนักการเมืองคนดังร่วมท้าทายความสามารถของตัวเอง

เส้นทางที่จัดแข่งขันมีความหลากหลายทางชีวภาพจากสภาพป่าที่เปลี่ยนไปตามระดับความสูง นักวิ่งจะได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงปกากะญอ และม้ง ที่ทำแปลงเกษตรตามโครงการหลวงในพระราชดำริของในหลวง ร.9 เช่น ทุ่งดอกเบญจมาศ ไร่กาแฟ ไร่สตรอว์เบอร์รี่ และนาข้าวขั้นบันได

ปรากฏว่า เจีย จู เฉา นักวิ่งอีลิตจากจีน เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกทำสถิติ 21.56.24 ชั่วโมง สร้างสถิติใหม่ของศึก “วิ่งเทรล ดอยอินทนนท์ 2021”

ส่วนอันดับ 2 เป็นของ จอห์น สติงเกรย์ จากฟิลิปปินส์ 22.34.58 ชั่วโมง โดยนักวิ่งไทยที่ทำผลงานดีที่สุด ประเภท 168 ก.ม. คือ “ป้อม” สัญญา คานชัย ทำเวลา 26.47.29 ชั่วโมง จบอันดับที่ 5

สำหรับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ วิ่งจนจบ 168 ก.ม. ทำเวลา 46.39.29 ชั่วโมง จบอันดับที่ 55 จากนักวิ่ง 70 คนที่วิ่งจบการแข่งขัน

 

“รองน้อย” ทนุเกียรติ กล่าวว่า เป็นอีกครั้งที่เราเตรียมงานกันอย่างหนักเพื่อหวังให้รายการนี้ประสบความสำเร็จไปสู่ระดับโลก สนามนี้ได้รับการตอบรับจากบรรดานักวิ่งชาวไทย และนักวิ่งอีลิตระดับโลกมาร่วมแข่งขันกว่า 2,500 คน ทำให้เป็นแนวทางในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของเมืองไทยไปในตัว

โดยปีหน้าเรายังมีความตั้งใจที่จะสานต่อความสำเร็จจัดเป็นปีที่ 4 และเป็นทัวร์นาเมนต์เวิลด์ซีรีส์ต่อเป็นปีที่ 3 ปีนี้เราได้บูรณาการการจัดแข่งขันรวมกีฬา ดนตรี วัฒนธรรม นาฏศิลป์ หัตถกรรม และธรรมชาติ เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ของประเทศไทยสู่สายตาชาวโลกช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวไทยได้เป็นอย่างดี

วันสุดท้ายของการชิงชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมลงนามบันทึกความตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ร่วมกับ ภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา, พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ซาบริน่า เดอ นาได ผู้บริหาร UTMB เอเชีย

ในการจัดการแข่งขันวิ่งเทรลอีก 1 สนาม ที่ จ.ยะลา ในปี 2565

 

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา บอกว่า พอใจกับมาตรฐานและภาพรวมการบริหารจัดที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ การจัดวิ่งเทรลเกิดขึ้นตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เล็งเห็นว่าประเทศไทยมีภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่สามารถจัดการแข่งขันวิ่งเทรลได้ทั้งระดับนานาชาติได้

ซึ่งก็เป็นที่มาของการที่ กกท.ได้เซ็นเอ็มโอยูกับยูทีเอ็มบี ซึ่งไทยเราพัฒนามาตรฐานจนได้รับการรับรองจากยูทีเอ็มบีให้เป็นการชิงชัยสนามที่ 1 ของประเทศไทย ปีนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงเพราะได้มีการผ่อนคลายเรื่องการควบคุม “โควิด-19” เนื่องจากคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนมากพอสมควรแล้ว

ปีนี้เรามีนักวิ่งชาวต่างชาติเดินทางมาร่วม 300 กว่าคน และมีนักวิ่งอีลิตระดับโลกมาร่วม 20 คนจาก 12 ประเทศ ทำให้เราคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งตรงจุดนี้เชื่อว่าเป็นความสำเร็จอย่างสูง

รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เล่าให้ฟังต่อว่า จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีนโยบายที่จะขยายการจัดการแข่งขันวิ่งเทรลออกไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยในปีหน้า 2565 จะเพิ่มรายกาจัดการแข่งขันวิ่งเทรลอีก 1 สนาม ที่ จ.ยะลา ในปี 2565 ในศึก AMAZEAN JUNGLE TRAIL ที่จังหวัดยะลา ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2565 เพื่อหวังต่อยอดให้เกิด World Series สนาม 2 ของไทยในอนาคต โดยกำหนดชิงชัย 3 ระยะทาง ได้แก่ ระยะ เบตง 100, ระยะ เบตง 50 และระยะ เปรัก 25 ใช้เส้นทางบนเทือกเขาสันกาลาคีรี ในอำเภอเบตง ซึ่งได้ชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์เป็นอเมซอนแห่งอาเซียน

โดยรายการที่เบตง ความพิเศษคือวิ่งข้าม 2 ประเทศเข้าไปประเทศมาเลเซีย 25 กิโลเมตรด้วย จากนั้นปลายปี 2565 จะกลับมาจัดแข่งขันที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เช่นเดิม ซึ่งเป็นความท้าทายของเราที่จะเพิ่มจำนวนนักกีฬาที่เข้าร่วมทั้งหมด รวมถึงนักกีฬาอีลิตจากทั่วโลกที่จะมาร่วมจะมีเพิ่มมากขึ้นหรือไม่

นี่เป็นความสำเร็จของ “วิ่งเทรล ดอยอินทนนท์” สนาม Thailand by UTMB 2021

ปีหน้ามี 2 รายการให้เหล่าบรรดาจอมอึดท้าทายความสามารถที่ดิบชื้น จ.ยะลา ช่วงกลางปี และปลายปีพบกันที่เดิม…ดอยอินทนนท์