อ่านปรากฎการณ์ ‘โรนัลโด้’ ขยับขวดสะเทือนโลก! อิทธิพลหรือแค่บังเอิญ?

Soccer Football - Euro 2020 - Portugal Press Conference - Puskas Arena, Budapest, Hungary - June 14, 2021 Portugal's Cristiano Ronaldo during the press conference UEFA/Handout via REUTERS ??ATTENTION EDITORS - THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY. NO RESALES. NO ARCHIVES

ไทม์เอาต์/SearchSri

‘โรนัลโด้’ ขยับขวดสะเทือนโลก

อิทธิพลหรือแค่บังเอิญ?

 

หนึ่งในประเด็นฮือฮาช่วงต้นของการแข่งขันฟุตบอล ยูโร 2020 คือเรื่อง “ย้ายขวด” ที่กลายเป็นเทรนด์ขนาดย่อมๆ ในหมู่นักเตะและสตาฟฟ์โค้ชทีมต่างๆ ที่ร่วมแข่งขัน

เริ่มจาก คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ซุป’ตาร์กัปตันทีมชาติโปรตุเกส นั่งห้องแถลงข่าว และไม่ปลื้มที่ด้านหน้าตัวเองเป็นขวดน้ำอัดลม โคคา-โคลา จึงขยับออกไปด้านข้าง แล้วชูขวดน้ำเปล่า สื่อว่าควรดื่มน้ำเปล่าเพื่อสุขภาพ

วันต่อมา ปอล ป๊อกบา ดาวเด่นทีมชาติฝรั่งเศสซึ่งเป็นมุสลิม หยิบขวดเบียร์ลงจากโต๊ะแถลง ด้วยเหตุผลด้านศาสนา

และอีกวัน มานูเอล โลคาเตลลี่ ของอิตาลี ก็เอาน้ำเปล่ามาวางแทนขวดโคคา-โคลาเช่นกัน

 

พอเกิดกระแสต่อเนื่อง สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ต้องออกแถลงการณ์เตือนว่า ทัวร์นาเมนต์อยู่ได้ด้วยสปอนเซอร์ และสมาคมฟุตบอลชาติต่างๆ จะต้องโดนปรับเงิน หากมีการย้ายขวดตามใจชอบแบบนี้อีก

ขณะที่บางทีมก็มองเป็นเรื่องโจ๊ก เช่น อันดรี ยาร์โมเลนโก้ ดาวดังทีมชาติยูเครน ที่เอาขวดเครื่องดื่มของสปอนเซอร์มาตั้งรวมๆ กันด้านหน้าตัวเอง ช่วยโปรโมตเต็มที่ และยิงมุขว่าพร้อมเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ ขณะที่ สตานิสลาฟ เชอร์เชซอฟ กุนซือทีมชาติรัสเซีย เปิดขวดโคลาดื่มระหว่างนั่งรอแถลงอย่างสบายใจ

หลังพ้นสัปดาห์แรกของทัวร์นาเมนต์ ประเด็นเรื่อง “ย้ายขวด” ก็สงบไป แต่ก็มีหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ตามหลังประปราย เช่น อิทธิพลของซูเปอร์สตาร์อย่างโรนัลโด้ที่ มาร์ก้า สื่อสเปนอ้างว่า หลังเขาขยับขวดโคคา-โคลาก็ทำให้หุ้นของน้ำอัดลมยี่ห้อดังในตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (124,000 ล้านบาท) โดยราคาต่อหุ้นตกจาก 56.10 ดอลลาร์สหรัฐ (1,739.1 บาท) เป็น 55.22 ดอลลาร์สหรัฐ (1,711.82 บาท)

และมูลค่าโดยรวมของบริษัทโคลา-โคลา ลดลงจาก 242,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.502 ล้านล้านบาท) เหลือ 238,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.378 ล้านล้านบาท)

 

อย่างไรก็ตาม ฟอร์บส์ นิตยสารด้านธุรกิจและการเงินชื่อดังระดับโลก ได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจว่า “ไวรัล” ในโลกออนไลน์ก่อนหน้านี้ อาจจะไม่ได้ใหญ่โตอย่างที่สื่อประโคมข่าวกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “หุ้นตก” ของโคคา-โคลาที่สูญเงิน 4,000 ล้านดอลลาร์ เพียงเพราะโรนัลโด้ขยับขวดหนเดียว!

ฟอร์บส์บอกว่า การนำเสนอข่าวของมาร์ก้าเป็นการจับแพะชนแกะที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด กล่าวคือ โรนัลโด้ขยับขวดโค้กจริง และไม่กี่ชั่วโมงต่อมา หุ้นโคคา-โคลาร่วง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจริง เพียงแต่ 2 เหตุการณ์นี้อาจไม่เกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย

ฟอร์บส์ชี้ว่า ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่ถูกเอ่ยถึงจนทำให้เกิดความเข้าใจผิด คือหุ้นโคคา-โคลาจำนวน 4,300 ล้านหุ้น ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน ในราคาหุ้นละ 56.16 ดอลลาร์สหรัฐ (1,740.96 บาท) คิดเป็นมูลค่ารวม 242,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.502 ล้านล้านบาท)

พอถึงวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน หุ้นโคคา-โคลาเปิดตลาดราคาต่ำลง โดยเมื่อถึงเวลา 09.40 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (EST) หรือเวลาท้องถิ่นในนิวยอร์ก ราคาต่อหุ้นตกลง 1.6 เปอร์เซ็นต์ ไปอยู่ที่ 55.26 ดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าเหลือ 238,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.378 ล้านล้านบาท)

ขณะที่เหตุการณ์ขยับขวดของโรนัลโด้เกิดขึ้นในเวลา 09.43 น. ตามเวลาท้องถิ่นของนิวยอร์ก

หมายความว่าช่วงเวลาที่หุ้นตกนั้น เกิดขึ้น “ก่อน” การขยับขวดของโรนัลโด้ 3 นาที เหตุการณ์หุ้นตกครั้งนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าของฉายา CR7 แม้แต่นิดเดียว

ฟอร์บส์ชี้ด้วยว่า เรื่องหุ้นขึ้นหุ้นตกเป็นธรรมดาของตลาด ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน บริษัทรถยนต์ ฟอร์ด มอเตอร์ ก็หุ้นร่วง มูลค่าหายไป 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (62,000 ล้านบาท) แถมวันที่ 14 มิถุนายน เป็นวันขึ้น XD ของโคคา-โคลาที่ประกาศล่วงหน้ามากกว่า 1 ปีแล้ว วันขึ้นสัญลักษณ์ XD (ex-dividend) หมายถึงคนที่ซื้อหุ้นเมื่อสัญญาณนี้ขึ้นแล้ว จะไม่ได้รับเงินปันผล เป็นธรรมชาติของตลาดที่ราคาหุ้นตัวนั้นจะตกลง

และข้อเท็จจริงสุดท้ายที่คนไม่ได้บอกคือ หลังจากโมเมนต์ที่โรนัลโด้ขยับขวด จนปิดตลาดที่วอลล์สตรีต หุ้นโคคา-โคลาขยับขึ้นมา 0.30 ดอลลาร์สหรัฐ (9.3 บาท) ทำให้มูลค่ารวมเพิ่มมา 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (40,300 ล้านบาท)

สารพัดเหตุการณ์เหล่านี้จึงเป็นแค่ความ “บังเอิญ” ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันและกลายเป็นประเด็นใหญ่โต

ถ้าแค่เป็นไวรัลในโลกออนไลน์ หรือหัวข้อคุยกันสนุกๆ ก็ไม่เท่าไร แต่ปัญหาคือหลายคนรับสารไปผิดๆ และกลายเป็นการเสริมประเด็นเรื่องอิทธิพลของตัวบุคคลโดยเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์เกินกว่าความเป็นจริง

นั่นคือแนวโน้มที่อันตรายในยุคที่โซเชียลมีเดียเฟื่องฟูอย่างทุกวันนี้!