ชีวิต ‘หมัก’ศจรรย์ สมัคร สุนทรเวช จากเซลส์แมนฝันเฟื่อง ถึงนายกฯ ขวาจัด ที่ร่วมมือฝ่ายซ้ายได้กลมกลืน

จะเกลียด จะชอบอย่างไรก็ตาม

แต่การก้าวสู่นายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ของ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผลสำเร็จนั้น

เราต้องยอมรับในชีวิตอันน่ามหัศจรรย์ของบุคคลคนคนนี้

เพราะใครๆ อาจรวมถึงตัวนายสมัครเองด้วย อาจจะไม่เชื่อว่าจะมีวันที่ก้าวเป็นหมายเลข 1 ของทำเนียบได้

จากการเคยเป็นผู้ที่ถูกดูถูกดูแคลนว่าเป็น “เซลส์แมนฝันเฟื่อง”

แต่ฝันเฟื่องนั้นก็เป็นจริง แม้ว่ามันจะไม่ได้เกิดจากความรู้ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ ต้องอาศัย “มือที่มองไม่เห็น” จากฮ่องกง มาอุ้มชูผลักดันก็ตาม

นายสมัคร ก็เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว

ว่าที่จริง ความเป็น “หมักศจรรย์” นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะวันที่ 29 เมษายน 2551 ที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ชีวิตของนายสมัคร ผ่านความ “มหัศจรรย์” มาหลายครั้ง เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ครั้งสุดยอด เหมือนตอนที่ย่างเข้าสู่วัย 73

(Photo by PONGSAK CHAIYANUWONG / AFP)

จากชีวิตการงานที่เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2496 ในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่สอนเครื่องลงบัญชีไฟฟ้า National Cash Registered Co.,Ltd. อยู่ 1 ปี

แล้วเป็นเสมียนแผนกรถยนต์ และผู้ช่วยหัวหน้าแผนกเครื่องอะไหล่ Barrow Brown Co.,Ltd. อยู่ 5 ปี

จากนั้นเป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกเครื่องอะไหล่ Loxley Bangkok Co.,Ltd. 2 ปี

ออกมาเป็นไก๊ด์นำเที่ยวอิสระอีก 2 ปี

และจบลงในงานเซลส์แมนตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายขาย John Deere Thailand Co.,Ltd. เมื่อ พ.ศ.2513-2514

แล้วจากนั้นไปเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย ซึ่งชีวิตน่าจะราบเรียบอยู่ตรงนั้น

แต่นั่นไม่ใช่นายสมัคร

ปี พ.ศ.2516 เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำและลุยทำงานการเมือง ด้วยความเชื่อมั่นในพรสวรรค์แห่งการเป็นนักพูด

อย่างไรก็ตาม นายสมัครถือว่ายืนอยู่ขอบเวทีการเมืองมานับตั้งแต่จบจากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์แล้ว โดยเขาเขียนบทความ และความคิดเห็นทางการเมืองแบบไม่ประจำในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และชาวกรุง ตั้งแต่ พ.ศ.2500 จนถึง 2516

และชิมลางการเป็นนักการเมือง พร้อมๆ กับประกอบอาชีพอื่นเลี้ยงชีพ โดย พ.ศ.2511 สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

พ.ศ.2514 เป็นสมาชิกสภาเทศบาลนครกรุงเทพมหานคร โดยได้รับเลือกตั้งเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ.2514

หลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 2516 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ

จากนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกในปี พ.ศ.2518

แล้วความมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น เมื่อสามารถก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 2 ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 ถึง 13 มีนาคม พ.ศ.2518

ด้วยวัยเพียง 40 ปีเท่านั้น

จากนั้นอีก 1 ปี ก็ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 3 ระหว่างวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2519 – 23 กันยายน พ.ศ.2519

ถือเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง และฮึกห้าวอย่างยิ่ง

คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ โขนธรรมศาสตร์ - มติชนสุดสัปดาห์

สิ่งมหัศจรรย์อีกอย่างที่เกิดขึ้นกับนายสมัครขณะนั้น และกลายเป็นตำนานที่เล่าขานกันมาถึงปัจจุบัน ก็คือการที่นายสมัครสามารถเอาชนะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2519 ได้

ทั้งนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ก่อตั้งพรรคกิจสังคมขึ้นเมื่อปี 2518 และได้ลง ส.ส.เขตดุสิต (เขต 1) และผูกขาดเก้าอี้มาโดยตลอด พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเป็นเจ้าสนามกรุงเทพฯ ขณะนั้น แต่ต้องมาเว้นที่ “เขตดุสิต” ให้กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์

เขตดุสิตจึงเหมือนพื้นที่ต้องห้ามสำหรับนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลที่พรรคกิจสังคม 18 เสียงของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นแกนนำมีอันต้องยุบสภา ในต้นปี 2519 และต้องมีการเลือกตั้งใหม่

ปรากฏว่า นายธรรมนูญ เทียนเงิน ซึ่งขณะนั้นมีสัมพันธ์ที่ดีกับนายสมัครแบบอาหลาน ได้พลักดันให้พรรคประชาธิปัตย์ส่งให้นายสมัครลงสมัครเขตดุสิต สู้กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์

ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าแจ๊กจะฆ่ายักษ์ได้ แต่ผลปรากฏว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์กลับแพ้ให้กับนายสมัครไปอย่างหวุดหวิด

เป็นความหวุดหวิดที่นอกจากการเอาใจช่วยของอาธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ขณะนั้นแล้ว

ว่ากันว่า ยังมาจาก “มือที่มองไม่เห็น” สั่งการให้ทหารในเขตดังกล่าวเทคะแนนให้นายสมัคร

ความมหัศจรรย์ จึงเกิดขึ้น

และส่งผลให้นายสมัครมีภาพของ “สีเขียว” ที่หนุนหลัง พร้อมๆ กับอาการฮึกห้าวของนักการเมืองหนุ่มที่ชื่นชอบยืนใน “ฝ่ายขวา” และพร้อมจะแตกหักกับทุกคน

ไม่เว้นแม่กระทั่ง นายธรรมนูญ

จนมีการเล่าขานอีกตำนานหนึ่งควบคู่ไปกับชัยชนะที่เขตดุสิตก็คือ เรื่องของนักการเมืองคนหนึ่งในนาม คุณซ่าส์…จอมเนรคุณ

นายสมัคร สร้างตำนานมหัศจรรย์อีกครั้ง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยแรงลมฝ่ายขวาดันปีกเหยี่ยวอย่างเขาให้ก้าวข้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2519 ถึง 19 ตุลาคม พ.ศ.2520 ด้วยวัยเพียง 41 ปี

ในตำแหน่งที่ใหญ่มหึมาและมีอิทธิพลดังกล่าว นายสมัครได้ใช้อำนาจอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการตามบดขยี้ “ฝ่ายซ้าย”

ตามไล่บี้สื่อมวลชน สั่งปิด และไม่อนุญาตให้หนังสือพิมพ์ที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ได้เกิดขึ้นมาใหม่

ทำให้เขากลายเป็น “บุคคล” ที่มีผู้ชอบที่สุด และเกลียดที่สุด พร้อมๆ กัน

สมัคร สุนทรเวช ในปี 2519

หลังเกิดการปฏิรูปการปกครอง นายสมัครพ้นจากอำนาจตามรัฐบาลหอย แต่นั่นดูเหมือนจะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งนักการเมืองผู้นี้ได้อีก

ปลายปี 2521 เขาประกาศตั้งพรรคประชากรไทย และนำพลพรรคลงต่อสู้ครั้งแรกในการเลือกตั้งวันที่ 22 เมษายน 2522 ด้วยท่าทีอันก้าวร้าวเป็นศัตรูกับสื่อมวลชนอย่างเปิดเผย

และสามารถสร้างความมหัศจรรย์อีกครั้ง ด้วยการกวาด ส.ส. เข้าสภามากถึง 36 คน เป็นสนาม กทม. ถึง 29 คน ต่างจังหวัด 3 คน

ในการเลือกตั้งวันที่ 18 เมษายน 2526 ก็กวาดที่นั่งใน กทม. ได้ถล่มทลายอีกครั้งถึง 36 ที่นั่ง แทบจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์สูญพันธุ์

ความเชื่อมั่นในผลการเลือกตั้งดังกล่าวทำให้นายสมัครประกาศแผนบันได 3 ขั้น ที่เชื่อมั่นตัวเองอย่างสูงว่าจะก้าวสู่ “นายกรัฐมนตรี” ได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การเมืองก็เป็นเพียงการเมือง นายสมัครไม่อาจทำได้อย่างฝัน เพียงแต่วนเวียนรับตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ

เช่น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 2 (30 เมษายน พ.ศ.2526 – 5 สิงหาคม พ.ศ.2529)

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (9 ธันวาคม พ.ศ.2533 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534)

เป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร (7 เมษายน พ.ศ.2535 – 24 พฤษภาคม พ.ศ.2535)

เป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา (13 กรกฎาคม พ.ศ.2538 – 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2539)

เป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (25 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2540)

ตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวดูเหมือนไม่ถดถอย แต่ในความเป็นจริง อย่างที่ทราบกัน พรรคประชากรไทย ไม่ได้ใหญ่โตอย่างที่นายสมัครคาดหมาย

ยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับพรรคพลังธรรม พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคไทยรักไทย ในสมรภูมิ กทม. พรรคประชากรไทยมีแต่ถดถอย และที่สุดก็แทบจะไม่อาจดำรงความเป็นพรรคเอาไว้ได้

ตัวนายสมัครเองก็ร่วงโรยลงตามวัย และที่สุดก็ต้องถอยร่นไปสู่สนามเลือกตั้งเล็ก คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ลีลา สมัคร สุนทรเวช ผู้คว้าชัยด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 อยู่ครบเทอม 4 ปี

แม้จะเป็นการถอยร่น

แต่นายสมัครก็ได้สร้างความมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในการเลือกตั้ง พ.ศ.2543 ด้วยคะแนนเสียงถึง 1,016,096 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนเสียงมากที่สุด นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ต่อมานายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 8 สร้างสถิติใหม่ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กวาดไปกว่า 1,386,215 คะแนน)

ทิ้งผู้ได้คะแนนอันดับ 2 คือ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย ที่ไดัรับคะแนนเสียงเพียง 521,184 คะแนน

ถือเป็นชัยชนะที่งดงามพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่างปี พ.ศ.2543-2547 นายสมัครก็ดูจะไม่โดดเด่น สมกับคะแนนที่คน กทม. เทให้

ความนิยมชมชอบลดลงอย่างมาก นี่กระมังที่ทำให้นายสมัครขอจบตำแหน่งนี้ในสมัยเดียว และหันเหตนเองไปสู่สนามการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก ก่อนที่จะอำลาเวทีทางการเมือง

โดยหวังลึกๆ ว่าอาจจะได้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นเกียรติยศสุดท้าย

ซึ่งนายสมัครก็ได้เข้าใกล้ความฝันดังกล่าว เพียง 5 เดือน แล้วทุกอย่างก็สูญสลายไป เมื่อคะแนนเสียงที่ได้จากการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2549 ได้ 240,312 คะแนน เป็นลำดับสอง รองจาก ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ 257,420 คะแนน กลายเป็นศูนย์ เมื่อเกิดการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549

(Photo by STR / chanel five / AFP)

นายสมัครเกือบจะต้องอำลาจากการเมืองด้วยความสูญเปล่า แต่แล้วคำเชิญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้นายสมัครมาเป็นแม่ทัพของพรรคพลังประชาชน ก็ทำให้ทุกอย่างพลิกผันไป

ผลิกผันไปตั้งแต่การที่เราได้เห็นภาพของนักการเมืองขวาจัด สามารถผสมกลมกลืนกับนักการเมืองที่เคยเลือกทางเดินซ้ายจัด หลายๆ คนในพรรคพลังประชาชน อย่าง น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี มาร่วมมือกันต่อสู้ในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ได้อย่างมหัศจรรย์

และที่มหัศจรรย์ยิ่งกว่าก็คือ โอกาสที่คนจากแดนไกลยื่นให้ เมื่อผสานกับบุคลิกบางอย่างของนายสมัคร ที่กล้าชนกับผู้ทรงอิทธิพล ที่นายสมัครเรียก “อีแอบผมขาว” ทำให้พรรคพลังประชาชนสามารถได้รับชัยชนะท่วมท้น และนำไปสู่การที่นายสมัครได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ทั้งที่เลิกหวังไปหลายสิบปีแล้ว

นี่ย่อมเป็นมหัศจรรย์แแห่งมหัศจรรย์ ของนายสมัครอย่างไม่ต้องสงสัย

อนึ่ง นายสมัคร ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็งตับ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ในวัย 74 ปี

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)