ย้อนอ่านความคิด “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” กุนซือช่างฝัน หัวเรื่อใหญ่ริเริ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยุคทักษิณ

13 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” โดยนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานกรรมการเอง โดยมีรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ อาทิ แพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการ, พันศักดิ์ วิญญูรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการ, หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล กรรมการ, ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการ, ชุมพล แจ้งไพร กรรมการ, ดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการ, มาริสา สุโกศล หนุนภักดี กรรมการ

ชื่อของ “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” มักถูกเรียกในหน้าข่าวว่าคือ “กุนซือทักษิณ”

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ชื่อของพันศักดิ์ถูกแฉบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า เขากำลังจะทำหน้าที่เป็นแม่งานสร้างภาพทักษิณให้โดดเด่นในฐานะวีรชนของเอเชียผ่านเวทีสื่อต่างประเทศ

จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพันศักดิ์เป็นอดีตคนข่าวมืออาชีพ เคยทำ น.ส.พ.ประชาชาติ เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสารวิเคราะห์การเมือง “จัตุรัส” และเคยทำงานอยู่กับ สนธิ ลิ้มทองกุล ในเครือผู้จัดการด้วยซ้ำไป

กุนซือใหญ่ของทักษิณ เคยให้สัมภาษณ์สื่อออนไลน์ประชาไท หลายประเด็นน่าสนใจ

“…ในสมัยของทักษิณการเติบโตทางเศรษฐกิจดี ประชาชนเอาด้วย แต่ฐานอำนาจเก่าไม่เอา ซึ่งเกิดจากความกลัวว่าอนาคตคืออะไร ไม่ใช่เท่านั้นนะ ผมว่าคุณทักษิณก็กลัวว่าอนาคตคืออะไร ไม่ใช่แต่คุณทักษิณ ยังรวมทั้งสังคมไทยและรวมทั้งผมด้วย ต่อให้ไม่มีรัฐประหาร ไม่ใช่ว่าผมห่วงอนาคตของตัวผม เพราะผมอายุ 60 แล้ว ที่ผมทำ สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์ออกแบบ (TCDC) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ มันจะแตกตัวเป็นมากกว่าสัญลักษณ์เพื่อหิ้วรุ่นลูกผมให้มีงานทำ จากสมัยทักษิณไปสู่อนาคต ผมถามว่าเราจะจัดการตัวเองได้ทันไหม คุณทักษิณเองก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือเปล่า คนซึ่งเกลียดคุณทักษิณก็ไม่แน่ใจ ผมเองก็ไม่แน่ใจ…”

เปิดประเด็นแบบนี้มีคนเดียวที่ทำได้คือ นักฝันที่ชื่อ พันศักดิ์ เท่านั้น

ตอนหนึ่งนักข่าวถามพันศักดิ์ว่า เมื่อเมืองไทยไม่มีภาพที่ชัดเจนว่าจะวางตัวเองไว้ตรงไหนใน globalization แต่ทำไมนโยบายของชุดรัฐบาลทักษิณจึงเกิดแรงต้าน?

คำตอบของเขาคือ “…มันคนละเรื่อง เขาไม่ได้ต้านเรื่องโลกาภิวัตน์ ที่เขาต้านน่ะ คืออาการที่เกิดขึ้นของช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมมนุษย์ ซึ่งในประวัติศาสตร์ มนุษย์จะมีปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนผ่านนั้น ที่ผมสังเกตดูอย่างในกรณีของเนปาล ซึ่งตอนนี้พรรคคอมมิวนิสต์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าไม่สามารถมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เห็นเป็นรูปธรรมเหมือนในประเทศอื่นๆ ในสังคมมนุษย์ในโลกมนุษย์ก็จะมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับ

สำหรับคนซึ่งโหยหาสิ่งซึ่งเป็นยูโทเปีย ซึ่งไม่มีจริง หาไม่ได้ เพราะถ้าจะมีจริง ต้องทำงานหนักและอาจจะเลวก่อนดี กับอีกประเภทหนึ่ง ที่ชีวิตเคยโอเคมาแล้ว คนที่ร่ำรวยแล้วมักจะกลัวความล้มเหลว คือสิ่งที่ตัวเองเคยมีจะหายไปหรือเปล่าไม่รู้ สำหรับคนจนหรือคนที่ไม่รวยมากนัก พวกเขากลัวความล้มเหลวน้อยกว่า ดังนั้น พวกเขาจึงเตรียมพร้อมที่จะรับความเสี่ยงที่มากกว่าได้

“ผมก็เห็นด้วยว่า ชีวิตที่ดีกว่าจนหน่อยหนึ่ง บางทีกลัวมากเลย กลัวจะกลับไปจนใหม่ เพราะมันเคยลิ้มรสมาแล้ว ความจนที่กูเพิ่งผ่านมันมาหยกๆ รสชาติมันเป็นอย่างไรกูรู้ดีมาก เพราะฉะนั้น ความกลัวอนาคต (fear of the future) มี 2 เหตุผลคือ หนึ่ง เพราะตัวเองไม่มีการผลิต ไม่มีความสามารถจะสร้างสรรค์รายได้แบบใหม่ๆ หรือมูลค่าใหม่ๆ หรืองงกับการสร้างสรรค์รายได้แบบใหม่ งงกับกระบวนการจัดการทุนแบบใหม่ งงกับคู่ต่อสู้ที่เรียกว่า จีน ซึ่งที่จริงเป็นบรรพบุรุษของตัวเอง เผอิญคำว่า จีน มันเพี้ยนมาก มันไม่ปกติ มิติมันมากเหลือเกิน หารูทะลุไม่ได้ มีทั้งทุน มีทั้งแรงงาน มีทักษะ มีทั้งเทคโนโลยี มีทั้งความสามารถในการจัดการกับตรรกะที่หลากหลาย

What should you do in this society? สมมติว่าคุณเคยมีชีวิตที่ดีมา แล้วอยู่มาวันหนึ่งมีอาการท้าทายนี้เกิดขึ้นกับคุณ วิธีโต้ตอบกับความเปลี่ยนแปลงมีหลายอย่าง แล้วแต่หัวกบาลของคุณ บางคนก็ใช้การเทศน์ แล้วสังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบเทศน์ แล้วก็ฟังเทศน์ คิดเองไม่ได้คิด ฉะนั้น เล่านิทานอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลทักษิณนั้น ผมเข้าใจว่าคุณทักษิณเป็นแค่สัญลักษณ์ของการเปลี่ยน ในสัญลักษณ์ก็มีมนุษย์ มนุษย์ก็มีปัญหา ในฐานะที่คุณกำลังถามประวัติศาสตร์กับผมมาก แล้วไงล่ะ ทักษิณแล้วไงล่ะ What do you do next? คุณทักษิณไปแล้ว What do you do next?”

อีกตอนหนึ่ง นักข่าวถามว่า อนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ช่วงเปลี่ยนผ่านจะยาวนานแค่ไหน?

อดีตที่ปรึกษาทักษิณผู้นี้ตอบว่า “…ไม่รู้ มีนักการธนาคารด้านการลงทุนมาคุยอะไรต่ออะไรกับผม หลังสุดที่ถามคือ เมื่อไหร่เมืองไทยจะสงบสักที แล้วบอกว่าคุณจะเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นประชาธิปไตย เป็นคอมมิวนิสต์ อะไรก็ได้ แต่ขออย่างเดียว มีกฎหมายที่ชัดเจน มีการแปลกฎหมายที่นิ่ง มีผลผูกพันของสัญญาที่ชัดเจน ความหมายคำว่าการลงทุนโดยต่างชาติคืออะไรกันแน่ เอาให้ชัด ถ้าผมเห็นว่าความชัดเจนของคุณ ผมไม่ได้ประโยชน์ด้วย ผมก็ไม่มา ตรงไปตรงมา ไม่ได้ซับซ้อนอะไร แค่ต้องให้เกิดความชัดเจน อย่าเอาอารมณ์มาออกแบบ แล้วอย่า จันทร์ พุธ ศุกร์ อย่างหนึ่ง

“ผมอยากให้เมืองไทยกลับสู่รากฐาน กลับสู่รากฐานทางความคิด รากฐานในการทำความเข้าใจ ทำมาหากินไป หมายความว่าไม่มีใครมาเคาะประตูตอนกลางคืนแล้วบอก ขอพาตัวไปหน่อย นี่มันเป็นสิทธิมนุษยชน”

ส่วนคำถามว่า การเมืองทุกวันนี้จะจบอย่างไร?

กุนซือใหญ่ทักษิณตอบชัดเจนว่า …ผมไม่รู้ ผมคิดว่าทุกๆ คนกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่าน ผมไม่รู้ คาดการณ์ไม่ได้ และผมไม่อยากคาดการณ์ เพราะผมกลายเป็นช่างภาพไปแล้ว!!!

 

หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งของบทความมาจากคอลัมน์ศัลยาประชาชาติ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9-16 มกราคม 2552