มหากาพย์ ‘พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ’ ฝันนาน 5 ปี ปักธงปฏิรูปการเรียนรู้

ถือเป็นมหากาพย์ สำหรับการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในวาระ 2 และ 3 ใช้เวลารวมกว่า 5 ปี นับจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าบริหารประเทศ และแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขึ้น เมื่อปี 2560 ผ่านการถกเถียงยาวนาน กระทั่งเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติในที่สุด…

แม้จะปรับแก้หลายครั้งก่อนเข้าสภา แต่ก็ยังมีเสียงคัดค้าน โดยเฉพาะกลุ่มครูที่ไม่เห็นด้วยกับบางมาตรการ ที่มองว่าลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา

ถึงขั้นใช้เกมการเมืองข่มขู่จะไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคที่ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยไม่มีการแก้ไขให้เป็นไปตามความเห็นของครูกลุ่มดังกล่าว

รวมถึงจะสนับสนุนพรรคที่พร้อมแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในรัฐบาลต่อไป

โดยได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภา และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

1. เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจบารมีหยุดชี้นำ สั่งการ หรือวิธีการใดๆ ที่เป็นการบั่นทอนการใช้ดุลพินิจโดยสุจริตของสมาชิกรัฐสภา ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….

2. เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่าน หยุดแบ่งข้าง แบ่งขั้วทางการเมือง ขอให้ทุกท่านยืนเคียงข้างประชาชน โดยคำนึงถึงเป้าหมายสุดท้ายของ พ.ร.บ.นี้ ที่ผลลัพธ์จะเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของชาติเป็นสำคัญ

3. เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภา ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.นี้ทุกข้อที่กล่าวมา ทั้งนี้ เพื่อให้ พ.ร.บ.ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ เป็นกฎหมายที่ดีที่สุดของการจัดการศึกษา

และ 4. หากไม่ได้รับการแก้ไขเป็นรายมาตราจะยกระดับการคัดค้าน

 

ขณะที่ฝั่งเห็นด้วย ก็อยากเร่งคลอดร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยให้เหตุผลว่า ข้อบกพร่องอื่นๆ สามารถปรับแก้ได้ โดยบางเรื่อง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และปลัด ศธ. สามารถออกประกาศ เพื่อบังคับใช้หรือกำหนดไว้ในกฎหมายลูก

ดีกว่าปล่อยให้แท้ง! แล้วไปประกอบร่างใหม่ในรัฐบาลถัดไป ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่า จะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี…

โดยนักวิชาการด้านการศึกษา อย่าง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ระบุว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ถือเป็นกฎหมายสำคัญ อย่ามองว่าใครจะได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมือง กฎหมายฉบับนี้ จะทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาของประเทศอย่างแท้จริง พลิกโฉมการศึกษาของไทยที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะโรงเรียนที่จะมีความเป็นอิสระ บริหารงานในรูปแบบนิติบุคคล สามารถจัดการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่มากยิ่งขึ้น

“กฎหมายนี้อาจจะไม่ดี 100% แต่ก็ถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้น และเดินหน้าต่อไปได้ เพราะเห็นชัดแล้วว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งใช้มานานกว่า 20 ปี มีข้อบกพร่อง ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาของประเทศล้าหลัง หากไม่มีกฎหมายฉบับใหม่ จะทำให้ประเทศเสียโอกาสครั้งใหญ่”

นายสมพงษ์กล่าว

 

ขณะที่ นายตวง อันทะไชย ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. เห็นคล้ายกันว่า กมธ.วิสามัญ ได้ทำหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาราจักรไทย พ.ศ.2560 เรียบร้อยแล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายตั้งต้นในการปฏิรูปการศึกษา ส่วนตัวเห็นว่า ไม่มีกฎหมายฉบับใดดีที่สุดในโลก เพราะต้องปรับแก้ให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจุบัน ดังนั้น หากไม่มีจุดตั้งต้น ก็ไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายได้

“กฎหมายฉบับนี้มี 3 เรื่องใหญ่ ที่เปลี่ยนการศึกษาไทย คือ 1.กำหนดเป้าหมายผู้เรียนแต่ละช่วงวัยว่า ควรได้รับการพัฒนาในเรื่องใดบ้าง 2.ให้โรงเรียนมีอำนาจในการบริหารจัดการงบประมาณ และบุคลากรของตนเองได้ และ 3.กำหนดให้มีการผลิตครูรูปแบบใหม่ โดยนำบทเรียนจะสถานการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มาวิเคราะห์ และพบว่า การเรียนการสอน สามารถทำได้ในหลายแพลตฟอร์ม ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป”

“มหาวิทยาลัยฝ่ายผลิตครูเอง ต่างรอคอยกฎหมายฉบับนี้ เพื่อปรับหลักสูตรการผลิตครูใหม่ ทั้ง 3 ประเด็น เป็นเรื่องสำคัญที่สามารถเปลี่ยนแปลงการศึกษาของไทยได้ เรื่องเหล่านี้ครูควรจะดีใจ ไม่ใช่มาต่อต้าน ควรวางผลประโยชน์ของตัวเองไว้ก่อน และเอาประโยชน์ของประเทศมาเป็นตัวตั้ง” นายตวงกล่าว

 

ไม่มีกฎหมายฉบับใดในโลก ที่ดีที่สุด 100% ถือเป็นความจริง บนหลักการของความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติ เพื่อให้ได้กฎหมายสมบูรณ์ ในช่วงเวลาหนึ่ง

คงจะเป็นเรื่องดี หากจากนี้จะเห็นภาพความร่วมมือ ผลักดันการปฏิรูปการศึกษา เพื่อพัฒนาประเทศ จากทุกฝ่าย โดยไม่มีเรื่องการเมือง หรือข้อเรียกร้อง ผลประโยชน์ส่วนตัวของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาฉุดรั้งการพัฒนา

เพราะสุดท้าย ผลดีหรือผลเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะตกอยู่ที่ตัวเด็กเป็นอนาคตของชาตินั่นเอง… •

 

 

| การศึกษา