สารพัดข่าว ‘ดี-ร้าย-ฉาว-อลเวง’ แวดวงการศึกษาไทย ตลอดปี ’65

ตลอดปี 2565 หรือปีเสือไฟ ถือเป็นอีก 1 ปีที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในแวดวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่คลี่คลายลง

หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาอย่างมาก ทำให้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนในช่วงของการระบาด ต้องเปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียน ไปเป็นรูปแบบออนไลน์ และออนดีมานด์ ทำให้นักเรียนต้องห่างหายไปจากห้องเรียนกว่า 2 ปี

ส่งผลต่อ “คุณภาพ” ของนักเรียนทั้งประเทศ และเกิดภาวะ “การเรียนรู้ถดถอย”

แต่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 เป็นปีแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลับมาเปิดห้องเรียน “ออนไซต์” 100%

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องที่สะเทือนใจ เมื่อมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเด็กๆ ที่ “หลุดจากระบบการศึกษา” ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ต้องออกไปช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน และอาจไม่มีโอกาสกลับมาเรียน

ศธ.จึงมีนโยบาย “พาน้องกลับมาเรียน” 100% โดยพยายามดึงเด็กๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษามากถึง 238,700 คน กลับสู่ระบบ แต่ยังมีเด็กๆ อีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถตามกลับมาเรียนได้!!

 

การแยก “วิชาประวัติศาสตร์” ออกจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เป็น “รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษา” ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นอีกเรื่องที่มีเสียงวิจารณ์มากมาย

โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วย มองว่า “ปัญหา” อยู่ที่ “วิธีสอน” มากกว่า เพราะการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ดี ต้องให้เด็กตั้งคำถามได้ วิพากษ์ข้อมูลหลักฐานได้

ซึ่ง ศธ.ยืนยันจะปรับกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ปรับวิธีการวัด และประเมินผล

โดยจะเริ่มภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566!!

 

เป็นอีกเรื่องที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งให้รับคำร้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ร้อง “นางกนกวรรณ วิลาวัลย์” รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กรณีขอออกโฉนดที่ดินในพื้นที่หมู่ที่ 15 ต.เนินหอม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ 30-2-80.5 ไร่ ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และแนวเขตป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่ ทำให้รัฐสูญเสียที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ

พร้อมทั้งสั่งให้นางกนกวรรณ “หยุด” ปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำพิพากษา!!

อีกประเด็นที่มีความพยายามมากว่า 5 ปี ที่จะดึง “อำนาจ” บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา กลับมาเป็นของ “ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)” และ “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ของ ศธ.

ให้อำนาจหน้าที่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูฯ ของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ไปเป็นของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ฯ ประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ มัธยมศึกษา ส่วนการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูฯ ในเขตพื้นที่ฯ ให้เป็นของ “ผู้อํานวยการ สพท.” และ “ผู้อํานวยการสถานศึกษา” เป็นต้น

เชื่อว่าประเด็นความขัดแย้งที่มีมานาน จะคลี่คลายระดับหนึ่ง!!

 

กลายเป็นมหากาพย์ที่ยาวนานถึง 14 ปี สำหรับโครงการก่อสร้าง “ศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา” หรือ “อควาเรียมหอยสังข์” ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หลังเครือข่ายภาคประชาชนใน จ.สงขลา ออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากถูก “ทิ้งร้าง” มายาวนาน

อควาเรียมแห่งนี้เริ่มลงเสาเข็มตั้งแต่ปี 2551 มีแผนก่อสร้างเสร็จปี 2554 ใช้วงเงินก่อสร้าง 800 ล้านบาท แต่จนถึงปัจจุบัน ยังก่อสร้างไม่เสร็จ แถมใช้งบฯ ไปไม่น้อยกว่า 1.4 พันล้านบาท

แม้ผู้บริหาร สอศ.จะมีข้อเสนอ 6 ด้าน ถ้าจะเดินหน้าก่อสร้างต่อ โดยจะไปศึกษาข้อดีและข้อเสีย เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

แต่จนถึงขณะนี้ ทุกอย่างยังเงียบกริบ!!

 

ที่ถือเป็นข่าวดีส่งท้ายปีสำหรับเด็กๆ เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียว “เพิ่มเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน” ให้ชั้นเด็กเล็กถึงชั้น ป.6 ในทุกสังกัด 51,637 โรง รวม 5,792,119 คน

แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ โรงเรียนที่มีนักเรียน 1-40 คน 16,691 แห่ง ได้ 36 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่ม 15 บาท กลุ่มที่สอง มีนักเรียน 41-100 คน 17,437 แห่ง ได้ 27 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่ม 6 บาท กลุ่มที่สาม มีนักเรียน 101-120 คน 1,970 แห่ง ได้ 24 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่ม 3 บาท และกลุ่มที่สี่ มีนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป 15,539 แห่ง ได้ 22 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่ม 1 บาท

ซึ่ง ศธ.จะจัดทำงบประมาณปี 2567 เพิ่มอีก 3,533,280,000 บาท จากเดิม 28,365,864,000 บาท

จะทำให้นักเรียนได้กินอาหารที่มีคุณภาพ ทั้งยังแก้ปัญหาการบริหารจัดการให้โรงเรียนขนาดเล็ก!!

 

ในแวดวงอุดมศึกษาปีนี้ ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ฤกษ์ “ปรับใหญ่” ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2566 หรือทีแคส ปี 2566 โดยนำ TGAT, TPAT และ A-Level ใช้แทนการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT การทดสอบวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และวิชาสามัญ พร้อมนำร่องการสอบผ่านคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรก โดยยังคงการสมัคร 4 รอบ 4 รูปแบบ ส่วนการยืนยันสิทธิ และสละสิทธิ ทำผ่านระบบเท่านั้น

นอกจากนี้ เป็นมิติใหม่ที่ ทปอ.เปิดกว้างให้นักเรียนเข้าสอบ TGAT และ TPAT ใส่ “ชุดสุภาพ” เสื้อเชิ้ต เสื้อโปโล กางเกงขายาว หรือกระโปรงยาวคลุมเข่า ที่ไม่ใช่ชุดนักเรียน นักศึกษา รวมถึง “ไม่ห้าม” ทำสีผม สีเล็บ

ส่วน “ภาพถ่าย” ที่ใช้สมัครสอบ ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียน ผมไม่ต้องเก็บหน้าม้า และใส่แว่นตาได้!!

 

ฮือฮาเมื่อสภามหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พิจารณากรณี “นายชัยชาญ ถาวรเวช” อธิการบดี มศก.ยื่นใบลาออก ภายหลังโลกโซเชียลวิจารณ์เกี่ยวกับการ “แอบถ่าย” แอร์โฮสเตสบนเครื่องบิน และนำไปโพสต์บนเฟซบุ๊ก

แม้เจ้าตัวจะยอมรับว่าจริง แต่ไม่มีเจตนาร้าย และไม่มีเจตนาคุกคามทางเพศ แต่เมื่อต้านกระแสวิจารณ์ไม่ไหว จึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการ “ลาออก”

โดยสภา มศก.ตั้ง “นายวันชัย สุทธะนันท์” คณบดีคณะวิทยาการจัดการ รักษาการอธิการบดี…

อีกเคสที่ฮือฮาไม่แพ้กัน เมื่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) วันที่ 8 พฤศจิกายน มีมติถอดถอน “นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่” จากตำแหน่งอธิการบดี มร. ส่งผลให้พ้นตำแหน่งเป็นรอบที่ 2 หลังสภา มร.เคยมีมติ “ถอดถอน” รอบแรกไปเมื่อปี 2564

เนื่องจากนายสืบพงษ์ฝ่าฝืนกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบ มร. โดยเฉพาะข้อบังคับ มร.ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหาร พ.ศ.2562 ใช้วุฒิการศึกษาปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรอง รับโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติ และทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องขอความเป็นธรรมด้วยข้อความอันเป็นเท็จ

โดยสภา มร.มีมติแต่งตั้ง “ผศ.ดร.บุญชาล ทองประยูร” กรรมการสภา มร. รักษาการอธิการบดี มร.!!

 

ขณะที่เรื่องอลเวงส่งท้ายปี เห็นจะหนีไม่พ้นกรณีสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่าน “ร่าง พ.ร.บ.เงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับที่… พ.ศ….”

โดยให้ผู้กู้ยืมเงินไม่ต้องจ่าย “ดอกเบี้ย” และ “เบี้ยปรับล่าช้า”

ทั้งยังแก้ไขบทเฉพาะกาล ให้มีผลย้อนหลังกับ “ผู้กู้” และ “ผู้ค้ำประกัน” ที่ทำสัญญากู้ยืมก่อนกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีนับล้านราย และถูกฟ้องคดีจำนวนมาก ได้รับอานิสงส์ถ้ากฎหมายผ่าน 2 สภา

ล่าสุด วุฒิสภาได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.กยศ.ในวาระ 2-3 แต่ให้แก้ไขในเรื่องอัตราดอกเบี้ย โดยให้คิดไม่เกิน 1% ต่อปี และผู้ผิดนัดชำระหนี้ ต้องจ่ายเบี้ยปรับไม่เกิน 0.5% ต่อปี

ขณะนี้ได้ส่งร่างกฎหมายกลับสภา เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา ก่อนส่งกลับวุฒิสภาอีกครั้ง!! •

 

| การศึกษา