วีรเทพ พิรโรจน์ ผอ.ปิดทองหลังพระฯ คนใหม่ ในยุคปรับโฉมสู่ก้าวต่อไป

“วีรเทพ พิรโรจน์” เพิ่งขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เมื่อสามเดือนก่อนนี้ สืบต่อจากคุณการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ คนเก่า ผู้ซึ่งทำงานจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

คุณวีรเทพเข้ามาปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ช่วงกลางปี 2564 ทันทีที่ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี (SCG) เพื่อตอบสนองนโยบายของคณะกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่ต้องการนักบริหารหนุ่มจากภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาช่วยงานในยุคที่องค์กรมีการปรับตัวขนานใหญ่

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ ผอ.สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ วัย 48 ปีผู้นี้น

 

คุณวีรเทพบอกว่า ทำงานอยู่ที่มูลนิธิ SCG มากว่า 10 ปี เป็นมูลนิธิสาธารณกุศลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลคนทุกช่วงวัย เน้นการพัฒนาคนตั้งแต่เด็กเล็กก่อนวัยเรียนหรือปฐมวัย โดยใช้กระบวนการเล่านิทานอ่านหนังสือ ส่วนเด็กในวัยเรียนจะส่งเสริมด้านทุนการศึกษา พัฒนาศักยภาพทางด้านศิลปะและชุมชน และทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมต่างๆ ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือ จึงได้นำประสบการณ์จากมูลนิธิ SCG มาปรับใช้ และเรียนรู้การทำงานกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เพิ่มเติมในด้านการทำงานกับพื้นที่แบบเชิงลึกมากขึ้น

“ลักษณะการทำงานกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ไม่ได้แตกต่างกับการทำงานกับมูลนิธิ SCG เท่าไรนัก แต่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ มีจุดแข็งในการเชื่อมโยงการทำงานกับเครือข่ายภาครัฐค่อนข้างมาก ผมจึงต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้ จากแต่ก่อนที่ทำงานภาคประชาสังคม ภาคการศึกษาเป็นหลัก การเรียนรู้การทำงานกับภาครัฐช่วยให้ผมทำงานได้ลึกขึ้นและกว้างขึ้น”

ก่อนหน้านี้ ในช่วงการดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ที่ได้ร่วมทำงานกับผู้อำนวยการคนเก่ามาปีเศษก็ต้องลงพื้นที่อยู่ตลอด เรียกว่าได้เรียนรู้งานในสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ มาพอสมควร

คุณวีรเทพบอกว่า 13 ปีของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ถือว่าประสบความสำเร็จในการวางรากฐานเรื่องระบบน้ำ และสร้างอาชีพ ซึ่งทั้ง ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล และ ผอ.การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ สองท่านได้วางรากฐานไว้อย่างดีแล้ว ใน 10 ปีข้างหน้าของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ จึงจะเป็นการต่อยอดการทำงานจากจุดที่เป็นอยู่ในขณะนี้

จากช่วงเวลานี้ไป คือ การพัฒนากระบวนการรวมกลุ่มที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ทำไว้ในแต่ละพื้นที่ต้นแบบไปสู่ความเข้มแข็ง ยั่งยืน เพราะการพัฒนาระดับครัวเรือนที่ดำเนินการมาแล้วถือว่าทำให้ชาวบ้านอยู่รอดได้แล้ว การพัฒนาตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้าต่อไป คือ เรื่องของการรวมกลุ่มและทำให้กลุ่มสามารถเชื่อมโยงออกสู่ภายนอกได้ในทุกด้าน ทั้งการตลาด องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม กลุ่มหรือชุมชนต้องสามารถประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและประชาสังคมที่เกี่ยวข้องได้ด้วยตัวเอง โดยสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ จะยังคงทำงานอยู่ในพื้นที่ต้นแบบ แต่จะเป็นการทำงานเพื่อเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นในทุกมิติ “สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ จะถอยออกมาหนึ่งก้าว เพื่อเป็นพี่เลี้ยง เป็นคนให้คำปรึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ให้ชาวบ้านและกลุ่มวิสาหกิจดำเนินการได้ด้วยตัวเอง”

“โจทย์การทำงานเมื่อ 13 ปีที่แล้วกับปัจจุบันแตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อคือ แนวคิดของกลุ่ม เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ทั้งเทคโนโลยีและการตลาด การคิดแบบเดิมและคาดหวังให้ได้ผลลัพธ์แบบเดิมที่เคยทำมา ต้องปรับวิธีคิดใหม่ โดยการสื่อสาร ทำความเข้าใจ เพิ่มทักษะหรือองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กลุ่มมีความเข้มแข็งและยกระดับสมาชิกให้มีความรู้มากขึ้น”

“หรือแนะนำ เชื่อมโยงนวัตกรรม เทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อช่วยในการทำงาน โดยให้ภาคเอกชนหรือภาคการศึกษาเข้ามาให้ความรู้ได้อย่างยืดหยุ่น สอดคล้องเหมาะสมกับยุคสมัย และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป”

 

ทั้งนี้ การทำงานของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ตามแผนปฏิบัติการระยะที่ 4 (ปี 2566-2570) คณะกรรมการสถาบันมีมติเห็นชอบทิศทางการดำเนินงานของพื้นที่ต้นแบบใน 9 จังหวัด โดยจัดกลุ่มพื้นที่ต้นแบบเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 พื้นที่ต้นแบบที่ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ จะเตรียมส่งมอบผลการพัฒนาให้ชุมชนบริหารจัดการเอง และหน่วยงานราชการเข้ามาต่อยอดการพัฒนา โดยยังถือเป็นพันธมิตรในเครือข่ายการพัฒนา

กลุ่มที่ 2 พื้นที่ต้นแบบที่ยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะยังคงสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการตลาด

และกลุ่มที่ 3 พื้นที่ต้นแบบที่มีผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ สามารถจัดทำแผนธุรกิจจะพัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise-SE) โดยสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิต ด้วยหวังให้ในอนาคตกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีความยั่งยืน

ผอ.วีรเทพให้รายละเอียดการก้าวเข้าสู่ SE ของกลุ่มวิสาหกิจต่างๆ ว่า ในเบื้องต้นนี้ มีวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตทุเรียนคุณภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่พร้อมเป็น SE เพราะทางสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ได้เข้าไปสนับสนุนเรื่ององค์ความรู้ทั้งหมด ทำให้ผลผลิตดีขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ จากเดิมที่ได้ผลผลิตกิโลกรัมต่อไร่น้อย และส่วนใหญ่เป็นลูกตกเกรด มีหนอนเยอะ ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม จนสามารถพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่จดทะเบียนแล้ว 20 แห่ง เมื่อปี 2564

ปัจจุบัน ทั้ง 20 วิสาหกิจยังตกลงกันแล้วว่า จะรวมกันจัดตั้งเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะทำให้มีการเชื่อมโยงความรู้ระหว่างกันมากขึ้น มีพลังและอำนาจต่อรองมากขึ้น ทั้งด้านต้นทุนปัจจัยการผลิต และตลาด

คุณวีรเทพบอกว่า การรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ต้นแบบ แม้จะยังไม่มีการประกาศตัวเป็น SE เต็มตัว แต่ในความเป็นจริง ที่ดำเนินการมาก็อยู่ในรูปแบบของ SE อยู่แล้ว เช่น การนำผลกำไรที่ได้มาจ้างแรงงานคนในพื้นที่ ผู้ที่ตกงานจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็มีงานทำ

“สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ วางแผนว่า จะสร้างวิสาหกิจชุมชนให้เป็นต้นแบบวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม เป็นโมเดลที่ทำให้คนหรือกลุ่มที่ต้องการพัฒนา ดูรูปแบบของการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ ให้คนได้มาเรียนรู้หลักการ กระบวนการตามทฤษฎีใหม่และหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เราใช้ในกระบวนการจัดการกลุ่มเป็นอย่างไร แล้วนำกระบวนการนั้นไปปรับใช้กับกลุ่มของเขาเอง เราเชื่อว่าถ้าดำเนินการตามแนวพระราชดำริแล้ว กลุ่มก็จะประสบความสำเร็จ และเป็นไปตามหลักการของ SE คือ สร้างงานสร้างอาชีพ แล้วคืนประโยชน์ตอบแทนกลับสู่สังคม ตามแนวพระราชดำริเรื่องการรวมกลุ่ม เมื่อคุณรวมกลุ่มกัน คุณประกอบอาชีพธุรกิจการค้ามีกำไรแล้ว ส่วนหนึ่งต้องกลับมาตอบแทนสังคม”

ผอ.สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ คนใหม่ย้ำอีกว่า การเป็น SE เป็นการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ซึ่งธุรกิจดังกล่าวสามารถแสวงหากำไรได้ เพื่อนำกำไรนั้นไปแก้ปัญหาอีกทอดหนึ่ง นั่นหมายความว่า ยังมีเงินอีกส่วนหนึ่งที่จะปันกำไรให้กับผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมได้ แต่ต้องบอกว่า ในแง่ของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เอง คงไม่ได้ทำในลักษณะเป็นการค้าทั้งหมด 100% แต่เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรจริงๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มจริงๆ ในพื้นที่จริงๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีบริบทที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ จะเน้นเรื่องการพยายามรวมกลุ่มกันในวิสาหกิจ เครือข่ายวิสาหกิจ หรือแม้กระทั่งสหกรณ์ที่มีอยู่ในภาคอีสาน เพื่อแก้ไขปัญหา ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น

สรุปคือ SE ที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ให้การสนับสนุน ไม่ได้ทำไปเพื่อตั้งเป็นบริษัท หรือห้างร้าน เพื่อแสวงหากำไร แต่ทำเพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาของชาวบ้านจริงๆ

 

ขณะเดียวกันสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ก็ส่งเสริมชาวบ้านในเรื่อง BCG (Bio-Circular-Green Economy) ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว มาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เช่น วิธีการเพาะปลูก เน้นในเรื่องการความปลอดภัยจากสารเคมี มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด อนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งก็มาสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลพอดี

ในแผนปฏิบัติการระยะที่ 4 มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า จะต้องพัฒนากลุ่มเกษตรกรที่มีอยู่อีกหลายกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง สามารถตั้งเป็นเครือข่ายวิสาหกิจหรือสหกรณ์ให้ได้ในปี 2570 ซึ่งภายใน 5 ปีนี้ กลุ่มต้องเดินไปเองได้แล้ว โดยระหว่างช่วงปี 2566 ไปจนถึงปี 2570 สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ จะพัฒนากลุ่มต่างๆ ทั้งหมดให้มีความรู้ สามารถบริหารจัดการทุกเรื่องได้ และสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้เข้ามาสืบสานรับช่วงต่อ

แนวทางหลักในการทำงานของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ นอกจากพัฒนากระบวนการรวมกลุ่มและสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ยังต้องปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงาน จากเดิมที่เคยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเพียงแหล่งเดียว มาเป็นการมุ่งแสวงหารายได้จากการให้บริการวิชาการ การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาด้านบริหารจัดการการพัฒนา และนำประสบการณ์ความรู้มาบูรณาการแผนงานร่วมกับหน่วยงานอื่น รวมทั้งภาคธุรกิจ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ในรูปแบบของ Matching fund ยกตัวอย่าง เช่น ความร่วมมือกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) และตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาลุ่มน้ำมูล เป็นต้น

จากนี้เป็นต้นไป คงต้องติดตามการดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ที่มีคุณวีรเทพเป็นผู้อำนวยการ ภายใต้โจทย์ใหม่ พร้อมๆ กับการเดินหน้าสู่ยุคปรับโฉมเพื่อไปสู่ย่างก้าวการทำงานแบบใหม่ที่ต่างไปจากเดิม