ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (2)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

การศึกษาแบบใหม่

ระหว่าง พ.ศ.2452 ถึง พ.ศ.2458 ตลอด 6 ปีที่นักเรียนนายร้อยแปลก นักเรียนนายร้อยบัตร์ และเพื่อนร่วมรุ่นศึกษาอยู่ในโรงเรียนนายร้อยทหารบกนั้น ผู้บัญชาการโรงเรียนทรงพระนาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสที่เสด็จพ่อ ร.5 หวังให้สืบราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไป ครั้นเมื่อเสด็จกลับจากการศึกษาวิชาทหารในรัสเซียด้วยผลการศึกษายอดเยี่ยมแล้วก็ทรงเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญทั้ง “ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยทหารบก” และ “เสนาธิการทหารบก” ระหว่าง พ.ศ.2449 ถึง 2469

นักเรียนนายร้อยทั้งสองและเพื่อนร่วมรุ่น ล้วนโชคดีที่ได้รับอานิสงส์จากการที่ทูนกระหม่อมจักรพงษ์ฯ ทรงนำวิธีการสอนแบบใหม่มาใช้กับนักเรียนนายร้อยและนายทหาร จากเดิมที่ใช้การท่องจำเป็นหลัก มาเป็นการสอนให้รู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์ ซึ่งนำไปสู่การแสวงหาความรู้อย่างไม่จำกัด

ไม่เฉพาะแต่เรื่องของวิชาชีพทหาร แต่รวมไปถึงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อีกทั้งไม่จำกัดเฉพาะในประเทศสยามเท่านั้น แต่โลกทั้งใบก็อยู่ในความสนใจของนักเรียนนายร้อยและนายทหารหัวก้าวหน้าในยุคนั้น

พระองค์ทรงส่งเสริมให้นายทหารกล้าแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา มีการจัดทำ “นิตยสารยุทธโกษ” ในสมัยของพระองค์เพื่อเป็นเวทีแห่งความรู้ที่ไม่ได้อ่านกันเฉพาะในหมู่ทหารเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสังคมภายนอกที่ก็กำลังสนใจกระหายใคร่เรียนรู้โลกเช่นเดียวกัน

อัจฉราพร กมุทพิสัย สรุปไว้ใน “กบฏ ร.ศ.130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย แนวคิดทหารใหม่” ว่า ในเวลานั้นโรงเรียนนายร้อยทหารบกได้รับการยอมรับว่าเป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ก้าวหน้าที่สุดของประเทศ

นักเรียนนายร้อยแปลก บัตร์ และเพื่อนร่วมรุ่นจึงถูกหล่อหลอมด้วยระบบการศึกษาแบบใหม่ที่มีลักษณะ “ก้าวหน้า” และ “ทันสมัย” นี้ตลอด 6 ปีเต็ม

 

กบฏ ร.ศ.130

พ.ศ.2452 ปีแรกที่แปลกและบัตร์เริ่มชีวิตนักเรียนนายร้อยนั้นได้เกิดเหตุการณ์เฆี่ยนหลังนายทหารในที่สาธารณะ ซึ่งจะเป็นปฐมเหตุแห่งความไม่พอใจในหมู่ทหารโดยเฉพาะที่มีความคิดก้าวหน้าจนกลายเป็นชนวนเหตุแห่งการก่อกบฏโดยนายทหารครั้งแรกของสยามในอีก 2 ปีต่อมาระหว่างต้นรัชกาลที่ 6 ที่รู้จักกันในนาม กบฏ ร.ศ.130 หรือ “กบฏหมอเหล็ง” เมื่อ พ.ศ.2454 ซึ่งผู้ก่อการทั้งหมดล้วนเป็นคนใกล้ชิดและศิษย์ของทูลกระหม่อมจักรพงษ์ฯ ทั้งสิ้น

แม้ถึงที่สุดจะล้มเหลวกลายเป็นกบฏ แต่คบเพลิงปฏิวัติได้ถูกจุดขึ้นแล้ว ณ บัดนั้น

ความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะ ร.ศ.130 เกิดขึ้นขณะแปลก บัตร์ และเพื่อนร่วมรุ่นซึ่งล้วนเป็นศิษย์ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ฯ อยู่ระหว่างการเป็นนักเรียนนายร้อย ท่ามกลางบรรยากาศของความต้องการการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่เริ่มปะทุคุกรุ่นรอวันระเบิด

กระแสความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองขณะนั้นมิได้เกิดขึ้นเฉพาะระหว่างหมู่นายทหารหัวก้าวหน้าศิษย์ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ฯ เท่านั้น แต่ยังก่อตัวขึ้นในหมู่สามัญชนคนชั้นกลางแห่งสยามประเทศและปัญญาชนพลเรือนอีกไม่น้อยมาก่อนหน้านั้นแล้ว กระทั่งมาบรรจบกันในเวลา 21 ปีต่อมาเมื่อเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน 2475

 

นานวันมิตรภาพยิ่งมั่นคง

คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม บอกเล่าเส้นทางแห่งมิตรภาพของเพื่อนรักทั้งสองต่อไป

“เมื่อออกเป็นนายทหาร คุณบัตร์และคุณแปลกออกเป็นทหารรุ่นเดียวกัน อยู่เหล่าเดียวกันคือเหล่าปืนใหญ่เมื่อ พ.ศ.2458 ทั้ง 2 ท่านนัดกันว่าจะไปอยู่กรมกองเดียวกัน และทั้งสองก็ถูกจำกัดให้อยู่ในเหล่าปืนใหญ่เช่นเดียวกัน จะเลือกไปอยู่เหล่าอื่นไม่ได้”

“คุณแปลกเคยเล่าให้ดิฉันฟังว่า เมื่อออกเป็นนายทหารใหม่ๆ รักเครื่องยูนิฟอร์มทหารรักษาพระองค์เหลือเกิน โดยเฉพาะหมวกที่สวมมีผ้าพันหมวกสีตามเหล่าดูเด่นโก้มาก ทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ใช้ผ้าพันหมวกสีเหลืองตามสีอินทรธนู ทหารราบรักษาพระองค์มี 2 กรม คือ ราบ 1 กับราบ 11 ราบ 1 ใช้ผ้าพันหมวกสีแดง ส่วนราบ 11 ใช้ผ้าพันหมวกสีกรมท่าขลิบแดง ทหารม้ารักษาพระองค์ใช้สีน้ำเงินหม่น”

“เมื่อถูกบังคับให้เลือกกรมกองที่จะไปประจำเช่นนั้น ผู้ที่สอบได้คะแนนสูงก็มีสิทธิ์เลือกก่อน เพื่อนของคุณแปลกที่ได้คะแนนสูงจึงเลือกเอาปืน 1 รักษาพระองค์ (ตั้งอยู่ที่ กรม ปตอ.ในปัจจุบัน) ส่วนปืน 2 ตั้งอยู่ตรงข้ามกับกรม ปตอ.เดี๋ยวนี้ เมื่อปืน 1 รักษาพระองค์ และปืน 2 ซึ่งอยู่ที่บางซื่อถูกเลือกไปแล้ว คุณแปลกเลยลืมเรื่องที่ถูกจำกัดให้อยู่ปืนใหญ่ จึงขออยู่ราบ 11 รักษาพระองค์ ผู้บังคับบัญชาก็บอกว่าจะไปทหารราบไม่ได้ คุณแปลกยังไม่พ้นความพยายามจึงขอสมัครไปอยู่ทหารม้ารักษาพระองค์”

“ผู้บังคับบัญชาเกิดโทโสถึงกับยื่นคำขาดว่า ‘ตาแปลก ฉันบอกว่าแกต้องอยู่เหล่าปืนใหญ่ จะไปอยู่เหล่าอื่นไม่ได้ ถ้ายังขืนดื้อ ฉันจะไม่ให้ออกเป็นนายทหาร จงเลือกในเหล่านี้คือ ปืน 3 ลพบุรี ปืน 4 ราชบุรี ปืน 5 นครราชสีมา ปืน 6 นครสวรรค์ ปืน 7 พิษณุโลก ปืน 9 ฉะเชิงเทรา'”

 

“คุณแปลกตกใจระคนกับหัวเสียจึงโพล่งออกไปว่า ผมขอไปอยู่ปืน 8 เชียงใหม่ สมัยนั้นทางราชการทหารไม่ส่งผู้ที่สำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยใหม่ๆ ไปประจำที่เชียงใหม่ ผู้บังคับบัญชาจึงบอกว่าไปอยู่เชียงใหม่ไม่ได้ เธอหัวเสียมากขึ้นก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นให้ผมไปอยู่ปืน 11 ก็แล้วกัน (ตั้งอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด) ในสมัยนั้นผู้บังคับบัญชาก็บอกว่าเด็กเกินไปที่จะไปอยู่ไกลเช่นนั้น”

“ในขณะที่คุณแปลกกำลังเลือกและถูกเอ็ดอยู่นี้ เพื่อนๆ ก็เลยถือโอกาสเลือกกันก่อน คุณบัตร์เลือกไปอยู่ปืน 3 ลพบุรี โดยมีคุณค้วน (หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต) ไปอยู่ด้วย ปืน 4 5 6 9 ก็มีคนเลือกไปหมดแล้ว เธอจึงตกลงใจไปอยู่ปืน 7 พิษณุโลก เพราะมีพี่ชายคือ คุณปลิก (พลตรี หลวงประกิตยุทธสมบัติ) ประจำเหล่าทหารราบที่พิษณุโลกแล้ว และมีคุณรวย สุนทรวรรณ (หลวงสมัครฯ) ไปอยู่ปืน 7 ที่พิษณุโลกด้วยอีกคนหนึ่ง”

“เมื่อดิฉันแต่งงานกับคุณแปลกแล้ว สิ่งแรกที่สะดุดตาดิฉันในห้องนอนของคุณแปลกก็คือรูปเขียนด้วยฝีมือคุณบัตร์ พึ่งพระคุณ และจดหมายของบรรดาเพื่อนๆ ที่มากที่สุดคือจดหมายของคุณบัตร์ จดหมายจากคุณบัตร์จะขึ้นต้นด้วย ‘แปลกเพื่อนรัก’ ทั้งสองท่านนี้เรียกชื่อตัวของกันและกันเป็นประจำ เวลาลับหลังบางทีคุณแปลกก็เรียก ‘อ้ายแขก’ เมื่อเกิดขัดใจกัน และคุณบัตร์ก็เรียกคุณแปลก ‘อ้ายบ้า’…”

“นายทหารรุ่น พ.ศ.2458 ได้ถูกสั่งให้เข้าโรงเรียนเหล่าใน พ.ศ.2460 เป็นรุ่นแรก ดังนั้น คุณแปลก คุณบัตร์ และเพื่อนร่วมรุ่นในเหล่าทหารปืนใหญ่ทั้งหมดจึงได้พบและอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้จากกันไป 2 ปี หลายคนที่แต่งงานแล้วและนำภรรยามาอยู่ด้วย คุณบัตร์ยังไม่ได้แต่งงาน”

 

โรงเรียนปืนใหญ่ในสมัยนั้นตั้งอยู่ในกรมทหารปืน 1 รักษาพระองค์ คณะนายทหารที่จะเรียนต้องหาบ้านเช่าอยู่กันใกล้ๆ โรงเรียน คุณแปลกและคุณบัตร์เช่าได้เรือนแถวยาว (ห้องแถว) ปากคลองบางซื่อ ห้องแถวนั้นมีคณะนายทหารเพื่อนร่วมรุ่นอยู่ตลอดเต็มทุกห้อง ห้องแถวนี้ในห้องมีฝากั้นกลางใช้เป็นห้องนอนได้มิดชิด ห้องนั่งเล่น และมีครัวแยกออกไปต่างหากโดยมีทางเดินจากห้องนอนไปครัว ที่ทางเดินนี้ใช้เป็นที่ตากผ้าซักได้โดยใช้เชือกขึงจากครัวมาต่อกันที่ห้องนอน ห้องน้ำคือคลองบางซื่อทั้งคลอง ราคาเช่าห้องละ 1 ตำลึง (ถ้าดิฉันจำไม่ผิด) คุณแปลกและคุณบัตร์เลือกอยู่ห้องติดกัน ส่วนการรับประทานร่วมกับคุณแปลก ดิฉันต้องทำอาหารเผื่อคุณบัตร์ด้วย

ตอนนี้ดิฉันสนิทกับคุณบัตร์และเพื่อนๆ ของคุณแปลกทุกคน รวมทั้งภรรยาทั้งหลายก็กลายเป็นเพื่อนสนิทกันด้วย เวลาสามีไปโรงเรียนแล้วพวกเราเหล่าภรรยาก็ลงเล่นน้ำ

การศึกษาในโรงเรียนเหล่าสมัยนั้นคือเรียนในกรุงเทพฯ 6 เดือนย้ายไปฝึกยิงปืนและฝึกหัดในภูมิประเทศที่โคกกระเทียม 4 เดือน และต้องไปซ้อมรบ 2 เดือน ตอนไปซ้อมรบเราก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯ หรือกลับภูมิลำเนาเดิม กำหนดการศึกษา 2 ปี เมื่อครบ 2 ปีแล้วต่างก็แยกย้ายกลับกรมเดิม เมื่อสำเร็จการศึกษาในโรงเรียนเหล่าและกลับกรมเดิมแล้วคุณบัตร์จึงได้แต่งงานกับคุณเปี่ยม (คุณหญิงเปี่ยมสุข)

 

หลังทั้งสองจบหลักสูตรนายทหารปืนใหญ่เมื่อ พ.ศ.2462 แล้ว แปลกกลับมารับราชการที่หน่วยเดิมคือ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ทำหน้าที่นายทหารคนสนิท ผู้บังคับการกรม จนถึง 1 เมษายน พ.ศ.2464 จึงได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในขณะดำรงยศร้อยโท และสอบได้ที่ 1 จึงได้เดินทางไปศึกษาและดูงานทางทหารยังประเทศฝรั่งเศสใน พ.ศ.2467 ระหว่างนี้ได้ร่วมคบคิดเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศกับนายปรีดี พนมยงค์ และพวก

ครั้นเมื่อจบการศึกษาได้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2470 เลื่อนยศเป็นพันตรีในตำแหน่ง ประจำกรมจเรทหารบก และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เมื่อ พ.ศ.2471 เป็น “หลวงพิบูลสงคราม”

ส่วนบัตร์นั้นเมื่อจบหลักสูตรนายทหารปืนใหญ่ โคกกระเทียมแล้ว ก็ได้รับตำแหน่งนายทหารคนสนิทผู้บังคับการโรงเรียนทหารปืนใหญ่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2466 ย้ายไปเป็นผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 10 และย้ายไปเป็นผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 5 นครราชสีมา เมื่อ พ.ศ.2470 ซึ่งสองเพื่อนรักยังคงไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ

บัตร์ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงอดุลเดชจรัส” เมื่อ พ.ศ.2471