บทความพิเศษ : ประชาชนต้องการเลือกตั้ง ถ้าหากจะ “เลื่อน” ต้อง “ปฏิรูป” ให้ได้

ท่าทีของประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

จะใคร่นำผลสำรวจสำนักโพลต่างๆ อย่างน้อย 6 เรื่อง ได้แก่

1) ซูเปอร์โพลสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,378 ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 9-14 มกราคม 2560

2) ซูเปอร์โพลสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,480 ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 5-16 กันยายน 2560

3) สวนดุสิตโพล สำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,109 ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 12-16 กันยายน 2560

4) กรุงเทพโพลล์ สำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,100 ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 19-21 กันยายน 2560

5) นิด้าโพล สำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,250 ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 1-2 มิถุนายน 2560

และ 6) นิด้าโพล สำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,251 ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 27-29 กันยายน 2560

มาวิเคราะห์นำเสนอและให้ความเห็นในประเด็นสำคัญดังนี้

หญิงผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายหนึ่ง กำลังถือบัตรประจำตัวประชาชนของเธอและตะโกนใส่เจ้าหน้าที่ที่ปิดทางเข้าคูหาเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ( AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT)

คนส่วนใหญ่ต้องการให้เลือกตั้ง

สําหรับคำถามว่าประชาชนต้องการการเลือกตั้งหรือยัง

ผลสำรวจจากนิด้าโพล (27-29 กันยายน 2560) พบว่าร้อยละ 68.2 อยากเลือกตั้ง เพราะอยากให้ประเทศชาติพัฒนา เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น ร้อยละ 24.4 ยังไม่อยากเลือกตั้ง เพราะตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ ในขณะที่ร้อยละ 7.4 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

สอดคล้องกับผลสำรวจของซูเปอร์โพล (5-16 กันยายน 2560) ที่พบว่าประชาชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 55.1 ต้องการเลือกตั้งไม่เกินเดือนกันยายน 2561

ในขณะที่ร้อยละ 44.9 อยากให้เลือกตั้งหลังจากนั้นเป็นต้นไป

ควรกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน

ผลสำรวจของสวนดุสิตโพล (12-16 กันยายน 2560) พบว่าตัวอย่างประชาชนร้อยละ 81.9 เห็นว่าการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นประเด็นข่าวการเมืองที่ให้ความสนใจมากที่สุด (รองลงมาคือข่าวการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และการออกกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ)

โดยร้อยละ 74.6 เห็นว่าการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดอนาคตของบ้านเมือง ควรพิจารณาให้รอบคอบ

ดังนั้น รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรหาทางสรุปและประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจนโดยเร็ว

ไม่อยากเห็นคนหน้าเก่าก่อปัญหาเดิม

นิด้าโพล (1-2 มิถุนายน 2560) สำรวจประชาชนเกี่ยวกับการให้โอกาสกับกลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี กลับเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีก

พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.3 ระบุว่าไม่ควร เพราะนักการเมืองที่ไม่ดี หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่ควรได้รับอำนาจให้กลับเข้ามาทำงานอีก

หากใช้อำนาจในทางที่ไม่ดี ก็จะก่อให้เกิดผลเสียกับประเทศ และความวุ่นวายตามมา ประเทศชาติก็จะไม่ก้าวหน้า

คนที่ไม่ดีอย่างไรก็จะเป็นเช่นนั้นอยู่เสมอ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ควรเอาผิดให้ถึงที่สุด

ควรให้โอกาสนักการเมืองหน้าใหม่ๆ เข้ามาบริหารประเทศบ้างรองลงมา

ร้อยละ 11.1 ระบุว่าควร เพราะทุกคนย่อมได้รับโอกาสในการปรับปรุงตัว และอาจจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งนักการเมืองที่มีอยู่ก็ใช่ว่าจะดีไปหมดเสียทุกคน บางคนก็ยังไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง นักการเมืองบางคนอาจมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมแต่อาจจะไม่มีความผิด และประชาชนแต่ละคนก็ชอบนักการเมืองไม่เหมือนกัน

หากทำงานดี ก็อยากได้กลับเข้ามา บริหารบ้านเมืองอีกครั้ง

ทั้งนี้ ควรให้ระยะเวลานักการเมืองในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วย

ร้อยละ 17.5 ระบุว่าควรดูเป็นรายกรณีไป และร้อยละ 2.1 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

กังวลความขัดแย้งหลังเลือกตั้ง

ซูเปอร์โพล (9-14 มกราคม 2560) สำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.5 ยังกังวลว่าถ้ามีการเลือกตั้งปีนี้ (2560) ความขัดแย้งรุนแรงแบบเดิมๆ จะกลับมา อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นอีกภายหลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นประชาชนมีความเห็นอย่างไร

กรุงเทพโพลล์ (19-21 กันยายน 2560)สำรวจพบว่า ประชาชนระบุทางเลือกอันดับแรก ร้อยละ 40.5 คือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตามกระบวนการ

ร้อยละ 28.5 จัดการปรองดองกันอีกรอบโดยหาคนกลางมาช่วย

ร้อยละ 26.5 ยอมให้ทหารเข้ามาจัดการอีกครั้ง

และร้อยละ 4.5 ระบุไม่แน่ใจ

อาจกล่าวได้ว่าหลังจากนี้ประชาชนอยากเห็นการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย และการไกล่เกลี่ยปรองดองระหว่างคู่กรณีมากกว่าที่จะให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ

อยากเห็น “ปรองดองก่อนเลือกตั้ง”

กรุงเทพโพลล์ (19-21 กันยายน 2560) สำรวจพบว่า ร้อยละ 54.2 อยากเห็นการปรองดองให้สำเร็จก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง

ร้อยละ 17.3 ต้องการให้เลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปรองดอง

ในขณะที่ร้อยละ 28.5 เห็นว่าแบบใดก็ได้ขอให้ได้เลือกตั้ง

ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของซูเปอร์โพลเมื่อวันที่ 9-14 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ที่พบว่าร้อยละ 70.2 ระบุ รัฐบาลและทุกฝ่ายควรช่วยกันทำให้เกิดความปรองดองของคนในชาติก่อนเลือกตั้งตามโรดแม็ป (ขณะที่ร้อยละ 29.8 เห็นว่าไม่ควร)

โดยการถามความปรองดองคืออะไรในความเห็นของประชาชน (กรุงเทพโพลล์) ร้อยละ 58.4 ระบุการจัดการกับความขัดแย้ง/ประชาชนรักใคร่กลมเกลียวไม่แบ่งฝ่ายแบ่งสี ร้อยละ 48.2 ให้เคารพในกฎกติกาทางการเมือง/ไม่ใช้ความรุนแรง/สร้างสถานการณ์

ร้อยละ 41.6 เห็นควรให้อภัยกันในสิ่งที่เคยเกิดความขัดแย้ง ร้อยละ 41.4 เห็นว่าประชาชนควรมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลความจริงที่จะนำไปสู่ความเข้าใจ

ร้อยละ 22.9 เห็นว่าควรเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากความขัดแย้ง

ถ้าเลื่อนจะกระทบความเชื่อมั่น

กรุงเทพโพลล์ (19-21 กันยายน 2560) สำรวจพบว่าร้อยละ 60.0 เห็นว่าหากการจัดการเลือกตั้งเลื่อนออกไปไม่เป็นไปตามโรดแม็ปจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยในระดับ “มากถึงมากที่สุด” (โดยแบ่งเป็นส่งผลค่อนข้างมาก ร้อยละ 40.2 และส่งผลมากที่สุด ร้อยละ 19.8)

ในขณะที่ร้อยละ 40.0 เห็นว่าส่งผล “ค่อนข้างน้อยถึงไม่ส่งผลเลย” (โดยแบ่งเป็นส่งผลค่อนข้างน้อย ร้อยละ 23.1 และไม่ส่งผลเลย ร้อยละ 16.9)

หากจำเป็นต้องเลื่อนยังยอมรับได้

นิด้าโพล (27-29 กันยายน 2560) ยังได้สอบถามว่ายอมรับได้หรือไม่ถ้าหากการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป

พบว่า ร้อยละ 71.3 ระบุว่ายอมรับได้ เพราะอยากให้ทำการปฏิรูปประเทศก่อน

ในขณะที่ร้อยละ 23.7 ยอมรับไม่ได้ เพราะนานเกินไป อยากให้รัฐบาลทำตามที่กำหนดไว้

ในขณะที่ร้อยละ 7.4 ไม่แน่ใจ

มองอนาคตการเมือง “ไม่แตกต่างจากเดิม”

สําหรับการมองอนาคตประชาชนคิดว่าการเมืองไทยจะมีทิศทางอย่างไร

ผลสำรวจจากสวนดุสิตโพล (12-16 กันยายน 2560) พบว่าอันดับแรกร้อยละ 47.9 เห็นว่าเหมือนเดิม เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าใครจะเข้ามาก็เหมือนเดิม ยังไม่มีการเลือกตั้ง ยังมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ฯลฯ

ร้อยละ 31.9 เชื่อว่าจะดีขึ้น เพราะมีการทำงานเป็นระบบ วางแผนระยะยาว ดำเนินงานตามโรดแม็ป กำลังจะมีการเลือกตั้ง มีบทเรียนจากในอดีตที่ผ่านมา ฯลฯ

ในขณะที่ร้อยละ 20.2 เชื่อว่าจะแย่ลง เพราะความขัดแย้งฝังรากลึก เป็นเรื่องของอำนาจผลประโยชน์ นักการเมืองหน้าเดิม ยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ ฯลฯ

สรุปความเห็น

กล่าวได้ว่าขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่มากกว่า 2 ใน 3 ต้องการให้มีการเลือกตั้ง เพราะอยากให้ประเทศพัฒนาแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ส่วนใหญ่ตระหนักว่าการเลื่อนการเลือกตั้งจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีคนบางส่วนยังรู้สึกกังวลต่อความขัดแย้งวุ่นวายที่จะตามมาจากการเลือกตั้ง อยากเห็นการปรองดองกัน ถ้าหากมีความจำเป็นว่าจะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปโดยทำให้ประชาชนยอมรับได้นั้น ต้องอยู่บนเงื่อนไขว่าจะต้องจัดการปฏิรูปประเทศให้เกิดผลสำเร็จ สามารถป้องกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งบนพื้นฐานการเมืองที่เข้มแข็งตามครรลองประชาธิปไตยเท่านั้น ถ้าหากยังไม่มีหลักประกันในแนวทางการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

ทางออกที่เหมาะสมจึงควรจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกำหนดการเดิมที่วางไว้ (ภายในปี 2561) จึงจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชน