เอเชียชาติไหนหนุน-ไม่หนุนจีน ในวิกฤตไต้หวัน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 26/08/2022

แม้วิกฤตไต้หวันเป็นอีกหนึ่งในวิกฤตโลก ที่ใกล้เคียงและสุ่มเสี่ยงเกิดสงครามแบบเดิม (conventional warfare) ที่ใช้กำลังทหารเข้าทำสงครามกัน ที่น่าสนใจควบคู่กันคือ ระดับ ความสนับสนุน/ไม่สนับสนุนจีน แต่สนับสนุนสหรัฐ มีแน่นอน แล้วยังมีเหตุผลรองรับอีกด้วย

จากคำสัมภาษณ์ของโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน Wang Wenbin แก่ผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2022 เขาบอกแก่ผู้สื่อข่าวว่า1

“…มีมากกว่า 170 ประเทศ ที่ออกเสียงสนับสนุนจีนต่อคำถามเรื่องไต้หวันของจีน ในหลากหลายวิธีการ ผู้สนับสนุนจีนรวมกันส่วนใหญ่มากล้นเหลือ กับสหรัฐ ที่ได้รับการสนับสนุนเพียงเล็กน้อย…”

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาการสนับสนุน/ไม่สนับสนุนจีนต่อกรณ์วิกฤตการณ์ไต้หวันของ Shannon Tiezzi, บรรณาธิการ The Diplomat2 เธอแย้งคำพูดของโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ในทำนองว่าเมื่อศึกษาการแสดงท่าทีของประเทศต่างๆ ต่อจีนเรื่องไต้หวัน ปรากฏว่า มีความใกล้เคียงกันมากจนแยกกันไม่ออกระหว่างสนับสนุน/ไม่สนับสนุนจีน

งานเขียนของ Shannon และทีมงานของวารสารThe Diplomat จึงได้ลงแรงใช้ แถลงการณ์ (Statement) ของกระทรวงต่างประเทศของประเทศเอเชียครบทุกประเทศ แล้วเอา คำ ในแถลงการณ์มาวิเคราะห์ที่เราเรียกว่า Content analysis ภาพสนับสนุน/ไม่สนับสนุนจีนจากแถลงการณ์จึงชัดเจนขึ้น

ซึ่งผมอยากสรุปการศึกษาดังกล่าว แล้ววิเคราะห์ถึงเหตุผลบางประการดังนี้

 

หนุนจีนมาก

มี 3 ประเทศที่ประกาศหนุนจีนมาก คือ เมียนมา เกาหลีเหนือ และรัสเซีย ทั้ง 3 ประเทศกล่าวหาอย่างเปิดเผยว่า สหรัฐทำการยั่วยุก่อความตึงเครียดขึ้นมา แถลงการณ์ของเมียนมา รัฐบาลทหารเมียนมากล่าวหา การเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ Nancy Pelosi เป็นต้นเหตุเร่งให้เกิดความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน3

แถลงการณ์ของเกาหลีเหนือ ชี้ว่า การแทรกแซงอย่างไม่เกรงใจของสหรัฐในกิจการภายในประเทศอื่น และมีความตั้งใจยั่วยุทางการเมืองและการทหาร4

ในแถลงการณ์ของรัสเซีย รัสเซียกล่าวว่า ปัญหาต่างๆ และวิกฤตการณ์สร้างโดยสหรัฐ และกล่าวหาสหรัฐละเมิดหลักการขั้นพื้นฐานของรัฐอธิปไตยที่เท่าเทียมกัน

 

ตามแนวทางจีน

มี 10 ประเทศแสดง สถานะใกล้ชิดจีน ในวิกฤตไต้หวัน แต่ไม่ได้โจมตีสหรัฐโดยตรง แถลงการณ์ของประเทศเหล่านี้แสดงออกมาว่า สถานะไต้หวัน ไม่ได้เป็นส่วนแปลกแยกจากจีน และพวกเขากังวลต่อการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนของจีน รวมทั้งยังเรียกร้องการไม่แทรกแซงกิจการภายในจีน

ปากีสถาน ยืนยันอีกครั้งในความยึดมั่นอย่างสำคัญต่อ จีนเดียว สนับสนุนแน่นอนต่ออธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนของจีน ปากีสถานกังวลอย่างมากต่อวิวัฒนาการสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งกระทบอย่างจริงจังต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ปากีสถานเชื่อมั่นอย่างมากในความสัมพันธ์รัฐต่อรัฐ ควรอยู่บนพื้นฐานการเคารพซึ่งกันและกัน ไม่แทรกแซงกิจการภายใน มีข้อสรุปอย่างสันติในประเด็นต่างๆ โดยยึดถือหลักการแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ5

ในจำนวนนี้ อีก 6 ประเทศอยู่ในกลุ่ม เป็นกลาง ประเทศเหล่านี้ออกแถลงการณ์ แสดงความกังวลและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย ในแถลงการณ์อ้างถึงความกังวลต่อเรื่องอธิปไตย และเสนอการเจรจาพูดคุยระหว่างจีนและสหรัฐ

อินโดนีเซีย แสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อการแข่งขันระหว่างอภิมหาอำนาจที่เพิ่มขึ้น และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งการกระทำอันยั่วยุ ที่อาจทำให้สถานการณ์แย่ลง6

 

หนุนสหรัฐ

มี 4 ประเทศที่หนุนสหรัฐ ได้แก่ อินเดีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเวียดนาม แต่ไม่ได้ประณามจีนโดยตรง ทั้ง 4 ประเทศอ้างถึงความต้องการลดความตึงเครียดและทำการยับยั้ง โดยไม่ได้แสดงความกังวลต่อปัญหาอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดน

สิงคโปร์ เน้นความต้องการหลีกเลี่ยงการคาดการณ์ผิดพลาด และอุบัติเหตุที่จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของช่องทางที่นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของภูมิภาค

อินเดีย ออกมาวิจารณ์วิกฤตการณ์ไต้หวันล่าช้าที่สุด คือ 10 วันหลังจากการเดินทางเยือนไต้หวันของแนนซี เปโรซี ในที่สุด อินเดียก็ได้แสดงความเห็นออกมาว่า7

“…เรากระตุ้นการยับยั้ง หลีกเลี่ยงการกระทำเพียงฝ่ายเดียว เพื่อเปลี่ยนสถานภาพเดิม (status quo) ของภูมิภาค อินเดียแสดงความต้องการลดความตึงเครียดลง พยายามรักษาสันติภาพและเสถียรภาพภายในภูมิภาค…”

 

หนุนสหรัฐและวิจารณ์จีน

ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีเพียง 2 ประเทศคือ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น ที่เข้าร่วมกับสหรัฐและไต้หวัน แล้ววิจารณ์จีนโดยตรง เรื่องการแสดงแสนยานุภาพทางทหารใกล้ไต้หวัน

ญี่ปุ่น ในแถลงการณ์ร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มประเทศ G 7 ให้จีนบอกเลิกการข่มขู่ไต้หวัน ออสเตรเลียกล่าวว่า เป็นความกังวลอย่างมากต่อการยิงขีปนาวุธระยะไกลของจีน เข้าไปน่านน้ำรอบชายฝั่งไต้หวัน ออสเตรเลียเรียกว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพ

มีประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการต่อวิกฤตการณ์ไต้หวันคือ เกาหลีใต้ การละเลยแสดงท่าทีต่อวิกฤตการณ์ระดับโลกเช่นนี้ น่าจดจำที่สุด

 

คำแถลงบอกต่อเราบางประการ

แถลงการณ์ของประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกต่อวิกฤตไต้หวัน บ่งบอก สถานะ ของประเทศต่างๆ ที่แสดงออกในวิกฤตไต้หวัน อันนับเป็นแผนที่ที่บอก ตำแหน่งทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างกว้าง

ภูมิภาคเอเชียตะวันออก บ่งบอก สถานะ ของประเทศในขั้วอำนาจระหว่างจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ กับฝ่ายสหรัฐ ญี่ปุ่น ในเวลาใกล้เคียงกัน ญี่ปุ่นโดยกองกำลังป้องกันตัวเองราว 50% ฝึกซ้อมรบร่วมกับสหรัฐ รอบเกาะโอกินาวา เนื่องจากความตึงเครียดช่องแคบไต้หวันเพิ่มมากขึ้น การซ้อมรบร่วมนี้เป็นการซ้อมรบร่วมเพื่อป้องปรามในแนวหน้า เหมือนกับที่ร่วมซ้อมรบในปี 20218

นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังฝึกร่วมทางทหารกับสหรัฐ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ การฝึกร่วมทางทหารครั้งนี้เป็นครั้งแรกของทั้ง 4 ประเทศ9

 

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อดูเนื้อหาส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดในแถลงการณ์ต่อวิกฤตไต้หวันของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวได้ว่า ไม่ต้องการเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลย

ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่ประชุมที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา (2022) ช่วงเดียวกับที่แนนซี เปโรซี เยือนไต้หวันและจีนทำการซ้อมรบครั้งใหญ่ ใน แถลงการณ์อาเซียน แสดงความกังวล และเรียกร้องให้มีการยับยั้งชั่งใจอย่างมากและเสนอให้ฝ่ายต่างๆ ยับยั้งการกระทำอันยั่วยุ อาเซียนพร้อมแสดงบทบาทสร้างสรรค์ในการอำนวยการ เจรจาสันติภาพของทุกฝ่าย รวมทั้งผ่านกลไกที่เป็นประโยชน์ นำโดยอาเซียน เพื่อลดระดับความตึงเครียด เพื่อพิทักษ์สันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค

ท่าทีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากแถลงการณ์ ชี้ให้เห็นว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นภูมิภาคที่ได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์กับไต้หวัน ในขณะที่ยังพอใจผูกพันอย่างเป็นทางการกับจีน ที่สำคัญ ความตึงเครียดสามารถก่อผลต่อสถานภาพเดิมของภูมิรัฐศาสตร์ได้

แถลงการณ์เป็นภาษาการทูต แต่ก็บอกอะไรแก่เราได้พอสมควร แนวโน้มของภูมิภาคน่าเป็นห่วงครับ

 


1Foreign Ministry Spokesperson Wang Wenbin’s Regular Press Conference on August 8, 2022.

2“Which Asian Countries Support China in the Taiwan Strait crisis-and Which Don’t?” The Diplomate 13 August 2022.

3Myanmar’s view regarding the recent visit of U.S. Speaker of the House of Representative to Taiwan ( Chinese-Taipei) (3-8-2022).

4“FM Issues Spox Statement on Pelosi Visit” North Korea Laedership Watch, 3 August 2022.

5“Pakistan reaffirms ‘One-China’ Policy” Ministry of Foreign Affairs, Government of Pakistan, 2 August 2022.

6“Statement by Spoke Person of the Foreign Ministry”, MoFA Republic of Indonesia, 3 August 2022.

7Kallol Bhatta Cherjee, “Avoid Unilateral action to alter Taiwan status quo, say India”, The Hindu, 13 August 2022.

8Rieko Miki, “US and Japan step up joint drills by 50% as Taiwan tension rise” Neikei Asia 13 August 2022.

9Bobby Nuground and Ryo Nemoto, “Japan Joins U.S.-Indonesia military drill for the first time” Neikei Asia 14 August 2022.