8 ปีนายกฯ ประยุทธ์ ทำไมต้องเสียเวลาไปถามศาล/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

8 ปีนายกฯ ประยุทธ์

ทำไมต้องเสียเวลาไปถามศาล

 

มาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีเนื้อหาสาระว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง”

ข้อความที่เขียนแม้ชัดเจน แต่ก็ยังมีปัญหาในการตีความแตกต่างกันว่า การนับการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะเริ่มนับเมื่อใด โดยมีแนวการตีความแตกต่างกันถึง 3 แนวทาง คือ แนวทางแรก นับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรีควบคู่ไปกับตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2557

แนวทางที่สอง เริ่มนับเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ คือ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560

และแนวทางที่สาม เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้ง คือ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2562

แปดปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงดูเหมือนเป็นปริศนารอการไขจากผู้มีอำนาจในการตีความ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีหน้าที่และอำนาจที่ระบุในมาตรา 210(2) ที่ว่า พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ

ยิ่งผู้เป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งไม่อนาทรต่อการคงอยู่ในตำแหน่งว่าจะผิดข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากไม่มีคนร้อง ไม่มีการตัดสิน ก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไปราวกับไม่รู้ว่ามีข้อความดังกล่าวในรัฐธรรมนูญ

 

ยิ่งอยู่นาน ยิ่งผูกขาดอำนาจ

จากเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้อธิบายเหตุผลของการตรามาตรา 158 ไว้ในท้ายของหน้าที่ 275 ของเอกสารดังกล่าวว่า “การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคงเล็งเห็นถึงปัญหาของการเมืองไทยในอดีต ที่หากผู้นำของประเทศคงอยู่ในอำนาจยาวนานเกินไป จะเป็นการสั่งสมอำนาจบารมีสร้างอาณาจักรของตน สร้างความได้เปรียบต่อคู่แข่งทางการเมือง แผ่อำนาจอิทธิพลกลายเป็นการผูกขาดในอำนาจในหมู่พวกพ้อง ยากต่อการตรวจสอบกำกับ

ประวัติศาสตร์ของนายกรัฐมนตรีที่ครองอำนาจยาวนาน เช่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องจากปี พ.ศ.2591จนถึง พ.ศ.2500 รวม 9 ปี 161 วัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรี 4 ปี 302 วัน จอมพลถนอม กิตติขจร ที่เป็นนายกรัฐมนตรี 4 ครั้งรวม 10 ปี 236 วัน

ล้วนแต่ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางการเมืองทั้งสิ้น

ในช่วง 9 ปีเศษของสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีความขัดแย้งในการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองถึง 5 ครั้ง คือ กบฏเสนาธิการ เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 กบฏแบ่งแยกดินแดน เมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2491 กบฏวังหลวง เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 กบฏแมนแฮตตัน เมื่อ 29 มิถุนายน พ.ศ.2549 และกบฏสันติภาพ เมื่อ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2495

แม้ว่าเหตุการณ์ส่วนใหญ่จะเป็นการแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายทหารด้วยกันเอง แต่หลายเหตุการณ์เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนแล้วจบด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏ เช่น กบฏแบ่งแยกดินแดง เป็นการที่รัฐบาลจับกุมฝ่ายพลเรือนที่เป็นนักการเมืองอีสาน 4 นาย คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม ด้วยข้อหาต้องการแยกดินแดนอีสาน และจบด้วยการยิงทิ้งแบบปริศนาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2492 ที่บริเวณบางเขน

เช่นเดียวกับการจับกุมประชาชนจำนวนมากถึงกว่า 50 นาย ที่ส่วนใหญ่เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักประพันธ์ ผู้นำทางความคิดในสังคม ด้วยข้อหายุยุงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในประเทศ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม ที่เรียกกันว่า กบฏสันติภาพ จบลงด้วยการจับกุมคุมขังต้องโทษนับสิบปี

แต่รากของความขัดแย้งยังดำรงลึกในหมู่ปัญญาชน จบลงด้วยการประท้วงเลือกตั้งสกปรกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 และตามด้วยการรัฐประหารของผู้นำทหารคนใหม่ที่ฉกฉวยสถานการณ์ความขัดแย้งให้เป็นประโยชน์แก่ตน

การครองอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ แม้จะเพียง 4 ปีเศษ แต่หลังอสัญกรรมก็ปรากฏหลักฐานทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบจำนวนมาก ต่อเนื่องด้วยการครองอำนาจอย่างต่อเนื่องของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ทำทุกอย่างเพื่อการรักษาอำนาจของกลุ่มตน เช่น การร่างรัฐธรรมนูญที่ยาวนานเป็นสิบปี การตั้งพรรคการเมืองชื่อสหประชาไทย เพื่อลงเลือกตั้งในปี พ.ศ.2511 และเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาลของตนเองในปี พ.ศ.2514 จนกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงในสังคม มีการชุมนุมประท้วง และจบลงด้วยเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่ประชาชนนับแสนร่วมกันขับไล่กลุ่มผู้มีอำนาจออกนอกประเทศเป็นการสำเร็จ

บทเรียนของการครองอำนาจที่ยาวนาน คือ ยิ่งอยู่นาน ยิ่งเสพติดอำนาจ ยิ่งอยู่นานยิ่งสร้างและแสวงหากลไกเพื่อการสืบทอดอำนาจของฝ่ายตน

เช่นเดียวกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใช้วิธีการเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นกลไกสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ให้มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ให้วุฒิสภามีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องมีวุฒิสภาเป็นกลไกสำคัญที่ต้องร่วมให้ความเห็นชอบ

 

ยิ่งอยู่นานยิ่งสร้างวิกฤต

กรณีวิกฤตการณ์การเมืองในอดีต ล้วนพิสูจน์ให้เห็นจากเหตุการณ์ครองอำนาจที่ยาวนานของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 การประท้วงเลือกตั้งสกปรกที่เกิดขึ้นในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ครองอำนาจยาวนานกว่า 9 ปี จบลงด้วยการรัฐประหารของขุนทหารที่ขึ้นมามีอำนาจแทนที่

14 ตุลาคม พ.ศ.2516 การชุมนุมขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ครองอำนาจยาวนานกว่า 10 ปี จบลงด้วยการขับไล่คณะผู้ปกครองออกนอกประเทศ และสังคมไทยกลายเป็นสังคมที่วุ่นวายตามต่อด้วยเหตุการณ์การสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวงที่รู้จักกันว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

การพยายามอยู่ในอำนาจของคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และตั้งพรรคสามัคคีธรรมเพื่อลงเลือกตั้งเป็นการสืบทอดอำนาจในปี พ.ศ.2535 ก็จบลงด้วยวิกฤตการณ์เมืองที่รุนแรงที่เรียกว่าเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535

การอยู่ในตำแหน่งที่ยาวนานของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้วันนี้อาจยังไม่ยาวนานเท่ากรณีในอดีตที่กลายเป็นวิกฤตของบ้านเมือง แต่การยังฝืนอยู่ต่อเกินกว่าระยะเวลาที่เขียนในมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ย่อมกลายเป็นประเด็นของความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง และคำตอบไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะกว่าจะมีคนร้อง กว่าศาลจะตัดสินวินิจฉัยย่อมล่วงเลยวันที่เป็นเหตุวิกฤต หรือแม้คำวินิจฉัยเป็นไปในทางใดทางหนึ่งก็อาจไม่ใช่ข้อยุติของความขัดแย้งในสังคม

อำนาจแม้มาโดยชอบตามกฎหมาย แต่เมื่อประชาชนเห็นว่า กฎหมายนั้นมาโดยไม่ชอบ วิกฤตที่ตามมาอาจยิ่งใหญ่กว่าที่คิด

การอยู่ต่อ หรือไม่อยู่ต่อ จึงไม่ใช่รอคอยศาลตัดสิน แต่อยู่ที่สำนึกของผู้ปกครองบ้านเมืองว่า จะเคารพกติกาของบ้านเมืองที่เขียนไว้ชัด หรือจะตีความเข้าข้างตนเองไปเรื่อย

สุดท้ายฝากถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบางคน ที่วันนั้นพูดอย่าง วันนี้พูดอย่าง ว่า รู้จักละอายบ้างไหมด้วย