บ้านแพ้วโมเดล โรงพยาบาลรัฐในรูปแบบองค์การมหาชน ประสิทธิภาพและคุณภาพสูง

บ้านแพ้วโมเดล

โรงพยาบาลรัฐในรูปแบบองค์การมหาชน

ประสิทธิภาพและคุณภาพสูง

โรงพยาบาลบ้านแพ้ว(องค์การมหาชน) เป็นสถานพยาบาล ประเภท แห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านแพ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เดิมมีสถานะเป็นโรงพยาบาลอำเภอขนาด 30 เตียง แต่ภายหลังการออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 ในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลบ้านแพ้วได้ถูกขยับขยาย มีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 300 เตียง และกำลังขยายเพิ่มขึ้นเป็น 500 เตียง

ขณะที่จำนวนบุคลากรของโรงพยาบาลก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากเดิมมีเพียง 150 คน แต่ปัจจุบันมีถึง 1,200 คน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือขีดความสามารถในการให้บริการของโรงพยาบาลที่ถูกยกระดับขึ้นอย่างมาก จากที่เคยให้บริการได้เพียงระดับปฐมภูมิ(Primary care) คือดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น แต่ปัจจุบันสามารถให้บริการได้ในระดับตติยภูมิ(Tertiary Care) มีแพทย์เฉพาะทาง เช่น โรคหัวใจ โรคตา

ด้วยโครงสร้างการบริการของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ที่มีคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ทำให้สายการบังคับบัญชาสั้นลงมาก และมีความคล่องตัวในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีตัวแทนทั้งจากฝั่งกระทรวงสาธารณสุขและฝั่งภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ ทำให้มีทั้งความยึดโยงกับกระทรวงสาธารณสุข ขณะเดียวกันก็ยึดโยงกับผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และภายใต้การบริหารที่มีวิสัยทัศน์ของคณะกรรมการโรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินงบประมาณจากภาครัฐเลย นับตั้งแต่ออกจากระบบเมื่อปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา

นายแพทย์พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ฉายภาพ ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ ก่อนที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วจะออกจากระบบว่า ระเบียบภาครัฐเดิมไม่เอื้อต่อการจัดหาบริการทางการแพทย์ที่จะช่วยคนไข้เหลือคนไข้ ตัวอย่างเช่นคนไข้อุบัติเหตุเลือดออกในสมอง สามารถทำได้ 2 วิธี คือ 1.ส่งตัวไปต่อคิวโรงพยาบาลใหญ่ในกรุงเทพฯ หรือ 2.เชิญแพทย์ผ่าตัดมาทำการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งมีห้องผ่าตัดพร้อมอยู่แล้ว แต่เดิมการจ้างแพทย์เข้ามาช่วยในโรงพยาบาลมีระเบียบติดขัดเต็มไปหมด ทำให้เกิดความล่าช้า ซึ่งมีผลต่อโอกาสรอดและฟื้นตัวของคนไข้โดยตรง

แต่เมื่อปรับเปลี่ยนมาเป็นองค์การมหาชน เราสามารถลดข้อติดขัดต่าง ๆ ได้ทั้งหมด ทำให้สามารถเชิญแพทย์จากหลายที่เข้ามาให้บริการที่รวดเร็วได้ หรือในเรื่องของการออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกนอกเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งระเบียบภาครัฐระบุว่าต้องขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ภายใต้รูปแบบคณะกรรมการโรงพยาบาล สามารถอนุมัติเรื่องเหล่านี้ได้ หรือแม้กระทั่งการบริหารบุคลากร เนื่องจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วไม่ใช่ข้าราชการ แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีสัญญาแบบปีต่อปี ทำให้เราสามารถพัฒนาบุคลากร ใครที่ไม่ใช่ตัวจริงก็จะถูกปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกสัญญาได้ ต่างกับระเบียบการเลิกจ้างข้าราชการซึ่งทำได้ยากมาก

ขณะที่ในเรื่องของงบประมาณ เนื่องจากโรงพยาบาลบ้านแพ้วไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐเลยตั้งแต่ออกนอกระบบ ทั้งค่าจ้างบุคลากร งบลงทุน หรือการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ มีเพียงปี พ.ศ. 2557 ครั้งเดียวเท่านั้น ที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐในการสร้างอาคาร 10 ชั้น มูลค่า 325 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นศูนย์อุบัติเหตุ ศูนย์เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ศูนย์หัวใจ และศูนย์มะเร็ง แต่ได้รับจริงเพียง 70% หรือ 200 กว่าล้านบาทเท่านั้น อีก 30% โรงพยาบาลบ้านแพ้วต้องจัดหาเอง ซึ่งงบประมาณที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วนำมาใช้ในการดำเนินงาน ส่วนแรกมาจากโครงการที่ทำร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นงบประมาณรายหัวจากจำนวนประชากร 87,000 คนในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาล ส่วนที่ 2 มาจากการเข้าไปดูแลผู้ป่วยของกรมบัญชีกลาง คือกลุ่มข้าราชการ ซึ่งได้รับค่าดูแลกลับมา และส่วนที่ 3 มาจากการรับบริจาค ซึ่งเป็นหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วสามารถดำเนินงานต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันโรงพยาบาลบ้านแพ้วจะยังไม่เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง แต่ในอนาคตก็อาจประสบวิกฤตขึ้นได้เช่นกัน เพราะโรงพยาบาลบ้านแพ้วมีการก้าวกระโดดอย่างมากจากตอนที่เพิ่งออกจากระบบ ที่มีคนไข้ผู้ป่วยนอก(โอพีดี) เพียง 600 ถึง 700 คนต่อวัน แต่ปัจจุบันมีคนไข้มาตรวจรับโอพีดีถึง 3,000 คนต่อวัน ทำให้โรงพยาบาลต้องจัดหาบริการและสถานที่รองรับคนที่มีจำนวนมากขึ้น รวมถึงโรคซับซ้อนที่ใช้เวลาตรวจนานขึ้น ซึ่งหมายถึงการต้องลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าอาคารสถานที่ที่ต้องลงทุนเฉลี่ยต่อครั้ง 500 ถึง 600 ล้านบาท แต่การลงทุนลักษณะนี้ ถ้ามีการสนับสนุนเป็นครั้งคราว ปัญหาขาดสภาพคล่องก็ผ่านพ้นไปได้

ขณะที่เรื่องของคุณภาพการให้บริการ นายแพทย์พรเทพ ยืนยันว่าโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นตัวอย่างการให้บริการของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูง เช่น การทำคลอดที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วทำโดยสูตินารีแพทย์ ต่างจากโรงพยาบาลรัฐทั่วไปที่ทำคลอดโดยพยาบาลทำคลอด ซึ่งแม้จะเป็นมาตรฐานที่ประเทศไทยใช้อยู่ แต่สะท้อนว่าโรงพยาบาลบ้านแพ้วสามารถให้บริการได้ในระดับดีกว่ามาตรฐาน

หรือในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจแทนที่จะพบเพียงแพทย์อายุรกรรมทั่วไป ก็สามารถพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจได้โดยตรง ซึ่งการให้บริการระดับนี้ยอมรับว่ามีต้นทุนสูงมากตามไปด้วย แต่ยืนยันว่าจะไม่ลดการให้บริการเหล่านี้ลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่จะต้องหารายได้เสริมเพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดีเช่นเดิม เช่น การออกหน่วยบริการสุขภาพกลุ่มข้าราชการ การเปิดสาขาโรงพยาบาลบางสาขาเพื่อให้บริการกลุ่มข้าราชการ ทำให้โรงพยาบาลมีรายได้กลับมาเลี้ยงดูตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วมีมาตรฐานที่ดีโดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ โดยเฉลี่ยแล้วโรงพยาบาลบ้านแพ้วมีรายได้ปีละ 1,500 ถึง 1,600 ล้านบาท และมีรายจ่ายในระดับใกล้เคียงกัน อาจมีส่วนต่างประมาณปีละ 10 ถึง 20 ล้านบาท แต่เงินดังกล่าวก็ถูกนำมาสร้างอาคารเพื่อรองรับการบริการที่เพิ่มขึ้น

นายแพทย์พรเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลบ้านแพ้วกำลังก่อสร้างอาคารใหม่ 2 อาคาร อาคารแรกเป็นอาคาร 10 ชั้น ที่วางแผนจะใช้เป็นศูนย์อุบัติเหตุ ศูนย์เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ศูนย์หัวใจ ศูนย์มะเร็ง ซึ่งไม่เพียงรองรับผู้ป่วยในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลบ้านแพ้วเท่านั้น แต่ตั้งเป้ารองรับผู้ป่วยในเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้าไปรับรักษาที่กรุงเทพฯ คาดว่าในช่วงต้นปี 2561 จะสามารถเริ่มเปิดให้บริการได้

ส่วนอาคารที่ 2 ที่กำลังก่อสร้าง คืออาคารโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว ซึ่งการรักษาด้านจักษุเป็นจุดเด่นของโรงพยาบาลบ้านแพ้วอยู่แล้ว ในปัจจุบันก็เป็นศุนย์รับส่งต่อด้านจักษุในเขตสุขภาพที่ 5 และมีผู้เชี่ยวชาญครบทุกสาขา ทำให้มีผู้ป่วยมารับ

บริการเป็นจำนวนมาก จนพื้นที่เดิมเกิดความแออัด อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 1 ปีเศษจึงจะแล้วเสร็จ เนื่องจากงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมดมาจากเงินที่ได้รับการบริจาค ปัจจุบันยังขาดอีกราว 120 ล้านบาท ซึ่งแม้จะอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จให้ได้

นายแพทย์พรเทพกล่าวว่า จากการที่อยู่ภายใต้โครงการบริหารโรงพยาบาลในรูปแบบขององค์การมหาชนมากว่า 15 ปี ทำให้โดยส่วนตัวมีความเชื่อมั่นกับการที่โรงพยาบาลจะออกนอกระบบ เนื่องจากได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ผู้รับบริการได้รับในทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการ ระบบการบริหารแบบองค์การมหาชนทำให้ผู้ให้บริการอยากให้บริการ โดยส่วนตัวแล้ว อยากเห็นโรงพยาบาลรัฐเปลี่ยนเป็นองค์การมหาชน ซึ่งไม่เพียงช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐ แต่หมายถึงประสิทธิภาพการให้บริการที่เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลที่สามารถเป็นองค์การมหาชนได้ สิ่งที่จะทำให้โรงพยาบาลสามารถบริหารในรูปแบบองค์การมหาชนได้ คือจะต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีกรรมการบอร์ดที่มีวิสัยทัศน์สูง รวมถึงมีภาคประชาชนที่เข้มแข็งด้วย โรงพยาบาลไหนที่ภาคประชาชนไม่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลโรงพยาบาล หากออกมาเป็นองค์การมหาชนก็อาจจะอยู่ไม่รอด ขณะเดียวกันก็อยากให้เห็นภาพองค์การมหาชนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเหมือนองค์การมหาชนของกระทรวงอื่น คือมีเงินสนับสนุนจากภาครัฐบ้าง ไม่ใช่โดดเดี่ยวจนเกินไป ความโชคดีของโรงพยาบาลบ้านแพ้วคือออกจากระบบเป็นแห่งแรก แต่ที่สุดแล้ว เชื่อว่าการให้บริการสาธารณะจำเป็นต้องมีการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐด้วย