ประสบการณ์ 2 ครั้งในจาการ์ตา ประสบการณ์เจรจา “ประมง” และ โซล่าร์ฟาร์ม :

ไปจาการ์ตาครั้งที่สองเมื่อปี 2012 คราวนั้นเพื่อนนักเรียนสวนกุหลาบฯ คนเดิมที่มีเรืออวนลากเดี่ยว 2 ลำจับปลาอยู่ในน่านน้ำอินโดนีเซียตะวันออกภายใต้ไลเซ่นส์อินโดนีเซีย ชักธงอินโดนีเซีย เกิดปัญหาเรือลำหนึ่งถูกกักไว้ที่เกาะอัมบน (Ambon) ไม่ให้ออกจับปลานานสามเดือนแล้ว ด้วยสาเหตุไม่จ่ายค่า “ไลเซ่นส์ฟี (License Fee)” หรือที่เรียกกันในหมู่เรือว่า “ค่าตั๋ว” ให้เจ้าของไลเซ่นส์ที่จาการ์ตา

ทั้งที่เจ้าของเรือทางเมืองไทยจ่ายเงินค่าไลเซ่นส์ฟีให้ตรงเวลาทุกงวด แต่เอเย่นต์ผู้ประสานงานในเมืองไทยที่ขณะนั้นมีตำแหน่งใหญ่โตในสมาคมประมงนอกน่านน้ำ กลับ “เบี้ยว” ไม่โอนเงินส่วนแบ่งให้จาการ์ตา

ผลก็คือ เรือโดนกักไม่ให้ออกจับปลาหนึ่งลำ จอดคาท่าเรืออัมบนนานสามเดือนแล้ว

เขาขอร้องผมให้ไป “เคลียร์” กับเจ้าของไลเซ่นส์ที่จาการ์ตาว่าทางเมืองไทยได้จ่ายเงินให้เอเย่นต์ครบตรงเวลาทุกงวด

เป็นงานที่หนักหนาสาหัสมาก เพราะไม่มีเอกสารอะไรประกอบเป็นหลักฐานเลย ใบโอนเงินสักใบก็ไม่ได้ให้ถือติดมือไป มีแต่ “วาทศิลป์” ของผมเท่านั้นที่จะกล่อมให้เขาเชื่อว่าได้โอนเงินไปให้จริง

เจ้าของเรือมาส่งที่สุวรรณภูมิ เอ่ยวาจาประโยคเดียวว่า “ทำให้สำเร็จนะเพื่อน”

บินด้วย TG433 เที่ยวแปดโมงเช้าอันสับสนวุ่นวายเหมือนครั้งก่อน

เลขานุการของเพื่อนส่งอีเมลชื่อผมและเที่ยวบินให้จาการ์ตารับรู้แล้ว เขาจึงส่ง “มือขวา” มาชูป้ายชื่อรับผมจากสนามบินซูการ์โน-ฮัตตา วิ่งบนทางด่วนเข้าใจกลางจาการ์ตา

แวะกินมื้อกลางวันกันอย่างเร่งด่วนที่ร้านอาหารเล็กๆ ธรรมดา จำได้ว่าผมสั่งข้าวหมกไก่สไตล์อินโด แต่กินได้ไม่ค่อยมากเท่าไร แค่เกือบหมดจาน เพราะได้แต่ครุ่นคิดหนักใจเรื่องที่จะเจรจาให้เขาเชื่ออย่างไร

มือขวาคนนี้ชื่อ ตรี Tri HM เป็นเพื่อน Classmate ในคณะประมงแห่งมหาวิทยาลัยจาการ์ตากับผู้บริหารไลเซ่นส์ชื่อ Andi Yusuf เขาเป็นลูกชายของอดีตอธิบดีกรมประมงคนก่อนและเป็นเครือญาติกับรองประธานาธิบดีอินโดนีเซียในสมัยนั้น

การทำธุรกิจในอินโดนีเซียในยุคนั้น (และในยุคนี้) ล้วนต้องอาศัยเครือญาติและเส้นสายคอนเน็กชั่นในระดับสูงทั้งนั้น

Andi Yusuf ในวัยสามสิบกว่า เข้ามาบริหารกิจการไลเซ่นส์ประมงของครอบครัว สืบทอดจากพี่สาวและพี่เขยที่บริหารงานล้มเหลว รายได้หดหายไปจากการเบี้ยวจ่ายค่าไลเซ่นส์ฟีของกองเรือประมงไทย

ขณะนั้นบริษัทนี้มีเรือประมงไทยเข้าชักธงอยู่ในบริษัทเขา 100 กว่าลำ ลองคำนวณรายได้คร่าวๆ ค่าไลเซ่นส์ฟีที่ต้องจ่ายให้จาการ์ตาเดือนละ 50,000 บาท/ลำ จะเป็นเงินมหาศาลขนาดไหน

เมื่อพี่สาวและพี่เขยบริหารงานไม่เข้าเป้า ประธานบริษัทผู้เป็นพ่อจึง “ยึดอำนาจ” บริหารกลับคืน แล้วส่งต่อให้น้องชายคนรอง Andi Yusuf และทีมงานเข้ามาบริหารกว่าสองปีแล้ว

วิธีการเข้าจับปลาในอินโดนีเซียในยุคนั้น เรือประมงไทยจะต้องโอนสัญชาติเป็นเรืออินโดนีเซีย ใช้ชื่อเรืออินโดนีเซีย ชักธงอินโดนีเซีย จ่ายค่าไลเซ่นส์ฟีรายเดือน ที่หมู่เรือเรียกกันว่า “ค่าตั๋ว” เมื่อเรือลากปลาครบเที่ยวประมาณ 2-3 เดือนจะต้องเข้าเทียบท่าเรืออัมบน ถ่ายปลาใส่เรือแม่ ให้ศุลกากรอินโดนีเซียตีราคาปลาเพื่อเสียภาษี แล้วเรือแม่ที่บรรทุกเสบียงมาจากเมืองไทยจะถ่ายเสบียงให้เรือลูก แล้วรับปลาจากเรือลูกวิ่งกลับมาเทียบท่าขายปลาที่ท่าเรือมหาชัย

แต่ในบ่อยครั้ง กองเรือประมงไทยจะลักไก่ แอบถ่ายปลาใส่เรือแม่กลางทะเล หลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้อินโดนีเซีย

บ่ายวันนั้นเมื่อเข้าห้องประชุมที่บริษัท ผมต้องบรรยายสรุปถึงเพื่อนที่เป็นเจ้าของเรือทั้งสองลำว่า เป็นนักธุรกิจใหญ่ มีกิจการกับภาครัฐหลากหลายอย่าง วงเงินหลายพันล้านบาท

เงินค่าไลเซ่นส์ฟีที่กล่าวหาว่าไม่ได้ชำระนั้นเป็นเงินน้อยนิดในส่วนของกิจการอันมโหฬาร ขอให้เชื่อว่านักธุรกิจใหญ่ระดับนี้จะไม่ทำให้เสียชื่อเสียงแน่นอน

การเข้าร่วมทำไลเซ่นส์กับอินโดนีเซียนั้น พวกเจ้าของที่มีเรือหลายลำจะติดต่อตรงกับเจ้าของตั๋วในอินโดนีเซีย ส่วนเถ้าแก่ที่มีเรือแค่ลำสองลำจะติดต่อผ่านพวกที่เป็นแกนนำมีเรือหลายลำ การจ่ายค่าตั๋วก็จ่ายผ่านช่องทางนี้ รวมทั้งการขนถ่ายปลาผ่านเรือแม่ของกลุ่ม

ดังนั้น เงินจะถึงมือเจ้าของตั๋วที่อินโดช้าหรือเร็วหรือไม่ถึงเลยก็ขึ้นอยู่กับคนกลางในเมืองไทย

Andi Yusuf นั่งฟังด้วยท่าทีตรึกตรอง ไม่ออกความเห็นใดๆ

ปิดการประชุม เขาสั่งให้ Tri พาผมมาเช็กอินที่โรงแรม นัดเวลามารับไปดินเนอร์

เป็นอาหารในสไตล์พื้นเมืองอินโดที่ผมอยากจะกินให้อร่อย แต่ก็ยังไม่อาจทำได้ เพราะหวาดหวั่นใจในผลการประชุมที่จะสรุปวันรุ่งขึ้น

คืนแรกที่จาการ์ตาจึงนอนหลับไม่ค่อยสนิทนัก

เช้าเช็กเอาต์จากโรงแรม Tri มารับไปที่ออฟฟิศ มี Alfred B หรือป๋าอัลเฟรดที่เป็นที่รู้จักในหมู่เรือไทยที่อัมบนมาร่วมประชุมด้วย คนนี้เป็นผู้กว้างขวางในอัมบน ดูแลกองเรือของ Andi ที่นี่ พร้อมทำหน้าที่ที่ปรึกษาและร่วมลงทุนในบริษัท และยังเป็นเจ้าของสัมปทานจำหน่ายน้ำมันให้เรือประมงในอัมบนแต่เพียงผู้เดียว

แต่เรือประมงส่วนใหญ่จะลงน้ำมันจากเรือน้ำมันกลางทะเล

ทุกวันนี้ป๋าอัลเฟรดเป็นเจ้าของคานเรือและโรงแรมที่อัมบน ถือว่าเป็นนักธุรกิจระดับแนวหน้าของอัมบน

การประชุมเช้านั้นทั้งสามเสียงมีมติเชื่อว่าเราได้จ่ายค่าไลเซ่นส์ฟีจริง แต่เอเย่นต์ที่เมืองไทย “อม” เงินค่าตั๋วไป

Tri พาไปกินข้าวหมกไก่อินโดมื้อกลางวัน เป็นมื้อที่อร่อยที่สุดในชีวิต

Andi Yusuf ออกเอกสารระบุว่า เรือ Somjai 1 ได้ชำระค่าไลเซ่นส์ฟีเรียบร้อยครบถ้วนแล้ว ผมขอให้ Andi เปลี่ยนกระดาษเอกสารเป็นตราหัวกระดาษของบริษัท ถือกลับมาให้เพื่อนเจ้าของเรือ

 

ผมภูมิใจที่ทำงานชิ้นนี้สำเร็จ

ทุกวันนี้ผมยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสามสหายชาวอินโด Andi Yusuf, Tri HM และ Alfred B

ไม่นานหลังจากนั้น นายหน้าคนไทยบินไปตรวจสอบสภาพเรือ Somjai 1 และ Somjai 2 ที่ท่าเรืออัมบน

แล้วเรือทั้งสองลำวิ่งกลับเมืองไทย เทียบท่าเรือระนอง

ทั้งสองลำเป็นเรือเหล็ก ขายเปลี่ยนมือออกไปบังกลาเทศ

เพื่อนผมรับเงิน 75 ล้านบาทหนึ่งปีก่อนหน้ากองเรือประมงไทยทั้งหมดถูกกักอยู่ในอินโดนีเซีย จนล่มสลาย เมื่อ โจโก วิโดโด (Joko Widodo) ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

ลูกเรือไทย (รวมทั้งพม่า, กัมพูชาและลาว) ประมาณ 1,670 คน ต้องขึ้นเครื่องบินกลับเมืองไทย

ทุกคนแจ้งข้อหาเถ้าแก่เรือว่า “เบี้ยว” จ่ายเงินไม่ครบ และข้อหาฉกรรจ์ “ค้ามนุษย์”

เถ้าแก่เรือมหาชัยหลายคนติดตะรางข้อหาค้ามนุษย์

เพื่อนผมรอดจากการติดตะรางข้อหา “ค้ามนุษย์” อย่างหวุดหวิด

ผมบินไปจาการ์ตา (CGK) ครั้งที่สามเมื่อช่วงครึ่งหลังของปี 2016 ด้วยเที่ยวบินทีจี 433 ตอนแปดโมงเช้าเหมือนเดิม แต่คราวนี้ดีหน่อยที่มีการติดตั้งเครื่องออกบอร์ดดิ้งพาสอัตโนมัติแล้ว ทุกอย่างจึงง่ายขึ้น

บังเอิญผมเป็นชายสูงวัยที่พอช่วยตัวเองเรื่องเทคโนโลยีการออกบอร์ดิ้งพาสได้ วิธีการง่ายๆ คือเอาพาสปอร์ตหน้าที่มีรูปเราเสียบเข้าไปในช่อง คอมพิวเตอร์จะอ่านข้อมูลชื่อเราที่ตรงกับบุ๊กกิ้งที่ทำรายการไว้ จากนั้นทำตามขั้นตอนที่ขึ้นบนหน้าจอ จนถึงการเลือกที่นั่ง บันทึกไมล์สะสม แล้วออกบอร์ดิ้งพาสปริ๊นต์ออกมา ทุกอย่างทำได้ที่ปลายนิ้วเรา

 

จากนั้นเอากระเป๋าไปที่เคาน์เตอร์ช่องโหลดกระเป๋า ติดแท็กแล้วรับหางแท็กไว้ตรวจสอบตอนรับกระเป๋า ขั้นตอนนี้สำคัญมากต้องตรวจสอบให้ดีว่า แท็กกระเป๋ามีชื่อเมืองปลายทางตรงกับที่เราจะไปหรือเปล่า

ง่ายและใช้เวลาไม่นาน ถ้าต่อคิวไปรอออกบอร์ดดิ้งพาสคิวจะยาวใช้เวลานานกว่านี้มาก

ผมไปจาการ์ตาครั้งนี้ในฐานะที่ปรึกษาของบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่ง พาบริษัทนี้ไปเปิดตลาดด้านพลังงานก้าวหน้า โดยเฉพาะเรื่องโซล่าร์รูฟท็อปและโซล่าร์ฟาร์มที่อินโดนีเซีย

เรามากัน 4 คนรวมทั้งตัวผมด้วย เจฟฟรี่ อินทรา (Jeffri Indra) เพื่อนคนจีนอินโดนีเซียนมารับที่สนามบินเหมือนเคย พาขึ้นทางด่วนเข้าเมือง เขาติดประชุมกับกรมประมงจึงให้ลูกน้องพาไปกินมื้อกลางวันตอนบ่ายสองโมง

เป็นภัตตาคารอินโดมีอาหารหลากหลาย สะเต๊ะไก่อร่อยมาก ผมสั่งข้าวกับแกงปลา แล้วยังมีแกงไก่และแกงเนื้อ บางคนสั่งข้าวหมกไก่สไตล์อินโด

 

เหนื่อยนักจากการเดินทางเพราะต้องรีบตื่นแต่เช้ามืดมาขึ้นเครื่อง จึงเข้าเช็กอินที่โรงแรมซันเลค (Sun Lake Hotel) เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาวอยู่ริมทะเลสาบ Sun Lake

ของดประชุมตอนบ่าย นอนพักผ่อนเอาแรงกันก่อนดีกว่า

ตอนเย็น Jeffri Indra มารับไปดินเนอร์ที่ภัตตาคารจีนชื่อ Famy Kia

เป็ดที่ร้านนี้อร่อยมาก แถมมีหมูหันให้กินด้วย

 

ประทับใจหมูหันในประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สิบโมงเช้าวันรุ่งขึ้น มีประชุมกับทีมของ Andi Yusuf อดีตเจ้าของไลเซ่นส์เรือประมงที่เคยเล่าถึง มีการปรึกษาถึงการร่วมลงทุนโครงการ Solar Roof Housing ซึ่งรัฐบาลของรัฐต่างๆ ในอินโดนีเซียกำลังจัดให้มีขึ้น Andi Yusuf เล็งไปที่โครงการ Housing Product Development ในเกาะสุราเวสีตะวันตกจำนวนหนึ่งล้านหลัง ทุกหลังจะติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป รวมทั้งไฟถนนในโครงการก็จะมาจากแผงโซล่าร์ทั้งหมด

กล่าวโดยรวมเรื่อง Solar Farm และ Solar Roof Top รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากแผง Solar เพิ่งจะเริ่มต้นในอินโดนีเซีย ยังอยู่ข้างหลังเมืองไทยอีกมาก บ้านเรือน อาคารใหญ่ในจาการ์ตายังไม่มีที่ไหนติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป ทุกอย่างเพิ่งจะเริ่มต้น จึงเย้ายวนใจให้น่ามาลงทุนยิ่งนัก

ลูกชาย Jeffri Indra มารับไปกินอาหารกลางวันในร้านชื่อ Ruman Makan Garuda เป็นร้านสไตล์พื้นเมืองคลาสสิค เสิร์ฟอาหารหลากหลายชนิดใส่จานมาเรียงเต็มโต๊ะ มากกว่ายี่สิบสามสิบอย่าง อยากกินจานไหนก็เลือกหยิบกิน จานที่ยังไม่ชอบไม่แตะต้องก็ยกออกไป เอาอาหารจานใหม่ ชนิดใหม่เข้ามาเสิร์ฟแทน

 

ถือเป็นภัตตาคารที่เสิร์ฟอาหารมากมายหลากหลายที่สุดที่เคยพบเจอมาในชีวิต ที่ถูกใจผมมากที่สุดคือกุ้งทะเลต้มตัวใหญ่ ทั้งสดทั้งหวาน จนต้องฝันถึง

กลับมาประชุมกับ Jeffri Indra และทีมงานที่ออฟฟิศ มุ่งประเด็นไปที่นโยบายประมงของรัฐมนตรีประมงคนใหม่ นางซูซี่ ปุดเจียสตูดิ (Susi Pudjiastuti) ที่จะจัดให้มียูนิตประมงทุกเกาะ ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์ประกอบการทำประมงนอกจากเรือ แห อวนแล้ว ยังต้องใช้โรงน้ำแข็งและห้องเย็นเป็นองค์ประกอบสำคัญ

 

ซึ่งทั้งห้องเย็นและโรงน้ำแข็งจะต้องใช้กระแสไฟฟ้าในการดำเนินงาน ในกรณีนี้ทางเรามุ่งเน้นจะนำเสนอโซล่าร์ฟาร์มและโซล่าร์รูฟท็อปมาเป็นตัวผลิตกระแสไฟฟ้า

โครงการยูนิตประมงตามเกาะชุดแรกรัฐบาลอินโดนีเซียเซ็นสัญญากับรัฐบาลรัสเซีย นำเข้าเทคโนโลยีจากรัสเซียมาติดตั้ง แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ประมงที่ยูนิตจะผลิตได้

ผมรู้ต่อมาว่า ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มนำเข้าเรือปั่นไฟจากปากีสถานมาเป็นแม่ข่ายผลิตกระแสไฟฟ้าให้ยูนิตประมงตามเกาะต่างๆ

Jeffri Indra จะศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเสนอแผงโซล่าร์ฟาร์มและโซล่าร์รูฟท็อปให้กับโครงการยูนิตประมงของอินโดนีเซีย โดยจะมุ่งเป้าไปที่โครงการนำร่องยูนิตประมงที่เกาะนาทูน่า บริเวณทะเลจีนใต้

รวมถึงการนำเสนอติดตั้งโซล่าร์ฟาร์มให้กับโรงงาน Shrimp Processing ที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะสุมาตรา

การปักหมุดลงทุนโซล่าร์ฟาร์มและโซล่าร์รูฟท็อปจากเมืองไทยในอินโดนีเซียกำลังเริ่มต้น โดยพวกเรา กลุ่มไพโอเนียร์จากเมืองไทย หวังว่าจะก้าวหน้าด้วยดี เพราะอินโดนีเซียอยู่ในมุมที่รับแสงอาทิตย์มุมเดียวกับเมืองไทย เพียงแต่เมืองไทยอยู่ที่ 10 องศาเหนือเส้นศูนย์สูตร แต่อินโดนีเซียอยู่ที่ 10 องศาใต้เส้นศูนย์สูตร

ปิดรายการจาการ์ตารอบนี้ด้วยการทัวร์ชมเมือง Jeffri Indra พาไปชม Ancol Dreamland ที่เป็นสวนสนุกและสวนน้ำริมทะเลในตอนเย็นที่ฝนปรอยเม็ด สถานที่กว้างขวางใหญ่โตมาก ทอดตัวยาวเหยียดริมทะเล มีกระเช้าพาชมวิวโดยรอบ แบ่งพื้นที่ท่องเที่ยวออกเป็นโซนกิจกรรมประเภทต่างๆ มีอะควอเรียมและศูนย์การค้ากับโรงแรมอยู่ในบริเวณนี้ จัดสร้างคล้ายกับสวนสนุกยูนิเวอร์แซลเชียวละ

แหล่งท่องเที่ยวต่อไปที่เขาพาไปเยือนคือ สุสานทหารดัตช์ ที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนอื่นต้องรู้ว่าดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์คือชาติแรกที่บุกมาล่าอาณานิคมทางตะวันออก อินโดนีเซียอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ อีสต์ อินดีส์ นานถึง 301 ปี

ดังนั้น เมื่อญี่ปุ่นบุกยึดจาการ์ตาจึงมีทหารดัตช์จำนวนหนึ่งที่สู้รบพลีชีพ ร่างของพวกเขาถูกฝังไว้ในสุสานทหารดัตช์ คล้ายกับสุสานทหารพันธมิตรที่กาญจนบุรีในเมืองไทย

ปิดท้ายรายการวันนี้ด้วยดินเนอร์มื้อประทับใจในภัตตาคารขนาดใหญ่ชื่อ Jandok Laguna ที่มีลูกค้าล้นหลาม ขอบอกว่าอาหารทะเลในจาการ์ตานั้นสดและอร่อยมาก เศรษฐกิจที่อินโดนีเซียต้องดีมากๆ เพราะลูกค้าแน่นภัตตาคาร เต็มทุกโต๊ะ

วันส่งท้ายรุ่งขึ้น สรุปงานกับ Andi Yusuf วางแผนว่าจะเดินหน้ากันอย่างไร

แล้ว Jeffri Indra มารับจากโรงแรมไปส่งสนามบิน ขึ้น TG เที่ยวบ่ายสองโมงกลับเมืองไทย

เก็บความทรงจำจากจาการ์ตา เมืองที่มีสีเขียวของต้นไม้และอุดมด้วยลำคลองมากกว่ากรุงเทพฯ

แต่รถติดหฤโหดยิ่งกว่ากรุงเทพฯ จนมีอาชีพให้เด็กหนุ่มจาการ์ตาคอยยืนปิดรถทางตรงให้รถเลี้ยวขวายูเทิร์น แล้วรับเศษเงินจากรถแต่ละคัน

จาการ์ตาเป็นเมืองหลวงแห่งเดียวในโลกที่มีคนทำอาชีพโบกรถกลางถนน