พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดคู่มือ กางตำรา คุมเข้มภารกิจเดือนรอมฎอน

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กอ.รมน.ภ.4 สน. ได้มีการบันทึกสถิติการก่อเหตุของผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ย้อนกลับไป 7 เดือนที่แล้ว พบว่ามีการก่อเหตุการณ์รวม 256 เหตุ

เกี่ยวข้องกับเหตุความมั่นคง 80 เหตุ ก่อกวน 5 เหตุ และอาชญากรรมทั่วไป 109 เหตุ

รอการตรวจสอบ 62 เหตุ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวม 318 ราย

เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะเหตุความมั่นคงกับห้วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าเหตุการณ์ลดลง คิดเป็นร้อยละ 63

และในห้วง 7 เดือนที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดเหตุในเขตเมืองเศรษฐกิจ

หากส่องกล้องมองไปยังการก่อเหตุรุนแรงในช่วงเมษายนที่ผ่านมา ก่อนจะเข้าสู่ช่วงรอมฎอนในเดือนพฤษภาคม อันเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องชาวมุสลิม

จะพบว่าเกิดเหตุการณ์สร้างสถานการณ์ในห้วง 6-7 เมษายน แบ่งเป็นพื้นที่จังหวัดยะลา 5 อำเภอ ปัตตานี 7 อำเภอ นราธิวาส 11 อำเภอ และจังหวัดสงขลา 3 อำเภอ เป็นการลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง 135 ลูก ทำงาน 91 ลูก

ส่งผลเสียหายต่อเสาส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 33 ต้น และเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 54 ต้น

นับเป็นความเสียหายล้วนๆ มีผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชนจำนวนมากในหลายชุมชน

นอกจากนั้น ยังเกิดการก่อเหตุสร้างสถานการณ์พร้อมกันหลายพื้นที่ หลังผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา

กลุ่มผู้ก่อการร้ายวางแผนสร้างความเสียหายหลายจุดช่วงเวลาไล่เลี่ยกันของวันที่ 19 เมษายน ด้วยการเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการ/จุดตรวจ บ้านพักข้าราชการและราษฎร จำนวน 23 จุด

แต่มีผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 2 คนในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์ภาพรวมที่เกิดขึ้นว่า กลุ่มคนร้ายวางแผนระดมคนจากภายนอกเข้ามาก่อเหตุ สร้างความยุ่งยากในการติดตาม หรือตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ สิ่งบ่งชี้พบว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีการทำงานเป็นทีม ใช้เครือข่ายทั้งภายในกลุ่มที่รับผิดชอบพื้นที่ และสมาชิกจากต่างพื้นที่แต่ไม่สามารถเข้ามาก่อเหตุในเขตเมืองได้ เนื่องจากมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดของฝ่ายเจ้าหน้าที่

“ห้วงเวลาทั้ง 2 เหตุการณ์สามารถวิเคราะห์ ความมุ่งหมายของการก่อเหตุ เพื่อต้องการแสดงถึงศักยภาพ การมีตัวตน ความมีเสรีในการปฏิบัติ และเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับสมาชิกใหม่ รวมทั้งเป็นการลดทอนความเชื่อมั่นอำนาจรัฐ จากการติดตามจับกุมผู้ก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ ทางแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN) จึงใช้วิธีก่อเหตุพร้อมกันหลายจุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีปัจจัยเร่งการก่อเหตุอื่นๆ เช่น การเดินทางเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของผู้ตัดสินชี้ขาดสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ การเร่งรัดพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และการส่งเสริมอาชีพ ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย วิธีการก่อเหตุ คือ แกนนำในต่างประเทศจะสั่งการไปยังผู้ปฏิบัติในระดับเขตทหารในพื้นที่ให้เป็นผู้กำหนดวิธีการปฏิบัติและการเลือกเป้าหมาย แยกปฏิบัติเป็นชุดปฏิบัติการ ส่วนการส่งกำลังบำรุง การเลือกเป้าหมายที่ไม่มีการต่อต้าน และอยู่ในพื้นที่ห่างไกลใช้การติดต่อสื่อสารทางลับในกลุ่ม”

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคนหนึ่งสรุปถึงสถานการณ์และแนวโน้ม

หลังผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมาไม่นาน เข้าสู่ห้วงเดือนพฤษภาคม กลุ่มผู้ก่อการร้ายยังคงปฏิบัติการการกระทำอันป่าเถื่อน ไร้ความปรานีด้วยการวางแผนมาอย่างดีในการใช้รถกระบะที่ขโมยจากชาวบ้านและฆ่าเจ้าของรถทิ้ง ก่อนนำรถไปประกอบระเบิด แล้วขับเข้าสู่เป้าหมายจอดที่หน้าทางเข้าตัวห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาปัตตานี เมื่อประมาณบ่ายสองโมงครี่งของวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา

อานุภาพของแรงระเบิดสร้างความเสียหายให้กับอาคารบางส่วนของห้าง และมีผู้คนบาดเจ็บ 63 ราย โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต บาดแผลอาจจะมีมากน้อยต่างกัน แต่สภาพจิตใจนั้นช่างแสนหดหู่อย่างมากไม่คิดว่า การเลือกเป้าหมายเช่นนี้ พวกผู้ก่อการร้ายต้องการอะไร นอกจากเห็นความเสียหายและความทุกข์ทรมานของผู้ได้รับผลกระทบอยู่เบื้องหน้า

ต่อมาเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองร่วมมือกันในการจับตัวผู้ต้องหาจากพยานหลักฐานต่างๆ ของคนร้ายทิ้งร่องรอยไว้

พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ให้สัมภาษณ์ว่า “ในเบื้องต้นสามารถออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องกับคดีไปแล้ว 9 คน เป็นการดำเนินการด้วยความรวดเร็ว คือทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด และภาคเอกชน เราทำงานด้วยกันตลอด ทำงานมานานแล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ เรามีการบูรณาการกันมาตลอด จับได้หลังเกิดเหตุไม่ถึง 4-5 ชั่วโมง ก่อนจะขยายผลต่อไปเป็นจุด รู้แม้กระทั่งคนร้ายว่าใช้โทรศัพท์ไปหาภรรยา แล้วก็เล่าไปถึงระเบิดบิ๊กซีว่าไปประกอบระเบิดที่ไหน ใครประกอบบ้าง มีชื่ออะไรบ้าง”

แม่ทัพภาคที่ 4 ยังวิเคราะห์ให้เห็นภาพชัดของกลุ่มผู้ก่อการร้ายชัดยิ่งขึ้นด้วยว่า การกระทำความรุนแรงครั้งนี้ไม่ใช่การต่อรองบนเวทีการเจรจาสันติสุขอะไร แต่มีเป้าหมายอยู่แล้วว่าจะทำให้เกิดความไม่สงบ โดยเฉพาะจากนโยบายของทางรัฐ บุคคลของกลุ่มก่อการร้ายเริ่มหันเข้ามารายงานตัวกับกองทัพภาคที่ 4 มากขึ้น เข้าร่วมพัฒนาชาติไทยกันเยอะมากขึ้น

ปัจจัยต่างๆ นี้ ทำให้เกิดภาวะระส่ำระสาย ทำให้ไม่ไว้ใจกันเอง จึงเริ่มแสดงศักยภาพให้หลากหลาย เพื่อให้รู้ว่ายังมีสภาพในองค์กร และเหตุร้ายที่เกิดขึ้น

สําหรับเดือนพฤษภาคมยังเป็นเดือนรอมฎอนของพี่น้องชาวมุสลิมทั่วโลก เป็นความศรัทธา ความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการประกอบศาสนกิจ จะเริ่มถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอน เป็นเวลา 29-30 วัน

แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ยังมีกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มักก่อเหตุรุนแรงขึ้น ตั้งแต่ก่อนถึงวันถือศีลอดไปจนถึงวันหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน

ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา สถิติการก่อเหตุความรุนแรงในรอบ 3 ปี ระหว่าง ปี 2557-2559 แบ่งเป็นห้วงก่อนเดือนรอมฎอน 15 วัน ระหว่างเดือนรอมฎอน ประมาณ 30 วัน และหลังเดือนรอมฎอน 15 วัน

พบว่า เดือนรอมฎอน ปี 2557 มีการก่อเหตุ 84 เหตุการณ์

ปี 2558 มีการก่อเหตุ 79 เหตุการณ์

และปี 2559 มีการก่อเหตุ 59 เหตุการณ์

เมื่อดูในรายละเอียด จากสถิติ 3 ปีย้อนหลังดังกล่าว ห้วงก่อนและหลังเดือนรอมฎอน 15 วัน มีสถิติเหตุความรุนแรงใกล้เคียงกัน และเป็นระดับความรุนแรงที่ไม่แตกต่างจากห้วงเวลาอื่นในรอบปี

สำหรับในระหว่างเดือนรอมฎอนเห็นได้ชัดเจนว่ามีความพยายามในการก่อเหตุความรุนแรงในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับในห้วงเวลาอื่นของปี

โดยเฉพาะในห้วง 10 วันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดเดือนรอมฎอน มักพบความถี่ในการก่อเหตุความรุนแรงมากกว่าห้วงเวลาอื่นของเดือน

กล่าวสำหรับเดือนรอฎอนปี 2560 ความพยายามของกลุ่มก่อการร้ายคงไม่แตกต่างจากปีไหนๆ ที่ผ่านมา ยังเชื่อว่าต้องการสร้างความสูญเสียและความขลาดกลัวในกลุ่มประชาชน และการแสดงความเป็นตัวตนของกลุ่มที่ยังมีศักยภาพอยู่ในพื้นที่

ไม่ว่าจะเป็นเวทีไหนหรือการเรียกร้องจะกี่ครั้งก็ตาม เพื่อให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายหยุดทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชน คงยากที่จะมีความเข้าใจและจะหยุดยั้งได้ ดีที่สุดนอกเหนือจากเจ้าหน้าที่รัฐและภาคประชาชนร่วมกันปกป้องและต่อสู้แล้ว การช่วยเหลือดูแลตัวเองให้เกิดความพร้อมมากที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ

พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงการใช้มาตรการดูแลความปลอดภัยในช่วงเดือนรอมฎอน ว่า เรามีภาคกำลังประชาชนมาเพิ่มอีกเยอะ ประชาชนต่างตื่นตัวและร่วมปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ แล้วตอนนี้รู้สึกว่าจะสบายใจขึ้นเยอะ เพราะประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เรามาฝึก มาสอน มาอบรมให้

“วันนี้เราจะสอนประชาชนว่าถ้าเกิดเหตุ จะมีสิ่งบอกเหตุอย่างไร จะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ไหน และจะปฏิบัติตนในพื้นที่อย่างไร รัศมีระเบิดเป็นอย่างไร จะมีการหลบอย่างไรเพื่อจะได้ไปสอนคนในครอบครัว หรือขณะไปเดินห้าง ถ้าเจอเหตุการณ์นี้จะไปอยู่ตรงไหน”

พลโทปิยวัฒน์ ยังให้รายละเอียดด้วยว่า จะมีการจัดทำคู่มือการสังเกต การแจ้งเบาะแส การป้องกันตัวให้อยู่ในที่ปลอดภัยเมื่อรู้ว่ามีภัยมาถึงตัว โดยจะทำคล้ายคู่มือการป้องกันเหตุภัยธรรมชาติจากสึนามิเหมือนของญี่ปุ่นที่เป็นคู่มือสากลเช่นเดียวกัน ได้คุยกับทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้ว จะใช้เป็นตำราเรียนสำหรับพื้นที่ละเอียดอ่อนอย่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา อาจจะมีการเรียนการสอนในห้องเรียน สักวันละครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง

เป็นความพยายามอีกหนทางหนึ่งที่แม่ทัพภาคที่ 4 หวังว่าจะเกิดการบูรณายอมรับและร่วมมือกัน ทำให้เห็นว่า แม้จะยังคงก่อเหตุมากเพียงไร แต่สุดท้ายจะไม่มีวันได้อะไรจากการกระทำเช่นนี้ จะไม่มีทางได้ที่ยืนในสังคม กลับยิ่งทำให้การรวมพลังกันต่อสู้ครั้งนี้มีความเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้นต่อไป…