รายงานพิเศษ : ชี้ “ปรีดี พนมยงค์” ถูกโจมตีมาตลอด ทั้งที่มอบให้ทุกคนมีโอกาสสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์

วันที่ 11 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีงานอภิปรายเนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ ในหัวข้อ “แนวคิดปรีดี พนมยงค์ กับบทเรียนและพัฒนาการประชาธิปไตย”

โดยวิทยากร รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยพะเยา
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และ นายปฤณ เทพนรินทร์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 


“ปรีดี” ถูกทำให้เป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์
การเปลี่ยนแปลงไม่เกิดเหตุ ติดอยู่ในโจทย์เดิม

รศ.ดร.ไชยันต์กล่าวว่า เมื่อพูดถึง นายปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ปี 2475 ถูกโจมตีหลายอย่าง หากเราศึกษาปรีดีก็จะเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมไทย โดยประเด็นที่โจมตีนายปรีดีล้วนบ่งบอกเรื่องราวในแต่ละช่วง เช่น มักใหญ่ใฝ่สูง เป็นลูกชาวนาจากพระนครศรีอยุธยา เรียนเก่ง กลับมาเป็นใหญ่เป็นโต ซึ่งข้อโต้แย้งคือหลังอภิวัฒน์สยาม คณะราษฎรได้เชิญพระยามโนปกรณ์นิติธาดาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นายปรีดีได้เป็นตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นเพียงช่วงสั้นๆ

หรือ ชิงสุกก่อนห่าม ซึ่งได้ยินบ่อย แต่ที่จริงแล้วความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองมีมาก่อน 2475 อย่างเหตุการณ์ ร.ศ.103 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ได้ทำหนังสือขอให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือกบฏ ร.ศ.130 ในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ไม่สำเร็จ ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีมาก่อน ไม่ได้ชิงสุกก่อนห่าม

หรือกล่าวหาเป็น คอมมิวนิสต์ จากเค้าโครงร่างเศรษฐกิจ ถูกโจมตีว่าเป็นบอลเชวิก แต่อยากเรียนว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีที่ประกาศใช้กัน แม้ไม่ได้ปฏิบัติก็ตาม ก็เป็นโมเดลของโซเวียต

“การทำลายพลังประชาธิปไตยยังเหมือนเดิม ยกตัวอย่าง รัฐประหาร 2490 ได้มีการอภิปราย 8 วัน 8 คืน จนทำให้รัฐบาลสูญเสียความน่าเชื่อถือ ปูทางไปสู่การรัฐประหาร และเกิดขึ้นอีกครั้งในการรัฐประหารปี 2557 จะต่างตรงที่ไม่ใช่แค่การเมืองในสภา แต่ยังใช้การเมืองมวลชนกรุยทางให้เกิดการรัฐประหาร และจะยังคงใช้ต่อไปหากโจทย์การสร้างการเมืองประชาธิปไตยยังไม่สมบูรณ์”

รศ.ดร.ไชยันต์กล่าว

ไทยเจอทั้งรัฐบาลเข้มแข็ง-อ่อนแอ
ประชาธิปไตยของปรีดีคือทุกคนมี “โอกาส” เท่ากัน

ด้าน ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า หากใครรู้สึกท้อถอยกับการเมืองไทย ขอให้ดูกรณีของฝรั่งเศส เพราะนับตั้งแต่การปฏิวัติในปี 1789 ล้มลุกคลุกคลานนานถึง 150 ปีและฆ่ากันไปมา หรือเยอรมนี เกิดสาธารณรัฐไวมาร์หลังสงครารมโลกครั้งที่ 1

การปฏิวัติสยาม 2475 จึงเป็นการทำให้การเมืองไทยมีความทันสมัย ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อผู้คนต้องการความเป็นธรรมมากขึ้น สิ่งที่คนเรียกร้องคือการมีส่วนร่วม ทุกคนเสียภาษีกันมากขึ้น การอยากเรียกร้องว่าเงินที่จ่ายไป รัฐบาลเอาไปใช้อย่างไร

“งานศึกษาหลังๆ ของนายปรีดีจะพูดถึงถึงเรื่องประชาธิปไตยสมบูรณ์ ความหมายคือ ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่เรื่องการเมือง แต่ทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่นายปรีดีพยายามทำอย่างร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแต่ก็ไม่สำเร็จพร้อมถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์”

“แต่แนวคิดทางเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์กับแบบของนายปรีดีอยู่ที่หลักความเสมอภาคแบบประชาธิปไตย ไม่เหมือนกับแบบคอมมิวนิสต์ นั้นคือ “โอกาส” ที่ต้องเสมอกัน คนทำมากได้มาก เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดีคือการสร้างโอกาสที่เสมอกัน โดยมุ่งเน้นปัจจัยการผลิต นั้นคือ ที่ดิน ทุกคนมีโอกาสที่เสมอกัน แต่น่าเสียดายที่ก้าวหน้าเกินไปสำหรับในเวลานั้นเพราะคนไม่เข้าใจ”

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวอีกว่า ส่วนประชาธิปไตยในทางวัฒนธรรมนั้นคือการสร้างเป็นพลเมือง ประชาธิปไตยจะสำเร็จได้ ประชาชนต้องเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบร่วมกันผ่านการศึกษา

“นายปรีดีมีสิ่งที่ผมชื่นชอบมากคือ ยอมรับว่าตัวเองผิดพลาด ดังประโยคอมตะที่ได้ยินกันคือ ในยามที่ข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์ แต่เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ข้าพเจ้ากลับไม่มีอำนาจ”

ทุกฝ่ายต้องประนีประนอม
เพื่อรับความท้าทายที่กำลังจะตามมา

ขณะที่นายนายปฤณกล่าวว่า สภาพปัจจุบันกำลังเจอภัยคุกคามจากการกระโดดเข้าสู่ทุนนิยมรอบใหม่อย่างลงลึกหากยังไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ยากที่จะแบ่งหรือกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

จะยากยิ่งกว่าที่ไปบีบคอใครให้เสียสละเพื่อสังเวยความเติบโตเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในภัยคุกคามยังมีโอกาสอยู่ แนวคิดของปรีดีอันไหนที่เหมาะกับสังคมแบบนี้ นายปรีดีพยายามทำสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์และการประนีประนอมระหว่างระบบเก่าและใหม่ โดยเงื่อนไขของความสำเร็จของ 2 เรื่องนี้จะเป็นได้เมื่อมีชาตินิยมของประชาชน ความพยายามทำให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นคือการปฏิรูปเศรษฐกิจพร้อมกับปฏิรูปการเมือง

ในแง่จุดยืนของนายปรีดีคือการส่งเสริมให้ระบบใหม่ได้ลงหลักปักฐานแต่ตระหนักและเข้าใจพลังระบบเก่า ทั้งนี้ สิ่งที่เชื่อมโยง 2 อย่างนี้คือความสามารถในการยึดคืนความเป็นชาติ การสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ก็ต้องพึ่งพลังที่ใหญ่อย่างชาตินิยมเข้ามาช่วย

“มรดกเรื่องประชาธิปไตยสมบูรณ์เหมาะสำหรับคนที่ฝันถึงเรื่องการปฏิรูป ทั้งยังเป็นข้อเตือนใจว่า หากแยกการเมืองออกจากเศรษฐกิจน่าจะหวังยาก ฉะนั้น การจับมือกับคนที่ฝันเดียวกันเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าหากต้องการให้เงื่อนไข 2 เรื่องนี้เริ่มขึ้นได้ก็ต้องเริ่มจากคุยกับคนที่คิดคล้ายกันและค่อยขยายออกไป และหากศึกษาเรื่องการประนีประนอมในครั้งที่ผ่านมาจะรู้ว่านี่เป็นโอกาสที่จะสร้างดุลยภาพใหม่ขึ้นมาได้ การขยายแนวร่วมนั้นเป็นไปได้ ภายใต้โจทย์ร่วมว่าทำอย่างไรที่ให้มีพื้นที่ต่อรองกับทุนคณาธิปไตยจะกุมอำนาจรัฐเมื่อถึงเวลากระโดดเข้าสู่ทุนนิยมล่าสุด ซึ่งจำเป็นต้องร่วมมืออย่างมาก แต่ต้องตระหนักถึง 3 เรื่องคือ ความเสี่ยง ความท้าทาย และความเหลื่อมล้ำ”

นายปฤณกล่าว