วิษณุ เครืองาม : ลงเรือแป๊ะ (4) เอาตัวรอดในโลกดิจิตัลของ นายกรัฐมนตรี(มือใหม่)

โซเชียลมีเดีย

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่เคยผ่านการทดลองงานด้านบริหารราชการแผ่นดินในระดับรัฐมนตรีมาก่อน พ.ศ.2557 แต่ก้าวพรวดเดียวเป็นนายกรัฐมนตรีเลย

แม้กระนั้นก็ต้องถือว่าเรียนรู้การบริหารราชการแผ่นดินได้เร็ว

ความจริง “การเป็นให้เป็น” นั้นทำได้ยาก ไม่งั้นคงต้องงกๆ เงิ่นๆ เคอะๆ เขินๆ มะงุมมะงาหราอยู่พักใหญ่กว่าจะตั้งตัวติด ดีไม่ดีลูกน้องเห็นนายเรรวนก็จะพลอยรวนเรตาม

ปัจจัยเกื้อหนุนการเรียนรู้งานไวอยู่ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์เคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก เคยผ่านการเป็นแม่ทัพนายกองมาแล้ว

ทหารสมัยนี้ไม่ได้เอาแต่ถือปืนหรือเดินจากยอดดอยลงมาสู่ดิน แต่ผ่านการช่วยพัฒนาชนบท การช่วยรัฐบาลแก้ปัญหามวลชน ปัญหาราคาผลผลิตการเกษตร ปัญหาภัยธรรมชาติ

เคยลงไปทำงานพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เคยโดยเสด็จพระราชดำเนิน ไปเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารซึ่งต้องรับฟังปัญหาจากชาวบ้านระดับรากหญ้าและช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านเหล่านั้น

แม้แต่ปัญหาการเมืองการปกครอง ปัญหากฎบัตรกฎหมาย บางครั้งรัฐบาลก็ต้องปรึกษาด้วย บางครั้งต้องศึกษาหาความรู้เตรียมคำตอบเอาไว้ล่วงหน้า

เหล่านี้เป็นการเตรียมความพร้อมหรือศักยภาพได้ทั้งสิ้น แม้อาจไม่ลงลึกขนาดรู้แจ้งแทงตลอดก็ตาม

 

อีกประการหนึ่ง ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น อย่าลืมว่าได้เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.อยู่ราว 3 เดือนซึ่งเท่ากับเป็นหัวหน้ารัฐบาลนั่นเอง การบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเวลา 3 เดือนเป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. ช่วงนั้นต้องแสดงฝีไม้ลายมือและใช้อำนาจแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคม ปัญหาราคาข้าว ยาง ปัญหายาเสพติด เด็กแว้น รถตู้ผิดกฎหมาย วิทยุชุมชนผิดกฎหมาย ขายสลากเกินราคา ปัญหาการทุจริตในวงราชการ ปัญหาอุปสรรคในการลงทุนและการพัฒนาประเทศ ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ตลอดจนสารพัดปัญหาที่โถมทับเข้ามา

จะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาสุกดิบทดลองและเรียนรู้การบริหารราชการแผ่นดินก็ว่าได้

คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของผู้นำไม่ว่าในวงการใดๆ ก็ตาม คือการเป็นผู้รู้ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจและการพิจารณาสั่งการ เช่น ผู้นำด้านธุรกิจต้องรอบรู้ข่าวสารทางธุรกิจ เศรษฐกิจ การเงินการคลัง ตลาดหุ้น และอาจเลยไปถึงข่าวสารการบ้านการเมืองที่จะทำให้ยอดขายเปลี่ยนแปลง ราคาหุ้นถูกกระทบกระเทือน

แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้า นักพูดในที่สาธารณะและตลกคาเฟ่ ตลกทางโทรทัศน์ก็ต้องรอบรู้ความเคลื่อนไหวรอบตัวแม้จะไม่ได้ตัดสินใจอะไร แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อการนำมายกตัวอย่างหรือประยุกต์ให้เข้ากับคำสอนและเรื่องราวที่ต้องการสื่อ

ดูได้จากหลวงพ่อพระพยอม พระมหาสมปอง พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี เป็นต้น

ยิ่งนักการเมืองนักปกครองแล้ว การรู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ ยิ่งจำเป็นเพื่อว่า

 

1.ใช้เป็นเครื่องประกอบการตัดสินใจ

2. ใช้โต้ตอบหรือให้สัมภาษณ์เวลาถูกสื่อถาม สมัยก่อนราวยุค พ.ศ.2500-2530 ถ้าสื่อถามอะไร แล้วนักการเมืองตอบว่า “พ้มยังไม่ได้รับรายงาน” ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา ชาวบ้านเองก็เห็นใจ โถๆ จะให้ท่านรอบรู้หูทิพย์ไปหมดได้อย่างไร

หลังยุค พ.ศ.2530 อาจวางมาดให้ขรึมเข้าไว้แล้วพยักหน้าหงึกๆ ทำนองว่ารู้แล้ว (ความจริงไม่รู้) และพอตอบเลี่ยงได้บ้างว่า “ได้รับรายงานเบื้องต้นแล้ว แต่กำลังรอยืนยันรายละเอียด ตอนนี้ขอยังไม่ตอบเกรงตอบไปจะสับสน” แค่นี้ก็เอาอยู่

แต่พอถึงยุค พ.ศ.2540 เป็นต้นมา ทุกคนใช้สื่อออนไลน์กันหมดแล้ว ถ้ายังงึมงำๆ เห็นจะตกยุคและเสียคนได้

3. ใช้ประกอบคำบรรยาย อธิบาย แสดงปาฐกถา ซึ่งจำเป็นต้องยกตัวอย่างให้ทันสมัย เข้ากับเหตุการณ์ อุปมาอุปไมยให้แยบคาย จะไปยกชาดกหรือพงศาวดารทุกทีคงไม่ได้ สมัยก่อน อาจารย์คึกฤทธิ์เคยตอบนักข่าวโดยใช้คำว่า “ขับรถสองแถวส่งแต๋วเรียนราม” ในยุคที่เพลงนี้ดังเมื่อท่านต้องการอธิบายว่ายุคนี้ต้องไม่เกี่ยงงาน มีอะไรทำได้ให้ทำ

นายกฯ ประยุทธ์ท่านมีรายการโทรทัศน์ศาสตร์พระราชาทุกคืนวันศุกร์ ก็ต้องอิงข่าวบางเรื่องเอามาเป็นมุขบ้างเป็นธรรมดา เช่น ยุคบุพเพสันนิวาสดัง ท่านก็ต้องพลอยออเจ้าไปกับเขาด้วย ยุคเมีย 2018 ดัง ท่านก็ต้องเข้าเรื่องบอสวศินบ้าง เมียน้อยเมียหลวงบ้าง

ที่ฟรานซิส เบคอน นักปราชญ์ชาวอังกฤษบอกว่า ความรู้ทำให้มีอำนาจ หรือที่เขาว่าความรู้ทำให้องอาจ วัดกันตอนผู้นำรู้ไม่รู้นี่แหละ

 

พล.อ.ประยุทธ์น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่บริหารงานด้วยข้อมูลข่าวสารทั้งในและนอกระบบมากที่สุดคนหนึ่ง

อาจเพราะยุคสมัยมาถึงเข้าพอดี อันดับแรกในฐานะเป็นนายทหารเก่าและหัวหน้า คสช. ท่านจึงมีสายงานการข่าวมาก มีเครือข่ายโยงใยเกือบทั่วประเทศ ข่าวเหล่านี้มาจากทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน เช่น ฝ่ายข่าวของทหาร สันติบาล สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและ คสช. ตลอดจนผู้คนจากเกือบทุกกระทรวง

ที่จริงนายกรัฐมนตรีทุกคนมีสายงานการข่าวเช่นนี้ แต่ออกจะเป็นทางการเกินไปและไม่ลึก บางทีหน่วยข่าวมักเกรงว่าจะผ่านตาหลายคนจึงขยักๆ เอาไว้บ้าง

อันดับต่อมาคือ พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนขยันอ่านหนังสือ แทบจะเรียกว่าอ่านทุกเล่มที่ผ่านเข้ามาแม้แต่ถุงกล้วยแขกเพราะเป็นคนอ่านหนังสือเร็ว จับประเด็นได้ไว

ล่าสุดเคยแนะนำให้ ครม.อ่านหนังสือเรื่องแอนิมอล ฟาร์ม

ท่านเคยเล่าว่าที่บ้านต้องต่อเติมห้องไว้เก็บหนังสือและเอกสาร เล่มไหนติดอกติดใจก็ออกสตางค์เองซื้อมาแจก ครม.หรือกลุ่มเป้าหมาย

แจกไปได้อาทิตย์สองอาทิตย์เจอหน้าผู้รับแจกก็จะเลียบเคียงถามเหมือนจะทดสอบว่าอ่านแล้วหรือยัง ขนาดนิยายที่ผมแต่งท่านก็ยังอ่าน อาจจะไม่ตลอดเล่ม แต่ก็จับประเด็นได้ว่าเค้าโครงเรื่องเป็นอย่างไร ใครเป็นพระเอก นางเอก และยังแนะให้ไปสร้างละคร บอกให้เสร็จสรรพว่าควรให้ดาราคนไหนเล่นเป็นตัวอะไร แสดงว่าอ่านมาจริง

รายการโทรทัศน์ท่านก็ดู ไม่ว่าข่าว สารคดี ละคร โฆษณา หรือภาพยนตร์ บางครั้งก็มาเล่าให้คณะรัฐมนตรีฟังเป็นตุเป็นตะ

และชี้ประเด็นทำนองว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่างไร

 

หนังสือพิมพ์ท่านก็อ่าน อ่านหลายฉบับและหลายคอลัมน์เสียด้วย อ่านเองไม่ใช่มีคนตัดข่าวเสนอ อ่านแล้วก็เก็บเอาไปคิดต่อ บางคอลัมน์ท่านถ่ายเอกสารแจกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผมเองเคยได้รับเอกสารทำนองนี้หลายครั้ง มีลายมือขยุกขยิกข้างข้อเขียนบางวรรค บางทีก็วงกลม กาดอกจันทน์ ใส่เครื่องหมายคำถาม ใส่เครื่องหมายอัศเจรีย์ ทำนองตกใจ แปลกใจ

หนังสือร้องทุกข์หรือร้องเรียนจากชาวบ้านที่ส่งผ่านศูนย์ดำรงธรรมหรือส่งตรงถึง ท่านก็อ่าน ถ้าวกวนโยกโย้ก็อ่านผ่านๆ ไปพอให้รู้ แต่ถ้ามีสาระ ชี้เบาะแส ชี้แนะอย่างสร้างสรรค์ ท่านจะถ่ายรูปส่งไลน์ไปถึงผู้เกี่ยวข้องเสมอ ซึ่งแน่นอนว่าผู้นั้นต้องไลน์ตอบในชั่วโมงต่อมา

และในอีกไม่นานคณะรัฐมนตรีก็จะรับรู้การตัดสินใจหรือข้อสั่งการจากไลน์หมู่ ไม่ต้องรอถึงวันอังคาร

ที่สำคัญจนถือว่าเป็นจุดเด่นแต่บางคนเคยแอบวิจารณ์ว่าอาจจะเป็นจุดอ่อนได้เพราะทำให้เครียดหรือหงุดหงิดได้ง่ายๆ คือท่านเปิดเฟซบุ๊ก เว็บไซต์และเล่นอินสตาแกรม

แรกๆ ก็ไม่มีเวลาเล่น แต่ภายหลังตอนปลายปี 2561 มีผู้แนะนำว่าน่าจะเป็นช่องทางพบปะผู้คนอีกสังคมเช่นคนรุ่นใหม่ได้ เพียงแต่ต้องทำใจว่าใครชอบใครชังช่างเถิด ใครเชิดใครชูช่างเขา จึงหันมาเล่นบ้างมีการโต้ตอบกับผู้คนวันละหลายรายจนกลายเป็น “ตู่ดิจิตอล”

ส่วนที่เล่นประจำอยู่ก่อนแล้วคือเล่นไลน์ ทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากและเร็ว

เนื่องจากคณะรัฐมนตรี ผู้ร่วมงานและเครือข่ายทุกคนสามารถเข้าถึงด้วยการส่งไลน์ถึงได้ตลอดเวลาจะว่าท่านบริหารราชการแผ่นดินแบบ 4.0 คือสั่งราชการ สอบถามข้อราชการ และติดตามงาน ติดตามข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักรหรือทั่วโลกทางโซเชียลมีเดียหรือสื่อออนไลน์ก็ว่าได้ จึงทราบข่าวต่างๆ ได้ไวโดยไม่ต้องรอฝ่ายข่าวกรอง สันติบาล ศรภ. หรือรายงานข้อราชการใดๆ แต่ไม่ใช่คนเสพติดชนิดขาดไม่ได้หรือนั่งปุ๊บเปิดโซเชียลมีเดียปั๊บ เพียงแต่ดูผ่านๆ ถ้าไม่มีสาระก็ผ่านไป

ถ้าน่าสนใจก็เช็กข่าวโดยละเอียดอีกที

 

พล.อ.ประยุทธ์สั่งการในคณะรัฐมนตรีหลายครั้งให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยจัดทำแอพพลิเคชั่นไลน์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ความรู้หรือแจ้งข่าวกิจกรรมสำคัญๆ ที่ประชาชนควรรู้ หรือแก้ข่าวความคลาดเคลื่อนหรือข่าวเท็จ ข่าวลวง ข่าวดรามา ข่าวบิดเบือน โดยถือว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการให้ประชาชนรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการโดยไม่ต้องให้เขามาร้องขอก่อน

ข้อมูลใดที่จำเป็นต่อการครองชีพ การทำมาหากิน การตัดสินใจ และการเตรียมรับภยันตรายอันใกล้จะถึง หน่วยงานของรัฐต้องเร่งให้ประชาชนรู้ทางไลน์หรือคิวอาร์ โค้ด ซึ่งเป็นการดี เพราะเป็นครั้งแรกที่ทางราชการเข้ามาประชาสัมพันธ์และติดต่อกับประชาชนโดยตรงทางโซเชียลมีเดีย

ทำเนียบรัฐบาลเองก็เปิดไลน์ ออฟฟิเชียล แอ็กเคาต์ เว็บไซต์ไทยคู่ฟ้า เพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้าไว้สื่อสารกับประชาชน

หลายกระทรวงเปิดไลน์แจ้งข่าวขั้นตอนการติดต่อกับทางราชการ โดยประชาชนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ทางโทรศัพท์มือถือ

เช่น ขั้นตอนการขออนุญาตสร้างบ้าน การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม การขอรับการส่งเสริมการลงทุน การรักษาพยาบาลเบื้องต้นโรคบางชนิด การใช้จ่ายของรัฐ ภาษีมาจากไหน ภาษีนำไปใช้จ่ายทางไหน สวัสดิการที่รัฐช่วยคนจนมีอะไรบ้าง วิธีสมัครเป็นสมาชิกบัตรผู้มีรายได้น้อยทำอย่างไร

กระทรวงพาณิชย์ใช้ไลน์แจ้งข่าวราคาสินค้าประจำวันตั้งแต่ต้นหอม ผักชี ยันราคาหมูเห็ดเป็ดไก่ บางกระทรวงแจ้งข่าวการพยากรณ์อากาศ ราคาน้ำมัน ข่าวการจราจร ข่าวอาชญากรรม ข่าวอุบัติภัย

แอพพลิเคชั่นไลน์เหล่านี้นายกฯ กดดูทุกวัน ถ้าถูกใจก็ชมเชย ถ้ายังไม่ดีพอก็จะแนะนำให้รื้อหรือแก้ไขโดยเร็ว

คณะรัฐมนตรีเองก็มักได้รับการบ้าน ข้อสั่งการ คำแนะนำทางไลน์บุคคลไลน์กลุ่ม หรือไลน์หมู่ทั้งคณะแทบทุกวัน ทั้งสามารถตอบหรือชี้แจงระหว่างกันเองหรือแจ้งกลับไปยังนายกรัฐมนตรีได้ทันท่วงที

โลกทุกวันนี้เป็นเรื่องของโซเชียลมีเดียซึ่งมีทั้งคุณและโทษ ข่าวจริงข่าวเท็จข่าวบิดเบือนจึงกระจายผ่านโซเชียลมีเดียว่อนไปทั่วอย่างง่ายดายจึงต้องแยกแยะให้ดี ตั้งสติให้มั่น ในส่วนของข้อดีก็นำมาใช้ในการทำงานได้ทำให้การบริหารราชการเดินหน้าไปได้รวดเร็วและคล่องตัวมาก

แต่ก็เสี่ยงแก่ผู้ปฏิบัติตามเหมือนกันเพราะหาหลักฐานข้อสั่งการได้ยาก

ในส่วนของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีกลายเป็นศูนย์กลางข้อมูลที่รับรู้ข่าวได้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าข่าวที่หลั่งไหลเข้ามามีทั้งข่าวดี ข่าวร้าย ข่าวจริง ข่าวลวง หัวข้อข่าว และข่าวละเอียดเชิงลึก

เรียกว่าแค่เริ่มจะลือเท่านั้น นายกรัฐมนตรีก็รับทราบแล้ว

 

ข้อนี้จึงทำให้บ่อยครั้งที่ท่านจะหงุดหงิดกับบางข่าวจนแสดงออกในเวลาให้สัมภาษณ์ หรือปาฐกถาโดยที่ผู้ฟังไม่ทราบว่าอนิฏฐารมณ์นี้ติดมาจากการได้ยินได้รู้เรื่องที่น่าหงุดหงิดเมื่อ 2-3 นาทีก่อน

บางทีก็หงุดหงิดว่าเป็นข่าวเท็จข่าวบิดเบือน ข่าวเก่าเอามาแปลงใหม่

ท่านไม่ได้หงุดหงิดเนื้อข่าวว่าจริงหรือเท็จ แต่หงุดหงิดว่าทำไมจึงไม่มีรัฐมนตรีคนใดหรือหน่วยงานใดออกมาชี้แจงหรือปฏิเสธ ปล่อยให้ข่าวกระพือแชร์กันอยู่ได้ตั้งวันสองวัน

เมื่อมีคนแนะนำว่าอย่าไปเปิดดูสื่อเหล่านี้เหมือนกับอย่าไปอ่านหนังสือพิมพ์

ท่านจะตอบกลับว่า “คนเรารู้ ดีกว่าไม่รู้ ยิ่งคนอื่นที่รับผิดชอบโดยตรงไม่ยอมรับรู้ ผมรับผิดชอบมากกว่ายิ่งต้องรู้แทน แต่ผมแยกแยะได้ว่าอะไรจริงไม่จริง อย่างน้อยตราบใดที่มีข่าวอย่างนี้ แม้จะไม่จริง แต่ก็แสดงว่าสังคมไทยผู้คนกำลังคิดอะไร”

จึงยากจะปล่อยวางได้ เพราะท่านถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่ต้องแบกรับอยู่แล้ว

ดังนั้น แม้ข้อมูลที่มีอยู่จะอัดแน่น แต่บางครั้งอนิฏฐารมณ์ก็สุมแน่นอยู่ด้วยเช่นกัน