เวียดนามปัดฝุ่น “ไฮสปีดเทรน” ตั้งเป้าเสือเศรษฐกิจแห่งใหม่ของอาเซียน

ช่วงหลายสัปดาห์มานี้เกิดความเคลื่อนไหวมากมายในประเทศสมาชิกอาเซียนในประเด็น “ไฮสปีดเทรน” เพื่อให้ประเทศก้าวสู่ความทันสมัยยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยต่อยอดผลประโยชน์มากมายที่จะตามมาหลังโครงการก่อสร้างเสร็จสิ้น

นอกจากประเทศไทยแล้วก็ยังมีอีก 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่มุ่งมั่นปั้นรถไฟความเร็วสูงให้อยู่ในแผนการพัฒนาประเทศในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา “สิงคโปร์และมาเลเซีย” ได้บรรลุการลงนามข้อตกลงร่วมกันที่จะชะลอโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างกันจนถึงปี 2020

เนื่องจากรัฐบาล ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ต้องการเช็กสภาพคล่องทางการเงินของประเทศเสียก่อน เพื่อป้องกันการก่อเกิดหนี้โดยไม่จำเป็น

ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของ “อินโดนีเซีย” ที่เชื่อมกรุงจาการ์ตากับเมืองบันดุง มีระยะทางทั้งหมด 142 กิโลเมตร ก็ยังดูเงียบๆ ไปไม่หวือหวามากเท่าไหร่ แม้ว่าผู้ลงทุนหลักมาจากพี่เบิ้มของภูมิภาคอย่างจีน

แต่ประเด็นที่น่าสนใจและน่าจะทำให้ไทยเสียววาบได้ไม่แพ้กัน คือโครงการไฮสปีดเทรนระบบรางจากญี่ปุ่นใน “เวียดนาม” ที่ความคืบหน้าล่าสุดดูจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากที่ชะลอโครงการมานานในรอบกว่า 10 ปี ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีเหวียน เติ่น ยวุ๋ง ที่ได้ริเริ่มแผนการรถไฟหัวกระสุน แต่ก็ถูกเบรกให้พับโครงการไปก่อน โดยรัฐสภาวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินของประเทศในเวลานั้น

แต่หากเทียบกับสถานการณ์การเงินของเวียดนามและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน นับเป็นช่วงจังหวะอันเหมาะเจาะเสียจริงที่จะผลักดันให้เกิดโครงการจริงๆ เสียที

โดยอ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม ที่ชี้ว่า GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัวถึง 7.38% เป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปีของเวียดนาม และประเมินว่าในภาพรวม GDP ในปีนี้จะอยู่ที่ 6.7%

ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงของเวียดนามประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อน เคาะมูลค่าโครงการก่อสร้างออกมาเป็นเงินทั้งหมดราวๆ 58,000 ล้านดอลลาร์ ตามแผนการก่อสร้างจะพัฒนาเส้นทางระหว่างกรุงฮานอยเชื่อมไปถึงโฮจิมินห์ ความยาวทั้งหมด 1,545 กิโลเมตร คาดว่าจะมีทั้งหมด 23 สถานี ผ่าน 20 จังหวัด

ทั้งยังเชื่อมต่อกับสนามบินลองแถ่ง (Long Thanh) ก่อนเข้าโฮจิมินห์ด้วย

โดยประเมินเบื้องต้นว่าจะเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ใช้งานได้ภายในปี 2030 หรือเสร็จก่อนกำหนดราว 1-2 ปี

ในการเสนอแผนก่อสร้างนั้นระบุด้วยว่า ในระยะแรกรถไฟความเร็วสูงจะยังไม่แล่นด้วยความเร็วเต็มพิกัด ซึ่งจะจำกัดเอาไว้ไม่ให้เกิน 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมหลายประการและเป็นกรณีศึกษาเพื่อพัฒนาในเฟสที่สองเป็นลำดับต่อไป โดยจะแล่นด้วยความเร็วสูงเต็มพิกัดที่ 350 กิโลเมตร/ชั่วโมงในระยะที่สอง ทั้งนี้ ในแถลงการณ์คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้วันละ 1.9 ล้านคน พร้อมกับประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าหนัก 2.8 ล้านตันต่อวัน

นอกจากนี้ ผลการศึกษาระบุว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าวจะช่วยให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานได้อีกระดับหนึ่ง อีกทั้งชาวเวียดนามและกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีตัวเลือกที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรที่ติดขัดได้ ซึ่งฮานอยและโฮจิมินห์เป็นสองเมืองหลักๆ ที่มีการจราจรยอดแย่ที่สุดในเวียดนาม

นายเหงียน หง็อก ด่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงขนส่ง กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงนี้จะสามารถแข่งขันกับบริการของสายการบินต่างๆ ได้

เนื่องจากผู้โดยสารไม่ต้องเสียเวลาราว 2 ชั่วโมงในการเข้าคิวเช็กอินและผ่านขบวนการต่อเนื่องอื่นๆ ที่ท่าอากาศยาน

แต่ก็ยอมรับว่า เป็นการยากที่จะสามารถคุ้มทุนได้หลังจากที่เปิดให้บริการในช่วงปีแรกๆ

แต่เป้าหมายหลักของรัฐบาลที่ยิ่งใหญ่กว่า คือการสร้างความสะดวกสบายให้กับคนท้องถิ่นและผู้มาเยือน และต้องการผลักดันให้เวียดนามเป็น 1 ใน 3 ของประเทศจุดหมายปลายทางในภูมิภาคเอเชียในอนาคต

การที่นายกรัฐมนตรี เหวียน ซวน ฟุก คนปัจจุบันได้นำโครงการดังกล่าวกลับมาปัดฝุ่นเพื่อดันให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาและก่อสร้างเมื่อต้นปี 2018

นักวิเคราะห์การเมืองเวียดนามจากสถาบันแห่งหนึ่งในกรุงวอชิงตัน มองว่าสถานการณ์ทางการเมืองของเวียดนามที่มีเสถียรภาพ

ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีเศรษฐกิจที่โดดเด่นในอาเซียน มีความเป็นไปได้สูงที่โครงการก่อสร้างรถไฟจะเสร็จตามกำหนดที่วางเป้าหมายไว้

พร้อมยกย่องวิสัยทัศน์ของรัฐบาลชุดใหม่ที่มีแนวทางพัฒนาประเทศระยะไกล ปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารประเทศตามยุคสมัย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีโมเมนตัมที่น่าสนใจ

ทั้งยังทิ้งท้ายว่า

“การเมืองที่มีเสถียรภาพเป็นบ่อเกิดของความสำเร็จ เงินทุนนั้นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง แต่ความมีเอกภาพของกลุ่มผู้นำประเทศนั้นสำคัญต่อเศรษฐกิจของชาติอย่างมีนัยยะสำคัญ”