เปิดใจ ‘ทวี สอดส่อง’ เลขาฯ “ประชาชาติ” เสนอตั้งสภา ศอ.บต. แก้ปัญหาใต้ทันท่วงที

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับว่าที่เลขาธิการพรรคประชาชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในประเด็นแนวคิดที่มาทำงานการเมืองและเป็นแม่ทัพของพรรคว่ามีนโยบายใดบ้างทั้งในระดับประเทศและจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คิดต่างจากพรรคอื่นๆ

และหวังจะนำพาสังคมสู่ความเป็นธรรม เท่าเทียม รวมทั้งแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

: กรอบหรือแนวทางการกระจายอำนาจของพรรคประชาชาติเป็นอย่างไร

พรรคมีหลักการ “คืนอำนาจและสิทธิ์ให้ประชาชน” โดยการกระจายอำนาจ เป็นเพียงกระบวนการ เพื่อให้ประชาชนได้มี (ก) โอกาส (ข) ความเจริญ (ค) กระจายรายได้ (ง) ระบบบริหารจัดการ (จ) ระบบการตรวจสอบ ฯลฯ ให้กับประชาชน

เมื่อประชาชนได้รับคืนแล้วอาจจะมอบผ่านตัวแทน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ หรือองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่เป็นกลไกภาคสนามซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกิจการของรัฐที่ล้อกับบริบทของพื้นที่ และความต้องการของประชาชน

กำหนดที่จะกระจายหรือผ่องถ่ายภารกิจให้กับกลไกและหน่วยงานในภูมิภาคไว้เป็นการเบื้องต้นไว้ ดังนี้

(ก) งบประมาณ ผลักดันให้มีการปฏิรูป พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2502 ที่หน่วยการของบประมาณเป็นกระทรวงและกรม ให้เป็นพื้นที่ที่เป็นท้องถิ่นซึ่งทราบปัญหาและความต้องการของประชาชนเป็นอย่างดี และให้ประชาชนเสนอของบประมาณเพื่อการพัฒนาพื้นที่ได้โดยตรง

(ข) งานโครงสร้างพื้นฐานควรให้เป็นความรับผิดชอบของพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เช่น การศึกษา ทบทวนการจัดสรรหรือการของบประมาณเพื่อให้สามารถนำเงินหรืองบประมาณที่ได้รับการอนุมัติไปพัฒนาความพร้อมของผู้เรียนและครูโดยตรง เช่น การพัฒนาหลักสูตร การให้ทุนการศึกษา การจัดกิจกรรมการเรียน การสอน ฯลฯ ทดแทนการสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เกินความจำเป็น

(ค) การใช้ที่ดินและป่าไม้ ควรมอบให้ท้องถิ่น ชุมชนเป็นผู้ดูแล มีการสอบทานการใช้ที่ดินและป่าไม้ทั้งระบบเพื่อนำที่สาธารณะ ที่รกร้าง หรือทอดทิ้งป่าเสื่อมโทรม พื้นที่เตรียมการเป็นป่าสงวน ฯลฯ เพื่อจัดสรรให้ประชาชนซึ่งไม่มีที่ดินใช้เป็นที่อยู่อาศัย หรือที่ดินทำกิน หรือใช้ในการสร้างศูนย์กีฬาและสันทนาการชุมชน (Community Club) เป็นต้น

(ง) กิจการหรืองานบริการสังคม ให้ท้องถิ่นและท้องที่โดยการสนับสนุนหรือช่วยเหลือของภาครัฐ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาหรือจัดให้มีรูปแบบของการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนมากกว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่น ให้มีศูนย์ดูแลหรือสงเคราะห์ผู้สูงอายุในหมู่บ้านหรือชุมชนแบบครบวงจร

(จ) การบริหารจัดการบ้านเมือง มีความจำเป็นที่จะต้องยุบหรือทำให้กระทรวง ทบวง หรือกรมกองต่างๆ เล็กลง พร้อมทั้งโอนงานหรือกิจการที่รับผิดชอบไปยังหน่วยงานภาคสนามในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องลดการรวมศูนย์และจัดให้มีคณะกรรมการการศึกษาที่ผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้กำกับดูแล

นอกจากนี้ จักจัดสรรงบประมาณให้กับท้องถิ่นและท้องที่ตามกรอบหรืออำนาจที่ได้รับเพื่อให้การพัฒนาเมืองหรือชุมชนมีความเจริญรุดหน้าแบบยิ่งยวด รวมถึงจะจัดให้มีรูปแบบการปกครอง เช่น พัทยา หรือ กทม. หรือเลือกตั้งผู้บริหารพื้นที่ ในพื้นที่ที่มีความพร้อม

: ท้องถิ่นมีหลายระดับและถูกตั้งข้อสังเกตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการคอร์รัปชั่น หรือการขาดธรรมาภิบาล พรรคประชาชาติจะแก้ข้อขัดข้องในประเด็นนี้อย่างไร?

ต้องยอมรับว่าท้องถิ่นมีข้อสงสัยในเรื่องธรรมาภิบาลและเรื่องความแตกแยกจากการแข่งขันเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งจะต้องทำการปฏิรูปให้ประชาชนมีส่วนร่วมและปฏิรูประบบการเลือกตั้งท้องถิ่นควบคู่ไปด้วย

มีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชน หรือผู้มีส่วนได้เสียมีอำนาจในการตรวจสอบและกำกับดูแลการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งบประมาณของท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดทั้งแนวดิ่งและแนวระนาบ

นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาศักยภาพของผู้บริหารให้มีความรู้หรือคุณภาพ และสามารถบริหารจัดการเมืองหรือท้องที่และท้องถิ่น

โดยเฉพาะด้านการศึกษา การใช้หรือการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ฯลฯ ซึ่งไม่สันทัดอย่างเป็นรูปธรรม

: มีพื้นที่เป้าหมายในการกระจายอำนาจอย่างไร?

การปกครองท้องถิ่นควรจะมีหลายรูปแบบตามสภาพพื้นที่ แต่หลักการคือการคืนอำนาจและสิทธิ์ให้ประชาชนเพื่อให้เกิดประโยชน์และความสุขกับประชาชน ส่วนการกระจายอำนาจถือเป็นกระบวนการไม่ใช่เป้าหมาย ดังที่กล่าวมาแล้ว ในแนวคิดคือ

กำหนดหรือระบุพื้นที่ทั่วประเทศ แต่จะเริ่มโดยพิจารณาให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคและกลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อมตามลำดับ

ให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่เป็นกลไกทางเศรษฐกิจเพื่อการสร้างงาน สร้างรายได้ก่อน

: จังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำอย่างไร?

กรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญการปกครองประเทศในหมวดการปกครองท้องถิ่นได้บัญญัติไว้ การปกครองจะรูปแบบใดต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของท้องถิ่นนั้น แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันมีรูปแบบพิเศษ คือ

เป็นพื้นที่พิเศษทั้งกฎหมายและองค์กรในการแก้ปัญหาพิเศษ

แนวคิดในการกระจายอำนาจที่มีในกฎหมายอยู่แล้ว คือ ศอ.บต. เป็นรูปแบบหนึ่ง ที่มีงานวิจัยเสนอว่าควรนำมาปฏิรูปหรือทบทวนเพื่อให้เป็นหน่วยงานที่มีเอกภาพในการพัฒนาและการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สอดคล้องกับสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว

อีกทั้งสามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที มีการเลือกตั้งสภา ศอ.บต. (สภาที่ปรึกษาเดิม) ที่มีตัวแทนเป็นพหุวัฒนธรรม (เลือกตั้งทางอ้อม) และอาจจะให้ สภา ศอ.บต.มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะหรือสรรหาผู้ที่จะมาเป็น เลขาฯ ศอ.บต. ที่ถือเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม เป็นต้น

: พรรคประชาชาติจะแก้ปัญหาปากท้องอย่างไร

ให้ความสำคัญกับการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และลดรายจ่าย แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทั้งอำนาจ สิทธิ และศักดิ์ศรี รวมถึงการจัดระบบสวัสดิการที่ดีเพื่อบรรเทาเหตุจำเป็นเร่งด่วน หรือฉุกเฉิน

ส่งเสริมและพัฒนา รวมทั้งสร้างกลไกตลาดของสินค้าเกษตรให้มีราคาสูงสุด มีมูลค่าเพิ่ม แก้ไขปัญหาสิ้นค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา อาชีพประมง รวมถึงยกระดับกลไกที่มีอยู่ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ่ายโอนการบริหารจัดการหรือกำกับดูแลกิจการของรัฐที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น กิจการกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองไปให้จังหวัดดูแลและรับผิดชอบ

สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่และชุมชนเพิ่มเติม หรือนอกเหนือจากรายได้ประจำ เช่น การดูแลรักษาพื้นที่สีเขียว และนำผลพลอยได้จากป่าหรือพื้นที่สีเขียวขาย / สร้าง carbon credit เป็นต้น

: การอำนวยความยุติธรรม จะมีวิธีการบริหารหรือจัดการอย่างไร

ในเรื่องความเป็นธรรม มีหลักการว่า “ต้องแก้ปัญหาด้วยความยุติธรรม ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยกระบวนการยุติธรรม”

บุคคลในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดต้องถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด เช่น ตำรวจ ได้แก่ สายตรวจ สายสืบ และพนักงานสอบสวน เป็นต้น การพิจารณามีความเห็นในคดีสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องต้องขึ้นกับพยานหลักฐาน และต้องเป็นมติของคณะพนักงานสอบสวนเสียงข้างมาก ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว

คือต้องแก้กฎหมาย ป.ว.อาญา มาตรา 140 และ 141 ที่ให้ผู้บังคับบัญชาสูงสุด (พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ) เป็นผู้มีความเห็นแต่เพียงผู้เดียว ให้เป็นมติเสียงข้างมากของพนักงานสอบสวน เป็นต้น

จะจัดให้มีการยกเลิก ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีพ หรือกฎหมายที่ออก/กำหนดไว้ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หรือหลักนิติธรรม สนับสนุนการจัดตั้งกลไก หรือหน่วยงานอิสระให้บริการทางกฎหมาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้มีกลไกระดับภาคหรือระดับจังหวัด หรือระดับท้องถิ่น

กฎหมายที่กำหนดให้มีคณะกรรมการและให้คณะกรรมการใช้ดุลพินิจในการอนุมัติหรืออนุญาตพึงยกเลิก ควรบัญญัติให้ชัดเจนไว้ในกฎหมาย เพราะมิฉะนั้นจะเป็นช่องทางให้มีการใช้ดุลพินิจที่อาจตีความตามอำเภอใจได้ เมื่อมีความชัดเจนหากมีกรณีพิพาทก็ใช้ช่องทางกระบวนการของศาลแทน คณะกรรมการกระบวนการยุติธรรมต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างกลไกเพื่อถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรม ป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในทุกๆ ด้าน

เปิดโอกาสให้มี “เอกชน” เรือนจำเอกชน หรือสถานที่คุมขัง หรือสถานที่ที่เรียกเป็นอย่างอื่นเพื่อลดความแออัดของเรือนจำซึ่งทราบว่ามีประมาณ 300,000 คน ทั้งที่ความจุของเรือนจำทั้งหมดได้ประมาณ 150,000 คน แต่เรือนจำเอกชนต้องเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลด้วยความรอบคอบและต้องให้ความมั่นใจกับประชาชนในด้านความปลอดภัย

โดยเฉพาะคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ที่ตามรัฐธรรมนูญถือว่าตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุดถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาทราบว่ามีจำนวนหลายหมื่นคนที่อยู่ในเรือนจำ

: การศึกษาไทยตกอยู่ในสภาวะวิกฤตและตกต่ำ หรือจัดให้อยู่ในระดับรั้งท้ายในอาเซียน/พรรคประชาชาติจะแก้ปัญหาหรือมีวิธีการอย่างไร

เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเป็นเรื่องที่ทางประชาชาติให้ความสำคัญสูงสุด โดยมีหลักการว่า “มนุษย์ไม่เพียงเป็นปัจจัยในการพัฒนา แต่มนุษย์ต้องเป็นเป้าหมายในการพัฒนา” จึงให้ความสำคัญการศึกษาทุกระดับเพื่อพัฒนาจากคนไม่รู้ให้เป็นคนที่รู้ มีคุณธรรม การศึกษาปัจจุบันมีความท้าทายมาก และได้ถูกเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงต้องทำการปรับตัวขนานใหญ่

ประชาชาติให้ความสำคัญการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต ต้องพัฒนาคุณภาพที่ดีมีคุณภาพที่พัฒนาความคิดสติปัญญาและคุณธรรมเพื่อให้ประชากรมีคุณภาพ

สำหรับการศึกษาในระบบ ควรยกเลิกการผูกขาดด้านการศึกษาที่สั่งตรงจากรัฐหรือส่วนกลางเพียงอย่างเดียว อาทิ

– ถ่ายโอนการจัดการศึกษาไปให้กับสถานศึกษา โดยให้ท้องถิ่นหรือท้องที่เป็นผู้สนับสนุน แต่ต้องมีมาตรฐานคุณภาพการศึกษาที่ดีเทียบเคียงนานาชาติ และมีอิสระในการจัดการศึกษา

– ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ

– ผลผลิตที่ได้จากการวัดการศึกษา คือ เยาวชนที่มีงานทำ เก่ง ดี กล้า มีความสุข

– จัดให้มีทุน หรือสวัสดิการทางการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เช่น (ก) เงินสงเคราะห์เพื่อการศึกษาสำหรับเด็ก / นักเรียนที่เรียนดีแต่ขัดสน (ข) ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดี เพื่อไปศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างประเทศในทุกระดับและทุกประเทศเพื่อพัฒนาคนและเป็นกลไกในการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้า (ค) ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่มีเงื่อนไขผ่อนปรน (ง) จัดหาทุนจากต่างประเทศแก่นักเรียน / นักศึกษาที่สนใจ (จ) เงินทุนสมทบเพื่อการศึกษาในกรณีจำเป็น

– ขจัดการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นทางการศึกษาหรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น คืนอำนาจให้โรงเรียนในการจัดสวัสดิการให้กับนักเรียน เช่น ทบทวนการจัดซื้อและส่งนมโรงเรียนจากส่วนกลางและโอนความรับผิดชอบให้โรงเรียนหรือท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลจัดซื้อหรือจัดหา

– สนับสนุนจัดงบประมาณให้เรียนฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัยในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือสายอาชีพ

– มอบอำนาจและจัดสรรงบประมาณตรงไปที่สถานศึกษา และให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยงานสนับสนุนการศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม

แฟ้มภาพ (ไม่เกี่ยวข้องกับข่าว)

: ขอทราบว่า เกี่ยวกับด้านสาธารณสุข ทางพรรคมีแนวคิดอย่างไร

ด้านสาธารณสุขมีความสำคัญมากเพราะเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของพลเมือง ต้องสร้างความเข้มแข็งเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

จะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารงบประมาณและบุคลากรในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิในการเข้าถึงและการได้รับการรักษาพยาบาล

จะผลักดันให้พิจารณาที่จะโอนย้ายภารกิจในการบริหารจัดการกองทุนทั้งสามกองทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประมาณ 47 ล้านคน, กองทุนประกันสังคม ประมาณ 10 ล้านคน และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประมาณ 5 ล้านคน และยังมีกองทุนของหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งมีหน่วยงานดูแลต่างหน่วยกัน เพื่อให้การบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพของประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกันและมีคุณภาพการรักษาพยาบาลเท่ากับราชการ

จากข้อมูลพบว่า กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีสมาชิกที่เป็นข้าราชการและครอบครัวเพียง 5 ล้านคน แต่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงมาก คือประมาณ 14,000 กว่าบาทต่อหัวต่อปี

เมื่อเทียบกับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคม มีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 กว่าบาทต่อหัวต่อปี

ดังนั้น ก็ควรมีแผนการโอนภารกิจในการบริหารจัดการและกำกับดูแลทั้งสามกองทุนมาที่หน่วยงานเดียว เช่น อาจมอบให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจดังกล่าว ควรที่จะเป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข

และปรับโครงสร้างในเชิงองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพแล้ว ยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลระหว่างสมาชิกของทั้งสามกองทุน และผลักดันให้เกิดการรวมศูนย์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วย และฐานข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล

การวิเคราะห์ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลเพื่อกำหนดอัตราการเบิกจ่ายที่เหมาะสม ตลอดการตรวจสอบความถูกต้องของการเบิกจ่าย ที่สำคัญเพื่อความเท่าเทียมและคุณภาพสาธารณสุขของประชาชน

รวมทั้งส่งเสริม “การแพทย์พหุลักษณ์” ที่ตอบสนองต่อความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรม นิเวศวิทยา รวมถึง สภาพเศรษฐกิจ พัฒนาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมการตรวจสุขภาพตามวิถีศาสนา

ตลอดจนสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “ธนาคารอาหารสุขภาพประจำตำบล” เนื่องจากสารพิษปนเปื้อนในอาหารเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งของความเจ็บป่วยในปัจจุบัน