สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ครั้งหนึ่ง “กระดาษ” เคยเปลี่ยนแปลงประเทศ – 50ปี ผ่านไป ทำไมประชาธิปไตยไม่เต็มใบสักที ?

หากกล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 การรายงานข่าวถือว่าเป็นกระบอกเสียงที่สะท้อนอุดมการณ์และเหตุการณ์แห่งยุคสมัย

สมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่เป็นนักข่าวในช่วงเวลานั้น เล่า บรรยากาศประเทศในช่วง 14 ตุลา

เป็นบรรยากาศแห่งความกลัวผู้มีอำนาจรัฐในขณะนั้น และมันมีบรรยากาศของความเกลียดเกิดขึ้นด้วย ทั้งความกลัวและความเกลียดนั้น เกิดมาจากการที่ประชาชนถูกกระทำให้ไร้เสรีภาพในการแสดงออกมาเป็นเวลายาวนาน คนที่กุมอำนาจรัฐตอนนั้นใช้อำนาจไปที่ประชาชน แม้แต่ข้าราชการเอง หรือคนที่อยู่ในแวดวงราชการเองก็ตกอยู่ภายใต้ความกลัว เพราะมีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาใช้ในการสนองอำนาจ กตป …… สามารถใช้อำนาจเล่นงานคนที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม เล่นงานฝ่ายที่ไม่พอใจรัฐบาล เล่นงานคนที่มีความคิดที่ก้าวหน้า คนก็รู้สึกว่าเกลียดรัฐบาล เกลียดผู้นำรัฐบาล และก็บรรดาเครือญาติในช่วงนั้น 3 บุคคลสำคัญที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่าใครเป็นใคร ซึ่งคงไม่ต้องกล่าวถึง บรรยากาศมันเป็นอย่างนั้น สะสมมาเป็นเวลานาน โดยไม่มีกฏหมาย รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสำคัญถูกแช่แข็งไว้ เกิดกระแสการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกของประชาชน นั่นเป็นบรรยากาศที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นนะครับ

ความตื่นตัวของผู้คน และประชาชนในช่วงนั้น

สิ่งที่เป็นปัจจัยสนับสนุนความตื่นตัวของประชาชนก็คือความเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษา คนรุ่นใหม่ มีกระบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เราคงไม่ได้กล่าวว่าวัน 14 ตุลา มหาวิปโยค ที่เป็นจุดปะทุสุดท้ายที่เกิดขึ้นมา มันมีพัฒนาการของมัน ทั้งด้านกลุ่มนิสิตนักศึกษา ทั้งด้านกลุ่มสื่อสารมวลชน ที่เรียกว่าแนวร่วมทางวัฒนธรรม

อย่างกรณีที่นักศึกษามีการรวมตัว เรียกร้อง การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น การรณรงค์ให้ใช้สินค้าไทย การต่อต้านอิทธิพลและบทบาทของฐานทัพสหรัฐในขณะนั้น จนกระทั่งมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นสั่งสมมา ซึ่งสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์มีบทบาทสูง เพราะว่าทีวีหรือวิทยุยังถูกจำกัดอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ หนังสือพิมพ์มีบทบาทสูงในการที่จะเผยแพร่ เปิดโปงการฉ้อฉน และหาความจริงออกมา จากกรณีสำคัญๆ ต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน

กรณีใหญ่ๆ เช่น การใช้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกไปล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร เกิดเหตุเมื่อเดือนมกราคม 2516 กลายเป็นข่าวใหญ่ มีดาราปรากฏตัวในภาพข่าว และ ฮ. นั้นก็ตกมา ท่าทีของรัฐบาลก็ออกมาปกป้องคนที่เอาเครื่องไม้เครื่องมือของราชการไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร อันนี้ก็เป็นกรณีใหญ่

ตอนนั้นก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกที่นักศึกษาไม่พอใจและชุมนุมประท้วงกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อรัฐบาลสั่งปิดมหาวิทยาลัย 7 แห่ง และนักศึกษาเดินเข้าไป ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิการบดี ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันต์  ลบชื่อ 9 คน ก็เกิดแรงประท้วงกันขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เป็นผลสืบเนื่องต่อเนื่องกันมา ก็นำมาสู่ความต้องการเดิมที่มีอยู่แล้ว คือการเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องรัฐธรรมนูญ

ถ้าจะกล่าวลึกไปกว่านั้น ก่อนที่จะมีกรณีทุ่งใหญ่นเรศวร ก่อนที่จะมีการลบชื่อนักศึกษารามคำแหง ย้อนกลับไปก็เคยมีการทุจริตเกิดขึ้นในเทศบาลกรุงเทพมหานคร 107 ล้าน สมัยผู้ว่า ชำนาญ ยุวบูรณ์ เป็นนายกเทศมนตรี ก่อนหน้านั้น ลึกไปกว่านั้นก็มีกรณี กินป่า ที่เบตง นายทหารระดับเสนาธิการกองทัพบก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมถูกนายกรัฐมนตรีปลดออก มันเป็นเรื่องที่มีการพัฒนาการต่อเนื่องทำให้เกิดภาพของความไม่ถูกต้อง ความฉ้อฉน การใช้อำนาจบาตรใหญ่ การแสวงหาผลประโยชน์ มันถาโถมกันเรื่อยมา อันนี้ความต้องการของประชาชนที่จะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก มาประจวบกันในหลายๆ อย่างจนปะทุเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา นั่นคือพัฒนาการของมันที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสื่อมวลชน ที่โดดเด่นในขณะนั้น เช่น หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่เอามาแฉเรื่องทุ่งใหญ่นเรศวร อย่างคุณสุคนธ์ ชัยอารีย์ คุณไพบูลย์ สุขสุเมฆ นี่คือบทบสทของสื่อมวลชนที่เกิดขึ้น พร้อมกับสิ่งที่สั่งสมมา ของพี่น้องประชาชนที่ติดตามเรื่องไม่ถูกต้อง ก็เพิ่มความไม่พอใจต่อรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

กับทางนักศึกษาเอง นอกจากผู้นำนักศึกษาที่ประท้วงเรื่อง ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันต์  กลุ่มนักศึกษาที่มีความสนใจ ที่มีความเกี่ยวเนื่อง กับสื่อมวลชนที่รวมตัวกันอยู่ในมหาวิทยาลัยก็รวมกันเป็นกลุ่มๆ อย่างกลุ่มหนุ่มเหน้าสาวสวย ที่มีคุณขรรค์ชัย บุนปาน คุณสุจิตต์ วงศ์เทศ คุณวีรประวัติ วงษ์พัวพันธุ์ ที่อยู่ในกลุ่มนี้  กลุ่มโดมท่าพระจันทร์ กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร กลุ่มสภาหน้าโดม กลุ่มเหล่านี้ มีความเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกันในรั้วมหาวิทยาลัย

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่ง ส.ศิวรักษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) เป็นผู้ผลักดันขึ้นมา มีคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการอย่างยาวนาน เป็นที่แสดงออกถึงความไม่พอใจ แสดงออกถึงสิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น นี่คือบทบาทของภาคสื่อสารมวลชน อย่างในศิลปากรก็มี “สองกุมารสยาม” (ขรรค์ชัย-สุจิตต์) ซึ่งตอนนั้นไปทำงานในสยามรัฐ ที่มีคุณเสถียร จันทิมาธร คุณสุทธิชัย หยุ่น ที่เขียนในสยามรัฐด้วย พวกเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้นำทางความคิดและเป็นกลุ่มแนวหน้าทางวัฒนธรรมในภาคของสื่อสารมวลชน

ภายหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็จึงไปรวมตัวกัน  เกิดนิตยสารประชาชาติรายสัปดาห์ โดยคุณขรรค์ชัย บุนปาน คุณสุจิตต์ วงศ์เทศ คุณชัยวัฒน์ ยนเปี่ยม คุณวีรประวัติ วงศ์พัวพันธุ์ นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของมติชน นำมาจากประชาชาติรายสัปดาห์ มาเป็นรายวัน  รายวันปิดไปตอน 6 ตุลา กลายมาเป็นมติชน ในปี 2521 หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ช่วงนั้น ต่างคนต่างก็ถูกอำนาจรัฐกระทำจนต้องหนีเอาตัวรอดกันไปแล้วก็มารวมตัวกัน มันเป็นพัฒนาการของสื่อ โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ ส่วนวิทยุโทรทัศน์นั้นก็เพิ่งมามีในระยะหลังนี้

แน่นอนว่ามีเหตุการณ์เมื่อ ช่อง 4 บางขุนพรหม (ช่อง 9 อสมท) รายงานเมื่อตอน 6 ตุลา คุณสรรพสิริ วิรยศิริ นี่เป็นการเกิดขึ้นของสื่อมวลชนช่วง 14 ตุลา 2516 หลังจากนั้นเสรีภาพก็มีมากขึ้น เกิดหนังสือพิมพ์มากมาย

 

แปลว่าบรรยากาศยุคนั้นช่วยหล่อหลอมความเป็นมติชนในทุกวันนี้ได้ไหม

มันเป็นรากที่สืบเนื่องกันมาโดยตลอด  โดยเฉพาะรากทางความคิดและการปฏิบัติในหลักปรัชญาของเรา ในการแสวงหาความจริง นำความจริงออกมาเผยแพร่ตีแผ่ และนำไปสู่ความลึกของเหตุการณ์ เอาข้อเท็จจริงที่ลึกและรอบด้านเผยแพร่ออกมา  อันนี้มีส่วนอย่างยิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความสนใจ ความตื่นตัวทางการเมือง และการแสวงหาความจริงของคนในสังคมให้มีมากขึ้น  นำไปสู่ความลึกของเหตุการณ์ เอาข้อเท็จจริงที่ลึกและรอบด้านเผยแพร่ออกมา มีส่วนอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองและการแสวงหาความจริงคนในสังคมให้มีมากขึ้น นำไปสู่การรวมตัวกันเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้องและขจัดสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้พ้นไป อันนี้ก็เป็นเงื่อนไขและองค์ประกอบที่สำคัญทีเดียว แนวร่วมทางวัฒนธรรมทางสื่อมวลชนนี่นะครับ

บทบาทสื่อ ณ เวลานั้น เปรียบเทียบกับตอนนี้  

บทบาทสื่อ ณ ตอนนั้น ความคิดชี้นำเราจะเน้นบทบาทหน้าที่ในเชิงอุดมการณ์ ในเชิงปรัชญาการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง การต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ให้เกิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ทัดเทียมกัน เน้นตรงนี้ ส่วนผลที่ตามมาเรื่องความอยู่รอด เรื่องรายได้เป็นองค์ประกอบเสียมากกว่า บรรยากาศในช่วงนั้น การทำหน้าที่ให้เกิดความถูกต้องและเกิดความเป็นธรรมในสังคมเป็นธงหลักของสื่อมวลชนในช่วงนั้นตลอดมา มาแต่ภายหลังเท่านั้นที่เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีขึ้น มีการใช้คลื่นความถี่เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร เพราะฉะนั้น ภาพความเคลื่อนไหวก็เปลี่ยนแปลงไป สื่อที่ใช้คลื่น เช่น สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์มีพัฒนาการมากขึ้นๆ จนถึงขนาดนี้ และสิ่งที่สะท้อนอันหนึ่งก็คือว่า เมื่อเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีก้าวหน้า มีอินเทอร์เน็ตเป็นศูนย์กลาง สื่อก็มาเน้นเรื่องความรวดเร็ว เน้นการแข่งขันกันในการนำเสนอให้เกิดความเร็ว ให้เข้าถึงเป้าหมาย ผู้อ่าน ผู้ชม ผู้ฟังก่อน มันจึงลดในเรื่องความลึก ความถูกต้องลงไป ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดพิจารณา ขณะที่ในอดีตเราใช้การพิมพ์ จึงสามารถมีเวลาไปแสวงหาสิ่งที่มันลึกๆ สิ่งที่มันเฉียบคม เฉียบแหลม มาเผยแพร่ให้เกิดผลกระทบ แต่ขณะนี้แข่งขันกันด้วยความเร็ว ความลึกก็ถูกความเร็วแซงไป ในที่สุดสิ่งที่จะเข้าไปหาข้อมูล ข้อเท็จจริง ในแต่ละเรื่องที่สำคัญๆ มันลดลง ผมคิดอย่างนั้นนะครับ และจะพบว่าข่าวสารในเชิงข่าวเจาะมันก็ไม่มีมากเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่น่าจะสามารถทำได้ มันอยู่ที่จิตวิญญาณและความคิดในการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและความเป็นธรรม แสวงหาความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด

ในกรณีตัวอย่างปัจจุบันนี้ เพิ่งอ่านนโยบายรัฐบาล นอกจากนโยบายที่ออกเขียนมาแล้ว น่าจะรู้ว่าเบื้องหลังการจัดทำนโยบายมันทำกันยังไง ใครบ้างที่มานั่งสุมหัวแล้วเขียนออกมาอย่างนี้ ของพรรคโน้นพรรคนี้มันทำยังไง เบื้องหลังเป็นยังไง มันสะท้อนถึงกระบวนการบริหารนโยบายต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราอยากจะได้ อยากจะรู้ว่าทำกันอย่างไร นี่คือความลึกที่ทำให้สังคมรับรู้ความเคลื่อนไหวนอกเหนือจากหน้าฉากที่พบ เบื้องหลังฉากเป็นยังไง สิ่งที่พบข้างหน้าอาจไม่จริงก็ได้ เบื้องหลังต่างหากมันมีอะไรที่สื่อควรนำเสนอออกมา มันอยู่ที่ความคิดของคนทำงาน ความรู้สึกที่จะแสวงหาความเป็นจริงที่ถูกต้องทั้งหมดออกมาให้ได้มากที่สุด ส่วนเรื่องความเร็วนั้นแน่นอนว่าต้องแข่งขันกันอยู่แล้ว

เสรีภาพสื่อของยุคก่อนกับยุคนี้

เสรีภาพช่วงนั้นถูกกดทับมากกว่าปัจจุบันนี้ อาจจะเพราะอายุของคนรุ่นผมมันอายุมากแล้ว  มันทำให้รู้สึกว่าอำนาจดิบในการกดทับเสรีภาพสื่อมันมาก สื่อเองก็ถูกปิด ถูกจับ ถูกดำเนินคดี ถูกโยนระเบิดใส่ แต่ตอนนี้ภาวะแบบนี้มันลดลง ก็มีเสรีภาพแต่มันต่างจากเมื่อครั้งนู้น อำนาจที่จะมาใช้ความป่าเถื่อนต่างๆ เหล่านี้ทำได้น้อยลง เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับในสมัยอดีต เพราะสังคมมันเปิดมากขึ้น การสื่อสารมันมีการติดต่อกันมากขึ้น รัฐเลยใช้อำนาจอื่นแทน  เช่น อำนาจในทางธุรกิจ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนควรจะยืนหยัด มันเป็นปัจจัยสำคัญของความเป็นมนุษย์ มันเป็นศักดิ์ศรีของวิชาชีพ มันเป็นศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของความเป็นคน เสรีภาพเป็นสิ่งที่สื่อต้องยืนหยัดไว้

ถอดบทเรียน 50 ปี 14 ตุลา ทำไมประชาธิปไตยไม่เต็มใบสักที

ผมมองว่ามันเป็นพัฒนาการนะ และบทเรียนที่พบก็คือว่า แต่ละฝ่ายที่มีความคิดแตกต่างกัน ก็ต้องมาสรุปว่าสุดท้ายแล้ว แนวทางไหนจะเป็นแนวทางที่ทำให้สังคมก้าวหน้า มีความเสมอภาค ภารดรภาพ เสรีภาพ มีความสุขและความเหลื่อมล้ำที่ควรลดลง ในแง่ของสื่อนั้น บทเรียนที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะต้องไม่ลืมภารกิจของเราในการแสวงหาความจริง ไม่ว่าในยุคที่เสรีภาพถูกกดทับมากในอดีตหรือในยุคที่เสรีภาพมีมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ความจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละเรื่อง เป็นภารกิจหลักของสื่อที่ต้องนำออกมาให้สังคมได้รับรู้ หน้าที่ในการวิพากย์วิจารณ์ตรวจสอบ ให้เกิดความเปิดเผยโปร่งใส และต้องกระทำไปโดยยึดเอาประโยชน์ของสังคมสาธารณะเป็นตัวตั้ง ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ นั่นคือความจริงนั่นเอง ฉะนั้นบทเรียนในแง่ของสื่อ คือควรจะศึกษาสิ่งที่คนรุ่นก่อนๆ ได้ทำมาว่าเขามีวิธีการ วิธีคิด ในการทำหน้าที่ของการเป็นสื่อเพื่อสาธารณะ  สื่อเพื่อสังคม วาระของสังคม วาระของชาวบ้านโดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย เป็นสิ่งที่สื่อต้องไม่ลืม มันยังมีช่องว่างอยู่เยอะแยะมากมาย แม้ในปัจจุบันนี้ก็ตาม จะพบว่าช่องว่างระหว่างคนจนคนรวย ช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท ช่องว่างระหว่างคนที่มีโอกาสและคนด้อยโอกาสยังมีอยู่มาก และนับวันจะถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาเรื่องช่องว่าง ความไม่เสมอภาค ความเหลื่อมล้ำยังดำรงอยู่ นี่เป็นภารกิจของสื่อที่ต้องแสวงหาความเป็นจริงตรงนี้มาเปิดเผย เผยแพร่ให้มากที่สุด ก็ศึกษาจากบทเรียนของคนในอดีตนะครับ

ส่วนบทเรียนของสังคมไทยนั้น ผมว่าทุกฝ่ายก็ต้องสรุปว่า วิธีการหรือแนวทางใด จะนำมาซึ่งความสงบ ความดีความงามความถูกต้องความเท่าเทียมความเสมอภาคเกิดขึ้น วิธีการที่สุดขั้วไปวิธีการที่เป็นกลางๆ ประณีประนอมยอมรับได้ พัฒนาการไปภายใต้หลักการที่ควรจะเป็น บางทีมันก็จะทำให้สังคมคลี่คลายไป ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น ความรุนแรงไม่ก่อให้เกิดผลดี ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางการแสดงออกทางวาจา หรือความรุนแรงทางการใช้กำลัง ผลกระทบมันเกิดขึ้นมาความเปลี่ยนแปลงในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา เมื่อมันเริ่มด้วยความรุนแรง กว่าจะจบลงได้มันก็ยาก การสมานฉันท์ก็เกิดขึ้นได้ยากเพราะมันมีความรุนแรงเป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้นความรุนแรงไม่ใช่คำตอบเลย และสื่อเองก็ต้องเข้าใจ นี่ก็เป็นบทเรียนที่ต้องสรุป

ชัยชนะของประชาชนเคยเกิดขึ้นหรือยังในตลอด 50 ปี ที่ผ่านมา

ผมมองว่ามันเกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ เป็นห้วงๆ แต่พอได้สิ่งที่คาดหวังในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะถูกอำนาจอื่นๆ นำพาสภาพแวดล้อมมากดทับ เป็นแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ  ฉะนั้นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นก็สะท้อนอยู่ ไม่ใช่ไม่มีเสียเลย อย่างผลเลือกตั้งล่าสุด มันก็คือปรากฎการณ์การตื่นตัวของพี่น้องประชาชน สิ่งที่เขาแสวงหา สิ่งที่อยากได้ มันก็เริ่มสะท้อนว่ามันเกิดพัฒนาการขึ้นมาตามลำดับ แต่จะทันทีทันใดมันไม่ได้อย่างนั้น ผมว่าเราต้องจัดการกับพัฒนาการแบบนี้ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ให้เกิดความเท่าเทียมกันยังไงบ้าง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้สูญเปล่าเสียทีเดียว

ทำยังไงให้ชัยชนะของประชาชนยั่งยืนกว่านี้

ควรจะสนใจเรื่องราวของสาธารณะ เรื่องราวของสังคมให้มากขึ้น ทุกกลุ่มองค์กรควรสนใจเรื่องราวของส่วนรวมมากขึ้น ถ้าตกอยู่ในภายใต้กระแสบริโภคนิยมเอาความร่ำรวย เอาเงินเป็นตัวตั้งมันก็จะลำบาก ถ้าทุกคนให้ความสนใจปัญหาสาธารณะ มีส่วนร่วมในระดับที่สามารถทำได้ในเงื่อนไขที่อำนวย ผมว่าตรงนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้พลังของสังคมมันจะเกิดขึ้น ตอนนี้พลังของสังคมไทยอยู่ในระดับกระจัดกระจาย ถ้าทำให้แต่ละกลุ่มองค์กรมีพลังทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ผมว่ามันก็จะได้ผลมากขึ้น ตอนนี้ปัจเจกชนนิยมมันสูง ต่างคนต่างตัวใครตัวมัน อันนี้ก็เป็นประเด็นความสนใจต่อเรื่องราวสาธารณะมันต่ำ ทำอย่างไรให้สร้างพลังสังคมขึ้นมาภายใต้โลกของปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทุนนิยม ตลาดในประเทศ ตลาดภูมิภาคและในระดับโลกที่เกิดการแข่งขัน เราก็ต้องปรับตัวให้เข้าไปตามจุดนั้น