ความอึดอัดทางการเมืองไทย! จะนำไปสู่อะไร ? | ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ความอึดอัดทางการเมือง

หากมองสถานการณ์การเมืองหลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องคุณสมบัติของบุคคลในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ที่มีความเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด จนมีการถูกคุมขังในประเทศออสเตรเลียมาแล้วนั้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคำตัดสินว่า การถูกคุมขังในคดีดังกล่าวไม่มีผลต่อการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของบุคคลในการเมืองไทย

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงสวนทางกับคำตัดสินและแนวทางที่เคยใช้ในการกำหนดความเป็น “บุคคลต้องห้าม” ในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูง และยังสวนทางอย่างชัดเจนกับความรู้สึกของสังคมอย่างมากด้วย จนภาวะเช่นนี้กำลังก่อให้เกิด “ความอึดอัดใจ” เช่นในวิชาจิตวิทยาการเมืองเป็นอย่างยิ่ง

ฉะนั้น หากถือเอาปี 2564 เป็นเส้นแบ่งเวลาแล้ว ความอึดอัดใจทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีสองประเด็นสำคัญคือ การบริหารจัดการโควิด-19 และตามมาด้วยการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัญหาทางการเมืองที่เป็นประเด็นทางกฎหมาย และต้องส่งให้องค์กรอิสระตีความนั้น ไม่เคยมีเรื่องไหนเลยที่รัฐบาลจะแพ้ … ทุกประเด็นของการตีความ ล้วนแต่บ่งบอกถึงชัยชนะของรัฐบาลทั้งสิ้น

สภาพเช่นนี้กำลังสะท้อนให้เห็นถึง “วิกฤตคู่ขนาน” ที่เกิดขึ้นทั้งกับรัฐบาลและกับองค์กรอิสระ รวมถึงกระบวนการตุลาการด้วย และในภาวะที่รัฐบาลและองค์กรอิสระกำลังเผชิญกับวิกฤตเช่นนี้ วิกฤตลูกใหญ่ที่ยังถาโถมเข้าใส่รัฐบาลนี้ไม่หยุด ก็คือ “วิกฤตการบริหารจัดการวัคซีน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะความล่าช้าในการระดมฉีดวัคซีนให้กับคนในสังคมไทย และทั้งการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐต่อภาคธุรกิจและต่อชีวิตของผู้คนดูจะล่าช้า และไม่ตอบสนองต่อความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น จนส่งผลอย่างมากทั้งกับระบบเศรษฐกิจและชีวิตของคนในสังคม

สิ่งเหล่านี้ก่อตัวจนกลายเป็นความรู้สึก “อึดอัด” ต่อรัฐบาลในปัจจุบันอย่างมาก แต่ไม่ว่าสังคมจะมีความเห็นแย้งหรือเห็นต่างจากรัฐบาลเพียงใด ก็ไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้เลย เพราะในด้านหนึ่ง รัฐบาลนี้มีองค์กรอิสระเป็น “เกราะทางกฎหมาย” ที่ป้องกันตัวได้เสมอ และในอีกด้าน กลุ่มชนชั้นนำ บรรดาปีกขวาจัด และกลุ่มทุนที่ได้รับประโยชน์จากรัฐบาล ยังคงเป็น “โล่ป้องกัน” อย่างดีให้กับรัฐบาลนี้

ผลเช่นนี้นำไปสู่การเกิดของความ “อึดอัดขัดข้องใจ” ทางการเมืองในสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพราะสังคมกำลังตกอยู่ในสภาวะที่ “ไร้ความสามารถ” ทางการเมือง ซึ่งระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่องค์กรอิสระจะเป็นผู้ตรวจสอบรัฐบาลนั้น ประสบความ “ล้มละลาย” ในทางการเมืองไปแล้ว และองค์กรอิสระดำรงอยู่เพื่อทำหน้าที่เป็น “ตรายาง” ประทับรับรองความถูกต้องให้แก่รัฐบาล ดังจะเห็นได้ว่า ไม่มีคำตัดสินจากองค์กรอิสระที่จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับรัฐบาลชุดนี้

วันนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความอึดอัดใจในทางจิตวิทยาการเมืองจะเป็นดัง “อารมณ์ที่รอเวลาระเบิด” ในอนาคต

นักเรียนรัฐศาสตร์จึงถูกสอนเสมอว่า ความ “อึดอัดขัดข้องใจ” ทางการเมือง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสมอ และหากมองในมิติของความขัดแย้งแล้ว ความอึดอัดเช่นนี้ในระดับต่ำคือ การเกิดอาการ “โกรธทางการเมือง” แต่ถ้าเกิดในระดับที่สูงมากขึ้นแล้ว มักจะทำให้เกิด “ความกราดเกรี้ยวทางการเมือง” ที่มีนัยของ “ความรุนแรงทางการเมือง” ที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

ในทางทฤษฎีเราอาจกล่าวได้ว่า คนที่มีความอึดอัดใจในทางการเมืองมักมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองไปในทิศทางที่พวกเขาปรารถนา แต่เมื่อพวกเขามองว่า การเมืองแบบเดิมไม่ตอบสนองต่อความต้องการในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว บุคคลเหล่านั้นก็พร้อมที่จะออกแรงในทางการเมืองมากขึ้น และหากความอึดอัดใจเพิ่มมากขึ้น ก็อาจต้องแรงมากขึ้นตามไปด้วย

ทฤษฎีของวิชาจิตวิทยาการเมืองจึงเป็นเครื่องเตือนใจให้รัฐบาล ต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดจากความโกรธ หรือความกราดเกรี้ยวทางการเมือง ซึ่งในเบื้องต้น มักจะปรากฏในรูปแบบของการชุมนุมใหญ่ ที่ผู้คนจำนวนมากมีความรู้สึก “โกรธร่วมกัน” และพร้อมที่จะเข้าร่วมการต่อต้านรัฐบาล ดังจะเห็นได้ว่าการต่อต้านรัฐบาลมักเริ่มจากความอึดอัด ที่แปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ และยกระดับเป็นความกราดเกรี้ยว ซึ่งหากความอึดอัดไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ความรู้สึกเช่นนี้ก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ระดับของการประท้วงรัฐบาล ไปจนถึงระดับของสงครามกลางเมือง หรืออาจกล่าวเชิงเปรียบเทียบได้ว่า การประท้วงใหญ่ในเมียนมาคือภาพสะท้อนถึงความโกรธ ที่ระเบิดเป็นความเกรี้ยวกราดทางการเมืองของมวลชนอย่างชัดเจน

เมื่อหันกลับมามองการเมืองไทยในปัจจุบันแล้ว คงต้องยอมรับว่า ผู้คนในสังคมกำลังมีความรู้สึกในแบบของความอึดอัดใจในทางจิตวิทยาการเมืองมากขึ้น และเป็นเสมือนความอึดอัดที่ไม่มีทางออก เพราะไม่ว่าจะส่งเรื่องใดของรัฐบาลให้องค์กรอิสระตรวจสอบ คำตอบที่ได้คือ รัฐบาลนี้จะอยู่รอดได้เสมอ หรือไม่ว่าจะกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นไร แต่ก็ไม่เคยเกิดผลอย่างจริงจัง

เงื่อนไขดังกล่าวเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาการเมืองต้องกังวล เพราะคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันและถาโถมด้วยวิกฤตโควิด ได้กลายเป็น “ความอึดอัด” ทางการเมืองที่ท้าทายต่อความอยู่รอดของรัฐบาลอย่างยิ่ง!