มองเสรีภาพสื่อไทยที่หดแคบ ก่อนกฎหมายคุมสื่อจะมาถึง

สถานการณ์เสรีภาพสื่อของไทยนับตั้งแต่รัฐประหาร ปี 2557 มีแต่ความน่ากังวลมาตลอด จากความเข้มงวดที่มากขึ้นของกฎหมายและการใช้อำนาจบนดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาลที่ทำให้พื้นที่การนำเสนอข่าวหดแคบลง ล่าสุด กฎหมายใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือเรียกสั้นๆ ในวงการว่า “กฎหมายควบคุมสื่อ” กำลังกลายเป็นความพยายามต่อเนื่องที่ทำให้ เสรีภาพของสื่อแทบเลือนลาง (แม้ผู้ออกกฎหมายจะออกมาพูดว่าไม่กระทบต่อเสรีภาพก็ตาม)

 

แต่ก่อนที่จะมีกฎหมายฉบับนี้ออกมา สถานการณ์เสรีภาพสื่อไทยก็มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี หากดูจากดัชนีเสรีภาพสื่อโลกของ องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporters Without Border) ตั้งแต่ 2 ปีก่อนกับครั้งล่าสุดที่เผยแพร่ไปไม่กี่วันที่ผ่านมา สะท้อนความน่าเป็นห่วง เพราะอันดับค่อยๆร่วงลงโดยปีนี้ (2017) ร่วงถึง 6 อันดับ (ปี 2015 อยู่อันดับที่ 134, ปี 2016 อยู่อันดับ 136 ปี 2017 อยู่อันดับ 142) ผิดกับเพื่อนบ้านเราอย่างพม่าที่อันดับขยับขึ้นแบบสวนทาง (ปี 2017 ได้อันดับที่ 131) สอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศที่เปิดกว้างขึ้น เพราะเลือกตั้งได้รัฐบาลพรรคเอ็นแอลดี

สื่อไทยมีปัญหาเรื่องเสรีภาพในการนำเสนอมาแต่ไหนแต่ไร เพราะวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์ตัวเองที่ฝังรากมานาน โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งเหลือง-แดง เพื่อไม่กระทบกับประเด็นที่อ่อนไหวต่างๆ

ในช่วงการบริหารของรัฐบาล คสช. แม้มีความพยายามชี้แจงต่อสาธารณชนและประชาคมโลกอยู่เนืองๆว่า ประเทศไทยเคารพต่อหลักสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน แต่ยังคงรับรู้การละเมิดเสรีภาพในการทำงานข่าวสืบสวน หรือการรายงานข่าว

ไม่ว่าจะเป็น บริษัทเอกชนฟ้องสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในข้อหาตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ จากการนำเสนอข่าวการก่อมลพิษทำให้ชุมชนเดือดร้อน หรือนักข่าวสื่อออนไลน์คนหนึ่งที่อาศัยรถของแหล่งข่าวร่วมเดินทางแต่ถูกจับกุมฐานร่วมกับแหล่งข่าวเตรียมแจกเอกสารต่อต้านการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หรือสั่งระงับการออกอากาศบางรายการหรือทั้งสถานีของสถานีโทรทัศน์บางช่อง จากการนำเสนอข่าวที่ระบุว่าไม่เป็นกลาง หรือขัดต่อคำสั่งของ คสช.

กรณีที่ยกตัวอย่างนี้ ล้วนเกิดขึ้นโดยอาศัยกลไกตามโครงสร้างและกฎหมาย ทั้ง กฎหมายอาญา แพ่ง พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือ อำนาจตามหน้าที่ขององค์กรที่ดูแลรับผิดชอบอย่าง กสทช.  ไม่นับรวมถึงการส่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหรือในเครื่องแบบ ซึ่งใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เก็บภาพ บันทึกข้อมูล จับตาสอดส่องการทำงานของสื่อและแหล่งข่าวที่สื่อเข้าหา ตั้งแต่สนามข่าวจนถึงบนโลกโซเชียล

เมื่อบวกกับวัฒนธรรมเซ็นเซอร์ตัวเองแล้ว กลไกนี้ยิ่งเพิ่มความยากลำบากในการทำงานของสื่อ และกระทบสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

การเกิดขึ้นของกฎหมายควบคุมสื่อ จึงยิ่งกระชับพื้นที่เพิ่มอีกขั้น เพื่อให้มั่นใจว่า การนำเสนอข่าวสารจะอยู่ในกรอบที่ผู้ที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้เชื่อว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องและดีงาม ตามกรอบของจรรยาบรรณ และศีลธรรมในแบบที่อยากให้เป็น หากออกนอกลู่นอกทางก็จะใช้บทลงโทษที่รุนแรง

 

จนลืมมองไปว่า “การใช้กฎหมายแบบครอบจักรวาล” บน “ดุลยพินิจชุดเดียว” กับ “ความหลากหลาย” หนทางข้างหน้าที่ถูกบีบให้แคบลง จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับสื่อพัฒนาไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น