ไม่ได้จน…แค่ช็อต!? เด็ก ม.6 ขอ(ยืม)บริจาคค่าเทอมภาคพิเศษ : เรื่องของคนขี้อิจฉา และคนใจบุญที่ไม่เคร่งเรื่องความเท่าเทียม?

เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวหนึ่งที่ชิงพื้นที่สื่อจากแทบทุกสำนัก และแทบทุกแพลตฟอร์มทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ และโซเชียลมีเดียหลายวันติดต่อกัน นั่นคือข่าวนักเรียน ม.6 รายหนึ่งใน จ.บุรีรัมย์ เรียนดีสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี (ภาคพิเศษ) แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมงวดแรกจำนวน 36,700 บาท เนื่องจากกู้เงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไม่ทัน

จึงขอวิงวอนผู้ใจบุญ “ให้ยืมเงิน” ไปจ่ายค่าเทอมครั้งแรกก่อน หลังจากกู้เงินจาก กยศ. ได้ ก็จะทยอยใช้คืนจนหมด

หลังจากมีการแชร์เรื่องราวผ่านโลกโซเชียลเพียงไม่กี่วัน ได้มีผู้ใจบุญบริจาคเงินช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนจำนวนเงินพุ่งไปอยู่ที่ 1.6 ล้านบาท!

ทั้งยังมีกลุ่มแพทย์ใน จ.บุรีรัมย์ แจ้งความจำนงขอส่งเสียให้เรียนจนจบปริญญาตรี และหากเจ็บป่วยก็พร้อมจะรักษาให้ฟรี

นอกจากนี้ ยังมีวิทยาลัยวิศวฯ ของมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งก็เสนอให้ทุนการศึกษาไปแบบฟรีๆ อีกด้วย

โอ้โห…ธารน้ำใจหลั่งไหล คนไทยใจบุญจริงๆ

 

แต่ตามประสาข่าวดัง เด็ก ม.6 กำเงินล้านชั่วข้ามคืน เริ่มมีกระแสโต้กลับทำนองว่าทางครอบครัวของน้องนั้นจนไม่จริง มอเตอร์ไซค์ก็มีขับ โทรศัพท์ก็มีใช้ แถมยี่ห้อราคาแพงด้วย ร้อนถึงป้าของน้องต้องออกมาชี้แจงว่า

“ไม่เคยพูด หรือบอกกับใครว่าทางบ้านยากจน เพราะฐานะของเราก็พออยู่ได้ มีอาชีพทำ มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว แต่ติดปัญหาว่าไม่สามารถหาเงินมาเป็นค่าเทอมของน้องได้ตามอัตราของมหาวิทยาลัย ทำให้ต้องหาทางออกโดยการขอยืมเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายก่อนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะทางเราตั้งใจจะกู้เงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ในทันที”

ถ้าสรุปความตามที่ชี้แจงมาคือ “ไม่ได้จน” แต่แค่ “ช็อต” หาเงินมาหมุนค่าเทอมไม่ทัน…

อ้าวเฮ้ย…ไม่เหมือนที่คิดกันไว้นี่นา

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากปรากฏการณ์ครั้งนี้คือ คำถามที่ว่า “แค่ไหนที่เรียกว่าจน?”

มีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกคลางแคลงใจกับความยากจนของน้อง จนมาตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิป และมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเชิงลบมากมาย ค่อนขอดว่าเป็นการหาค่าเทอมยุค 4.0

แต่ใครที่ตั้งคำถามทำนองนี้ มักจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “คนอยากจน” ทันที คือเป็น “พวกขี้อิจฉา” ที่เงินทองก็ไม่ได้บริจาคสักแดงแต่ดันมาเดือดร้อนแทนคนที่เขาบริจาคอีก!

พวกขี้อิจฉาเป็นใครบ้าง?

ส่วนหนึ่งคือคนที่คิดว่าตนเองและคนอีกจำนวนมากก็ลำบากไม่แพ้กัน จนเหมือนกัน แถมต้องเลี้ยงดูที่บ้านอีก ต้นทุนติดลบชนิดที่ว่าทั้งชีวิตคงไม่มีโอกาสได้กำเงินล้านแน่นอน เด็กคนนี้จึงเหมือน “คนถูกหวยแต่ไม่ได้ซื้อ” ในสายตา “คนขี้อิจฉา” กลุ่มนี้

ความเห็นของ “คนขี้อิจฉา” อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนที่ช่วงวัยใกล้เคียงกัน หรือมีความเข้าใจในระบบการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาปัจจุบัน ที่มีหลายครั้งและหลายรูปแบบกว่าสมัยก่อนมาก คำว่า “ภาคพิเศษ” นั้นจึงแสลงใจในคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะหมายถึงค่าเทอมที่ “แพงเป็นพิเศษ” แล้ว ในหลายคณะคะแนนจะต่ำกว่าระบบแอดมิสชั่นกลางอยู่พอสมควร

เด็กที่กำลังจะแอดมิสชั่นนั้นรู้ดีว่านี่เป็นหนึ่งใน “ทางเลือก” ของคนที่อยากเรียนมหาวิทยาลัยรัฐที่ตนใฝ่ฝัน แต่อาจกังวลว่าถ้าไปยื่นคะแนนระบบแอดมิสชั่นกลางแล้วจะคะแนนไม่ถึง “ภาคพิเศษ” จึงมาตอบโจทย์ตรงนี้ คือเป็นหลักประกันว่าคุณจะมีที่เรียนแน่นอน และเรียนหลักสูตรเหมือนกับภาคปกติทุกประการ

“คนขี้อิจฉา” กลุ่มนี้จึงตั้งคำถามว่า สรุปน้อง ม.6 ในข่าวนั้น “มีทางเลือก” ขนาดไปเลือกภาคพิเศษเลยหรือ ถ้าน้องเป็นคนที่พยายามด้านการเรียนมาโดยตลอด อย่ากลัวว่าจะแอดมิสชั่นไม่ติด เพราะหลังจากนี้ยังมีสงครามสนามใหญ่ของเด็ก ม.6 อีกร่วมแสนคนที่เขา “ต้องติดภาคปกติให้ได้”

 

ความจริงแล้ว “คนขี้อิจฉา” เหล่านี้ ไม่ได้มีปัญหากับการบริจาค หรือการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น แต่ส่วนใหญ่จะตั้งคำถามกับ “ระดับการต้องการความช่วยเหลือ” มากกว่า

หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน มีอีกข่าวขอรับบริจาคที่ใกล้เคียงกันโผล่ออก อาทิ ช่วยด้วย! “น้อง ก.” สอบติดวิศวกรรมฯ มมส. แต่ไม่มีทุนเรียนต่อ, อยากได้เรียนบ้าง! เหลือเชื่อ “น้อง ข.” ใช้ชีวิตลำพังในบ้านสุดพัง พ่อแม่เสียชีวิตหมด ซ้ำร้ายเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง

และหากใครยังจำกันได้ เมื่อปี 2551 มีนักเรียนสาว ม.6 พ่อแม่ยากจนสอบติด ม.ศิลปากร ต้องผูกคอตายประชดชีวิตในวันลงทะเบียนเรียน เนื่องจากพ่อแม่ไม่สามารถหาเงินมาให้เรียนต่อได้

แล้วบุคคลในข่าวเหล่านี้ควรได้รับความช่วยเหลือแค่ไหน? จากปรากฏการณ์นี้สังคมควรตั้งคำถามกับการช่วยเหลือที่กระจุกตัวนี้หรือไม่? และสรุปแล้วคนไทยใจบุญชอบช่วยเหลือคนจริงหรือ?

คําว่า “คนไทยใจบุญ” ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

ในการจัดอันดับ “ประเทศใจบุญที่สุดในโลก” (World Giving Index) ทั้งหมดจาก 140 ประเทศ โดยมูลนิธิแชริตีส์ เอด ฟาวน์เดชั่น หรือซีเอเอฟ ระบุว่า ในปี 2016 ไทยอยู่ในอันดับที่ 37 ตกจากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับที่ 19 ในปี 2015

แต่ถ้าดูการจัดลำดับแยกตามตัวชี้วัดจะพบว่า ใน “ดัชนีการบริจาคเงิน” ไทยนั้นอยู่อันดับที่ 12 “ดัชนีการช่วยเหลือคนแปลกหน้า” อยู่ที่อันดับ 98 และ “ดัชนีการใช้เวลาช่วยงานการกุศลหรืออาสาสมัคร” อยู่ที่อันดับ 84

คนไทยชอบบริจาคจริงๆ

ถามต่อว่า แม้สังคมเราจะขี้สงสาร ชอบช่วยเหลือคนอื่นผ่านการโปรยทานจริง แต่อยากช่วยเหลือคนให้พ้นจากความทุกข์ยากอันเกิดจาก “ความเหลื่อมล้ำ” จริงหรือไม่

 

เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเพิ่งประกาศ พ.ร.บ.กยศ. ฉบับใหม่ และจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้

สาระสำคัญคือ ให้นายจ้างมีสิทธิ์ “หักเงินเดือนไปจ่ายหนี้” ระบบเดียวกับการจ่ายภาษี, ให้อำนาจกองทุน กยศ. “เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกหนี้” และเปิดเผยต่อคนอื่นได้, ปรับเพดานดอกเบี้ยเงินสูงสุด 7.5% ต่อปี (จากเดิมอยู่ที่ 1%) ทั้งหมดนั้นเพื่อสะดวกต่อการทวงหนี้เสียกว่าแสนล้านนั่นเอง

ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาระบบสวัสดิการสังคมและการศึกษา ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาไท” ถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ กยศ. ในประเด็นความสิ้นเปลืองงบประมาณ ว่า

“การเกิดขึ้นของ กยศ. มันเกิดขึ้นมาเพื่อลดแรงเสียดทานที่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หรือการที่ประเทศปรับตัวเข้ากับกระแสเสรีนิยมใหม่ รัฐบาลจะลดการอุดหนุนของค่าใช้จ่ายที่มีต่อสถาบันอุดมศึกษา จึงทำให้ค่าเทอมค่าใช้จ่ายในการเรียนมหาวิทยาลัยสูงขึ้น แต่ตอนนั้นรัฐบาลก็บอกว่าสิ่งเหล่านี้จะถูกทดแทนด้วยตัว กยศ.

ถ้าเราไปดูการเปรียบเทียบก็จะเห็นว่าอัตราส่วนของการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยต่างๆ มันก็ถูกแปลงออกไปเป็น กยศ. เพราะฉะนั้น หากถามว่ามันสิ้นเปลืองกว่าในอดีตไหม ผมคิดว่าตรงนี้ไม่ใช่

“แต่ปัญหาคือ พอมาเป็น กยศ. โดยตรรกะมันก็แย่ ผมว่ามันเป็นการโยนภาระค่าใช้จ่ายที่ควรจะเป็นรัฐบาลสนับสนุน กลายเป็นปัจเจกชนต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง” ดร.ษัษฐรัมย์ระบุ

ถ้าเจตนารมณ์ของการตั้ง กยศ. สมควรถูกตั้งคำถามเชิงหลักการว่าเป็นการผลักภาระให้เด็กฝ่ายเดียวหรือไม่ ข่าวการขึ้นดอกเบี้ย กยศ. ยิ่งต้องถูกตั้งคำถามมากกว่า

แต่ในสังคมใจบุญกลับไม่มีการสนองตอบกับข่าวลักษณะนี้เท่าที่ควร ไม่มีแม้แต่คำถามต่อเนื่องจากข่าวว่า “ทำไมจึงเกิดปัญหาการกู้ยืมไม่ทัน?” ถ้าคนใจบุญที่มีมากมายในประเทศนี้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการเข้าถึงรัฐสวัสดิการที่ง่ายขึ้น จะดีกว่าการช่วยบริจาคเป็นรายๆ ไปหรือไม่?

แต่อย่างว่า ผู้จัดการกองทุน กยศ. เผยเองเลยว่า “กองทุน กยศ. โชคดีที่ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ให้การสนับสนุน ผลักดันกองทุนให้มีกฎหมายใหม่ ได้กรุณามอบแนวนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหากองทุนทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ”

สาธุ…อนาคตของชาติโชคดีจริงๆ ทำบุญได้ชาติหน้า กู้ กยศ. ดอก 7.5% ได้ชาตินี้