อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : โลกกับทรัมป์ และ ระเบียบโลกตอนนี้

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
AFP PHOTO / NICHOLAS KAMM

โลกกับทรัมป์

แทบไม่น่าเชื่อ ข่าวเกี่ยวกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ใช่ข่าววันต่อวัน แต่เป็นข่าวต้นชั่วโมงเลยก็ว่าได้ เช่น การวิจารณ์นโยบาย American First หรือ American Alone การเปลี่ยนตัวที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศหลังจากแต่งตั้งเพียงไม่นาน ปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศรัสเซียของทรัมป์ก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเสียอีก ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ของคนในครอบครัวประธานาธิบดีทรัมป์

ด้วยปรากฏว่า นโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกาพัวพันกับทรัพย์สินและการลงทุนของครอบครัวประธานาธิบดีที่อยู่ในประเทศต่างๆ ปัญหาการถ่วงดุลอำนาจระหว่างศาลกับประธานาธิบดี และคำโกหกต่างๆ นานา

อย่างไรก็ตาม ข่าวต่างๆ เหล่านี้น่าจะมองในภาพกว้างที่ไกลไปกว่าข่าววันต่อวัน กว้างกว่าประธานาธิบดีชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ กว้างกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา แต่น่าจะมองระเบียบโลก (World order) โดยมองในแง่ภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Landscape)

ซึ่งผมจะลองเสนอดู


ระเบียบโลกตอนนี้

จากงานชิ้นหนึ่งของ Henry Kissinger อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาและกูรูด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (1) เขามองว่า ระเบียบโลกตอนนี้มีเงื่อนไขที่อันตรายเกือบจะเป็นอนาธิปไตยระหว่างประเทศ (International Anarchy) เขาตั้งข้อสังเกตว่า อนาธิปไตยระหว่างประเทศไม่ได้เกิดจากเพียงการย้ายดุลแห่งอำนาจจากตะวันตกสู่ตะวันออก แต่ความชอบธรรมของระเบียบโลกใหม่หลังยุคสงครามเย็นได้ถูกท้าทาย

โดยมี 4 วิสัยทัศน์ของระบบโลกที่กำลังแข่งขันกันอยู่คือ วิสัยทัศน์แนวยุโรป-เวสฟาเลีย อิสลาม จีนและอเมริกัน นอกจากนี้ ระดับการอธิบายเชิงนามธรรมต่อวิสัยทัศน์ที่แตกต่างยังแตกต่างมากอีกด้วย

กูรูท่านนี้เชื่อว่า วิสัยทัศน์ทั้งสี่ประการมิได้เสื่อมลง แต่มรดกของความชอบธรรมที่เป็นจริงกลับมิได้มีอยู่ในวิสัยทัศน์เหล่านี้ การก่อตัวของกลุ่มภูมิภาค (regional bloc) ซึ่งไม่ลงรอยกัน สิ่งที่น่ากลัวคือ การต่อสู้กันเองและการขยายตัว การต่อสู้ระหว่างภูมิภาคต่างๆ เป็นไปได้ว่าอาจทำให้เกิดการทำลายล้างกันมากกว่าการต่อสู้ระหว่างประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างที่เคยเห็นมา

อย่างไรก็ตาม ใครที่คิดว่า โลกอยู่เหนือสงครามใหญ่ แต่กูรูท่านนี้กลับคิดว่า โลกตอนนี้กลับไวไฟอย่างมาก มีความขัดแย้ง ความตึงเครียดอย่างลึกๆ ระหว่างโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ (economic globalization) และการคงอยู่ทางการเมืองของรัฐประชาชาติ (nation-state)

ตอนนี้เราเห็นพ้องกันในการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์มากกว่า “สโมสรสงครามเย็น” แถมยังมีสงครามไซเบอร์ด้วย ตอนนี้ยังมีอีก 4 มโนทัศน์ที่อาจทำให้โลกเกิดความขัดแย้งใหญ่ได้

ประการที่หนึ่ง ความเสื่อมทรามลงของความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ทำให้ทั้งสองประเทศต่างอยู่ใน “กับดัก” แบบในประวัติศาสตร์กรีกโบราณ ทั้งสถานะของอำนาจและการก้าวขึ้นมาของอำนาจเพื่อท้าทายกัน

ประการที่สอง การหยุดลงของความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตก อันเกิดจากความไม่เข้าใจร่วมกัน

ประการที่สาม การล่มสลายของอำนาจทางการเมืองและการทหารของชาติยุโรป และ/หรือพลังที่จะใช้มัน เนื่องจากผู้นำรุ่นใหม่ของยุโรปไม่มีความสามารถยอมรับการทูตที่ไม่ใช่กำลัง

ประการที่สี่ การขยายตัวของความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เนื่องจากการบริหารงานของทีมงานอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ทั้งในมุมมองต่างๆ ของรัฐอาหรับและอิสราเอลในการจัดการอำนาจนำ (hegemonic power) ในภูมิภาคต่ออิหร่านซึ่งยังมีความสำคัญอยู่มาก

กูรูคิสซิงเจอร์เห็นว่า มโนทัศน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสี่อย่างรวมกันย่อมเป็นภัยคุกคาม โดยเฉพาะการขาดยุทธศาสตร์ที่เป็นปึกแผ่นของสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ย่อมเปลี่ยนความโกลาหลของระเบียบโลกไปเป็นไฟที่ลุกไหม้ได้

ทรัมป์

ชัยชนะของทรัมป์เป็นอะไรหลายอย่างตามแต่มุมมอง สำหรับคิสซิงเจอร์ ชัยชนะนี้เป็นส่วนใหญ่ของปฏิกิริยาของคนชั้นกลางอเมริกัน ซึ่งโจมตีคุณค่าจากชุมชนความรู้และทางวิชาการ

ข้อดีคือ เป็นการลดลงของช่องว่างระหว่างความรู้ของสาธารณะของบทบาทด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกากับความรู้ของชนชั้นนำในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นมาของทรัมป์มีอันตรายอย่างเห็นได้ชัด เช่น

กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ อาจแสวงหาและท้าทายการขาดประสบการณ์ของประธานาธิบดีที่แสดงปฏิกิริยาเกินกว่าเหตุ (overreact) การไม่เป็นเพื่อนกับรัฐใดๆ เลย ได้เปิดโอกาสและคอยผลจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก่อนทำการอื่นๆ ต่อไป

พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ทรัมป์อาจมีเวลาเพียงไม่กี่เดือนจะขยับสหรัฐอเมริกาออกจากวิกฤตการณ์ด้านนโยบายต่างประเทศ ระหว่างตอนนี้และต่อไป

ทรัมป์ต้องการไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่ในทีมบริหาร แต่ต้องการก่อตั้งกลุ่มเฉพาะเพื่อจัดการความขัดแย้งซึ่งจะนำไปสู่อันตรายอย่างรวดเร็ว อย่างที่เคยเกิดขึ้นในกรณี 9/11

สำหรับผมเอง เราจะมองทรัมป์โดยส่วนตัวก็เป็นความอ่อนหัด แต่ความไม่เป็นระบบของทีมงาน ประกอบกับโลกหลังสงครามเย็นที่กำลังเป็น โลกโกลาหล และพร้อมลุกเป็นไฟอาจทำให้โลกไร้ระเบียบมากกว่าที่เราคิด ซึ่งทรัมป์กลับเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาของโลกไร้ระเบียบนั้นด้วย

โปรดเตรียมตัวกันด้วยครับ

1บางส่วนจาก Henry Kissinger, World Order (Penguin Press, 2014)