6 ประเด็น น่าสนใจ กรณีศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ยับยั้งคำสั่งทรัมป์ โดย พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

AFP PHOTO / Nicholas Kamm

(12 ก.พ.) ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก กรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ เซ็นคำสั่งห้ามพลเมือง 7 ประเทศเข้ามายังสหรัฐฯ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และมีการประท้วงอย่างกว้างขวาง กระทั่งนำไปสู่การยื่นต่อศาลให้มีการยับยั้งการใช้คำสั่งดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดของข้อเขียนดังนี้

เมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แห่งสหรัฐอเมริกา (9th Circuit Court of Appeals) ได้มีคำสั่งยกคำขอฉุกเฉินของรัฐบาลในการยั้บยั้งคำสั่งของศาลชั้นต้น (Emergency Motion for a Stay) ที่ระงับยั้บยั้งการบังคับใช้ข้อบัญญัติของฝ่ายบริหารที่ออกโดยประธานาธิบดีด้วยมติเอกฉันท์ (Per Curiam) โดยศาลอุทธรณ์ได้มีการพิจารณาประเด็นต่างๆ ไว้มากมายซึ่งสามารถสรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้

1. ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของมลรัฐวอชิงตัน : รัฐธรรมนูญกำหนดว่าผู้ที่จะฟ้องต่อศาลในระดับสหพันธรัฐได้ต้องเป็นคดีและข้อโต้แย้งโดยแท้จริงซึ่งรวมไปถึงกรณีที่ผู้ฟ้องต้องมีอำนาจฟ้องในฐานะของผู้เสียหายโดยตรงด้วย กรณีนี้ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามลรัฐวอชิงตันถือเป็นผู้เสียหายโดยตรงจึงมีมีอำนาจฟ้องตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการบังคับใช้่ข้อบัญญัติของฝ่ายบริหารจะส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงกับการเดินทางเข้ามลรัฐซึงทำให้ประชาชนที่ต้องเดินทางเข้าออกเพื่อทำกิจธุระของตนเองมิอาจทำได้ อาทิ ครูอาจารย์และนักวิจัยที่ไม่สามารถเข้าออกเพื่อทำงาน ณ มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ ฯลฯ เป็นต้น

2. ประเด็นความสามารถในการตรวจสอบข้อบัญญัติของฝ่ายบริหารโดยองค์กรตุลาการ : ทางด้านรัฐบาลมีการตั้งข้อโต้แย้งว่าอำนาจในการควบคุมการเข้าเมืองถือเป็นอำนาจโดยตรงและเบ็ดเสร็จของฝ่ายบริหาร (Plenary Power) ซึ่งไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบ (Unreviewable) โดยองค์กรตุลาการประกอบกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ ข้อโต้แย้งดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจะมีบรรทัดฐานของศาล (Precedent) ที่ยืนยันข้อโต้แย้งดังกล่าว ตรงกันข้าม กลับมีแนวบรรทัดฐานของศาลที่กล่าวชัดเจนว่าการใช้อำนาจขององค์กรทางการเมืองทางด้านคนเข้าเมืองนั้นอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ (Constitutional Limitations) ซึ่งศาลสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ทั้งนี้เป็นไปตามโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Democracy)

3. ประเด็นเงื่อนไขทางกฎหมายในการออกคำสั่งยั้บยั้งคำสั่งศาลชั้นต้น : การที่ฝ่ายรัฐบาลได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลแห่งนี้มีคำสั่งยั้บยั้งคำสั่งของศาลชั้นต้น รัฐบาลจำต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าหากปราศคำสั่งของศาลอุทธรณ์แล้ว ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงอันมิอาจเยียงยาแก้ไขได้ โดยกรณีนี้ทางรัฐบาลเองมิอาจแสดงให้ศาลแห่งนี้เห็นได้ ในทางกลับกัน ทางด้านมลรัฐวอชิงตันกลับสามารถแสดงให้ศาลเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขาจะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงที่ไม่สามารถเยียงยาแก้ไขได้หากข้อบัญญัติของฝ่ายบริหารมีผลบังคับใช้

4. ประเด็นปัญหากระบวนการโดยชอบด้วยกฎหมาย : บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมที่ 5 (5th Amendment) ของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริการับรองและคุ้มครองปัจเจกชนจากการที่รัฐจะเข้ามาพรากเอาไปซึ่งสิทธิในชีวิต เสรีภาพ หรือทรัพย์สินโดยปราศจากกระบวนการโดยชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาคือมีการกล่าวหาโดยมลรัฐวอชิงตันว่าข้อบัญญัติของฝ่ายบริหารนี้ละเมิดต่อสิทธิดังกล่าวของคนมุสสลิมที่เข้ามายังประเทศสหรัฐอเมริกา โดยประเด็นนี้ทางด้านรัฐบาลเองมิอาจแสดงและหักล้างข้อกล่าวหาของมลรัฐวอชิงตันให้ศาลเห็นว่าข้อบัญญัติของฝ่ายบริหารว่าด้วยการควบคุมคนเข้าเมืองได้มาตรฐานของกระบวนการโดยชอบด้วยกฎหมาย (Due Process of Law) ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ จะมีก็แต่เพียงการโต้แย้งว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากข้อบัญญัติของฝ่ายบริหารเป็นผู้ไม่มีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้นทั้งนี้เพราะเป็นคนต่างด้าว ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น กล่าวคือ มีแนวบรรทัดฐานของศาลสูงสุดกล่าวไว้ชัดเจนว่าบุคคลเหล่านั้นได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยตราบใดที่ได้เข้ามาถึงประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว

5. ประเด็นปัญหาการเลือกปฏิบัติทางด้านการนับถือศาสนา : มลรัฐวอชิงตันได้ตั้งข้อโต้แย้งประเด็นทางรัฐธรรมนูญที่สำคัญด้วยการกล่าวหาว่าข้อบัญญัติของฝ่ายบริหารมีลักษณะเป็นการละเมิดบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมที่ 1 (1st Amendment) ของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาที่รับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนาและบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมที่ 14 (14th Amendment) ที่คุ้มครองความเสมอภาค ห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยรัฐ ซึ่งกรณีนี้มีลักษณะของการเลือกปฏิบัติมุสลิมที่จะเข้าประเทศสหรัฐเมริกาอย่างชัดเจน

6. ประเด็นทางด้านประโยชน์สาธารณะ : รัฐบาลเองมิอาจที่จะแสดงให้ศาลอุทธรณ์แห่งนี้ได้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนต่างด้าวจากประเทศต่างๆ ที่มีการระบุไว้ในข้อบัญญัติของฝ่ายบริหารได้กระทำผิด หรือมีการกระทำอันมีลักษณะเป็นการก่อการร้ายที่เป็นการโจมตีประเทศสหรัฐอเมริกา แต่รัฐบาลกลับตั้งข้อโต้แย้งแต่เพียงว่าองค์กรตุลาการ หรือศาลนั้นไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารภายใต้การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของประธานาธิบดีได้ ซึ่งศาลไม่เห็นพ้องด้วยตามที่ได้ให้เหตุผลไปก่อนหน้านี้แล้ว

ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แห่งสหรัฐอเมริกาจึงมีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์ของรัฐบาล

ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 แห่งสหรัฐอเมริกามีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์ของรัฐบาลข้างต้น จึงมีผลทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นแห่งสหรัฐอเมริกายังมีผลอยู่ กล่าวคือ ข้อบัญญัติของฝ่ายบริหารที่ออกโดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงถูกระงับยั้บยั้ง ไม่มีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปนั่นเอง

อนึ่ง คงต้องรอดูต่อไปครับว่าสำหรับแนวทางของรัฐบาลในการดำเนินไปยังศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา (US Supreme Court) ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะยังมีรายละเอียดที่ต้องให้พิจารณาอีกมากมาย ซึ่งเท่าทีทราบว่า ณ ปัจจุบัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะแก้ไขปัญหาภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งข้างต้นโดยจะมีการออกข้อบัญญัติของฝ่ายบริหารว่าด้วยการควบคุมคนเข้าเมืองใหม่ในสัปดาห์หน้าครับ