E-DUANG : ​​กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับกรณี ไผ่ ดาวดิน

ไผ่ ดาวดิน

จดหมายของ บินหลา สันกาลาคีรี ถึงเพื่อนมิตรอันเป็น “ญาติน้ำ หมึก” ในกรณี ไผ่ ดาวดิน
กำลังสำแดง “บทบาท”
ไม่เพียงเพราะว่า บินหลา สันกาลาคีรี ดำรงอยู่ในสถานะแห่งการเป็น “ซีไรต์”
หากที่สำคัญเพราะดำเนินไปอย่าง “ยึดโยง”
เป็นการยึดโยงเอากรณี ไผ่ ดาวดิน ไปสัมพันธ์กับกรณีของ กุ หลาบ สายประดิษฐ์ และกรณีของ จิตร ภูมิศักดิ์
2 คนนี้เป็น “นักเขียน”
เหมือนกับการเอ่ยถึง กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ จิตร ภูมิศักดิ์ จะเป็นการอ้างจากฐานแห่งความเป็น “นักเขียน” ของ บินหลา สันกาลาคีรี
แต่ที่มีความลึกซึ้งมากกว่านั้น คือฐานแห่ง “ความไม่เป็นธรรม”
ทำให้ชะตากรรมของ ไผ่ ดาวดิน ยืนอยู่ในจุดเดียวกันกับชะตากรรมของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เมื่อปี 2495 และของ จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อหลังรัฐประหารปี 2501
นี่คือความแหลมคมของ บินหลา สันกาลาคีรี

ถามว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกจับกุมคุมขังในเดือนพฤศจิกายน 2495 จากความผิดใด
เป็นความผิดโทษฐาน “กบฎ”
แต่การเป็นกบฎของเขามาจากบทบาทในการร่วมเคลื่อนไหว “สันติภาพ”
จึงเรียกว่าเป็น “กบฎสันติภาพ”
ถามว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจับกุมคุมขังภายหลังรัฐประหารเมื่อ เดือนตุลาคม 2501 ด้วยความผิดใด
เป็นความผิดโทษฐาน “คอมมิวนิสต์”
จิตร ภูมิศักดิ์ ก็เหมือนกับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์อย่างเช่น อิศรา อมันตกุล อุทธรณ์ พลกุล เป็นต้น ที่ถูกข้อหาเดียวกันนี้
เพียงเพราะ”เห็นต่าง”จากรัฐบาล จากนักรัฐประหาร

จุดเชื่อมอย่างสำคัญจากจดหมายเปิดผนึกของ บินหลา สันกาลาคีรี อยู่ตรง “ความไม่เป็นธรรม”
ความไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ใน “อดีต”
เป็นอดีตที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ประสบ เป็นอดีตที่ จิตร ภูมิ ศักดิ์ ประสบ
และ บินหลา สันกาลาคีรี เห็นว่า ไผ่ ดาวดิน ประสบอยู่
รายละเอียดระหว่าง ไผ่ ดาวดิน กับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ จิตร ภูมิศักดิ์ อาจไม่เหมือนกัน
นั่นเป็นเรื่องของ”ยุค” นั่นเป็นเรื่องของ “สมัย”
กระนั้น จุดร่วมอัน บินหลา สันกาลาคีรี ต้องการจุดประกายในลักษณะ “ร่วม” ก็คือ
“ความไม่เป็นธรรม”
บินหลา สันกาลาคีรี เป็นนักเขียน เป้าหมายของเขาย่อมเป็นนักเขียนอย่างเป็นด้านหลัก
แต่พลังแห่ง”ปากกา”ของเขาแผ่กว้างไกลมากกว่านั้น