รายงานพิเศษ : ทบทวนชีวิต รับความตาย เขียนหนังสืองานศพให้ตัวเอง

เริ่มจาก พ.ศ.2423 ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้มีการจัดทำหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ “พระนางเรือล่ม” หรือ พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ต่อมาหนังสืออนุสรณ์งานศพก็ค่อยๆ ขยายไป เริ่มจากในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นสูง ก่อนจะแผ่ไปถึงประชาชน จนมีสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ส่วนใหญ่ที่เราได้เห็นๆ กัน คือเนื้อหาของหนังสือที่แจกในงานศพนั้น นอกจากจะมีเกร็ดความรู้ในเรื่องต่างๆ คำสอนทางธรรม หรือบทสวดมนต์แล้ว อีกส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือประวัติ หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผู้วายชนม์

แต่เนื้อหาเหล่านั้นจะมีสักกี่เล่มกัน ที่ผู้ตายซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องจะมีโอกาสได้เขียน หรือบอกเล่าสิ่งที่อยากจะถ่ายทอดสู่ผู้อื่นจริงๆ

ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายพุทธิกา จึงได้เริ่มโครงการ Book of Memorial อบรมการเขียนหนังสืออนุสรณ์งานศพ เพื่อให้ผู้ (ที่ก่อนจะ) ตายได้เขียนและอ่านหนังสืออนุสรณ์งานศพของตัวเอง ก่อนลาจากโลกใบนี้ไป

ถ้าไม่คิดอะไรมาก โครงการนี้ก็คือการแนะนำให้รู้จักทุกขั้นตอนของการทำหนังสืองานศพ

ซึ่ง อมรรัตน์ พุฒเจริญ เจ้าหน้าที่เครือข่ายพุทธิกาบอกว่า โดยปกติหนังสือประเภทนี้จะมีฟอร์แมต มีรูปแบบอยู่แล้วว่าเนื้อหาจะมีอะไรบ้าง

ที่เครือข่ายทำ จึงเป็นการแนะนำให้แต่ละคนจัดทำเนื้อหาตามฟอร์แมตนั้นให้ดีที่สุด

“ในคอร์สนี้เราจะคุยภาพรวมของหนังสืองานศพเลย ว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง และในพาร์ตที่แต่ละคนจะเขียนนั้น จะเขียนอะไรลงไปบ้าง”

จากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการฝึกเขียน

“ซึ่งโจทย์ที่เราให้ก็อาจจะเป็นเรื่องประสบการณ์ชีวิตของเขา เพื่อให้เขาได้ทบทวน และถ่ายทอดเรื่องราวของเขาออกมา” เธอยกตัวอย่าง

 

โครงการซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนั้น เริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน และจะจบในวันที่ 4 ธันวาคม โดยเครือข่ายพุทธิกาเปิดรับผู้สนใจจำนวน 20 คน เข้าอบรม โดยไม่จำกัดวัย และไม่จำเป็นต้องมีทักษะหรือพื้นฐานงานเขียนมาก่อน โดยในส่วนของงานเขียนนั้น จะมี อรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีชีวิต เจ้าของรางวัลศิลปาธร และ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารสารคดี มาเป็นวิทยากร

คิดค่าใช้จ่ายในการอบรมคนละ 4,500 บาท ซึ่งรายได้จะนำไปสมทบกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของเครือข่ายพุทธิกา

อย่างไรก็ดี งานนี้นอกจากจะได้หนังสือดีๆ หนังสือที่ตรงกับใจไว้แจกเพื่อนพ้องและญาติมิตรในงานศพของตัวเองแล้ว ที่ “ดีกว่า” และจะเรียกได้ว่าเป็นวัตถุประสงค์หลัก หากแอบแฝงอยู่ คือ คอร์สสอนทำหนังสืองานศพนี้ยังเป็นโอกาสอันดี ที่ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้และทบทวนชีวิตของตัวเอง

“เราอยากให้คนระลึกถึงเรื่องของชีวิตและความตายผ่านการเขียนและหนังสืออนุสรณ์งานศพของตัวเอง ให้ระลึกว่าชีวิตผ่านอะไรมาบ้าง เพราะการเขียนก็เหมือนเป็นการทบทวนชีวิต”

และที่ “ดียิ่งขึ้นไปอีก” ก็คือ นี่ยังเป็นโอกาสให้ได้ระลึกถึงความตาย

ความตายที่ใครๆ ก็กลัวและไม่อยากนึกถึง

สิ่งที่ได้พบเสมอมาจึงเป็น “คนเราจะไม่กล้าพูดเรื่องความตาย”

 

อีกประการที่คนทำโครงการนี้หวังไว้ คือการทำให้ทุกคนตระหนักว่า “ความตายเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่เราพูดคุยกันได้”

เพราะ “ยังไงความตายมันก็ต้องเกิดขึ้น”

การนี้ผู้เข้าร่วมการอบรมจึงจะได้ฟังธรรมเทศนาจาก พระไพศาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกา และผู้ริเริ่มเผยแพร่หลักปฏิบัติเพื่อการเผชิญความตายอย่างสงบในเมืองไทย

“เราอยากให้คนในสังคมหันมาสนใจเรื่องความตาย เตรียมตัวตาย และได้เขียนหนังสืออนุสรณ์ของตัวเอง” เธอย้ำอีกครั้ง

แล้วยังว่า “ถึงแม้ตอนนี้อาจจะอายุยังน้อย แต่เขียนไว้ตั้งแต่ตอนนี้เลยก็ได้เหมือนกัน เพราะเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น เวลาเปลี่ยน ประสบการณ์เราเปลี่ยน ก็มาปรับแก้ หรือเขียนเพิ่มได้”

แถมยังดีไปเสียอีก เพราะ “ยิ่งถ้าเขียนตั้งแต่อายุยังน้อย ก็เหมือนได้ทบทวนตัวเองไปเรื่อยๆ เป็นระยะๆ คล้ายๆ ไดอารี่”

โดยผลสูงสุดที่เครือข่ายพุทธิกาหวังไว้ คือ “ถ้าเรากล้าที่จะพูดเรื่องความตาย พร้อมที่จะยอมรับ แล้วกลับมาดูการใช้ชีวิตของเรา ได้ทบทวนชีวิตของตัวเอง เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท”

“เพื่อนำไปสู่ความตายที่เราอยากจะเป็น”