E-DUANG : ติงจาก ไพฑูรย์ ธัญญา ต่อ เบส อรพิมพ์

ในบรรดา “ข้อสังเกต” และ “บทสรุป” อันเกี่ยวกับ เบส อรพิมพ์ ที่ไหลหลั่ง พรั่งพรู ออกมา

ของ ไพฑูรย์ ธัญญา ทรง”ความหมาย”

ทรงความหมายไม่เพียงเพราะ ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นนักเขียนระดับรางวัลซีไรต์

ยืนยันความเป็น “นาย” แห่ง “ภาษา”

หากที่ทรงความหมายมากกว่านั้น ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นนักเขียนที่อยู่ในสถานะแห่ง “นักวิชาการ”

นั่นก็คือ ความเป็น”อาจารย์”ในทาง”วรรณกรรม”

ขณะเดียวกัน ที่ทรงความหมายอย่างยิ่งยวดในกรณีของ เบส อรพิมพ์ ก็คือ

ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นคนใต้

การตั้ง “ข้อสังเกต” และการเสนอ “บทสรุป” ต่อกรณีของ เบส อรพิมพ์ จึงสมควรล้างหู น้อมรับฟัง

น้อมรับฟังอย่างมากด้วย “โยนิโสมนสิการ”

 

ไพฑูรย์ ธัญญา มีคอลัมน์ประจำในคมชัดลึกชื่อ “โดยวิธีของเรา เอง” สำหรับฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน นำเสนอในหัวข้อ

“แค่คำเรียกก็ผิดแล้ว”

ไพฑูรย์ ธัญญา ระบุว่า “คุณเบสเกิดพลาดอย่างน้อยก็ 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ การใช้ภาษา ส่วนเรื่องที่สองก็คือ เธอวิเคราะห์ผู้ฟังน้อยเกินไป”

ที่ว่ามีข้อผิดพลาดในการใช้ภาษาก็คือ

“ไม่น่าเผลอเรียกพี่น้องชาวอีสานว่า “คนอีสาน”เลย เพราะคำๆนี้มันมีน้ำเสียงของการดูถูกและมีระยะห่างอย่างไรไม่รู้”

ที่ว่ามีข้อผิดพลาดในการวิเคราะห์ผู้ฟังน้อยเกินไปก็คือ

“ไม่รู้จักกลุ่มผู้ฟังของตนอย่างถ่องแท้ ด่วนสรุปเกินไป (จึง)เลื่อนลอยและไม่มีหลักฐานใดๆมาสนับสนุน”

จากข้อผิดพลาดทั้ง 2 ประการเมื่อประสานเข้ากับ

“เจตนาที่จะ “บิวท์” อารมณ์ผู้ฟัง มันเลยหลุดออกมาโดยไม่รู้ตัว”

ที่”หลุด”เลยกลายเป็น”นาย” กำกับและควบคุม

 

ข้อสังเกตและบทสรุปอันมาจาก ไพฑูรย์ ธัญญา จึงทรงความหมาย เป็นอย่างสูง

ไม่ว่าในทาง “การพูด” ไม่ว่าในทาง”การเขียน”

ทั้งยังทรงความหมายไม่เพียงแต่ต่อตัวของ เบส อรพิมพ์ เท่านั้น

หากยังทรงความหมายต่อ “แบ็ค” ของ เบส อรพิมพ์ ด้วย

หากไม่ตระหนักใน “ข้อผิดพลาด” อย่างรอบคอบและรัดกุมที่คิดจะสร้าง”แรงบันดาล” กลับกลายเป็น “ตรงกันข้าม”

ที่คิดจะสร้าง”สามัคคี” กลับทำให้ “แตกแยก”

ไหนๆก็เสียงบประมาณจำนวนมหาศาล รอบคอบและรัดกุมไว้ก็จะเป็นการดี

ดีต่อคสช. ดีต่อกองทัพ และดีต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม